ชีวิตเป็นอย่างไร หากเกิดเป็นผู้หญิงซาอุดิอาระเบีย

ชีวิตเป็นอย่างไร หากเกิดเป็นผู้หญิงซาอุดิอาระเบีย

ชีวิตเป็นอย่างไร หากเกิดเป็น ผู้หญิงซาอุดิอาระเบีย

โดยปกติแล้ว ผู้หญิงซาอุดิอาระเบีย  พวกเธอถูกบังคับให้แต่งงาน และถูกคาดหวังว่าจะอยู่ในโอวาท ปรนนิบัติรับใช้สามี และมอบลูกหลานสุขภาพแข็งแรงให้มากมาย ซึ่งสังคมซาอุฯ เอง ขึ้นชื่อว่าปฏิบัติต่อผู้หญิงราวกับพลเมืองชั้นสอง

ชื่อของ “ซาอุดิอาระเบีย” ปรากฏบนหาดหัวข่าวบ่อยครั้งจากกฎเกณฑ์ยืดยาวที่ครอบงำการใช้ชีวิตในทุกแง่มุม ตลอดจนสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากสายตาคนนอก นี่คือประเทศที่ผู้หญิงต้องแต่งกายปิดหน้าปิดตาด้วย “อะบายา” ชุดคลุมสีดำตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าที่ถูกล้อเลียนอย่างขบขันว่าทำให้สตรีประเทศนี้กลายเป็นอีกาไปเสียหมด ที่นี่มีร้านค้าให้บริการเฉพาะเพศชายหรือเพศหญิง และบุคคลต่างเพศไม่มีสิทธิเดินเข้าไปเลือกดูสินค้า ทว่าหากเป็นร้านค้าที่ให้บริการทั้งลูกค้าชายหญิง พื้นที่ในร้านก็จะถูกกั้นเป็นสัดส่วนชัดเจน ส่วนหนึ่งคือพื้นที่สำหรับ “คนโสด” ซึ่งคือผู้ชาย และอีกส่วนคือพื้นที่สำหรับ “ครอบครัว”

แล้วถ้าผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานอยากจะใช้บริการต้องทำอย่างไร? คำตอบคือพวกเธอจะนั่งในส่วนครอบครัวแทน เพราะที่ซาอุฯ หญิงสาวไม่สามารถไปไหนมาไหนคนเดียว หรือตัดสินใจอะไรโดยปราศจากการอนุญาตจาก “ผู้พิทักษ์ชาย” แม้แต่เรื่องง่ายๆ แค่การออกไปซื้อของ ที่นี่คือประเทศเดียวบนโลกที่กำหนดกฎหมายการคุ้มครองโดยผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิง วัยรุ่น หญิงโสด คุณแม่ลูกสาม หรือหญิงชรา พวกเธอล้วนมีผู้คุ้มครองเป็นคนในครอบครัวตั้งแต่ สามี พ่อ ลูกชาย ไปจนถึงสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ และหากพวกเธอถูกตำรวจศาสนาจับได้ว่าละเมิดกฎนี้ไปไหนมาไหนเพียงตัวคนเดียว หรือนั่งเคียงข้างกับชายอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว พวกเธอจะถูกจำคุก

ไปดูกีฬา, ทำงานในพื้นที่ของผู้หญิง, ออกกำลังกาย, สมัครเป็นทหาร ตลอดจนเข้าถึงการศึกษา สมัครงาน และเข้ารับการรักษาพยาบาล เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้หญิงซาอุดิอาระเบียสามารถทำได้ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้ว สิทธิของพวกเธอยังห่างไกลอยู่มาก

ผู้หญิงซาอุดิอาระเบีย
ร้านอาหารในซาอุฯ ต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าแถวสั่งอาหาร ตลอดจนพื้นที่รับประทานล้วนแยกชายหญิงที่ไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดออกจากกัน
ภาพถ่ายโดย Lynsey Addario

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบที่ง่ายที่สุดคือ เพราะที่นี่ซาอุดิอาระเบีย ข้อกำหนดหยุมหยิมที่ชวนอึดอัดในสายตาคนนอก และคนในเองนี้คาบเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี แรงกดดันและค่านิยมในสังคม การยึดมั่นเคร่งครัดในศาสนา ไปจนถึงวัฒนธรรมของชาวซาอุฯ ที่ให้ความสำคัญกับการวางตัวอย่างเหมาะสม และเกียรติยศของผู้หญิง คำว่าเกียรติยศในที่นี้หมายความถึงหญิงผู้นั้นทั้งที่ยังไม่แต่งงาน หรือแต่งงานแล้วจะต้องปฏิบัติตัวให้อยู่ในทำนองคลองธรรม ไม่สร้างความมัวหมอง หรือชื่อเสียงที่น่าอับอายมายังครอบครัว

แต่หากถามคนเฒ่าคนแก่ พวกเขาจะบอกว่าที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียเคร่งศาสนาก็จริง แต่ในอดีตการไม่คลุมหน้าเมื่อออกจากบ้านไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ อีกทั้งการนั่งหรือใกล้ชิดกับผู้ชายที่ไม่ใช่คู่สมรส หรือสมาชิกครอบครัวก็ไม่เป็นปัญหา ตราบใดที่ผู้หญิงคนนั้นๆ ไม่ได้ทำตัวให้เสียหาย ความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มต้นในทศวรรษ 1980 เมื่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มอิสลามแบบอนุรักษ์นิยมขยายตัวไปทั่วตะวันออกกลาง ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียกลายมาเป็นรัฐอิสลามที่แสนเข้มงวด ตำรวจศาสนาเดินตรวจตราในทุกพื้นที่ โรงเรียนต้องปรับปรุงหลักสูตรการสอน ดนตรีตะวันตกถูกสั่งห้าม ฯลฯ

ชาวซาอุดิอาระเบียเชื่อว่า ความดีและความชั่วในสังคมสามารถจัดการได้ด้วยการแยกชายและหญิงออกจากกัน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เพศชายเปี่ยมด้วยตัณหา ส่วนสตรีนั้นเย้ายวน มุสลิมที่ดีจึงต้องระมัดระวังอันตรายจากความใกล้ชิดระหว่างสองเพศ

ผู้หญิงซาอุดิอาระเบีย
พี่น้องสามในห้าคนของครอบครัวอัลบัศรีย์กำลังพักผ่อนในขณะที่ลูกๆ เล่นสนุกอยู่บนเนินทรายนอกกรุงริยาด ในฤดูร้อน ห้างสรรพสินค้าที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำคือพื้นที่สาธารณะที่ดึงดูดใจผู้หญิงและครอบครัวมากที่สุด
ภาพถ่ายโดย Lynsey Addario

ทว่าปัจจุบันหลายๆ สิ่งในซาอุดิอาระเบียกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน ปี 2017 หญิงสาวทั่วซาอุดิอาระเบียโอบกอดกันรับข่าวดี เมื่อพวกเธอได้รับอนุญาตให้สามารถขับรถยนต์ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้การจะเดินทางไปไหนมาไหน ผู้หญิงจำเป็นต้องพึ่งพิงผู้พิทักษ์ชายให้ขับรถไปส่งอยู่ตลอด ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ปี 2030 โดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระโอรสพระองค์โตของกษัตริย์ซัลมาน ผู้ปกครองซาอุดิอาระเบียคนปัจจุบัน เป้าหมายของวิสัยทัศน์ 2030 มีขึ้นเพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจด้านอื่นๆ ให้มีความหลากหลายและสมดุลมากขึ้น หลังที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียพึ่งพาการส่งออกน้ำมันมาตลอด และขณะนี้ตระหนักแล้วว่าน้ำมันกำลังจะหมดไป

ชาวมุสลิมใช้คำว่า “เอาเราะห์” หมายถึงส่วนพึงสงวนของร่างกายที่ต้องถูกปิดบังเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ แต่ละสังคมมีเอาเราะห์ของตนเอง ที่ซาอุฯ เอาเราะห์ครอบคลุมตั้งแต่เรือนผมถึงน่อง แขน และบางครั้งยังรวมถึงใบหน้าด้วย

ในความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกเหนือจากจะอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้แล้ว ยังลดความเข้มข้นของการใช้กฎหมายบังคับศาสนาลงด้วย หนึ่งในนั้นคือการแต่งกาย ทุกวันนี้หญิงชาวซาอุฯ ไม่จำเป็นต้องสวมอะบายาสีดำเพียงอย่างเดียว และตำรวจศาสนาก็ไม่ได้ออกมาเดินตรวจตราคุมเข้มตามท้องถนนแล้ว

อันที่จริงความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดหลายปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปในปี 2001 ผู้หญิงชาวซาอุดิอาระเบียมีบัตรประชาชนเป็นครั้งแรก ปี 2005 รัฐออกกฎหมายการบังคับแต่งงานถือว่าผิด แต่ปัจจุบันยังคงพบเห็นได้ในสังคม และในปี 2012 คือปีแรกที่ซาอุดิอาระเบียส่งนักกีฬาหญิงลงเข้าแข่งขันวิ่ง 800 เมตร ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยที่นักกีฬาหญิงคนนั้นยังคงสวมผ้าคลุม ปี 2013 รัฐอนุญาตให้ผู้หญิงขี่รถจักรยานยนต์ได้ แต่ไม่ใช่ในที่สาธารณะ ปี 2015 พวกเธอมีสิทธิเลือกตั้ง และสามารถลงสมัครเป็นผู้แทนทางการเมืองได้ครั้งแรก ข้ามมาในปี 2018 ในที่สุดพวกเธอก็มีที่นั่งในสนามกีฬา และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2019 หรือไม่กี่วันที่ผ่านมา กฎหมายใหม่บังคับใช้ให้สามีที่ต้องการหย่าภรรยาต้องแจ้งข่าวให้พวกเธอทราบ เพื่อปกป้องสิทธิในการสมรสแก่ผู้หญิง

Cynthia Gorney นักเขียนสารคดีเกี่ยวกับซาอุดิอาระเบียในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกเปิดเผยว่า สิ่งที่ทำให้ชายซาอุฯ ทราบว่าสตรีคลุมผ้าสีดำคนไหนคือภรรยาของตนคือรองเท้ากับกระเป๋าถือ

ผู้หญิงซาอุดิอาระเบีย
ผู้หญิงซาอุฯ ที่เชียร์กีฬาในพื้นที่ของครอบครัวชูป้ายอย่างดีใจ หลังได้รับอนุญาตให้เข้าชมฟุตบอลเป็นครั้งแรก
ขอบคุณภาพจาก EPA

แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า ซาอุดิอาระเบียจะไปไม่ได้ไกลกว่านี้หากยังคงไม่เปลี่ยนแปลง “กฎหมายการคุ้มครองโดยผู้ชาย” ที่ครอบงำผู้หญิงทุกชนชั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกวันนี้ในมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนของนักศึกษาหญิงมากกว่านักศึกษาชายก็จริง แต่อัตราว่างงานในผู้หญิงสูงมาก แม้จะผ่านการสัมภาษณ์ แต่หากครอบครัวไม่อนุญาตให้ออกไปทำงานนอกบ้าน พวกเธอก็ไม่มีสิทธิ ในขณะเดียวกันฝั่งนายจ้าง การมีพนักงานหญิงภายในองค์กรคือความยุ่งยาก เพราะที่ทำงานต้องถูกแบ่งแยกสัดส่วนชัดเจน อีกทั้งข้อกำหนดที่ห้ามชายหญิงที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวอยู่ใกล้ชิดกัน กลับกลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน

อาจฟังดูแปลก แต่ที่ซาอุฯ ถ้าหญิงผู้นั้นไม่มีญาติผู้ชายแล้วจริงๆ ลูกชายของเธอกลายเป็นผู้พิทักษ์แทน ภาพที่เห็นจึงเป็นคุณแม่วัยสี่สิบขออนุญาตลูกชายวัยรุ่นเมื่อจะออกไปข้างนอก และแน่นอนเธอไปคนเดียวไม่ได้

แล้วทำไมพวกเธอไม่ออกนอกประเทศไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า? ที่ซาอุดิอาระเบียแม้แต่การที่ผู้หญิงจะถือพาสปอร์ตออกไปเที่ยวต่างประเทศก็ยังคงต้องขออนุญาต กฎเกณฑ์เหล่านี้พาลกีดกันบรรดาหญิงชาวซาอุฯ ที่มีความรู้ความสามารถในการออกไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้วย เมื่อชีวิตที่มีอยู่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เอง อันที่จริงทุกวันนี้กฎหมายดังกล่าวถูกผ่อนปรนให้หญิงสาวสามารถสมัครเข้าทำงาน เข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือเข้ารับบริการแพทย์ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้พิทักษ์ชายแล้ว ทว่ากฎหมายก็ยังคงเป็นรองขนบธรรมเนียมประเพณีอยู่ร่ำไป ข้อกำหนดนี้ตอกย้ำให้ผู้ชายยิ่งมีอำนาจในการปกครอง และในทางเลวร้ายที่สุด ไม่ใช่แค่ควบคุม และบงการชีวิตของหญิงสาวในบ้าน แต่อาจลงเอยด้วยการทำร้ายร่างกาย

ผู้หญิงซาอุดิอาระเบีย
ที่ซาอุดิอาระเบียมีสโมสร หรือโรงยิมที่เปิดเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ จากภาพคือ ฮาละฮ์ อัลฮัมรอนีย์ วัย 39 ปี ผู้เปิดสอน Kickboxing ในเมืองญิดดะฮ์
ภาพถ่ายโดย Lynsey Addario

กรณีของนางสาวราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน สาวชาวซาอุดิอาระเบียที่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยกักตัว Phil Robertson ผู้อำนวยการหน่วยงาน Human Rights Watch ภูมิภาคเอเชียออกมาแสดงความกังวลว่าหากแอล-เคนูน ถูกส่งตัวกลับไปยังครอบครัวของเธอ เป็นไปได้ว่าไม่ใช่แค่การถูกทำร้ายร่างกาย แต่อาจเกิด “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติยศ” ขึ้นได้ นี่คือวิธีการยุติปัญหาในหลายวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่แค่ซาอุดิอาระเบีย หากรวมถึงปากีสถาน อินเดีย และในประเทศอื่นๆ ผู้ตายมักเป็นหญิงสาวที่ไม่ได้ปฏิบัติตามจารีตประเพณี เช่น ปฏิเสธการแต่งงาน หรือมีความรักโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยผู้สังหารก็คือสมาชิกครอบครัวของหญิงสาวคนนั้นๆ เอง เพื่อรักษาเกียรติของครอบครัวไว้ หลังเชื่อว่าพวกเธอได้สร้างความเสื่อมเสียที่ไม่อาจอภัยได้มาให้ สอดคล้องกับรายงานความรุนแรงในครอบครัวจากตัวของแอล-เคนูเองที่ระบุว่า เธอเคยถูกครอบครัวขังไว้ในบ้านนานถึง 6 เดือน และถูกกล้อนผมจนสั้น ส่งผลให้เธอหวาดกลัวว่าหากกลับบ้านในครั้งนี้ เธอออาจถูกครอบครัวสังหารได้

คำว่า “ดะยูษ” หมายถึงผู้ชายที่ไม่เด็ดขาดพอจะควบคุมภรรยาหรือญาติผู้หญิงที่ตนมีหน้าที่ต้องปกป้องเกียรติยศไว้ คำนี้คือการประจาน และถือว่ารุนแรงมาก หากเรียกชายผู้นั้นว่าคนขี้ขลาดเขายังโกรธน้อยกว่าเรียกว่าดะยูษ

ย้อนกลับไปในปี 2016 เกิดคดีสังหารเพื่อรักษาเกียรติยศที่โด่งดังไปทั่วโลกในปากีสถาน ผู้ตายคือ กานดีล บาลอช หญิงสาวคนรุ่นใหม่ที่ได้รับคำชื่นชมว่ากล้าที่จะแสดงออกและวิจารณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เธอถูกพี่ชายของเธอรัดคอจนตาย ฆาตกรระบุทำไปเพราะไม่ชอบที่เธอทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุจูงใจให้เกิดการฆาตกรรมมีผลมาจากการที่เธอโพสต์รูปเซลฟี่กับนักเทศน์ชื่อดัง มุสติ กาวี พร้อมข้อความว่า “ดื่มน้ำอัดลมและสูบบุหรี่ด้วยกันในช่วงรอมฎอน” และในปีเดียวกันหญิงชาวปากีสถานวัย 22 ปีที่กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สองก็ถูกฆ่าปาดคอโดยครอบครัวของเธอเอง หลังแต่งงานกับชายที่ทางบ้านไม่เห็นด้วย รายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนปากีสถาน เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา มีหญิงสาวถูกสังหารเพื่อรักษาเกียรติยศมากถึง 1,100 คน

(“A Girl in the River: The Price of Forgiveness” คือภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราว “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติยศ” ในปากีสถาน ผู้กำกับติดตามชีวิตของเด็กสาววัย 18 ปีรายหนึ่ง ซึ่งถูกยิงโดยญาติๆ ก่อนพวกเขาจะนำร่างเธอโยนลงสู่แม่น้ำ แต่เด็กสาวกลับรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ แล้วนำเรื่องที่เกิดกับตัวเองมาถ่ายทอดเป็นภาพยนต์ให้โลกได้รับรู้)

อนาคตของซาอุดิอาระเบียจะขับเคลื่อนไปอย่างไร? หากนโยบายของรัฐยังคงพ่ายแพ้ขนบธรรมเนียม และกฎหมายอิสลาม ย้อนกลับไปในปี 2000 ซาอุฯ ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ข้ามเวลามาปัจจุบันกฎหมายการคุ้มครองโดยผู้ชายยังคงศักดิ์สิทธิ์ไม่เปลี่ยนแปลง ความหวังของรัฐบาลและวิสัยทัศน์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานที่วาดฝันให้ผู้หญิงซาอุฯ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดแรงงาน ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคต่างๆ คงเกิดขึ้นได้ยาก หากสิทธิพื้นฐานในชีวิตของพวกเธอเองยังคงถูกกำหนดโดยผู้ชาย มิรวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องเสียไป เมื่อเวลาส่วนหนึ่งของชีวิตผู้ชายซาอุฯ ต้องหมดไปในฐานะ “ผู้พิทักษ์” และที่น่าเศร้าคือหลายคนไม่มองว่านี่เป็นปัญหาเสียด้วยซ้ำ

เทียบสัดส่วนการเข้าถึงโอกาสในการทำงาน ผู้ชายชาวซาอุดิอาระเบียที่อายุมากกว่า 15 ปี ราว 60% มีงานทำ ส่วนในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 15 ปี ราว 54% ล้วนเป็นแม่บ้าน มีสัดส่วนที่ได้ทำงานเพียง 12% เท่านั้น ข้อมูลจากการสำรวจปี 2015

(ชีวิตของผู้หญิงซาอุฯ ภายใต้เงาของผู้พิทักษ์ชายเป็นอย่างไร ชมได้จากอนิเมชั่นของ Human Rights Watch)

 

อ่านเพิ่มเติม

ผู้หญิง ควรเป็นผู้ปกครองใช่หรือไม่ เหล่าราชินีแห่งอิยิปต์มีคำตอบ

 

แหล่งข้อมูล

สารคดี “โฉมหน้าที่แปรเปลี่ยนของสตรีซาอุดิอาระเบีย” เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2016

The real reason Saudi Arabia lifted its ban on women driving: economic necessity

Saudi Arabia: Why weren’t women allowed to drive?

Saudi Arabian women can now drive — here are the biggest changes they’ve seen in just over a year

Six things women in Saudi Arabia still can’t do

Women and Saudi Arabia’s Male Guardianship System

 

Recommend