“สตรี เพศสถานะและเพศวิถีศึกษา” หลักสูตรเรียนที่เปิดโลกความเสมอภาคทางเพศ

“สตรี เพศสถานะและเพศวิถีศึกษา” หลักสูตรเรียนที่เปิดโลกความเสมอภาคทางเพศ

ปริญญาโท “สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในอาเซียน เรียนเพื่อสร้างความเป็นมนุษย์และสร้างสะพานไปสู่สังคมในอุดมคติ

ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราได้เห็นบรรยากาศของ Pride Month ที่อบอวลไปทั่วทั้งอินเตอร์เน็ต สื่อหลัก สื่อรอง และบุคคลทรงอิทธิพลทั่วโลกพร้อมใจกันสื่อสารว่า สิทธิในการแสดงออกของบุคคลเพศหลากหลายมีความหมายเดียวกับสิทธิมนุษยชน

ภาพถ่าย MAX WHITTAKER

แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในวันที่ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมไม่ได้แพร่หลายเท่าวันนี้ มีความพยายามของนักวิชาการและอาจารย์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องการผลักดันความรู้ความเข้าใจเรื่องดังกล่าว

ก่อให้เกิดเป็นหลักสูตรสตรีศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก่อนมีการปรับหลักสูตรเมื่อปี พ.ศ. 2556 จนกลายเป็น “หลักสูตรปริญญาโทสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา” ที่ครอบคลุมประเด็นมากขึ้น

เพื่อส่งท้ายเดือน Pride Month เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปดูเรื่องราวพัฒนาการของทั้งหลักสูตรนี้ และบรรยากาศที่ห้อมล้อมประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทย ผ่านบทสัมภาษณ์กับ อาจารย์ ดร. โกสุม โอมพรนุวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสตรีศึกษา ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และตัวแทนผู้เรียน 3 ท่านจากทางหลักสูตร

ความเท่าเทียมทางเพศ
โดโรที นูวัลล์ เป็นนักแสดงที่ได้รับความสนใจระดับชาติในปี 1915 เมื่อเธอเขียนข้อความเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคไว้บนแผ่นหลัง ไม่ถึงเดือนหลังจากนั้น ผู้หญิงเป็นหมื่นๆ คนออกมาเดินขบวนบนถนนฟิฟท์อะเวนิว  สองปีต่อมานิวยอร์กยอมให้ผู้หญิงเลือกตั้งได้ และขยายเป็นทั่วประเทศในปี 1920 โดยอาศัยการรณรงค์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1848 เพื่อให้ผู้หญิงเลือกตั้งได้ ซึ่งเคยถูกห้ามในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ

ท่ามกลางสังคมที่ยังไม่เข้าใจประเด็นความลื่นไหลทางเพศ

อ.โกสุม เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่หลักสูตรเพิ่งเริ่มก่อตั้งภายใต้ชื่อ “สตรีศึกษา” เรื่องสิทธิสตรีเป็นเรื่องที่ใหม่มากในสังคมไทย และได้รับความสนใจจากผู้เรียนทั้งในและนอกคณะ จนถึงขั้นมีผู้เรียนมาขอ Sit-in นับร้อยชีวิต รวมถึงตัวอาจารย์เอง

แต่ผ่านไป 30 ปี หลักสูตรสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา ภายใต้สังกัดวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยังคงเป็นหนึ่งในไม่กี่หลักสูตรที่นำเสนอประเด็น Women Sexuality และ Gender Study ในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน เล่าเพียงเท่านี้ เราก็เห็นภาพได้ไม่ยากว่า ประเด็นนี้ไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควรได้

ในระยะแรกของการเปิดหลักสูตร ความสนใจของสังคมที่สะท้อนออกมาผ่านงานวิจัยของผู้เรียนนั้นอยู่ที่ประเด็น Gender and development เป็นหลัก

กล่าวคือ งานวิจัยมุ่งเน้นการมองหานโยบาย หรือวิธีการแก้ปัญเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงให้ดีขึ้น  แต่ในระยะหลังกระแสของโลกเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นความตื่นรู้ในเรื่องความลื่นไหลทางเพศ (Gender Fluid) หรือการวิพากษ์ปัญหาเชิงโครงสร้างที่แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อโลกวิชาการเช่นเดียวกัน

ซ้าย โจนาทาน วัย 8 ขวบ ได้รับการระบุว่าเป็นทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงในเวลาเดียวกัน ตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่ง ณ ค่ายกลางวันเบย์แอเรียเรนโบว์ในแคลิฟอร์เนีย เด็กๆ สามารถแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้อย่างปลอดภัย โจนาทานลองทำตัวเป็นยูนิคอร์น ขวา ฮันเตอร์ คีท วัน 17 ปี ถูกกำหนดว่าเป็นเพศหญิงตอนเกิด เขาได้รับการผ่าตัดเอาเต้านมออกก่อนที่จะถ่ายภาพนี้ 2 สัปดาห์ ตอนนี้เขาเพลิดเพลินกับการถอดเสื้อเล่นสเกตบอร์ดในละแวกบ้าน

หลักสูตรก็มีการปรับหลักสูตร สะท้อนจุดโฟกัสที่เปลี่ยนไปผ่านชื่อของหลักสูตรที่มีคำว่า “เพศสถานะและเพศวิถี” รวมอยู่ด้วย ไม่ได้มีแค่ประเด็นสตรีเพียงอย่างเดียว และงานวิจัยของผู้เรียนก็เปลี่ยนไป มีความเป็นโครงสร้างนิยมมากขึ้น โดยพยายามทำความเข้าใจและหาแนวทางการรื้อถอนแนวคิดปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่) ในโครงสร้างสังคม สื่อ หรือนโยบาย เพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิม

นอกจากหลักสูตรจะประสบความท้าทายในแง่ของการสื่อสารถึงความสำคัญของประเด็นเพศวิถีและเพศสถานะต่อสังคมแล้ว การไม่มีหลักสูตรปริญญาตรีที่เปิดสอนในประเด็นนี้อยู่เลยในประเทศไทยยังทำให้ผู้เรียนที่สมัครเข้ามามีพื้นฐานความเข้าใจที่แตกต่างกัน แต่อ.โกสุมบอกกับเราว่า ความหลากหลายนี้เป็นหนึ่งในจุดแข็งของหลักสูตร

ที่ผ่านมาผู้เรียนมาจากทั้งสาขานิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์ บางคนทำงานขับเคลื่อนในประเด็นนี้มาอยู่แล้ว ทำให้เกิดงานวิจัยที่มีความเป็นสหวิทยาการ ช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เปิดกว้าง

นอกจากนี้หลักสูตรยังเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ที่มีความสนใจประเด็นเพศวิถี ไม่ว่าจะเรียนจบจากสาขาใดหรือมีเพศสถานะไหน ได้เข้ามาทำความเข้าใจเพิ่มเติมต่อตนเองและต่อโครงสร้างสังคม แสดงออกถึงตัวตนของตัวเองได้โดยไม่ต้องกลัวการตัดสิน รวมถึงเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับกลุ่มคนหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องเดียวกันอีกด้วย

ตอนที่เคเลบ (ซ้าย) และเอ็มมี (ขวา) ฝาแฝดจากรัญแมสซาชูเซตส์ เกิดเมื่อปี 1998 ทั้งคู่ดูคล้ายกันมาก ทุกวันนี้เอ็มมีบอกว่า “ตอนเราอายุ 12 ปี ฉันไม่รู้สึกเหมือนเป็นเด็กผู้ชายเลยค่ะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิงกับเค้าได้” พออายุ 17 ปี เอ็มมีก็เปลี่ยนเป็นคนข้ามเพศและเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ

จากโลกวิชาการสู่การขับเคลื่อนทางสังคม

การเรียนการสอนของหลักสูตรนี้ประกอบไปด้วยการเรียนเชิงทฤษฎีในปีแรก เพื่อปรับพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจมุมมองที่มีต่อตนเองและสังคม เชื่อมโยงได้ว่าปรากฏการณ์และโครงสร้างต่างๆ ในสังคมส่งผลต่อการรับรู้ถึงตัวตนของตัวเองอย่างไร

เมื่อเข้าใจทฤษฎีแล้วก็จะก้าวสู่การทำวิทยานิพนธ์หรือค้นคว้าอิสระในปีที่สอง ที่ผู้เรียนส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการประกอบรวมความสนใจในศาสตร์ดั้งเดิมของพวกเขาเข้ากับทฤษฎีที่ได้เรียน และหาคำตอบให้กับคำถามวิจัยที่พวกเขาสนใจ คำถามสำคัญต่อมาก็คืองานวิจัยเหล่านี้มีบทบาทอย่างไรต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคมบ้าง

อ.โกสุมให้คำตอบเราด้วยตัวอย่างผลงานล่าสุดที่อาจารย์ได้เข้าไปมีส่วนร่วม คือการเขียนหนังสือเรื่อง “ยุทธศาสตร์สุขภาวะ” ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ผ่านสมาคมเพศวิถีศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาวะต่อภาครัฐ ที่มีความเข้าใจครอบคลุมความต้องการของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายโดยส่วนใหญ่มักหลงลืมว่าเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลายทำให้ประชาชนมีความต้องการบริการด้านสุขภาวะที่แตกต่างกันออกไป ความไม่เข้าใจนี้นำไปสู่ช่องว่างทางนโยบายที่ต้องการการเติมเต็ม หนังสือเล่มดังกล่าวมีพื้นฐานจากองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นประกอบรวมกัน

อันเป็นผลงานของนักวิชาการด้านสตรีศึกษาและเพศวิถีศึกษาหลายท่าน หลายสถาบัน ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศเช่นเดียวกัน

ปก “วารสารสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา” ฉบับปฐมฤกษ์ นำเสนอเนื้อหาอัดแน่นในประเด็นปรากฏการณ์ความไม่เสมอภาคทางเพศ ตลอดจนภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เข้ามาทับซ้อนอยู่กับประเด็นเพศสถานะ

ทางฝั่งของผู้เรียนเองได้เล่าประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป หนึ่งในผู้เรียนที่เราได้พูดคุยคือ คุณธง-ฐิติพงษ์ ด้วงคง ที่มีพื้นฐานเป็นนักวิชาการด้านสตรีและลาตินอเมริกันศึกษา-อาจารย์มหาวิทยาลัย และมีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องโครงสร้างอำนาจ บทบาทของสตรี และการใช้เรือนร่างของผู้หญิงเป็นเครื่องต่อรองบนเวทีการประกวดนางงาม

คุณธงเล่าให้เราฟังว่าการได้เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ช่วยพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ต่อประเด็นที่ตนสนใจ และขยับจากแค่ความเห็นใจ (Sympathy) มาเป็นความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกเพศ และยังได้นำแนวคิดทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้งานกับบริบทงานอื่นๆ ที่ทำอยู่ ทั้งในฐานะนักวิชาการและในบทบาทของสื่อ

นอกจากเราได้ยังฟังประสบการณ์จากอดีตผู้เรียนที่ทำงานอยู่ในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งขับเคลื่อนประเด็นสิทธิสตรีอยู่แล้ว อย่าง คุณเกว-เกวลิน ธรรมรัตน์ชัย และผู้เรียนปัจจุบันที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับประเด็นสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่าง คุณเชอรี่-ศิรวุฒิ อินทร์พิมพ์ ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าองค์ความรู้ที่ได้จากหลักสูตรได้มอบมุมมองที่เรียกว่า “เลนส์สตรีศึกษา” ให้กับทั้งคู่

เมื่อได้รับรู้ข่าวสารต่างๆ ความเป็นไปต่างๆ ของสังคม ทั้งในประเด็นวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ก็จะสามารถคิดวิเคราะห์ในมุมมองของความหลากหลายทางเพศได้โดยอัตโนมัติ ความเข้าใจนี้นำไปสู่ความตระหนักในสิทธิในการแสดงออกของตนในฐานะมนุษย์ และปลดแอกจากอำนาจเชิงโครงสร้างภายใต้แนวคิดปิตาธิปไตยที่กดทับตนอยู่ได้

ภาพถ่าย BESS ADLER

การสร้างความเป็นมนุษย์และสร้างสะพานสู่สังคมในอุดมคติ

แตกต่างจากหลักสูตรอื่นๆ ที่ผู้เรียนอาจสมัครเข้ามาเรียนเพราะมองว่าเป็นการลงทุน และเอาใบปริญญาไปต่อยอดให้เกิดรายได้เพิ่มเติมในระบบทุนนิยม

หลักสูตรสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา ไม่ได้เป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนจบไปแล้วจะรวยขึ้น แต่อ.โกสุมแสดงทัศนะเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้เรียนที่จบไปแล้วจะเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น เห็นอกเห็นใจผู้คนที่ทั้งเหมือนและต่างจากตน ทั้งในมิติของเพศสถานะ เพศวิถี หรือมุมมองอื่นๆ

ความคิดนี้ได้รับการยืนยันแล้วจากเสียงของผู้เรียนทั้ง 3 ท่านที่เราได้พูดคุยด้วย ที่ต่างเห็นตรงกันว่าการเข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้เหมือนการเปิดโลกของให้กว้างขึ้น

และความเข้าอกเข้าใจ เห็นใจเพื่อนมนุษย์นี้เองที่เป็นเป้าหมายของหลักสูตร อ.โกสุมขมวดปมโดยอ้างอิงจากคำพูดของ รศ. ดร. สินิทธ์ สิทธิลักษณ์ ผู้ก่อตั้งหลักสูตรที่ครั้งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า

“หากผลักดันพันธกิจได้ลุล่วงแล้ว จะไม่มีต้องมีหลักสูตรนี้อีกต่อไป”

เพราะองค์ความรู้เรื่องสตรีและเพศวิถี จะเข้าไปหลอมรวมอยู่กับศาสตร์อื่นๆ อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานอยู่ในสาขาอาชีพใดก็สามารถเรียนรู้ และตระหนักรู้ถึงความหลากหลายทางเพศ และปฏิบัติต่อทุกเพศได้อย่างเท่าเทียม ท้ายที่สุดจะนำพามนุษย์ไปสู่สังคมในอุดมคติที่ไม่มีการแบ่งแยก เหยียดหยันกันด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งถึงแม้ว่าสังคมไทยดูเหมือนจะยังห่างไกลจากอนาคตนั้น แต่การมีอยู่ของหลักสูตรนี้กำลังทำหน้าที่เหมือนผู้สร้างสะพานขับเคลื่อนไปสู่โลกในอุดมคติอยู่อย่างเงียบๆ

ความเท่าเทียมทางเพศ
โปสเตอร์ภาพผู้หญิงเบ่งกล้ามปรากฏอยู่ในโรงงานเวสทิงเฮาส์ในปี 1943 เชื่อว่ามาจากภาพถ่ายของคนงานหญิง หนึ่งในผู้หญิง 300,000 คน ซึ่งทำงานในอุตสาหกรรมอากาศยานระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  ภาพนี้เริ่มโด่งดังในทศวรรษ 1980 ในฐานะภาพแห่งการเสริมพลังของสตรีนิยม

เรื่อง เกวลิน ศักดิ์สยามกุล


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรปริญญาโท สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษาได้ที่ Women, Gender and Sexuality Studies Programme


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เพศ-ภาพ ในมุมมองใหม่

Recommend