ศาสตร์ ศิลป์ สืบสาน ณ บ้านปลายเนิน แหล่งบ่มเพาะงานศิลป์แผ่นดินสยาม

ศาสตร์ ศิลป์ สืบสาน ณ บ้านปลายเนิน แหล่งบ่มเพาะงานศิลป์แผ่นดินสยาม

ศาสตร์ ศิลป์ สืบสาน ณ บ้านปลายเนิน

แหล่งบ่มเพาะงานศิลป์แผ่นดินสยาม

“เราได้รับทราบว่า โครงการผ่าน EIA [รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม] แล้ว  เรากำลังปรึกษาหารือกับผู้รู้ต่างๆว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ยอมรับว่าหนักใจ หนักใจมากๆ ค่ะ” ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ ทายาทรุ่นที่สามแห่งราชสกุลจิตรพงศ์ พูดถึงโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมความสูง 36 ชั้นที่วางแผนจะก่อสร้างห่างจาก “พระตำหนักตึก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “บ้านปลายเนิน” หรือ “วังคลองเตย” อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” หรือ “สมเด็จครู” ต้นราชสกุลจิตรพงศ์ เพียง 23 เมตร

พระตำหนักไทย บ้านปลายเนิน เคยเป็นทั้งที่ประทับและสถานที่ทรงงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
บ้านปลายเนิน
ภาพมุมสูง พระตำหนักไทย บ้านปลายเนิน

แม้ก่อนหน้านี้จะมีความพยายามของทายาทราชสกุลจิตรพงศ์ในการเจรจากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายราชการและเจ้าของโครงการ รวมถึงมีผู้ร่วมรณรงค์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง change.org เพื่อขอให้ระงับหรือชะลอโครงการออกไปก่อน ทว่าจนถึงปัจจุบันกลับมีแนวโน้มว่าไม่เป็นผล สิ่งหนึ่งที่น่าจะมีส่วนช่วยอย่างยิ่ง คือการสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของบ้านปลายเนินในฐานะ “แหล่งบ่มเพาะงานศิลป์แผ่นดินสยาม” แม้ที่นี่จะยังไม่มีสถานะเป็นโบราณสถานอย่างเป็นทางการก็ตาม

บ้านปลายเนิน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

จาก “ครูพักลักจำ” ถึง นายช่างใหญ่ใหญ่แห่งกรุงสยาม”

ม.ร.ว. จักรรถ จิตรพงศ์  ทายาทรุ่นที่สามผู้มีศักดิ์เป็นหลานในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กล่าวถึง “สมเด็จปู่” ว่า พระองค์ไม่เคยทรงศึกษาด้านศิลปะอย่างเป็นทางการ สิ่งที่ทรงทำตั้งแต่ทรงพระเยาว์คือ ทรงสังเกต เรียนรู้ และฝึกฝนด้วยพระองค์เอง เข้าทำนอง “ครูพักลักจำ” กระนั้น ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งอย่างยิ่งที่พระอัจฉริยภาพด้านงานศิลป์แขนงต่างๆ ของ “สมเด็จครู” ก็เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง

ภาพเขียน “พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ” ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวาดและออกแบบกรอบรูปด้วยพระองค์เอง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ เล่าถึงภาพนี้ว่า แม้สมเด็จครูจะถูกหล่อหลอมจากศิลปะตามขนบไทยโบราณ แต่ก็ทรงมีความคิดสร้างสรรค์นำสมัย เช่น ในภาพนี้ แทนที่จะทรงวาดพระอินทร์เป็นสีเขียวเข้มตามขนบ พระองค์กลับทรงเลือกใช้สีเขียวเรืองๆ และทรงวาดช้างมีสี่งาเพื่อสื่อถึงความพิเศษ แทนที่จะเป็นช้างสามเศียรแบบช้างเอราวัณทั่วไป ทรงให้เหตุผลว่า วาดอย่างไรก็ออกมาไม่สวย ไม่ลงตัว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ประสูติเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2406 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เมื่อเจริญพระชันษาเพียง 5 ปี ก็ทรงเริ่มถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีหลายกระทรวง เช่น กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานศิลปะและงานช่างแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิจิตรศิลป์ สถาปัตยศิลป์  ดุริยางคศิลป์ หรือวรรณศิลป์ ทรงถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งในด้านงานช่างและงานศิลป์อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเป็นนายงานควบคุมการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเตรียมงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี นอกจากนั้น ยังทรงพระนิพนธ์โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ทรงออกแบบพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหรียญราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ  ทรงเขียนภาพจิตรกรรม และทรงพระนิพนธ์บทเพลงมากมาย อาทิ เพลงเขมรไทรโยค ทั้งยังทรงออกแบบงานสถาปัตยกรรมอย่างพระอุโบสถ ซุ้มรั้ว ประตู พระที่นั่งทรงธรรม วิหารสมเด็จ และศาลาการเปรียญในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เพื่อน้อมเกล้าฯถวายแด่พระบรมเชษฐาธิราช ครั้นเจริญพระชันษา 42 ปี ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง ก่อนจะกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2452 ขณะมีพระชันษา 46 ปี ด้วยเหตุผลเรื่องพระพลานามัย ถึงกระนั้นก็ยังทรงงานช่างศิลป์อยู่เป็นนิจ

บ้านปลายเนิน
สมเด็จพะระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบพระอุโบสถจัตรุมุขหลังคาซ้อนลดหลั่นอันสง่างามของวัดเบญจมพบิตรดุสิตวนาราม (ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ล่วงสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิดทั้งงานช่างและงานศิลป์จวบจนสิ้นรัชกาล เป็นต้นว่า ทรงออกแบบพระราชลัญจกรพระวชิระประจำพระองค์ ทรงพระนิพนธ์กาพย์เห่เรือในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตลอดจนทรงออกแบบประติมากรรมพระแม่ธรณีบีบมวยผมซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา เป็นต้น

พระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผลงานการออกแบบของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ครั้นสยามประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ประกาศเลิกอภิรัฐมนตรีสภา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาสูงสุดถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงล่วงพ้นจากตำแหน่ง ก่อนจะทรงกลับมาดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ในปีต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สิ้นพระชนม์อย่างสงบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 ณ ตำหนักตึกในบ้านปลายเนิน ขณะเจริญพระชันษา 83 ปี

ภาพพระอาทิตย์ชักรถบนเพดานพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญในรัชกาลที่ห้า (พระที่นั่งบรมพิมานในปัจจุบัน) ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของศิลปะไทยร่วมสมัย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงร่างแบบขึ้น นายคาร์โล ริโกลี ศิลปินชาวอิตาลี เป็นผู้ขยายแบบและระบายสีภาพ

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ได้ยกย่องพระองค์ในฐานะ ”บุคคลสำคัญของโลก” เมื่อ พ.ศ. 2506  ทุกปีเมื่อถึงวันที่ 28 เมษายน ซึ่งเรียกกันว่า ”วันนริศ” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินยังบ้านปลายเนิน สถานที่ประทับสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เพื่อทรงร่วมบรรเลงดนตรีไทยเพื่อรำลึกถึง ”สมเด็จครู” ผู้ทรงเป็นนายช่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

รู้จักบ้านปลายเนิน

ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2452 เนื่องจากทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยโตและโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง  เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ ผู้ที่เป็นทั้งพระญาติและมิตร ได้ชักชวนให้เสด็จมาพักตากอากาศที่ตำบลคลองเตย เนื่องจากที่นี่มีอากาศโปร่งบริสุทธิ์  พระองค์จึงทรงหาซื้อที่นาริมคลองมาแปลงหนึ่งและปลูกสร้างตำหนักจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2457 ในที่สุดพระองค์ก็ทรงย้ายจากที่ประทับเดิม คือ วังท่าพระ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศิลปากร) มาประทับที่ตำหนัก ณ ตำบลคลองเตยและทรงเรียกตำหนักที่ประทับนี้ว่า “บ้านปลายเนิน” และคนทั่วไปมักเรียกว่า “วังคลองเตย”

สมเด็จครูที่ตำหนักไทย บ้านปลายเนิน
บ้านปลายเนิน
ตำหนักตึก บ้านปลายเนิน ในบั้นปลายพระชนม์ชัพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงย้ายมาประทับที่ตำหนักแห่งนี้จนสิ้นพระชนม์ในห้องบรรทมบนชั้นสอง

ปัจจุบัน บ้านปลายเนินเป็นที่พำนักของทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ และยังเป็นสถานที่ตั้งของมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อมอบรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ หรือ “รางวัลนริศ” เพื่อให้เกียรติและสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่นิสิต นักศึกษาและนักเรียนจากทั่วประเทศ ในการศึกษา เรียนรู้ และวิจัยศิลปไทยทุกประเภท ทั้งคีตศิลป์ นาฏศิลป์ จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม มาเป็นเวลามากกว่า 50 ปี  เพื่อส่งเสริมศิลปินที่มีความรู้ความสามารถให้สืบสานงานศิลป์คู่กับแผ่นดินไทยต่อไป

ทายาทบ้านปลายเนินเปิดตำหนักไทย ซึ่งเคยเป็นที่ประทับและสถานที่ทรงงานของสมเด็จครู ให้ประชาชนทั่วไป เข้าชมในวันที่ 29 เมษายนของทุกปี และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดย “วันนริศ” ปี พ.ศ. 2560 มีประชาชนเดินทางมาชมตำหนักไทยมากกว่า 2,000 คน

ทายาทรุ่นที่สี่ (รุ่นเหลน) ของสมเด็จครูวางผังแม่บทอนาคตของบ้านปลายเนินด้วยการจัดทำทะเบียนภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครู ศิลปวัตถุโบราณที่ทรงสะสม และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ อีกทั้งเตรียมการซ่อมแซมและอนุรักษ์อาคารสำคัญภายในบริเวณวังคลองเตย ได้แก่ ตำหนักไทย ตำหนักตึก เรือนคุณย่า และเรือนละคร ด้วยความตั้งใจว่าจะได้อนุรักษ์และปรับปรุงอาคารทั้งหมดเพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ และสถานที่อบรมที่สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าชมและศึกษาได้ในวันข้างหน้า

่บ้านปลายเนิน
ตัวอย่างภาพร่างและลายพระหัตถ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทายาทรุ่นที่สี่แห่งราชสกุลจิตรพงศ์ หวังจะจัดทำระเบียนเพื่ออนุรักษ์ และนำออกแสดงให้สาธารณชนได้ชมและศึกษาในอนาคต
บ้านปลายเนิน
หัวโขน (สันนิษฐานว่าเป็นทศกัณฐ์) ซึ่งเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัตถุจำนวนมากที่ยังคงได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ตำหนักตึก บ้านปลายเนิน ทายาทรุ่นที่สี่หวังจะจัดทำระเบียนเพื่ออนุรักษ์ และนำออกแสดงให้สาธารณชนได้ศึกษาในอนาคต

โครงการที่ได้เริ่มแล้วคือการซ่อมตำหนักไทย ทีมสถาปนิกอนุรักษ์ นำโดยดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี ทำงานร่วมกับรุกขกร นักออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ภูมิสถาปนิกและวิศวกรงานระบบระบายน้ำ ทุกคนตั้งใจที่จะทำให้เสร็จพร้อมจัดงานวันนริศในปี พ.ศ. 2562

* ขอบคุณข้อมูลและภาพถ่ายบางส่วนจากบ้านปลายเนิน และทายาทรุ่นที่สามและสี่แห่งราชสกุลจิตรพงศ์


อ่านเพิ่มเติม

เมืองไทยในอดีต : ภาพเก่าสยามประเทศจากคลังภาพ National Geographic

Recommend