อร่อยเหาะยกล้อ

อร่อยเหาะยกล้อ

เรื่อง  เดวิด บรินด์ลีย์
ภาพถ่าย เกิร์ด ลุดวิก

เวลาสี่ทุ่มของคืนวันเสาร์อันหนาวเย็นในลอสแอนเจลิส ผู้คนกว่า 30 ชีวิตสวมหมวกและผ้าพันคอฝ่าอุณหภูมิเก้าองศาเซลเซียสซึ่งนับว่าหนาวมากสำหรับนครแห่งนี้ มาเข้าแถวอยู่ริมทางเท้าหน้ารถสเตปแวน (step van)  ที่ดัดแปลงเป็นรถขายอาหารเคลื่อนที่หรือฟู้ดทรัก (food truck) เมื่อหน้าต่างด้านข้างรถเลื่อนเปิดออก ปรากฏการณ์อาหารฮอตฮิตในนาม “โคกิ บาร์บีคิว” (Kogi BBQ) ก็เข้าเกียร์พร้อมเสิร์ฟแล้ว

โคกิบาร์บีคิวโกยทั้งเงินทั้งกล่องตั้งแต่แจ้งเกิดเมื่อปี 2008 หลังสองเกลอหุ้นส่วนฟูมฟักไอเดียบรรเจิดในการรวมรสชาติของเนื้อย่างเกาหลีเข้ากับทาโกหรือแป้งห่อสไตล์เม็กซิกัน และขนขึ้นรถบรรทุกเล็กเร่ขายตามข้างถนนในลอสแอนเจลิส จะว่าไปแล้วรถขายอาหารไม่ใช่ของใหม่สำหรับเมืองนี้  แต่เป็นแหล่งขายอาหารราคาถูกที่หาซื้อได้ตามข้างถนนหรือไม่ก็ไซต์งานก่อสร้าง และผู้คนมักมองแบบเหยียดๆว่าเป็น “แผงแมงสาบ” ดังนั้นความคิดที่จะขายทาโกแนวเกาหลีในฟู้ดทรักจึงฟังดูเป็น “ไอเดียเพี้ยนๆ” ตามที่รอย ชอย ผู้ก่อตั้งโคกิบาร์บีคิว กล่าวไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำของเขาที่ชื่อ L.A. Son หรือ “ลูกชายของแอล.เอ”

สิ่งที่ทำให้โคกิบาร์บีคิวโด่งดังขึ้นมา คือการเป็นเจ้าแรกๆที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เข้าถึงลูกค้า ในตอนแรกทีมงานเล็กๆของโคกิขายอาหารให้บรรดานักเที่ยวกลางคืนที่มึนเมานอกไนต์คลับในย่านซันเซตบูเลอวาร์ด  แต่ไปได้ไม่ดีนัก จนกระทั่งทีมงานลองหันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเพิ่งเริ่มฮิตในช่วงนั้นโดยใช้ทวิตเตอร์  โคกิจะคอยส่งข่าวอัปเดตสถานที่ขายซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ กลุ่มลูกค้าคนเมืองวัยหนุ่มสาวติดโซเชียลมีเดียเริ่มติดตามรถโคกิ ภายในเวลาไม่กี่เดือน โคกิก็มีลูกค้าเพิ่มเป็นหลายร้อยคน นิตยสาร นิวส์วีก เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ร้านอาหารไวรัลร้านแรกของอเมริกา” [viral – ปรากฏการณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ที่บางเรื่องเป็นที่รู้จักหรือพูดถึงอย่างรวดเร็ว] ปัจจุบันโคกิบาร์บีคิวมียอดผู้ติดตาม 132,000 คน เพิ่มรถขายอาหารเคลื่อนที่เป็นสี่คัน  อีกทั้งยังมีรถจอดอยู่กับที่หนึ่งคันที่สนามบินแอลเอเอกซ์ (LAX) ของลอสแอนเจลิส

น่าแปลกที่วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 กลายเป็นสภาพการณ์ที่เอื้อต่อการบ่มเพาะอุปสงค์    และอุปทานของรถขายอาหารเคลื่อนที่  บรรดาพ่อครัวหัวป่าก์และผู้ประกอบการที่หลงใหลในธุรกิจอาหารสามารถเปิดกิจการได้โดยใช้เงินลงทุนเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของการเปิดร้านอาหาร  ขณะที่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากขึ้นยามที่เงินในกระเป๋าน้อยลง  โดยสามารถหาซื้ออาหารที่แตกต่างในแง่รสชาติและความคิดสร้างสรรค์ได้ในราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับอาหารตามภัตตาคารหรู สื่อสังคม ออนไลน์จึงกลายเป็นสื่อกลางที่เชื่อมต่อรถขายอาหารกับลูกค้า และก่อให้เกิดเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการอาหาร

ทุกวันนี้ รถขายอาหารที่จัดว่าค่อนข้างมีระดับหลายพันคันวิ่งตระเวนไปตามท้องถนนในเมืองใหญ่ๆ ตั้งแต่แซนแฟรนซิสโกลงไปถึงออสตินในรัฐเทกซัสและวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเร่ขายสารพัดสิ่ง ตั้งแต่แซนด์วิชกริลชีสสั่งได้ตามใจชอบ ลอบสเตอร์โรลล์หรูเลิศ  ไปจนถึงไอศกรีมโคนโฮมเมด  และป๊อปคอร์นคั่วใหม่ๆ สิ่งที่ตอนแรกดูเหมือนจะเป็นแค่เทรนด์ไฟไหม้ฟางกลับเติบโตเป็นธุรกิจมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ฟู้ดทรักอเมริกันยังเคลื่อนทัพบุกไปถึงอิตาลีในงานแสดงสินค้าโลก (World’s Fair) ประจำปีนี้ที่มิลาน  โดยเปิดขายอาหารยอดนิยมต่างๆซึ่งแน่นอนว่ามีทาโกสูตรเกาหลีรวมอยู่ด้วย กระแสนี้ยังลามไปยังภูมิภาคอื่นๆของโลก ไม่เว้นแม้แต่ “แดนสวรรค์ของสตรีทฟู้ด” อย่างเมืองไทย

กระนั้น ธุรกิจที่กำลังรุ่งนี้ก็ไม่ใช่ของหมูๆ “ไม่ใช่อยู่ดีๆมีรถขายอาหารแล้วเงินจะไหลมาเทมานะครับ” เป็นคำเตือนจากปากของรอส เรสนิก ผู้ก่อตั้งโรมมิ่งฮังเกอร์ (Roaming Hunger) แอปพลิเคชั่นในสมาร์ตโฟนที่แสดงแผนที่ระบุตำแหน่งของรถขายอาหารหลายร้อยคันทั่วสหรัฐฯตามเวลาจริงหรือเรียลไทม์  “คุณต้องมีกลยุทธ์และแบรนด์ที่แข็งแกร่งครับ”

นอกจากแบรนด์ที่เด่นชัดและแตกต่างแล้ว จำนวนลูกค้าก็สำคัญ รถขายอาหารหลายคันจะไปจอดตามที่ที่มีคนเดินถนนพลุกพล่าน บางวันจะมีรถราวสิบคันจอดอยู่ที่ถนนวิลเชอร์บูเลอวาร์ดฝั่งตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะของลอสแอนเจลิสเคาน์ตีในช่วงพักกลางวัน การที่มีอาคารสำนักงานอยู่ฝั่งหนึ่งและพิพิธภัณฑ์อีกฝั่งหนึ่งทำให้รถขายอาหารได้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

กลับมาที่แผงของโคกิบาร์บีคิว กลางดึกคืนวันเสาร์ที่หนาวเหน็บคืนนั้น แถวค่อยๆขยับ แต่ลูกค้าใหม่ๆก็มาสมทบจนหางแถวยาวออกไปเรื่อยๆ  การเข้าคิวรอทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน คนแปลกหน้าเริ่มเปิดบทสนทนา คู่รักหนุ่มสาวจากคลีฟแลนด์ที่มาเที่ยวแคลิฟอร์เนียบอกว่า พวกเขาขับรถสองชั่วโมงเพื่อมาต่อแถว อีกคู่ซึ่งอยู่ข้างหน้าบอกว่า เดินมาจากบ้านแค่สองช่วงตึกพร้อมสุนัขเพื่อซื้อโคกิกิน ทั้งสี่คนแบ่งปันเสียงหัวเราะ และเรื่องราวสัพเพเหระ พวกเขาสั่งอาหาร ได้ตามออร์เดอร์ แล้วก็ลงมือกินอย่างเอร็ดอร่อย ช่างเป็นความสุขที่เรียบง่าย แถมอิ่มทั้งกายใจ แนวคิดนี้คงไม่ใช่แค่ความคิดเพี้ยนๆ  เสียแล้วกระมัง

 

 

Recommend