ปรับปรุงจามจุรียักษ์เมืองกาญจน์ กระทบหนักจากนักท่องเที่ยว

ปรับปรุงจามจุรียักษ์เมืองกาญจน์ กระทบหนักจากนักท่องเที่ยว

ปรับปรุง จามจุรียักษ์ เมืองกาญจน์ กระทบหนักจากนักท่องเที่ยว

หลังภาพถ่ายของต้น จามจุรียักษ์ ในอำเภอเมืองจังหวัดกาญจนบุรี  ที่ได้รับการปรับปรุงทัศนียภาพด้วยการทำทางเดินยกพื้นรอบต้น ได้รับการเผยแพร่ลงในโลกออนไลน์ ผู้คนในโซเชียลพากันแสดงความคิดเห็น “ไม่เห็นด้วย” กับโครงการปรับปรุงต้นไม้เก่าแก่อันเป็นสัญลักษณ์ของกาญจนบุรี โดยส่วนใหญ่มองว่าทัศนียภาพไม่เป็นธรรมชาติดังเดิม ถ่ายรูปไม่สวย ไปจนถึงตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณในการปรับปรุงหลายล้าน กลับได้แนวทางการแก้ไขปัญหาเท่านี้?

 

ต้นจามจุรียักษ์ต้นนี้มีอายุมากกว่าร้อยปี เก่าแก่ขนาดที่ว่าผู้สูงอายุในจังหวัดเองเล่าว่า ตอนพวกเขาเด็กๆ ก็เห็นต้นจามจุรีใหญ่โตมากแล้ว ปัจจุบันต้นจามจุรียักษ์มีความสูงจากพื้นถึงยอดราว 20 เมตร ความกว้างต้องใช้ 10 คนโอบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางของร่มเงายาวประมาณ 51.75 เมตร ซึ่งถือว่ากว้างมากและด้วยกิ่งก้านที่แผ่กระจายอย่างสวยงามร่มรื่นนี้เอง สถานที่แห่งนี้จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกทั่วสารทิศให้แวะมาเยือน

ทว่าด้วยความที่ต้นไม้อายุเก่าแก่มาก ประกอบกับคลื่นนักท่องเที่ยวอันล้มหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ บางครั้งรากไม้ที่โผล่พ้นดินได้รับความเสียหายจากนักท่องเที่ยวที่ไปนั่ง เหยียบ หรือขูดเอาโชคตามความเชื่อ ประกอบกับเมื่อมีการผูกผ้าสี พอถูกฝนเข้า ก็ก่อให้เกิดความชื้นและเชื้อรา ทางกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ ๑ สังกัดกรมการสัตว์ทหารบก หน่วยงานเจ้าของพื้นที่จึงร้องขอให้กรมอุทยานเข้ามาปรับปรุง มิฉะนั้นแล้วต้นไม้โบราณอาจมีชีวิตรอดต่อไปได้อีกเพียงไม่กี่ปี

ชมแผนที่ของต้นจามจุรียักษ์ได้ ที่นี่

จามจุรียักษ์
ขอบคุณภาพถ่ายจาก โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ
จามจุรียักษ์
ขอบคุณภาพถ่ายจาก โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ

“โครงการปรับปรุงทัศนียภาพของต้นจามจุรียักษ์เป็นโครงการที่ดำเนินร่วมกับหน่วยงานวนวัฒนวิจัย ของกรมป่าไม้ และนักวิชาการอื่นๆ เพื่ออนุรักษ์ให้ต้นจามจุรียังคงยืนต้นต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน” เป็นคำชี้แจงนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี และระบุว่าภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปทางโซเชียลมีเดียนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของโครงการช่วงแรกเท่านั้น เมื่อแล้วเสร็จพื้นที่ตรงนี้จะมีหน้าดินยกสูงขึ้น มีไม้ดอกไม้ประดับ และทางเดินที่คร่อมรากต้นไม้ป้องกันคนไปรบกวน สิ่งที่มีผู้วิจารณ์กันไปในขณะนี้คือการปรับปรุงในขั้นที่ยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งหากเสร็จแล้วยืนยันว่าทัศนียภาพจะออกมาดูสวย กลมกลืน และเป็นธรรมชาติอย่างแน่นอน

(ค้นพบต้นไม้เก่าแก่ที่สุดในยุโรป และยังคงเติบโตอยู่)

 

ด้านเพจคนเมืองกาญจน์พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า งบประมาณของโครงการจริงไม่ถึง 5 ล้านบาท มีเพียงแค่ 3.4 ล้านเท่านั้น ทั้งยังมีงานก่อสร้างอื่นๆ อีกหลายรายการ เช่น การสร้างอาคารอเนกประสงค์ การทำสวนหย่อม ไปจนถึงการถมดินและปุ๋ยให้สูงขึ้นเพื่อให้รากได้อาหาร ปูหญ้าด้านบนให้ต้นไม้ได้รับความชื้น เนื่องจากปัจจุบันต้นไม้เก่านี้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

ส่วนตัวสะพานที่ชาวโซเชียลไม่เห็นด้วยนั้นถูกออกแบบให้เป็นทางเดินคร่อมปกป้องรากต้นไม้ โดยลงเสาไม่ให้โดนราก ทุกมุมอยู่ในมุมที่ถ่ายรูปสวย มีเก้าอี้นั่งพักให้ชมเรือนไม้  “ในอนาคตจะเป็นการบังคับนักท่องเที่ยวว่าให้เดินชมต้นไม้ได้เฉพาะบนสะพานเท่านั้น ไม่ให้ลงไปเหยียบหญ้าหรือรากต้นไม้อีก” กฤต มังกะโรทัย และสโรชา คำแก้ว ปลัดอำเภอกล่าว “ตามสัญญาโครงการมีรายการที่ต้องทำ 14 รายการ แต่ทุกวันนี้เพิ่งทำไปได้แค่ 2 รายการเท่านั้นครับ วันเสาร์อาทิตย์นักท่องเที่ยวจะเยอะมากเราเลยทำงานไม่ได้” ทั้งนี้โครงการดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณวันที่ 17 ธันวาคม

(รู้หรือไม่ว่าต้นไม้สื่อสาร แบ่งปันอาหาร ตลอดจนเตือนภัยให้แก่กันได้?)

 

อย่างไรก็ดี ดร.วิภากร ธรรมวิมล อดีตนายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย มองว่าโครงการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ขาดความเข้าใจในบริบทของต้นไม้มาตั้งแต่ต้น ดร.วิภากรชี้ว่า คุณค่าของต้นจามจุรีไม่ได้อยู่ที่ต้นไปจนถึงยอด แต่ยังรวมถึงรากที่แผ่กระจายงดงามด้วย เมื่อทางหน่วยงานไม่ได้ดำเนินนโยบายเพื่อการอนุรักษ์ตั้งแต่ต้น แต่กลับเน้นเพื่อการท่องเที่ยวปล่อยให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสต้นไม้เก่าอย่างใกล้ชิด เหยียบรากแม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ตลอดจนการตั้งร้านค้าและห้องน้ำในบริเวณใกล้ๆ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ต้นไม้ทรุดโทรมลง

หากเลือกที่จะอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ดร.วิภากร เสนอว่า 1. ควรปิดพื้นที่ระยะเวลาหนึ่งเพื่อรื้อถอนโครงสร้างและฟื้นฟูต้นไม้ 2. ออกแบบใหม่ทั้งหมด เน้นการชมต้นไม้ที่ไม่ไปรบกวนหรือสัมผัส และข้อสุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเน้นย้ำคุณค่าของต้นไม้ในด้านการอนุรักษ์ ว่าสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่มาเพื่อถ่ายรูปสวยๆ แต่ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ และความสำคัญในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของกาญจนบุรี เช่นการมีพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เป็นต้น

จามจุรียักษ์
ตัวอย่างของแปลนปรับปรุงต้นจามจุรียักษ์ที่คาดว่าจะเป็นเมื่อแล้วเสร็จ
ขอบคุณภาพจาก กฤต มังกะโรทัย
จามจุรียักษ์
ตัวอย่างของแปลนปรับปรุงต้นจามจุรียักษ์ที่คาดว่าจะเป็นเมื่อแล้วเสร็จ
ขอบคุณภาพจาก กฤต มังกะโรทัย
จามจุรียักษ์
ตัวอย่างของแปลนปรับปรุงต้นจามจุรียักษ์ที่คาดว่าจะเป็นเมื่อแล้วเสร็จ
ขอบคุณภาพจาก กฤต มังกะโรทัย
จามจุรียักษ์
ตัวอย่างของแปลนปรับปรุงต้นจามจุรียักษ์ที่คาดว่าจะเป็นเมื่อแล้วเสร็จ
ขอบคุณภาพจาก กฤต มังกะโรทัย
จามจุรียักษ์
ตัวอย่างของแปลนปรับปรุงต้นจามจุรียักษ์ที่คาดว่าจะเป็นเมื่อแล้วเสร็จ
ขอบคุณภาพจาก กฤต มังกะโรทัย
จามจุรียักษ์
ขอบคุณภาพถ่ายจาก โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ
จามจุรียักษ์
ขอบคุณภาพถ่ายจาก โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ

 

อ่านเพิ่มเติม:

นี่ไม่ใช่ภาพตัดต่อ แต่คือสะพานต้นไม้จริงที่ปลูกในอินเดีย

 

Recommend