ตัวจริงของอาทิตย์ ศิวะหรรษากุล ไม่เหมือนกับตัวหนังสือที่เขาเขียนบนเพจแม้แต่น้อย หนุ่มเนิร์ดร่างท้วม หัวเราะเสียงแหบ ไว้เคราหรอมแหรมและใส่แว่น เพิ่งพกพาอาการปวดหลังจากออฟฟิศซินโดรมมาพบผม
เขาเป็นแอดมินเจ้าของเพจ “แดกเบียร์ให้เพลียแคม” แฟนเพจสุดเกรียนที่เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำถึงเบียร์กว่า 1,600 ยี่ห้อที่เขาได้ชิม มียอดไลก์กว่าสามหมื่น เป็นหนึ่งในแฟนเพจเกี่ยวกับเบียร์ที่มีคนติดตามมากที่สุด
อาทิตย์เริ่มต้นความคลั่งไคล้ด้วยเบียร์ข้าวสาลียอดนิยมจากเบลเยียม ที่มีผู้นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อสองสามปีก่อน จากนั้นเขาจึงเริ่มเสาะหาเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศหลากชนิด
“ช่วงแรกๆผมกินไอพีเอ (เบียร์ที่รสขมนำและเน้นกลิ่นจากดอกฮอปส์) ไม่ได้เลยครับ คายทิ้ง เบียร์อะไรไม่รู้ขมมาก ก็สงสัยว่าทำไมคนอื่นกินได้ ทำไมเราไม่เข้าใจ เลยเริ่มค้นข้อมูล” เขาศึกษาที่มาที่ไปทีละน้อยจากข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จนค้นพบว่า โลกของเบียร์นั้นเป็นมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม
เบียร์หรือเอลเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้ดื่มมากเป็นอันดับสามของโลก รองจากนํ้าเปล่าและชา เป็นสุราหมักชนิดแรกของโลกที่กำเนิดพร้อมสังคมเกษตรกรรม และขับเคลื่อนอารยธรรมโบราณมาตั้งแต่ยุคอียิปต์ เมโสโปเตเมีย และจีน เบียร์ประกอบด้วยวัตถุดิบพื้นฐาน 4 ชนิด ได้แก่ นํ้า มอลต์ (ข้าวที่นำไปเพาะจนงอกเป็นต้นอ่อน แล้วนำไปอบแห้ง) ดอกฮอปส์ และยีสต์
เบียร์โบราณแตกต่างจากเบียร์ในปัจจุบันลิบลับ เพราะมีส่วนประกอบพื้นฐานเพียงธัญพืชและนํ้า อาจมีสมุนไพรเพิ่มเติมลงไป และปล่อยให้ยีสต์ในธรรมชาติหมักเอง ในเวลาต่อมา มีการนำดอกฮอปส์ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ทำยารักษาโรคในยุโรปยุคกลางมาใส่ในเบียร์ เพื่อใช้กรดนํ้ามันที่มีในดอกควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ ในยุคที่วิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มต้น เบียร์ได้ชื่อว่าเป็น “ของขวัญจากพระเจ้า” เพราะมนุษย์ยังไม่สามารถไขปริศนาที่มาของแอลกอฮอล์ได้ กระทั่งชีววิทยาค้นพบยีสต์ ของขวัญจากพระเจ้าจึงกลายมาเป็นวิทยาศาสตร์
ทุกวันนี้ กรรมวิธีผลิตเบียร์แตกแขนงไร้ขีดจำกัด มีการทดลองทำเบียร์ใหม่ๆมากมาย และเบียร์ที่มีอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เช่น เบียร์เปรี้ยวที่ใช้จุลินทรีย์แลกโตบาซิลลัส เบียร์ที่เติมฮอปส์ลงไปจำนวนมากหรือไอพีเอ เบียร์ที่ผลิตโดยนักบวชในอารามและนำรายได้มาจุนเจือศาสนา เบียร์ที่กลั่นผ่านจุดเยือกแข็งหรือไอบ็อก (Eibock) เบียร์ที่บ่มยาวนานและนำมาผสมกับเบียร์อื่นๆ
ประเทศไทยเริ่มผลิตเบียร์ครั้งแรกราวสมัยรัชกาลที่เจ็ดโดยมีพื้นฐานจากประเทศเยอรมนี ทุกวันนี้มีเบียร์ตลาด (commercial beer) ที่ผลิตโดยโรงงานในประเทศไทยและวางจำหน่ายแบบขวดหรือกระป๋องราว 10 ยี่ห้อ มาจากโรงงาน 6 โรง แต่มีเจ้าของแค่ 2-3 ราย และเป็นเบียร์ประเภทเดียวกันหมดคือลาเกอร์เบียร์ ขณะที่โรงผลิตเบียร์ขนาดเล็กถูกกำหนดให้ขายเฉพาะสถานที่ผลิตเท่านั้น และต้องมีกำลังการผลิตขั้นตํ่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกินหนึ่งล้านลิตรต่อปี
ทุกวันนี้ กระแสคราฟต์เบียร์ (craft beer) หรือเบียร์ที่ผลิตในปริมาณไม่มาก และให้รสชาติแตกต่างจากเบียร์ที่ผลิตในโรงงานใหญ่เติบโตเร็วจนน่าสนใจ เบียร์เหล่านี้นำเข้ามาจากต่างประเทศ และกำลังเป็นกระแสที่มาแรง “คงเพราะผู้บริโภคเบื่อไงครับ เพราะมันไม่มีตัวเลือก” อาทิตย์กล่าว
การหลั่งไหลเข้ามาของเบียร์จากต่างประเทศ และข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ยังเบิกทางให้คนไทยไม่น้อยได้เรียนรู้ว่า การหมักเบียร์เพื่อดื่มเองที่บ้านหรือโฮมบริว (homebrew)ไม่ใช่เรื่องยากและลงทุนไม่มาก การท้าทายกฎหมายนี้เกิดขึ้นอย่างผลิบานและรวดเร็ว เสมือนการปะทุของภูเขาไฟที่อัดอั้นมานาน มีเบียร์ “ใต้ดิน” เกิดขึ้นมา มีแหล่งวัตถุดิบจำหน่าย และความพยายามเรียกร้องให้ผลิตเบียร์ได้เสรีแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับสุรา
“ตลาดที่มีแค่ลาเกอร์สีเหมือนกัน รสชาติแทบไม่ต่างกันอยู่ 3-4 ประเภท มันสนุกตรงไหน กินอย่างนี้มาทั้งชีวิต ผมเชื่อว่าชีวิตที่มีทางเลือกถึงจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ ผมมองเบียร์ว่าเป็นสุนทรียะของชีวิต ไม่ได้มองเป็นของมึนเมา คือถ้าเป็นสุนทรียะของชีวิต ก็ควรมีทางเลือกให้ผู้บริโภคหรือเปล่าครับ” เขากล่าว
ตลอดการเก็บข้อมูลสารคดีเรื่องนี้ ผมได้พบเห็นพลวัตแห่งวัฒนธรรมนํ้าเมาที่น่าสนใจหลายอย่าง ผมได้ข่าวคนไทยกลุ่มหนึ่งที่เริ่มต้นด้วยการทำเบียร์ใต้ดิน และต้องการจำหน่ายเบียร์ทางเลือก “เสียภาษี” ด้วยการรอนแรมไปผลิตยังต่างประเทศ และหวังส่งกลับเข้ามาเมืองไทยโดยตีตราเป็นเบียร์ต่างประเทศ พวกเขาก่อตั้งแฟนเพจ “ขบวนการเสรีเบียร์” ขึ้นมา เพื่อบอกเล่าความพยายามทำในสิ่งที่รักอย่างยากลำบาก
ท่ามกลางการถกเถียงและเสียงค่อนขอดระหว่างฝั่ง “ขวาจัด” และ “ซ้ายจัด” ในเรื่องสุราคงไม่มีวันจบสิ้น ความเข้มข้นของมาตรการเมาแล้วขับเป็นเรื่องที่พัฒนาขึ้นในสังคมที่มีนักดื่มระดับต้นๆของโลก แต่การแห่กักตุนสุราก่อนวันสำคัญทางศาสนาจะมาถึง เป็นความหน้าไหว้หลังหลอกทางสังคม พอๆกับการที่ใครๆก็รู้ว่าจะหาซื้อสุราได้อย่างไรในช่วงเวลาที่กฎหมายห้ามจำหน่าย
กระนั้น วัฒนธรรมสุราก็หยั่งรากลึกและเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนความเป็นไปและสะท้อนลักษณะเฉพาะของสังคมเสมอ เช้าวันต่อมาที่โรงงานผลิตอุของฤทธิ์ดา และวัฒนา คลาคลํ่าไปด้วยข้าราชการท้องถิ่นที่มาดูงานทั้งสองกำลังอวดผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นคือ “อุพร้อมดื่ม” บรรจุในขวดเซรามิกทรงนํ้าเต้า อุดปากขวดด้วยจุกคอร์กในหีบห่อกล่องกระดาษ คล้ายสุราของเกาหลีหรือญี่ปุ่น
“เราอยากให้เป็นเครื่องดื่มประจำชาติค่ะ” วัฒนาบอก
ทุกวันนี้ อุของเรณูนครเดินทางไปไกลถึงต่างประเทศแล้วเงียบๆ “อย่ามองเป็นของมึนเมาสิคะ เพราะเราไม่ได้ขายแค่สุรา แต่เราขายวัฒนธรรมค่ะ” วัฒนาทิ้งท้าย