อันตรายที่มองไม่เห็นของชีวิตอันปราศจาก ห้องน้ำ

อันตรายที่มองไม่เห็นของชีวิตอันปราศจาก ห้องน้ำ

เมื่อแอนเดรีย บรูซช่างภาพเดินทางถึงสถานที่แห่งใหม่ เธอมีคำถามมากมายประหนึ่งว่ากำลังเตรียมแผนพัฒนาประเทศนี้ เช่น “ถนนของพวกเขาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?” และ “ลูกสาวของพวกเขาอยากเป็นอะไรเมื่อเติบโตขึ้น?” เป็นต้น และหลังจากได้รับมอบหมายจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ให้บันทึกภาพสารคดีเกี่ยวกับการขับถ่ายกลางแจ้งบรูซจึงเกิดคำถามใหม่ตามมา “พวกเขามี ห้องน้ำ กันหรือเปล่า?”

เรื่อง มอลลารี่ เบเนดิกท์

ภาพ แอนเดรีย บรูซ

“คุณสามารถดูได้เลยว่าประเทศนั้นๆ จัดลำดับความสำคัญอย่างไร โดยดูจากว่า ห้องน้ำ โรงเรียนเป็นยังไง” บรูซกล่าว

เรื่องราวของผู้คนที่ต้องขับถ่ายกลางแจ้งไม่ใช่สารคดีที่เธอคาดคิดว่าจะทำร่วมกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แต่ไม่นานเธอก็ตระหนักได้ถึงความสำคัญในระดับโลกของปัญหานี้ ซึ่งไม่ต่างจากความขัดแย้งอื่นๆ ที่เธอเคยถ่ายทอดมาในอดีต

“มันอาจเป็นหนึ่งในที่สุด หรือหากไม่ใช่ที่สุดก็เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของมนุษยชาติในปัจจุบัน” เธอกล่าว

การขับถ่ายกลางแจ้งและการไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในเด็ก โดยเฉพาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ นอกจากนั้นในอินเดีย สิ่งนี้ยังเป็นสาเหตุของการถูกข่มขืนในผู้หญิงอีกด้วย เมื่อผู้หญิงต้องหาสถานที่เหมาะสมและห่างไกลจากสายตาผู้คนในช่วงเช้าตรู่หรือค่ำมืดไปแล้ว เพื่อทำธุระส่วนตัว

การบันทึกภาพที่เกี่ยวข้องกับอุจจาระนั้นเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับช่างภาพ ในการมองหาตรงกลางระหว่างเรื่องราวอันซับซ้อนและความเหมาะสม ภาพต้องไม่ถูกบันทึกอย่างพิถีพิถันมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ต้องแสดงความงดงามจากความเรียบง่าย แต่บรูซมีวิธีการทำงานในแบบของเธอ เช่นเดียวกับที่เธอเคยทำมากับเรื่องอื่นๆ “ฉันเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู็คนอย่างใกล้ชิด และติดตามพวกเขา มันเป็นเรื่องของการแชร์ประสบการณ์”

บรูซเดินทางท่องเที่ยวไปในอินเดีย, เฮติและเวียดนาม พร้อมกับสัมภาระและกล้องตัวใหญ่เพื่อบันทึกภาพของห้องน้ำตามที่เธอระบุว่า “แสดงออกซึ่งชีวิตประจำวันของผู้คนและความคล้ายคลึงกันของสถานการณ์ดังกล่าว” โดยในแต่ละประเทศมีรูปแบบของตนเอง และระดับของการจัดการกับปัญหาการขับถ่ายกลางแจ้งที่แตกต่างกัน

อินเดีย

ในอินเดีย ประเทศที่บรูซใช้เวลาอยู่อาศัยมากที่สุด มีความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่รัฐบาลลงมือทำและไม่ลงมือทำ ประเทศนี้ให้สัญญาว่าจะมีห้องน้ำจำนวน 100 ล้านห้องให้แก่ประชาชนในปี 2019 แต่คำสัญญาเป็นแค่บางส่วนของนโยบายการแก้ปัญหาเท่านั้น “พวกเขายังให้ความรู้และพยายามโน้มน้าวผู้คนถึงความสำคัญของการใช้ห้องน้ำ” บรูซกล่าว

เวียดนามเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา แต่ความยากคือการเข้าถึง “ผู้คนไม่ค่อยเปิดกันเท่าไหร่และพวกเขาก็ค่อนข้างกลัวกล้อง ดังนั้นคุณจำเป็นต้องใช้เวลาอย่างมากเพื่อทำให้เขาเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำ” อย่างไรก็ตามเมื่อผู้คนเปิดประตูให้บรูซ เธอพอใจอย่างมากกับสิ่งที่ได้เห็น “คุณจะเห็นว่าทุกโรงเรียนมีห้องน้ำ การขับถ่ายกลางแจ้งไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในเวียดนาม ไม่เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน”

เวียดนาม

ความท้าทายที่สุดของบรูซในฐานะช่างภาพคือที่เฮติ เมื่อกลุ่มคนที่นั่นแบ่งปันประสบการณ์ของการล้างส้วมด้วยมือที่เกิดขึ้น 2 ปีต่อครั้งให้เธอดู พวกเขาเป็นที่รู้จักในชื่อ Bayakou แต่สำหรับบรูซเธอเรียกพวกเขาว่า “ซุปเปอร์ฮีโร่แห่งสุขาภิบาลเฮติ” โดยพวกเขาจะทำงานในตอนกลางคืน เมื่อตัวตนถูกปกปิดและความรุนแรงของกลิ่นลดน้อยลง “ทุกๆ คนเกลียดพวกเขา และตัวตนของพวกเขาถูกปิดบังจากสาธารณะ เนื่องจากพวกเขาเป็นตัวแทนของปัญหาที่เฮติไม่อาจแก้ได้ นั่นคือเรื่องห้องน้ำ”

ต้องใช้เวลาสามถึงสี่เดือนกว่าบรูซจะสามารถโน้มน้าว Bayakou คนหนึ่งให้พาเธอไปดูการทำงานด้วยได้ เป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมงที่บรูซบันทึกภาพของชายคนหนึ่งที่ “แช่อยู่ในสิ่งปฏิกูลตั้งแต่หัวจรดเท้า ซึ่งในตอนท้ายตาของเขาแทบจะลืมไม่ขึ้นจากอาการบวม”

ในตอนแรกที่เธอเดินทางมาถึงเฮติ เธอได้เตรียมอุปกรณ์และเสื้อผ้าอย่างดีไว้สำหรับป้องกัน แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำงานร่วมกับ Bayakou เธอตัดสินใจทิ้งทุกอย่างที่เธอนำมาด้วย “สำหรับฉันการอยู่ที่เฮติ ปกปิดใบหน้าตัวเองจากกลิ่นอันรุนแรง ในขณะที่กำลังถ่ายภาพของ Bayakou มันแสดงให้เห็นว่าฉันไม่เคาพหรือชื่นชมในสิ่งที่พวกเขาทำ ดังนั้นฉันจึงทำเช่นพวกเขาเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกละอายใจในภายหลัง”

เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดของการบันทึกภาพสารคดี เธอยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไป เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครนึกถึง “มันไม่ใช่เรื่องที่สวยงาม มันเป็นอะไรที่ผู้คนอยากจะลืม และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมปัญหานี้จึงยังคงมีอยู่ทั่วโลก”

 

อ่านเพิ่มเติม : ทำความสะอาดโลกไร้สุขาภิบาล, สุขาอยู่หนใด

Recommend