SLE เกิดจากอะไรและอาการของโรค
เซลล์ เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในร่างกาย หลายเซลล์ประกอบกันเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะ หลายอวัยวะทำงานร่วมกันเป็นระบบเพื่อขับเคลื่อนร่างกาย
ระบบภูมิคุ้มกันมีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
SLE หรือ Systemic Lupus Erythematosus คือโรคที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยการสร้างภูมิต้านทานต่อเซลล์ และส่วนประกอบของเซลล์ในร่างกายตนเอง เมื่อเซลล์ถูกทำลาย จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อ อวัยวะ และระบบต่างๆในร่างกายทำงานผิดปกติไป
อาการของ SLE จึงสามารถเกิดได้กับหลายอวัยวะในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ไต ข้อต่อ เม็ดเลือด ปอด หัวใจ และระบบประสาท เป็นต้น
หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ ในทางการแพทย์ก็จะมีเกณฑ์ในการวินิจฉัยโดยดูจากอาการ อาการแสดง และผลทางห้องปฏิบัติการณ์ร่วมกัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนเกิดเป็นโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมมีบทบาทร่วมกันในการเกิดโรค
อุบัติการณ์การเกิดโรค
ร้อยละ 90 ของโรคนี้พบได้ในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ ช่วงอายุระหว่าง 16 – 64 ปี
ชนิดและความรุนแรงของโรค
ชนิดของ SLE ถูกแบ่งตามความรุนแรงของโรค
กลุ่ม 1 คือ มีพยาธิสภาพในอวัยวะที่มีความสำคัญสูง ได้แก่ ไต หัว ใจ ปอด ระบบเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท
กลุ่มที่ 2 คือ ไม่มีพยาธิสภาพในอวัยวะที่มีความสำคัญสูง ได้แก่ ผิวหนัง กระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ
ซึ่งการแบ่งความรุนแรงนี้มีผลต่อแนวทางการรักษาที่ต่างกันออกไป กล่าวคือ ผู้ป่วยในกลุ่มที่ 1 จัดว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
แนวทางการรักษาโรค
แนวทางการรักษาโรค SLE คือการรักษาอวัยวะที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก โดยการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดกระบวนการอักเสบของอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจได้รับ Cytotoxic Drug หรือยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่หากการรักษาโดยการให้ยาได้ผลจะสามารถทำให้โรคสงบลงได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงจากการใช้ยา
วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรค
คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรค SLE มักลดลงเนื่องจากข้อจำกัดของโรค มีผลต่อการทำงาน และกิจกรรมทางสังคมต่างๆ การเข้าถึงการรักษาจึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ร่วมกับการดูแลสภาพทางจิตใจ
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรค SLE ควรรับประทานยาและติดตามการรักษาอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น การกินอาหารที่ไม่สุก หรือไม่สะอาด เนื่องจากการกินยากดภูมิคุ้มกันจะทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่รับประทานยาเองโดยไม่จำเป็น เพราะยาบางชนิดอาจทำให้โรคกำเริบได้ ในบางรายหากมีผื่นแพ้แสงควรหลีกเลี่ยงการเจอแสงแดดจัด ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ หากต้องการตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ ทั้งนี้เพราะถ้าโรคไม่สงบ โอกาสกำเริบขณะตั้งครรภ์มีมาก และอาจเป็นอันตรายทั้งแก่ผู้ป่วยและทารกในครรภ์
ข้อมูลอ้างอิง
www.cdc.gov/lupus/facts/detailed.html#sle
https://emedicine.medscape.com/article/332244-overview
ขอขอบคุณ
แพทย์หญิงภัทราพร ศรีพระคุณ
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป