แม้แต่ถุงพลาสติกก็กลายมาเป็นของเล่นได้ ด้านขวาคือ James Lokusan วัย 10 ขวบ กำลังโพสต์ท่าถ่ายภาพกับรถของเล่นที่เขาประดิษฐ์ขึ้น
ของเล่นทำมือ สมบัติเดียวที่ เด็กผู้ลี้ภัย ในยูกันดามี
ค่ายผู้ลี้ภัยบิดีบิดี, ยูกันดา – เด็กๆ ได้ยินเสียงรถยนต์ของเราก่อนตัวรถจะเลี้ยวเข้าสู่ถนนสายหลักที่ฟุ้งไปด้วยฝุ่นสีแดงเสียอีก ฝุ่นที่คลุ้งกระจายนั้นหนามาก และแปลกดีที่ไม่กี่วันต่อมา ฉัน (นีนา สตรอคลิก – ผู้เขียน) เห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งใช้ฝุ่นแดงๆ เหล่านั้นทาปากแทนลิปสติก เราจอดรถที่ร่มเงาใต้ต้นไม้ พวกเด็กๆ พร้อมกันอยู่แล้วสำหรับการถ่ายภาพดูได้จากหุ่นดินเหนียวในมือ ทีแรกพวกเขาแสดงอาการเหนียมอาย แต่พอคุ้นเคยก็พากันอวดของเล่นที่มี ส่วนเด็กที่ไม่ได้พกมาก็รีบวิ่งกลับที่พักไปหยิบดินเหนียวที่ถูกปั้นเป็นรูปต่างๆ อาทิ รถยนต์ คน และอื่นๆ อีกมากมายมาโชว์
เด็กๆ กลุ่มนี้เกือบจะได้เป็นชาวเซาท์ซูดานรุ่นแรกที่เติบโตในช่วงเวลาเอกราชของประเทศ น่าเสียดายที่สงครามกลางเมืองทำลายทุกอย่าง ทุกวันนี้เด็กชาวเซาท์ซูดานมากกว่า 1 ล้านคนต้องอพยพออกนอกประเทศ เติบโตในค่ายผู้ลี้ภัยที่ตั้งขึ้นในยูกันดา และประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ แทน ชีวิตในค่ายยากลำบากก็จริง แต่เด็กๆ เหล่านี้ก็เรียนรู้ที่จะสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ตนเอง แม้กระทั่งในพื้นที่ห่างไกลที่สุด โดยเฉพาะในค่ายบิดีบิดีที่มีผู้ลี้ภัยเด็กมากถึง 200,000 คน ดินสีแดงให้อะไรมากกว่าแค่เป็นดินธรรมดา
บิดีบิดี (Bidibidi) คือชื่อของค่ายผู้ลี้ภัยในยูกันดาที่ทอดตัวเหยียดยาวสุดลูกหูลูกตา ที่นี่คือบ้านของชาวเซาท์ซูดานจำนวนมากกว่า 300,000 คน โซน 5 ของค่ายตั้งอยู่ห่างจากโซน 1 ที่ยูเอ็นและองค์กรอื่นๆ ตั้งฐานรับความช่วยเหลือในระยะขับรถ 1 ชั่วโมงถึง และหมู่บ้าน 19 สถานที่ที่พวกเราเดินทางมาคือพื้นที่ชายขอบของค่ายที่มีพื้นที่กว้างใหญ่พอๆ กับกรุงลอนดอน
ตัวฉัน และโนรา โลเร็ก ช่างภาพสาวเดินทางมายังหมู่บ้านแห่งนี้เพื่อพบปะกับกลุ่มผู้หญิงชาวเซาท์ซูดานที่กำลังปักผ้าปูที่นอนซึ่งเรียกกันว่า “มีลาญา” (Milaya) นกกระพือปีก, ดอกไม้ และต้นไม้นานาพรรณ ลวดลายทั้งหมดถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยสองมือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ส่งต่อจากแม่มายังลูกสาว และผ้าปักมืออันวิจิตรงดงามเหล่านี้ยังถูกมอบให้เป็นของขวัญวันแต่งงาน หรือใช้ประดับตกแต่งบ้าน แต่ละผืนใช้เวลาปักนานหลายสัปดาห์ บ้างหลายเดือน ปกติแล้วการปักมีลาญาคืองานอดิเรก แต่ที่ค่ายบิดีบิดีนี่คือการฆ่าเวลาแก้เบื่อ ลูกค้ามีไม่มากนัก และที่นี่ก็ใช้มีลาญาสำหรับตกแต่งโบสถ์ หรือประดับลานศพเท่านั้น แม่ๆ ผู้ลี้ภัยปักผ้าขณะที่ลูกไปโรงเรียน ตักน้ำ หรือในตอนที่พวกเขากำลังปั้นของเล่นชิ้นใหม่ๆ จากดิน
ใกล้กันนั้น โนราสังเกตเห็นเด็กชายคนหนึ่งเล่นกับของเล่นที่ปั้นมาจากโคลนสีน้ำตาล เธอถามเด็กน้อยว่าขอถ่ายรูปได้ไหม? หนูน้อยยืนขึ้นให้ถ่ายภาพ ของเล่นวางแบในมือโดยมีกระท่อมเป็นฉากหลัง เด็กคนอื่นวิ่งเข้ามาสมทบ พวกเขามีรถที่ประดิษฐ์จากลังกระดาษของ World Food Program บางคนมีรถยนต์ ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำลองที่ปั้นจากดิน ชีวิตในค่ายที่แทบไม่มีอะไรให้ซื้อขาย เด็กเหล่านี้สร้างโลกของพวกเขาขึ้นมาเอง
ล่ามวัย 24 ปีของเรามีนามว่า “Asha” ดูเหมือนว่าเธอจะรู้จักคนครึ่งค่าย Asha เล่าว่า เธอและพี่ชายใช้เวลาหลายชั่วโมงหมดไปกับการปั้นของเล่นในเซาท์ซูดาน เพื่อสอนเทคนิคการทำของเล่นด้วยตนเองแก่เด็กๆ และแน่นอนในฐานะผู้หญิง แม่สอนวิธีการปักมีลาญาให้แก่เธอเช่นกัน ทุกวันนี้เธอยังเก็บมีลาญาผืนงามสีชมพู ที่มีลวดลายดอกไม้สีม่วง, เหลือง และแดงรายล้อมด้วยใบไม้เอาไว้ ถ้าคุณถามผู้ลี้ภัยเหล่านี้ว่าพวกเขาเอาอะไรติดตัวมาบ้าง? ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจากบ้านโดยมีสมบัติเพียงไม่กี่ชิ้นห่อมาในผ้าปูเตียง บนถนนที่ทอดยาวสู่ยูกันดา Asha บรรยายว่าเด็กๆ อาจล้มตายระหว่างทางจากความเหนื่อยล้า หรือการขาดอาหาร ร่างของพวกเขาคงจะถูกฝังใต้ต้นไม้บริเวณนี้ และเมื่อกลางคืนมาถึง บางครั้ง Asha เผลอคิดไปว่านี่ฉันกำลังตั้งแคมป์นอนทับบนที่ที่เคยมีเด็กตายอยู่หรือเปล่า
ย้อนกลับไปในปี 2011 เซาท์ซูดานได้รับการประกาศให้เป็นประเทศเกิดใหม่ หลังสู้รบกับซูดานมานานครึ่งศตวรรษ ทว่าความหวังว่าชีวิตคงขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นช่างสั้นนัก สงครามกลางเมืองอุบัติขึ้นในปี 2013 และอีกครั้งในปี 2016 ท่ามกลางการสังหารหมู่อันนองเลือด ผู้คนพากันอพยพหนีไปยังยูกันดา เดือนสิงหาคมในปีนั้นมีรายงานว่าจำนวนผู้ลี้ภัยที่เดินทางมายังยูกันดามากถึง 6,000 คนต่อวัน ผืนป่าเริ่มรายล้อมไปด้วยกระท่อมเล็กๆ และต่อมาก็กลายเป็นค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ ทุกวันนี้ค่ายบิดีบิดีมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากค่ายผู้ลี้ภัยคอกส์บาซาร์ ในบังกลาเทศ
แต่ยูกันดาไม่เหมือนหลายประเทศทั่วโลก เพราะพลเมืองชั่วคราวเหล่านี้มีสิทธิที่จะหางานทำ และเข้าถึงการศึกษา จากนโยบายรองรับผู้ลี้ภัย ตัวค่ายเองก็ไม่ได้เบียดเสียดไปด้วยเต็นท์ผ้าใบดังที่ใครหลายคนคิด ครอบครัวชาวเซาท์ซูดานเหล่านี้อาศัยอยู่ในกระท่อมที่มีแปลงข้าวโพด, ข้าว หรือผักอื่นๆ ขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก น้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคไหลมาจากท่อที่มีหัวก๊อก และมากกว่าครึ่งของโรงเรียนในค่ายถูกสร้างขึ้นอย่างถาวร ทั้งยังมีคลินิกก่อขึ้นจากก้อนอิฐที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวเซาท์ซูดานดูปลอดภัย ทว่ายากจนแสนเข็ญ บ้านของพวกเขาเต็มไปด้วยเอกสารจากเอ็นจีโอมากมาย ส่วนเฟอร์นิเจอร์ก็มีแค่ฟูกนอนจากแผ่นโฟม เก้าอี้พลาสติก และโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ ตลาดที่พอจะจับจ่ายซื้อหาสินค้าได้ขายแค่สบู่กับโซดา ดังนั้นของใช้ต่างๆ จึงถูกสร้างขึ้นด้วยมือของผู้ลี้ภัยเอง ตัวอย่างที่น่าประทับใจคือเด็กๆ ที่ใช้สิ่งที่มีอย่างสมบูรณ์ล้นเหลือให้เกิดประโยชน์ มันคือ “ดิน” เราเดินทางไกลมาถึงที่นี่ก็เพื่อชมความชาญฉลาดและความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา ซึ่ง Asha พานักประดิษฐ์ตัวจิ๋วเหล่านี้มาถ่ายรูปเรียงคน
ไม่กี่วันถัดมา เด็กๆ ทราบว่าพวกเรากลับมายังหมู่บ้านแห่งนี้อีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่ม พวกเขาเข้าแถวเรียงรายตามสองข้างถนน และดึงเราให้เดินเข้าไปยังร้านน้ำชาเล็กๆ ที่ซึ่งเราได้พบกับของเล่นสุดสร้างสรรค์คอลเลคชั่นล่าสุด วิทยุดินเหนียวที่มีแท่งไม้เสียบแทนเสา, ตุ๊กตาดินเหนียวที่มีผมสีดำเต็มหัว และสิงห์นักบิดสวมหมวกกันน็อคบนมอเตอร์ไซค์จำลอง
เด็กชายคนหนึ่งถือปืนดินเหนียวอย่างระมัดระวังให้โนราถ่ายภาพ Asha สั่งให้เด็กที่เหลือต่อแถวตามหลังเธอ บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงโหวกเหวกปนเสียงหัวเราะ บางคนยังคงตกแต่งของเล่นของตนอย่างประณีตแม้อยู่ในแถว ที่ท้ายแถวเด็กชายคนสุดท้ายผู้สวมเสื้อลาย และมีรอยยิ้มกว้างกำลังพยายามปั้นก้อนดินในมือให้เป็นของเล่นชิ้นใหม่
เรื่อง นีนา สตรอคลิก
ภาพถ่าย โนรา โลเร็ก
อ่านเพิ่มเติม
บ้านแสนสุขของผู้ลี้ภัยเซาท์ซูดาน