ตอนเด็กเรามักมีความฝันเรื่องอาชีพที่หลากหลาย แต่เมื่อเติบโตขึ้นท่ามกลางระบบการศึกษาและสังคม ทำไมเด็กหลายคนจึงมีความฝันเรื่องอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไป อะไรเป็นสาเหตุทำให้เด็กส่วนมากเลือกที่จะ “เปลี่ยนฝัน” แทนที่จะทำ “อาชีพที่ตนใฝ่ฝัน” ตอนวัยเยาว์
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” หากถามคำถามนี้กับเด็ก ๆ จะได้คำตอบที่หลากหลายต่างกันไปและจะเห็นได้ถึง “ความช่างฝัน” ที่แฝงอยู่ในคำตอบเหล่านั้น
น้องขุนพล – เด็กชายปัณณสิทธ์ ผณินทรารักษ์ อายุ 10 ขวบที่ฝันอยากเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยน้องให้เหตุผลว่า “ผมชอบเวลาที่ได้เตรียมอาหารร้อน ๆ แล้วนำไปเสิร์ฟให้ผู้โดยสาร ได้ถามผู้โดยสารว่าเขาอยากทานอะไร มันมีความสุขมากเลยครับ และถ้าสมมุติว่าเครื่องบินตกกลางทะเล (อันนี้ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นจริงนะครับ) ผมก็อยากลองเล่นสไลเดอร์ยางที่ปล่อยออกมาตอนฉุกเฉินเหมือนกัน มันน่าสนุกดีครับ”
หากพิจารณาผลการสำรวจจากกลุ่มบริษัท Adecco ประเทศไทย ประจำปี 2564 พบว่า เด็กไทยอายุ 7 – 14 ปี จำนวน 2,024 คน จากทั่วประเทศเลือกให้ “แพทย์” เป็นอาชีพอันดับ 1 รองลงมาคืออาชีพครู อันดับที่ 3 และอันดับที่ 4 คือยูทูปเบอร์ และดารานักร้อง ตามลำดับ โดยเด็ก ๆ ให้เหตุผลว่าเป็นอาชีพที่ได้มอบความบันเทิงและความสุขให้ผู้อื่น ส่วนลำดับสุดท้ายคือตำรวจ จะสังเกตเห็นว่าอาชีพในฝันของเด็กในระดับชั้นประถมศึกษา เป็นอาชีพใหม่ ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเมื่อก่อนไม่มี อย่างเช่น อาชีพยูทูปเบอร์
แต่เมื่อสำรวจในเด็กที่โตขึ้น อาชีพที่เด็กอยากเป็นกลับเป็นอาชีพเดิม ๆ เหมือนที่คนรุ่นก่อนมักเลือกประกอบอาชีพและเลือกเรียนกัน อย่างข้อมูล 5 อันดับคณะยอดนิยม TCAS รอบ 3 ที่นักเรียนชั้น ม.6 เลือกในปี 2563 แสดงให้เห็นว่า คณะยอดนิยมอันดับ 1 คือ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา รองลงมาคือคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อันดับที่ 4 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และอันดับสุดท้าย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อมูลเชิงสถิตินี้แสดงให้เห็นว่าอาชีพที่เด็กไทยอยากเป็นมีความหลากหลายลดลงเมื่อพวกเขาโตขึ้น และเกาะกลุ่มอยู่ในสายอาชีพที่คนในสังคมส่วนมากรู้จักและพูดถึงอยู่บ่อย ๆ
“แล้วอะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการตีกรอบความฝันเรื่องอาชีพของเด็กไทย”
หลักสูตรการสอนที่ไม่ได้ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
“เรารู้สึกว่าการศึกษาเป็นต้นตอหลาย ๆ ปัญหาของเรามั้ง เช่น ประเด็นที่เราไม่รู้ว่าเราชอบทำอะไรขนาดไหน มันก็เป็นเพราะส่วนหนึ่งหลักสูตรไม่ได้มีศูนย์กลางเป็นนักเรียน มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวนักเรียน แต่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่กำหนดนโยบายว่าเราต้องเรียนอะไร” แก๊ป – สิระ สิมมี ผู้กำกับแห่งเฮาส์ CYPH.film ระบายถึงความอัดอั้นของเขาเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศไทย
ตอนอยู่ชั้นประถมศึกษา
แก๊ป เคยสนใจอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ โดยเขาให้เหตุผลว่า “เราอยากเป็นบิล เกตส์ เมืองไทย จริง ๆ จุดเริ่มต้นเกิดมาจากเล่นเกมบ่อยแต่พอแพ้ก็หงุดหงิด พอหงุดหงิดเลยไม่รู้จะทำยังไง ตอนนั้นไปเจอเว็บบอร์ด Thaiware มี RPG Maker Community เป็นโปรแกรมสร้างเกม เลยคิดว่างั้นสร้างเกมเองเลย เล่นแล้วจะได้ชนะ ก็เลยเริ่มจากตรงนั้น และหลังจากนั้นก็ชอบคอมมาโดยตลอด”
แต่พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เขากลับต้องค้นหาตัวเองใหม่ว่าเขา “อยากเป็นอะไร” เพราะเขาไม่สามารถเดินต่อในเส้นทางที่เขาชื่นชอบได้ เชาเล่าว่า “ตอนนั้นที่โรงเรียนสอนวิชาภาษาซี เราเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เลยรู้สึกท้อ ไม่อยากเป็นโปรแกรมเมอร์แล้ว หลังจากนั้นก็เครียดเพราะก่อนจะมาเรียนภาษาซี เคยบอกพ่อว่าอยากเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์บ้าง วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์บ้าง คณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดลบ้าง แต่วันที่ไม่เอาแล้วเพราะไม่เข้าใจภาษาซี มันไม่เหลือที่ให้ไปต่อแล้ว ไม่รู้จะไปบอกพ่อว่าเรียนอะไรดี ตอนนั้นมันถึงทางตัน
“เลยลองคิด ๆ ดูว่ามีอะไรที่เราทำได้บ้าง ตอน ม.2 เริ่มทำรายการเองเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากในอินเตอร์เน็ต ก็ยืมกล้องพ่อ ชวนเพื่อนมาทำรายการชื่อ power on tv เลยรู้สึกว่า อาจจะทำงานแนวนี้ได้มั้ง เพราะ ณ เวลานั้นถ่ายคลิปเอง ตัดต่อเอง เลยยึดไว้ก่อนว่าคงเรียนอะไรประมาณนี้แหละ ณ วันที่หลงจากคอมไปแล้ว” นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ แก๊ป เบนสายมาเข้าคณะวารสารศาสตร์ เอกภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่แม้จะเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว เขายังมีความกลัวว่าจบไปจะประกอบอาชีพอะไรต่อ เพราะการศึกษาไม่ได้ทำให้เขาเห็นภาพว่าเขามีทางเลือกในสายอาชีพของตนอย่างไรบ้าง เขากล่าวว่า “การศึกษาทำให้เรารู้สึกมีปัญหากับตัวเอง เลยรู้สึกกลัวอยู่แล้ว เพราะอย่างที่บอก คิดได้แค่นั้นตอนมหาวิทยาลัยว่าจบไปเราคงต้องทำอะไรสักอย่างที่มันทำมาหากินได้ แต่ยังไม่รู้แน่ชัดขนาดนั้นว่าจะทำอะไร อย่างไร ยังไง และไม่ได้คิดไกลถึงขั้นว่าเราไปทำงานที่ต่างประเทศดีไหม หรือไปอยู่ในที่ที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์มันเจริญรุ่งเรืองกว่านี้ไหม ณ เวลานั้นมันไม่ได้คิดกว้างขนาดนั้น”
การศึกษาสำหรับ แก๊ป จึงไม่สามารถสอนให้เด็กรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีความฝันเรื่องอาชีพอย่างไร หรือเลือกประกอบอาชีพนี้ดีไหม อย่างตัวเขาเองที่เคว้งคว้างในการตามหา “อาชีพที่ใช่” อยู่นานเพราะไม่รู้ว่าตัวเองเก่งหรือถนัดด้านไหน ปัญหานี้ยังไปผูกโยงกับหลักสูตรการศึกษาที่มันไม่ได้ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางตามมุมมองของเขาด้วย
เขาทิ้งท้ายไว้ว่า “ปัญหาของระบบการศึกษาไทยคือ เด็กต้องรับใช้หลักสูตร ต้องวิ่งตามหลักสูตร ทุกคนเรียนมาเหมือนกัน จบมาเหมือนกัน แต่สิ่งที่แต่ละคนอยากเป็นมันไม่เหมือนกัน พอตอนแรกมันไม่ได้ออกแบบจากศูนย์กลางคือนักเรียน มันก็ให้ความรู้ที่หลักสูตรแกนกลางมีให้ลงมา โดยที่ไม่ได้เสริมอะไรเข้าไปเพิ่มให้เหมาะกับความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล แต่ในอนาคตมันอาจจะน่าสนใจในแง่ที่มหาวิทยาลัยสามารถหาทางสนับสนุนในสิ่งที่เด็กต้องการเรียนเพิ่มเติมด้วยได้”
การสอนในโรงเรียนที่ไม่ได้แนะแนวทางให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง
นอกจากหลักสูตรการศึกษาแกนกลางที่ไม่ได้ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง จนทำให้เด็กเกิดความกลัวและสับสนว่าโตไปจะประกอบอาชีพอะไร วิชาต่าง ๆ ในโรงเรียนก็ยังไม่สามารถทำให้เด็กเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าเด็กสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพอย่างไรได้บ้าง
“เอาเข้าจริง โรงเรียนเหมือนจะสอนให้ชอบในวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้สึกส่วนตัวในตอนนั้นเกิดคำถามว่า แล้วเราจบไปจะเป็นอะไร ดังนั้นคนที่จะไปเรียนต่อคณะวิทยาศาสตร์จริง ๆ ก็นับคนได้ ขนาดคนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศยังไปเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ คนที่ไปเรียนคณะวิทยาศาสตร์จริง ๆ มีจำนวนไม่ถึง 10-20 คนจากทั้งหมด 240 คนในรุ่นด้วยซ้ำ”
นี่คือคำกล่าวของ ภีม – ภรัณยู โอสถธนากร นักศึกษาชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ผู้มีความใฝ่ฝันอยากเป็นแพทย์มาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าเขาจะเรียนในโรงเรียนชั้นนำระดับประเทศที่มีความพร้อมทางด้านวิชาการ แต่กลับเห็นปัญหาว่าแม้ทางโรงเรียนจะมีการสอนวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น แต่กลับไม่สามารถผลักดันนักเรียนให้เข้าคณะวิทยาศาสตร์ได้เท่ากับนักเรียนที่เข้าคณะแพทยศาสตร์
เขากล่าวถึงปัญหานี้ว่า “คิดว่าเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายใน โรงเรียนไม่มีการบังคับหรือให้ข้อมูลนักเรียนและผู้ปกครองอย่างชัดเจนว่าโรงเรียนอยากจะผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยอย่างไร หรือมีแนวทางให้เด็กค้นพบตัวเองอย่างแท้จริงอย่างไรบ้าง และปัจจัยภายนอก โรงเรียนไม่มีเส้นทางอาชีพไว้รองรับ โดยเฉพาะนักเรียนที่สนใจอยากเรียนต่อคณะวิทยาศาสตร์ ว่าจบจากโรงเรียนไปจะมีแหล่งทำงานให้อย่างชัดเจน หรือมีการเปิดรับสมัครทุนให้แก่เด็กที่จบจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
“สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กไม่ได้ทำตามความฝันของตนเอง แล้วก็รู้สึกว่าคนที่มาเรียนแพทย์ทุกวันนี้ ก็ไม่ได้มีความฝันที่แน่ชัด ไม่ได้เป็นเส้นทางอาชีพที่ตอบโจทย์ความฝันของตัวเอง 100% อย่างเพื่อนในโรงเรียนอยากเข้าคณะแพทยศาสตร์มากกว่าคณะวิทยาศาสตร์ เพราะ 60% คือพวกลากมากไป เห็นรุ่นพี่เข้าคณะแพทยศาสตร์เยอะก็เข้าตาม ส่วนอีก 40% คือเห็นภาพว่าอาชีพแพทย์ดูมั่นคง สังคมให้การสนับสนุนดี
“ฉะนั้นถ้าใครอยากมาเรียนแพทย์ ผมจะไม่ห้ามเลย แต่ต้องรู้ว่าทำไมถึงอยากเป็นแพทย์ เข้าใจบริบทแพทย์ในสังคมไหม และยอมรับมันได้มากแค่ไหน ถ้าอยากเป็นแพทย์เพราะว่าประกอบอาชีพแพทย์แล้วได้เงินเดือนเยอะ คิดว่ามีอาชีพอื่นที่ได้เงินเดือนเยอะอีกมาก และมี work-life balance ที่ดีกว่าด้วย”
การศึกษาที่มีส่วนไปหนุนโครงสร้างทางอำนาจของภาครัฐ
แม้จะสามารถเข้าไปเรียนในคณะที่ชื่นชอบหรือทำงานในสายอาชีพที่ใฝ่ฝันได้แล้ว แต่ประเทศไทยยังใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือหนุนโครงสร้างทางอำนาจของภาครัฐอยู่ ส่งผลให้บางสายอาชีพไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการทำงานจากภาครัฐอย่างเพียงพอ อย่าง เติ้ล – ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ spaceth.co แม้เขาจะได้ทำงานที่ชื่นชอบ แต่การทำงานในสายอาชีพวิทยาศาสตร์อวกาศกลับไม่ใช่เรื่องง่าย
“ในความรู้สึกเรา ประเทศไทยยังใช้วิทยาศาสตร์อวกาศเพื่อส่งเสริมโครงสร้างทางอำนาจอยู่ ทำให้เกิดความกลัวในหมู่นักวิจัยว่าเราสามารถทำเรื่องนี้ได้ไหม และตัวโครงสร้างของหน่วยงานกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กระจายทรัพยากรแก่นักวิจัย ให้นักวิจัยมีอิสรภาพทางความคิดและเสรีภาพในการตั้งหัวข้อการวิจัยมากน้อยแค่ไหน เราเลยรู้สึกว่าในไทย มันมีกลิ่นที่รัฐพยายามฮุบงานอะไรบางอย่างเพื่อเอาไว้ทำคนเดียว และใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือเพื่อรองรับโครงสร้างอำนาจบางอย่าง” นี่คือปัญหาที่ เติ้ล มองเห็นจากการทำงานในสายอาชีพวิทยาศาสตร์
เขายังกล่าวอีกว่า “ตัวนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยเอง ก็ยังไม่สามารถที่จะส่งเสียงของตนเองจริง ๆ ขึ้นมาได้ ประกอบกับโครงสร้างของนโยบายรัฐที่ขาดการแบ่งงบประมาณสำหรับการวิจัยอย่างชัดเจน และขาดความเข้าใจจริง ๆ ว่างานวิจัยมันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร”
จากมุมมองปัญหาที่ เติ้ล ชี้ให้เห็นนี้ ทำให้เรารู้ว่าภาครัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนงานในอาชีพสายวิทยาศาสตร์อย่างเพียงพอ ซึ่งหากมองให้กว้างออกไป อาจมีสายอาชีพอื่นที่ประสบปัญหานี้ด้วยเช่นกัน นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เด็กไม่มีทางเลือก ต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นที่ได้รับการสนับสนุนด้านการทำงานจากภาครัฐมากกว่า แทนที่จะได้ประกอบอาชีพที่ตนใฝ่ฝันตอนวัยเยาว์
บทบาทของการศึกษาและสังคมที่มีอิทธิพลต่อความฝันเรื่องอาชีพ
ท้ายที่สุดแล้ว ระบบการศึกษามีส่วนช่วยส่งเสริมความฝันเรื่องอาชีพของเด็กไทยไหม?
ศ.ดร.โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นถึงเรื่องการศึกษาไว้ว่า “ข้อดีของการศึกษาคือเป็นที่ที่นักเรียนได้มองเห็นโอกาสของตัวเอง พัฒนาตัวเอง และมองเห็นว่าตัวเองจะไปต่อในทิศทางไหน การศึกษายังให้ความสามารถ ให้ความเป็นไปได้ ให้ทักษะ ความรู้ และความชำนาญเพื่อจะไปถึงความฝันตรงนั้น
“ทีนี้ข้อเสียคือบางทีการศึกษามันเหมาโหล สอนเรื่องเดียวกันให้แก่ทุกคนมากเกินไป ไม่มีช่องทางสำหรับความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเปลี่ยนเนื้อหาที่ใช้เรียนเลย”
การจัดการที่ควรทำคือควรปรับหลักสูตรดั้งเดิม โดยเสริมรายวิชาที่เข้ากับความสนใจของเด็กเป็นรายบุคคล ซึ่งอาจารย์โสรัจจ์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “ควรจะผสมกันทั้งวิชาพื้นฐานที่ทุกคนควรจะรู้ อย่างภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ กับวิชาที่รองรับความสนใจของแต่ละคน ซึ่งอันนี้ต้องอาศัยทรัพยากร เพราะว่าเด็กแต่ละคนมีความสนใจแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน เช่น บางคนสนใจด้านกีฬา ก็ควรสนับสนุนให้เขามีโค้ชเฉพาะทางที่มีความสามารถเพียงพอที่จะสอนเขาได้”
ทั้งนี้ การจ้างครูที่มีประสิทธิภาพเพื่อมาสอนเด็กในรายวิชาเฉพาะ ควรได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ “แต่ว่าในท้ายที่สุดรัฐก็ไม่ควรเข้ามายุ่งมากเกินไป ควรจะยุ่งเกี่ยวเฉพาะในระดับปูพื้น ซึ่งพื้นไม่ควรหรือไม่สามารถที่จะทำให้ต่ำกว่านี้ ภาครัฐมีหน้าที่สร้างมาตรฐานตรงส่วนนี้ และเมื่อมองถึงผลในระยะยาวที่ไกลออกไป ควรจัดการทำให้โรงเรียนมีคุณภาพเท่ากัน”
“และผมคิดว่าคนที่มีอำนาจสูงสุดในการจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ของโรงเรียนแต่ละแห่ง ควรเป็นชุมชนที่อยู่ในละแวกเดียวกับโรงเรียนนั้น เมื่อผู้ปกครองและชุมชนร่วมกันพัฒนาโรงเรียนในละแวกบ้านตัวเอง พ่อแม่ก็จะไว้ใจที่จะส่งลูกไปเรียน ลดปัญหาการต้องสอบแข่งขันเพื่อส่งลูกเข้าไปเรียนโรงเรียนดัง ๆ ในตัวเมือง มันไม่ควรเป็นอย่างนั้นที่พ่อแม่ต้องขับรถหลายสิบกิโลเพื่อส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนดี ๆ” นี่คือหนทางแก้ปัญหาที่อาจารย์มองว่าน่าจะทำให้การศึกษาไทยดีขึ้นได้”
นอกจากนี้วิชาต่าง ๆ ที่สอนในห้องเรียนยังส่งผลต่อความฝันเรื่องอาชีพของเด็กด้วย โดยเฉพาะวิชาแนะแนว วิชาที่ดูเหมือนมีไว้ให้เด็กคลายเครียด พักสมองหลังจากเรียนวิชาหนัก ๆ แต่กลับให้อะไรมากกว่าที่คิด
ในประเด็นนี้ อาจารย์ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า “วิชาแนะแนว เป็นวิชาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจความเป็นไปได้ต่าง ๆ สอนให้นักเรียนมีความรู้ว่าแต่ละอาชีพเป็นอย่างไรบ้าง และให้เด็กรู้จักทางเลือกในชีวิตมากขึ้น วิชานี้จึงสำคัญไม่แพ้วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ แต่ปัญหาของวิชาแนะแนวในบางโรงเรียนคือ คนสอนขาดความหลากหลายในเรื่องที่ตัวเองพูดถึง หมายความว่าอาชีพมันมีเยอะมาก มีเป็นพัน ๆ อาชีพ ไม่ได้มีแค่แพทย์ วิศวกร สถาปนิก อันนี้เรียกว่าคิดอย่างไม่ค่อยมีจินตนาการเท่าไร ควรพูดถึงอาชีพให้หลากหลาย อย่างเดี๋ยวนี้อาชีพค้าขายออนไลน์เป็นที่นิยมมากก็ควรพูดถึง หรืออาชีพนักดับเพลิง ก็น่าจะเอามาพูด อย่างน้อยควรให้เด็กรู้ว่ามีอุปกรณ์ป้องกันอะไรบ้างที่เขาใช้ในระดับสากล”
ประเด็นค่านิยมเรื่องอาชีพก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กตัดสินใจว่าอยากจะประกอบอาชีพอะไร
อาจารย์อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “เรื่องการเลือกอาชีพเป็นค่านิยมของพ่อแม่ โดยเฉพาะชนชั้นกลาง อันนี้มันเป็นเรื่องจิตวิทยาด้วย คือคนชอบแข่งกัน ทับถมกัน พ่อแม่บางคนอยากอวดอยากแข่ง เอาลูกตัวเองเป็นอุปกรณ์การแข่งขัน เอามาทับถมกันว่าลูกฉันเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ เข้าคณะดัง ๆ ได้ตอนมหาวิทยาลัย โดยที่ไม่ได้คิดว่าตัวเด็กเองเป็นอย่างไร มันไม่ได้มีแค่เรื่องลูกเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ แต่มีช่องทางอื่นอีกมากมายที่สามารถเอาไปอวดได้ ลูกเข้าแฟชั่นดีไซน์ ได้ไปแข่งวอลลย์บอลก็เอาไปอวดได้ มีช่องทางหลากหลายมากที่เด็กคนหนึ่งจะแสดงความโดดเด่นในทางของตัวเองออกมา และพ่อแม่ก็ควรจะเข้าใจและรับรู้ตรงนั้น”
เด็กแต่ละคนมีความฝันของตัวเองโดยธรรมชาติว่าโตขึ้นอยากประกอบอาชีพอะไร ฉะนั้นสิ่งที่การศึกษาและสังคมไทยควรทำ จึงไม่ใช่การไปตีกรอบความฝันของเด็ก แต่ควรใช้การศึกษาและแรงสนับสนุนจากสังคมเป็นบันไดให้เด็กนำไปต่อยอดจนถึงฝั่งฝันอาชีพที่เขาอยากเป็นให้ได้มากที่สุด
เรื่อง โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
ภาพถ่าย พศิน รัตนเดชตระกูล
ข้อมูลอ้างอิง
ส่อง 10 อันดับ คณะยอดฮิต TCAS61 – 63 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/901062
Adecco เปิดผลสำรวจวันเด็กปี 64 ‘หมอ’ ยังคงเป็นอาชีพในฝัน – ‘BLACKPINK’ ไอดอลขวัญใจเด็กไทย https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/children-dream-career-survey-2021