เสรีภาพทางการแสดงออกผ่านการชุมนุมแบบ New Normal

เสรีภาพทางการแสดงออกผ่านการชุมนุมแบบ New Normal

เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ถูกลิดรอนโดยข้อจำกัดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่สมควรถูกซ้ำเติมด้วยการถูกลิดรอนจากกระบวนการยุติธรรม

เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) หรือเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานโดยชอบธรรมที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ทั้งในรูปแบบของการกระทำและความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันในอิสระแก่ประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เสรีภาพทางการแสดงออกและการพูดในประเทศไทยนั้นถูกรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดที่มากในวิธีการ รูปแบบ และช่องทาง แต่การแสดงออกบางส่วนก็ถูกจำกัดไว้เพื่อความถูกต้องทางศีลธรรม เช่น การหมิ่นประมาทผู้อื่น

ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน “เพดานของการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ” กล่าวโดย คุณวุฒิ บุญฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยเหตุนี้เองทำให้สถานการณ์การชุมนุมภายในเมืองใหญ่ซึ่งกำลังขยายตัวออกไปในวงกว้างต้องหยุดชะงักลง รวมไปถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของภาครัฐที่เลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 แทนที่การใช้ พรบ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นกฎหมายโดยตรงต่อสถานการณ์ดังกล่าว

หากพิจารณารายละเอียดของประกาศแต่ละฉบับอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะเห็นได้ว่า เสรีภาพทางการชุมนุมนั้นถูกลดทอนลงจากเดิมในสถานการณ์ปกติเป็นอย่างมาก นอกจากนี้มาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินกลับไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน

ทว่ากลับมีการแสดงออกทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่แลดูจะเหมาะสมต่อสถานการณ์ในตอนนี้ ทั้งในเรื่องของรูปแบบและวิธีการที่ปลอดภัยจากข้อจำกัดอันไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังปลอดภัยต่อความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีกด้วย  ซึ่งการแสดงออกนั้นถูกเรียกว่า “ยืนหยุดขัง

ยืนหยุดขัง

“เป็นการยืนเฉย ๆ ไม่มีการปราศรัย ไม่มีการเดินขบวน ตอนแรกหลายคนก็ตั้งคำถามและมองว่ามันไม่มีประโยชน์” ผู้จัดกิจกรรมกล่าว

“ยืนหยุดขัง” เป็นการชุมนุมด้วยสันติวิธีอย่างเต็มรูปแบบ ไม่มีต้นทุนเพื่อจัดเวทีสำหรับขึ้นปราศรัย ไร้ซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนตลอดระยะการยืน 112 นาที อีกทั้งยังมีการเว้นระยะห่างทางสังคมตลอดการดำเนินกิจกรรม ทำให้การยืนหยุดขังถือเป็นวิธีแสดงออกทางการเมืองรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมต่อสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน

นอกจากนี้การแสดงออกยังเป็นการยืนเฉย ๆ ผ่านประเด็นการเรียกร้องให้ประชาชนและนักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งถูกจับกุมอย่างไม่ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม และถูกฝากขังนั้นได้รับสิทธิ์ประกันตัว หรือที่เรียกว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” เพียงประเด็นเดียว

ครั้งแรกของการยืนหยุดขัง 112 นาที เริ่มต้นมาจากการยืนที่หน้าศาลอาญาของกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง แต่จัดเพียงครั้งเดียว จนกระทั่งกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้จัดขึ้นอีกครั้งที่หน้าศาลฎีกา “มันเป็นสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด จัดขึ้นได้ง่าย และใคร ๆ ก็สามารถเข้าร่วมได้” ผู้จัดกิจกรรมกล่าว

“เราต้องการให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาขณะที่เราร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังนั้นได้รู้ว่ามีพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ถูกคุมขังอยู่เพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพของเขาในการแสดงออก แต่มากไปกว่านั้น เราต้องการที่จะทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้คนที่อยู่ข้างในรู้ว่าเขาไม่ได้สู้อยู่คนเดียว ข้างนอกนี้ก็ยังมีคนที่พร้อมให้กำลังใจ” คุณวุฒิกล่าว

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหนึ่งในจุดประสงค์หลักของการยืนหยุดขัง คือ การสร้างความรับรู้ (Awareness) ต่อสังคมผ่านการร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงเย็นของทุก ๆ วัน อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงในการแสดงออกทางการเมืองของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก การยืนหยุดขังก็จะดำเนินต่อไป

ตั้งคำถามผ่านสันติวิธี

ผลกระทบที่มีต่อการยืนหยุดขังไม่ใช่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่เป็นกฎหมายที่รัฐนำมาใช้ลดทอนเสรีภาพทางการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก ถูกประกาศออกมา ทางผู้จัดจึงแก้ปัญหาด้วยวิธีการกระจายกลุ่มออกไปยืนยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกินจำนวนคนที่ทางการกำหนดไว้

รวมไปถึงการลดระยะเวลาการยืนจาก 112 นาที ให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมง 12 นาที และด้วยมาตรการรับมือสถานการณ์โรคระบาดที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้น ส่งผลให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมนี้แต่อย่างใด

อีกทั้งยังเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการนัดหมาย การยืนหยุดขังจึงไม่ถือว่าเป็นกิจกรรมการชุมนุมหรือสังสรรค์ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด “คล้ายกับการที่คนมาเล่นสเกตบอร์ด หลายคนมากันเองในสถานที่ซึ่งรู้ ๆ กัน จะว่ามันผิด พรบ.โรคติดต่อ ก็ไม่ถูกต้อง” ทางผู้จัดกิจกรรมกล่าวถึงการที่รัฐไม่สามารถเอาผิดกิจกรรมชุมนุมนี้ได้

การยืนหยุดขังถือเป็นการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศผ่านสันติวิธี โดยจะจัดกิจกรรมนี้ต่อไปจนกว่านักกิจกรรมทางการเมืองทุกคนที่ถูกจับกุมจะได้รับสิทธิ์ประกันตัวออกมาครบทุกคน

ซึ่งในปัจจุบัน ทิศทางของกระแสตอบรับทางสังคมนั้นค่อนข้างไปในทางที่ดี ทั้งจากการที่ผู้คนซึ่งกำลังสัญจรไปมาเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่กำลังร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ไม่ใช่แค่การกระจายยืนตามจุดต่าง ๆ แต่เป็นการกระจายยืนตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ในเมืองหลวงอย่างจังหวัดกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่อย่างจังหวัดเชียงใหม่เพียงอย่างเดียว

เพราะในอีกหลาย ๆ จังหวัดมากมาย เช่น ตรัง บุรีรัมย์ และราชบุรี ก็ได้ปรากฏภาพการเข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังภายในจังหวัดนั้น ๆ ส่งผลให้การยืนหยุดขังกลายเป็นวิธีการแสดงออก แม้กระทั่งในพื้นที่ที่มากด้วยผู้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน

New Normal ของการแสดงออก

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางการแสดงออกไม่มากก็น้อย การแสดงออกถูกจำกัดพื้นที่และจำนวนคนเพื่อความปลอดภัยต่อการเสี่ยงติดเชื้อ โดยนอกจากการยืนหยุดขังแล้ว สถานการณ์ปัจจุบันยังก่อให้เกิดช่องทางสำหรับเคลื่อนไหวอย่างมากมาย

หนึ่งในนั้นคือ ช่องทางบนโลกออนไลน์ที่ง่ายต่อการเข้าถึง และเนื่องจากมันไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทางกายภาพ ส่งผลให้การถูกคุกคามเกิดขึ้นได้ยากกว่าการลงพื้นที่จริง

การแสดงออกบนโลกออนไลน์จึงให้เสรีภาพแก่ประชาชนไม่น้อยไปกว่าระบอบประชาธิปไตย หัวข้อที่ถูกพูดถึงจนก่อให้เกิดเป็นกระแสในชั่วข้ามคืนสามารถสร้างความน่าสนใจต่อผู้คนได้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงการเข้าถึงข่าวสารต่าง ๆ ที่โอกาสในการถูกปิดกั้นนั้นน้อยกว่าในสื่อกระแสหลัก ในแง่ของการมีปฏิสัมพันธ์ที่สามารถสร้างความเชื่อมต่อระหว่างผู้คนก็ไม่ด้อยไปกว่าการพูดคุยต่อหน้า

ถึงอย่างไรก็ตาม อิสระทางการแสดงออกบนโลกออนไลน์ไม่ได้มีหลักประกันที่แน่ชัด เช่นเดียวกับการชุมนุมบนท้องถนน เพราะด้วย พรบ.คอมพิวเตอร์ ที่ควรจะเข้ามาดูแลจัดการกระทำผิดทางอินเทอร์เน็ต เช่น การฉ้อโกง แอบอ้าง หรือข่มขู่ กลับถูกนำมาใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ และกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับจำกัดเสรีภาพทางการแสดงออกความคิดเห็นของประชาชน

เรื่องและภาพ พัทธนันท์ สวนมะลิ

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


แหล่งอ้างอิง

  • คุณวุฒิ บุญฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)
  • หนึ่งในผู้จัดกิจกรรม “ยืนหยุดขัง”

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ “ฉันทำสิ่งนี้เพื่อประชาธิปไตย” – เสียงจากผู้ประท้วงในเมียนมา

ผู้ประท้วงในเมียนมา

Recommend