คนชอบกลั่นแกล้ง แท้จริงคือคนอ่อนแอ – เหตุผลเบื้องหลังการ บูลลี่ ของมนุษย์

คนชอบกลั่นแกล้ง แท้จริงคือคนอ่อนแอ – เหตุผลเบื้องหลังการ บูลลี่ ของมนุษย์

ทำไมต้อง บูลลี่ ? แท้จริงแล้วผู้ชอบกลั่นแกล้งคือคนอ่อนแอ

“แค่เด็กแกล้งกัน เรื่องปกติ” ประโยคนี้อันตรายสุดขั้ว เพราะนั่นหมายความว่าคุณกำลังทอดทิ้งผู้ถูกรังแก ผลักไสไล่ส่งปัญหาของเขา ในขณะเดียวกันก็มองว่าการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นคือเรื่องธรรมดา

บูลลี่ หรือพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้ทุกที่ แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมโรงเรียน สหประชาชาติให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้เด็กๆ อายุต่ำกว่า 5 ขวบราว 176 ล้านคน เป็นพยานต่อการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและในเพื่อนฝูง และ 30% ของวัยหนุ่มสาวจำนวน 39 ประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือยอมรับว่าเคยกลั่นแกล้งเพื่อน

ด้านการสำรวจเหยื่อ ข้อมูลจาก PISA โดย องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OCED ) ในปี 2015 ระบุ จากการสุ่มสอบถามเด็กวัย 15 ปีจำนวน 540,000 คน ใน 72 ประเทศ พบ 11% เล่าว่าถูกนักเรียนคนอื่นกลั่นแกล้งอย่างน้อย 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะที่อีก 4% ระบุว่าถูกทำร้ายร่างกาย

ใครคือกลุ่มที่ถูกบูลลี่มากที่สุด? เด็กผู้หญิงถูกรังแกมากกว่าเด็กผู้ชาย จากการศึกษาชี้ว่า กลุ่มเด็กที่ชอบกลั่นแกล้งเพื่อนมักมุ่งเป้าไปที่เด็กที่ย้ายเข้ามาใหม่ หรือเด็กที่มีข้อบกพร่องอื่นๆ เช่น ผลการเรียนไม่ดี เล่นกีฬาไม่เก่ง ทว่าในอีกมุมหนึ่งรายงานระบุว่าเด็กที่ได้รับการดูแลและสนับสนุนจากครอบครัวเป็นอย่างดีมีแนวโน้มที่จะถูกบูลลี่น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับความใส่ใจมากพอ และในทางกลับกันส่วนใหญ่แล้วเด็กที่ชอบกลั่นแกล้งรังแกก็มักมีพื้นเพครอบครัวที่ไม่ดีด้วยเช่นกัน

บูลลี่
ช่วงวัย 15 ปี คือช่วงวัยที่เด็กมีการกลั่นแกล้งกันมากที่สุดใน 50 ประเทศทั่วโลก ขอบคุณภาพจาก THE NEW PAPER

สมองของคนชอบบูลลี่

ในการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา จากโรงพยาบาล Sinai ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อปี 2016 พบว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกมีความเชื่อมโยงกับกลไกการให้รางวัลตนเองในสมอง ส่งผลให้บุคคลนั้นๆ เกิดความพึงพอใจขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ทดลองนำหนูตัวผู้ที่โตกว่าใส่เข้าไปในกรงของหนูตัวผู้ที่เด็กกว่า 3 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน พวกเขาพบว่า 70% ของหนูทั้งหมดแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ในขณะที่อีก 30% ไม่แสดง นักวิจัยระบุว่าในหนูกลุ่มที่แสดงความก้าวร้าว เมื่อมีโอกาสที่จะคุกคามหนูที่เด็กกว่า ทีมวิจัยพบการทำงานของสารสื่อประสาทที่เพิ่มมากขึ้นในสมองส่วนหน้า ในขณะที่สมองส่วน habenula ที่ควบคุมอารมณ์และแรงกระตุ้นกลับทำงานลดลง สำหรับในหนูกลุ่มที่ไม่แสดงความก้าวร้าวนั้นผลที่ได้ตรงข้ามกัน

ผลการวิจัยชี้ว่า การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมคุกคามหนูตัวอื่นเปรียบเสมือนการให้รางวัลกับตัวหนูเอง สิ่งนี้สัมพันธ์กับปริมาณสารส่งผ่านประสาทโดปามีน (dopamine) ในสมองที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดภาวะพึงพอใจ สบายใจ แม้ว่านี่จะยังเป็นแค่การทดลองในสัตว์ก็ตาม แต่ก็พอช่วยให้เรามองเห็นโมเดลบางอย่างว่าทำไมใครบางคนจึงชอบใช้ความรุนแรง ด้านทีมวิจัยเสริมว่าสมองเป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เพราะพฤติกรรมของคนที่ก้าวร้าวนั้นมักมีความเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยทางจิตเป็นสำคัญ

แกล้งฉันทำไม?

ในการทำความเข้าใจจิตใจของผู้ที่ชอบกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นจำต้องมองย้อนกลับไปว่า พวกเขาเผชิญอะไรมาจึงกลายเป็นคนนิสัยเช่นทุกวันนี้ และเหล่านี้คือเหตุผลบางประการที่กระตุ้นให้บางคนลุกขึ้นมาบูลลี่เพื่อนร่วมชั้นเรียน

เคยถูกแกล้งมาก่อน – เด็กที่ชอบรังแกเพื่อน มีหลายคนที่เคยถูกรังแกมาก่อน ไม่ว่าจะจากเพื่อนหรือจากครอบครัวก็ตาม และพวกเขารู้สึกว่าต้องระบายความโกรธเกรี้ยวที่ตนเองได้รับออกไปให้ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาเผชิญกับประสบการณ์ร้ายๆ ในวัยเด็ก พวกเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ติดนิสัยระบายความโกรธกับผู้อื่น

แท้จริงแล้วโดดเดี่ยว – ความรู้สึกโดดเดี่ยว และไม่มีความสำคัญอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นได้ ทุกๆ คนต้องการความสนใจ และหากไม่ได้รับความสนใจมากพอ การกลายเป็นคนพาลคือทางเลือกที่ได้ผล เพราะนอกจากจะได้รับความสนใจแล้ว มันยังช่วยให้พวกเขารู้สึกมีอำนาจขึ้น

ความพึงพอใจในตนเองต่ำ – หากใครสักคนรู้สึกว่าตนเองไม่ฉลาดพอ หน้าตาไม่ดีพอ หรือไม่ร่ำรวยมากพอ คนๆ นั้นอาจมองหาวิธีการให้ตนเองรู้สึกดีกว่าคนอื่น และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันจะนำไปสู่การกดให้ผู้อื่นต่ำลงกว่าตนเอง โดยมีความอิจฉาเป็นปัจจัยสำคัญ

อีโก้สูง – บางคนที่ชอบแกล้งเพื่อนก็ไม่ได้มีความนับถือในตนเองต่ำ แต่กลับหยิ่งผยองในตนเองว่าสิ่งที่พวกเขาทำ หรือสิ่งที่พวกเขาคิดนั้นดีที่สุด และอีโก้ที่สูงนี้จะแปรเปลี่ยนไปเป็นความโกรธเกรี้ยว เมื่อใครสักคนท้าทาย หรือพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่ได้ถูกต้องไปเสียหมด

เพราะคุณแตกต่าง – บางครั้งการกลั่นแกล้งก็มาจากเหตุผลง่ายๆ เพียงเพราะเหยื่อแตกต่างจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ, เพศ, สีผิว หรือแม้แต่ความพิการ ความแตกต่างนี้จะถูกหยิบยกมาล้อเลียน จนนำไปสู่การปฏิบัติกับเหยื่อแบบที่ไม่เท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ

บูลลี่
ภาพจำลองการกลั่นแกล้งกันที่เกิดขึ้นในโรงเรียน Branko Radicevic ในเขต Mitrovica North ประเทศคอซอวอ Snezana Dzogovic วัย 16 ปี (ขวา) ถูกเพื่อนรังแกมาตั้งแต่อายุ 11 ปี แต่หลังจากได้รับการสนับสนุนโดยยูนิเซฟ ปัจจุบันเธอกลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านการบูลลี่ ขอบคุณภาพจาก Anush Babajanyan, ยูนิเซฟ

ในงานวิจัยที่เผยแพร่ลงใน Live Science ซึ่งมุ่งหาคำตอบว่าทำไมเด็กบางคนถึงกลั่นแกล้งผู้อื่นชี้ว่า ทัศนคติทางสังคมในโรงเรียนเองก็มีผล ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนที่เชิดชูเด็กเล่นกีฬาเก่ง เหยื่อของการบูลลี่มักเป็นเด็กที่ไม่เก่งกีฬาอะไร และบางครั้งเมื่อนักวิจัยสอบถามเหตุผลของการกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมชั้น เหตุผลก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเพราะเด็กคนนั้นเล่นกีฬาห่วย เลยต้องโดนแกล้ง

มากไปกว่านั้นในการสำรวจยังเผยข้อมูลน่าสนใจ จากการสอบถามเด็กนักเรียนวัย 12 – 16 ปี จากโรงเรียน 14 แห่งในสหราชอาณาจักรที่เคยมีประสบการณ์กลั่นแกล้งผู้อื่น เปรียบเทียบกับเด็กอีก 478 คนที่ไม่เคยแกล้งใครพบว่า ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่ชอบแกล้งเพื่อนมักเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีแค่แม่หรือพ่อเพียงคนเดียว อาศัยอยู่กับญาติ หรือพ่อแม่อุปถัมภ์ และไม่ได้รับความใส่ใจจากที่บ้านมากเท่าที่ควร ข้อมูลนี้สะท้อนความจริงสำคัญว่าสถาบันครอบครัวคือส่วนสำคัญที่สุดในการหล่อหลอมคนๆ หนึ่งให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่

เปลี่ยนแปลงนิสัยได้

พฤติกรรมชอบกลั่นแกล้งรังแกนั้นถูกสั่งสมพัฒนาจากสถานการณ์ยากลำบากที่เจ้าตัวเผชิญมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ไม่ใส่ใจ หรือการขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เปลือกนอกที่หุ้มไปด้วยความก้าวร้าวนี้ทำให้ยากที่จะเจาะเข้าไปถึงตัวตนอันเปราะบางและอ่อนแอข้างใน ทว่าหนึ่งในวิธีสำคัญหาใช่การลงโทษ แต่คือ “การพูดคุย”

ในการทดลองคร่าวๆ นี้คุณจะพบว่าความเมตตาและความอ่อนโยนสามารถจัดการกับผู้ที่ชอบกลั่นแกล้งได้อย่างไร

หากสังคมปฏิบัติกับเด็กคนนั้นๆ เฉกเช่นอันธพาล นักจิตวิทยาชี้ว่ามีแนวโน้มที่เด็กคนดังกล่าวจะมีพฤติกรรมอันธพาลมากขึ้น ฉะนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใช้ความอ่อนโยนในการสร้างความเข้าใจให้แก่พวกเขาใหม่ พูดคุยให้พวกเขามองเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคม ตลอดจนให้โอกาสและเวลาพวกเขาในการปรับปรุงตัว การปฏิบัติต่อเด็กที่ก้าวร้าวด้วยความเคารพและเมตตาจะช่วยให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้มากกว่า และพึงระลึกในทุกการกระทำไว้ว่าผู้ใหญ่คือตัวอย่างของเด็กๆ เสมอ ไม่ว่าจะดีและไม่ดี

นอกจากนั้น รายงานจาก PISA ยังชี้ว่า สัดส่วนของการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 7% หากโรงเรียนนั้นๆ มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ฉะนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นอกเหนือจากครูจะเป็นผู้ปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้แก่นักเรียนเองแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความยุติธรรมกับเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้น นัยหนึ่งเพื่อลงโทษผู้ที่ชอบกลั่นแกล้งอย่างเหมาะสม อีกนัยหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นให้เหยื่อที่ถูกรังแกรู้สึกว่าพวกเขายังมีคนที่พึ่งพาได้ พร้อมกันนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรในโรงเรียนคนอื่นๆ จำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้สึกให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยของทุกคน ตลอดจนรับรู้ว่าจุดใดคือพื้นที่สุ่มเสี่ยง

แหล่งข้อมูล

Bullying: Protection for children is a ‘fundamental human right’ says top UN advocate

Bullies on Bullying: Why We Do It

The Mind Behind the Bully: The Psychology of Bullying

WHY DO PEOPLE BULLY? 9 REASONS FOR BULLYING

A Bully’s Brain Perceives Subordinating Others as a “Reward”

Singapore has third highest rate of bullying globally: Study


อ่านเพิ่มเติม วิวาทะชุดนักเรียน เมื่อเหตุผลทั้งสองฝ่ายล้วนมีน้ำหนัก

ชุดนักเรียน
บรรยากาศวันแรกของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เมื่อเด็กๆ ได้รับอนุญาตให้สวมใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้
ขอบคุณภาพจาก http://www.nationmultimedia.com/detail/national/30361834

Recommend