ลารุงการ์ เมืองมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่สุดในโลก

ลารุงการ์ เมืองมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่สุดในโลก

เมื่อช่างภาพบันทึกภาพ ลารุงการ์ เมืองมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนทางการจีนสั่งรื้อทำลายบางส่วน และปิดไม่ให้“คนนอก” เข้าไปเยือนอีกต่อไป

จนถึงวันนี้ ลารุงการ์ และยาร์เชนการ์ ยังคงเป็นเมืองลับแล

เราไม่เคยได้ยินว่า มีใครรู้เรื่องราวของเมืองทั้งสองอย่างถ่องแท้ แทบไม่มีข่าวเล็ดลอดจาก “ลารุงการ์” และ “ยาร์เชนการ์” ชนิดที่ทำ ให้เราเข้าใจได้ว่า เมืองทั้งสองนี้ ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจชนิดใด นอกจากเงินบริจาคและ ร้านค้าไม่กี่ร้าน บริหารจัดการอย่างไร นอกเหนือจาก คณะกรรมการสถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นพระ และมีกฎหมายเช่นไร นอกเหนือจากพระวินัยของภิกษุและภิกษุณี ทั้ง สองเมืองอยู่ในเขตปกครองตนเองการ์เซ มณฑลเสฉวน แต่สำหรับคนทิเบต ที่นี่เคยรู้จักกันในนามแคว้นคาม

แต่ไม่ว่าเราจะเรียกแบบไหน “ทิเบต” หรือ “เขตปกครองตนเอง” พรมแดนในความรู้สึกนึกคิด ก็มักพร่าเลือน เราไม่รู้ว่าส่วนที่เป็นหรือเคยเป็นประเทศทิเบตนั้น กินเนื้อที่ เท่าใด ยิ่งพุทธศาสนาแบบวัชรยานของทิเบต ยิ่งมีหลายสิ่ง ที่พ้นไปจากความเข้าใจของเรา

ภาพบ้านไม้ทาสีแดงหลังเล็กๆเรียงรายกันจนดูเหมือน ผืนพรมขนาดใหญ่ห่มคลุมหุบเขา เป็นภาพคุ้นตาที่เสิร์ช หาได้ในกูเกิ้ล และเป็นพื้นผิวของเมืองที่เราไม่อาจเข้าใจถึง ความตื้นลึกหนาบางได้

ลารุงการ์, ยาร์เซนการ์, ทิเบต, พระทิเบต
ที่ยาร์เชนการ์ บ้านเรือนตั้งเรียงรายอยู่ริมฝั่งนํ้า ที่นี่มีภิกษุณีเป็นประชากร หลักกว่า 10,000 รูป โดยมีแม่นํ้าเป็นเส้นกั้นแบ่งกับ ที่พักของภิกษุ เพิงหลังเล็กขนาดพอดีตัวรอบนอกเขตที่พักเป็นห้องปฏิบัติธรรมของภิกษุณี

คัมภีร์ ผาติเสนะ พูดถึงลารุงการ์และยาร์เชนการ์ ครั้งที่เขาเดินทางไปถ่ายภาพสองครั้งสองครา ครั้งแรก ระหว่างเดือนเมษายน—พฤษภาคม ปี2016 ราวหนึ่งเดือน ก่อนลารุงการ์จะถูกสั่งปิด ห้ามชาวต่างชาติทุกคนไปเยือน ครั้งที่สองเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี2017 คราหลังนี้เขาต้อง บ่ายหน้าไปยาร์เชนการ์ เพราะเข้าลารุงการ์ไม่ได้อีกต่อไป มีชาวต่างชาติบางคนขอยืมบัตรประจำตัวเพื่อนชาวจีนลักลอบ เข้าไปอยู่บ้าง แต่คนที่แนะนำ เรื่องนี้ไม่อาจรับประกันอะไรได้ หากนักเดินทางถูกตำรวจจับ

ทำไมหลายคนจึงอยากดั้นด้นไปยังดินแดนไกลปืนเที่ยง แห่งนี้ สำหรับคัมภีร์ “ความยากลำบากในการเดินทาง ความลึกลับ น่าค้นหา ความศรัทธาของผู้มาปฏิบัติธรรม ความอลังการของสิ่งปลูกสร้างที่แม้จะไม่สวยหรูวิจิตร แต่ ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนเราหลุดเข้าไปในอาณาจักร อะไรสักแห่ง” เป็นคำตอบถึงเสน่ห์ของเมืองกันดารทั้งสอง ซึ่งไม่ได้เป็นที่หมายของคนทั่วไป

แร้ง, ฝูงแร้ง, ทิเบต, ลารุงการ์
ฝูงแร้งเกาะอยู่บริเวณ เนินเขาเพื่อรอเวลาลงมากินศพ ขณะที่บนพื้นดิน ลามะกำลังประกอบพิธีอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์ ตามความเชื่อของชาวทิเบตว่าแร้งเป็นดังเทวดาที่จะนำวิญญาณขึ้นสู่สรวงสวรรค์

ว่ากันว่าลารุงการ์และยาร์เชนการ์ไม่เคยปรากฏอยู่ใน แผนที่ใดและหนังสือนำ เที่ยวเล่มไหน นักเดินทางจาก ต่างถิ่นอาศัยการบอกต่อ หากใครคิดจะหาหนังสือประวัติศาสตร์ของลารุงการ์และยาร์เชนการ์เป็นอันต้องผิดหวัง เพราะแม้แต่ใน amazon.com ก็ไม่มีหนังสือที่เกี่ยวข้องขาย จนยุคที่ทุกคนอยู่ในสังคมออนไลน์ เสียงเล่าลือจึงแพร่- กระจายและเชิญชวนให้นักเดินทางจากภายนอกเข้าไปเยี่ยมเยือน

ทั้งสองแห่งเป็นเมืองใหม่ที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวได้ไม่ถึง 40 ปี ลารุงการ์เริ่มเป็นชุมชนเมื่อปี1980 เมื่อลามะนิกาย ญิงมะ (หมวกแดง) นามว่า จิกมี พุนซอก กับลูกศิษย์ มาก่อร่างสร้างเรือนเพียงสองสามหลัง ก่อนหน้านั้นราวร้อยปีมีเพียงบันทึกว่า ลามะชั้นผู้ใหญ่และผู้ทำ นาย คนสำคัญของทิเบตชื่อ ดุดจอม ลิงปะ เคยลงหลักปักฐาน สร้างอารามนิกายญิงมะที่นี่มาก่อน ส่วนยาร์เชนการ์เป็นรูป เป็นร่างหลังจากนั้นอีกห้าปี ต่อมาในปี2001 เมื่อรัฐบาล จีนรื้อทำลายบ้านเรือนที่ลารุงการ์เป็นครั้งแรก ภิกษุและ ภิกษุณีจำนวนมากพากันอพยพหนีมายังยาร์เชนการ์

ลารุงการ์, ยาร์เซนการ์, ทิเบต
ร่องรอยการจัดระเบียบและปรับพื้นที่ในยาร์เชนการ์ เพื่อลดความแออัดและความปลอดภัยในกรณีเกิดเพลิงไหม้และภัยพิบัติตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาลจีน

จากเฉิงตู เมืองหลวงของมณฑลเสฉวน ถ้าไม่เช่ารถ ก็ต้องไปต่อรถบัสที่คังติ้งก่อน แล้วใช้เวลาอีกสองวันเพื่อไป ยังลารุงการ์และยาร์เชนการ์ ความที่ลารุงการ์อยู่เหนือจาก ระดับทะเล 4,000 เมตร คนจากถิ่นอื่นจึงจำ เป็นต้อง แวะพักเมืองกลางทางอย่างน้อยหนึ่งคืนเพื่อปรับร่างกาย ให้พร้อมกับระดับความสูงที่ตนไม่เคยชิน แล้วต้องผ่านด่าน ที่เซอร์ตาร์ก่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่ย่านนี้ไม่ได้เป็นพื้นที่ สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่กลับเป็นจุดหมายปลายทาง ที่ผู้จาริกแสวงบุญรู้จักดีและเดินทางเข้ามาไม่ขาดสาย

ที่ลารุงการ์ ไม่มีใครบอกได้ว่ามีคนอยู่อาศัยมากเท่าใด จะหนึ่งหมื่น สองหมื่น หรือมากถึงสี่หมื่นกันแน่ บางคน บอกว่ามีผู้อาศัยสองหมื่นคน แต่หากมีงานเทศกาลหรือ งานพิธีทางศาสนาอาจมีผู้จาริกมาที่นี่อีกเท่าตัว ผู้คนใน ลารุงการ์ส่วนใหญ่เป็นภิกษุ ภิกษุณี ฆราวาสผู้จาริก แสวงบุญ ผู้เฒ่าผู้แก่ นักปฏิบัติธรรมที่ตั้งใจจะใช้ชีวิต บั้นปลายที่นี่ และนักศึกษาที่สนใจพุทธศาสนาวัชรยาน จากไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย มาศึกษา เล่าเรียนในคอร์สที่เปิดสอนด้วยภาษาจีนกลางและภาษา อังกฤษ ภายในไม่กี่ทศวรรษ ลารุงการ์ก็ได้ชื่อว่าเป็น มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดุจเดียวกับที่เคยมี ผู้หลั่งไหลไปเรียนที่นาลันทาในสมัยพุทธกาล

ลารุงการ์มีสถาบันสงฆ์สำหรับภิกษุและภิกษุณีอยู่ห้าแห่ง (ในยาร์เชนการ์มีสี่แห่งและมีข่าวว่ากำลังก่อสร้างเพิ่มอีกแห่ง) มีชื่อเสียงด้านการสอนพุทธศาสนาสายวัชรยาน ภิกษุและ ภิกษุณีอุทิศตนเดินทางมารํ่าเรียนที่นี่เพื่อศึกษาพุทธศาสนา และออกไปเผยแผ่ มีไม่น้อยที่ต้องเดินทางรอนแรมจากวัด หรือบ้านเกิดของตนมาไกล โดยถือว่าความยากลำบาก ทั้งหมดคือการฝึกฝนและทดสอบตนเอง บางคนอยู่และ เรียนมานาน 20 ปีแล้ว แต่ไม่อาจบอกได้ว่าการเรียนเพื่อความเข้าใจพระศาสนา “อย่างถ่องแท้” ของตนจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ที่นี่สร้างพระที่มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่าปริญญาเอกออกมามากมาย และยังได้ชื่อว่าเป็นสถาบันสงฆ์ที่ เปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ภิกษุณีเพียงแห่งเดียวในทิเบต ทั้งยังยอมให้ภิกษุณีก้าวขึ้นมาเป็นครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ ภิกษุณีบางรูปได้รับการยอมรับนับถือว่า เชี่ยวชาญด้านพุทธวัชรยาน ยังได้สอนวิชาการขั้นสูงใน มหาวิทยาลัยสงฆ์ มีงานเขียนตีพิมพ์ในฐานะนักบวชสตรี และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการตะวันตกด้วย

ไม่มีถนนสำหรับช็อปปิ้ง มีร้านขายของชำก็เป็นแผงง่ายๆ เมืองอย่างลารุงการ์และยาร์เชนการ์ไม่มีโรงแรมหรูหรา “ที่ลารุงการ์มีโรงแรมแค่แห่งเดียว” คัมภีร์เล่า “ใช้วิธีวอล์กอินเพราะจองล่วงหน้าไม่ได้ เว้นแต่จะให้ไกด์ท้องถิ่นจอง ถ้าไม่มีที่ก็ต้องไปนอนบ้านลามะ ซึ่งเปิดให้ลามะ ต่างถิ่นหรือนักท่องเที่ยวอาศัยนอนและเก็บสตางค์”

บ้านพักในลารุงการ์เป็นเพียงห้องขนาดเล็กที่เรียบง่ายไร้การตกแต่ง แต่ละหลังไม่มีเครื่องทำความร้อน ไร้เครื่องทำนํ้าอุ่น มีไฟฟ้าให้ชาร์จแบตเตอรี่ได้ นักบวชใช้มือถือได้ แต่ห้ามมีทีวีในบ้าน ไม่มีนํ้าประปา (โรงแรมมีแต่นํ้าไหลอ่อนมาก หรือไม่ไหลเลย) ไม่มีบ้านไหนที่มีห้องนํ้าภายในบ้าน ส่วนที่ยาร์เชนการ์ ช่างภาพชาวตะวันตกเคยรายงานว่า สำหรับ ประชากรราว 20,000 คน มีห้องนํ้าน้อยกว่า 20 ห้องที่ล้วน แต่เป็น “ห้องสุขาแบบพื้นฐานที่สุด” ที่ตั้งเรียงรายตามฝั่ง แม่นํ้าที่ทุกคน “อาบนํ้า แปรงฟัน ล้างหน้ากันตรงนั้น” ส่วนนํ้าใช้ในบ้าน ต้องหิ้วใส่ถังเดินกลับมาเอง

ยาร์เซนการ์, ลารุงการ์, เณร, พระทิเบต
ที่ยาร์เชนการ์ไม่มีระบบนํ้าประปา ภิกษุณีต้องช่วยกันหาบนํ้าขึ้นไปทำความสะอาดภายในโถงอาคารปฏิบัติธรรม

คนที่เคยไปเยือนมักบอกว่า คนที่นี่มักไม่พูดคุยสนทนากันเรื่อยเปื่อย แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการปฏิบัติธรรม การสวดมนต์ภาวนา หมุนกงล้อมนตรา และการอ่าน หนังสืออย่างจริงจัง ราวกับไม่มีผู้ใดอยากเสียเวลาให้กับ เรื่องอื่นๆจนมีผู้ขนานนามว่า ที่นี่เป็นโอเอซิสแห่งพุทธศาสนา ภิกษุและภิกษุณีมีความภาคภูมิใจในสมณเพศของตน หลายคนตอบนักเดินทางว่าไม่คิดจะสึก และเชื่อมั่นว่าชีวิตนักบวชของพวกเขาไม่ได้สิ้นสุดเพียงชีวิตนี้ หากสืบเนื่องถึงชีวิตถัดๆไปด้วย

นอกจากศีลของภิกษุและ ภิกษุณีที่ต้องสำรวมระวังแล้ว ผู้มาอยู่ที่นี่ยังต้องรักษากฎ แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน คนที่นี่เห็นความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ศพเป็นเปลือกของผู้วายชนม์ที่ถูกนำไปทำพิธีฝังศพในฟากฟ้า (sky burial) ผู้ช่วยลามะจะแบกศพขึ้นเขาเพื่อให้ลามะประกอบพิธีและแล่ออกเป็นชิ้น เพื่อเป็นทานครั้งสุดท้ายแก่แร้งนับ ร้อยๆตัว วัฒนธรรมทิเบตเชื่อว่าแร้งที่โบยบินอยู่บนฟากฟ้า เป็นดังเทวดาผู้นำ พาวิญญาณผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์ หลาย คนถือว่าเป็นพิธีศพที่สะอาดที่สุดในโลก ไม่ต้องอาศัยฟืน นํ้ามัน การจุดไฟเผาใดๆ อันเป็นไปตามความจำ เป็นของ บางท้องถิ่นที่ขาดแคลนไม้ นํ้ามัน และการขุดผืนดินเป็น เรื่องยากลำบากเพราะข้างใต้เป็นหินแข็ง

ภิกษุณี, ทิเบต, ลารุงการ์
ภิกษุณีบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยการขนเศษหินสลักลวดลายเพื่อลำเลียงไปสร้างสถานปฏิบัติธรรมแห่งใหม่ในยาร์เชนการ์

การทำลายบ้านเรือนในลารุงการ์เริ่มเป็นข่าวเผยแพร่ สู่โลกภายนอกเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี2016 เมื่อสำนักข่าว ใหญ่อย่าง บีบีซี เดอะไทมส์ และ เดอะนิวยอร์กไทมส์ จับตามองและรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว ราวหนึ่งปีให้หลัง เดือนสิงหาคม ปี2017 ศูนย์ทิเบตเพื่อสิทธิมนุษยชนและ ประชาธิปไตย (Tibetan Centre for Human Rights and Democracy: TCHRD) ก็รายงานข่าวการรื้อทำลาย ที่พักอาศัยในยาร์เชนการ์ โดยอิงข้อมูลของแหล่งข่าวที่ ไม่เปิดเผยตัวจากกลุ่มฟรีทิเบต

การรื้อถอนที่พักอาศัยทั้งในลารุงการ์และยาร์เชนการ์ เกิดขึ้นหลายระลอก ในเวลาไล่เลี่ยกันตั้งแต่ปี 2001- 2002 รัฐบาลจีนให้เหตุผลว่าเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ สะดวก สะอาด และปลอดภัย เนื่องจากเมืองทั้งสอง อยู่ในเขตแผ่นดินไหว บ้านเรือนอยู่กันแออัด ปี 2014 ที่ลารุงการ์เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านราว 100 หลัง ยิ่งเป็นเหตุ ให้“การพัฒนา” ของรัฐบาลจีนฟังดูสมเหตุสมผลขึ้น

กะโหลก, ทิเบต
กะโหลกศีรษะจำลองเรียงรายเต็มผนังและเพดานภายในวิหารแห่งความตายใกล้กับสถานที่ประกอบพิธีฝังศพซึ่งอยู่ห่างจากลารุงการ์ออกไปสองสามกิโลเมตร

ในรายงานของ TCHRD ระบุว่า ขณะที่บ้าน 4,725 หลัง ถูกรื้อถอนในเดือนกรกฎาคม ปี2016 ผู้อยู่อาศัยราว 4,800 คนถูกส่งกลับบ้านเกิด โดยที่ต้องเซ็นสัญญาว่าจะไม่กลับมา ที่ลารุงการ์อีก ไม่มีใครรู้แน่นอนว่ารถบัสพาคนเหล่านั้นไป ที่ใดบ้าง ไม่ว่าแต่จำนวนคนทั้งหมดในลารุงการ์จะมีเท่าใด แต่รัฐบาลก็กำหนดให้เหลือภิกษุอยู่ได้1,500 รูป และ ภิกษุณี3,500 รูปเท่านั้น

คลิปวิดีโอ “Larung Gar Buddisht Academy— Under Threat” ที่กลุ่ม Free Tibet อัปโหลดในยูทูบ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ปี 2017 ซึ่งน่าหดหู่สะเทือนใจและ เร้าอารมณ์นั้น ฉายภาพการรื้อทำลายบ้านเรือนบางส่วนใน ลารุงการ์ด้วยรถไถ ภาพภิกษุและภิกษุณีถูกกวาดต้อนขึ้น รถบัสออกไปจากเมือง มีภาพการรํ่าไห้ ข่าวการฆ่าตัวตาย ของภิกษุณีสามรูปที่ทนไม่ได้กับเหตุการณ์ดังกล่าว ฟุตเทจ ภิกษุณีถูกบังคับให้สวมชุดทหารร้องเพลงสมานฉันท์ จีน—ทิเบต ถูกบังคับให้ฟ้อนรำทั้งชุดนักบวชบนเวที

การประท้วงโดยกลุ่มต่างๆทั่วโลก รวมถึงการเรียกร้องให้ จีนหยุดการรื้อทำลายดังกล่าวจากผู้แทนสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หาก เลื่อนลงมาอ่านคอมเมนต์ท้ายคลิปจะพบว่าคนไม่น้อย เชื่อว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายตะวันตกที่กล่าวหารัฐบาลจีนและเห็นด้วยกับ “การจัดระเบียบ” ของทั้งลารุงการ์และยาร์เชนการ์

ทิเบต, ลารุงการ์, ยาร์เซนการ์
รูปหล่อปิดทองของคุรุรินโปเช ตั้งเด่นเป็นสง่าเหนือเนินเขาในยาร์เชนการ์ คุรุรินโปเช หรือองค์ปัทมสัมภาวะเป็นคุรุองค์สำคัญที่ประดิษฐานพุทธศาสนาวัชรยานในประเทศทิเบตและดินแดนแถบนั้นในศตวรรษที่แปด

ปลายมกราคม ปี 2018 เว็บไซต์ของฮิวแมนไรต์วอตช์รายงานในบทความ “China: New Controls on Tibetan Monastery” ว่า หลังการรื้อทำลายที่พักอาศัย ในปี 2017 ทางการจีนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกพรรค คอมมิวนิสต์และเจ้าหน้าที่ราว 200 คน เข้าควบคุมการ บริหารจัดการ การเงิน ความมั่นคง การรับนักศึกษา กระทั่งเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยและสถาบันของสงฆ์ ผู้อาศัยและผู้มาเยือนทุกคนต้องลงทะเบียนด้วย ชื่อจริง พระต้องติดแถบสีแดง ภิกษุณีสีเหลือง และ ฆราวาสสีเขียว เปลี่ยนหลักสูตรการเรียนให้มีเนื้อหาร้อยละ 40 เกี่ยวกับการเมืองและวิชาอื่นที่มิใช่ศาสนา ผู้สมัครเข้ามาเรียนได้จะต้องเป็นพลเมืองภายในมณฑลเสฉวนเท่านั้น เว้นแต่กรณีพิเศษที่ต้องผ่านการพิจารณาจากผู้บริหาร และ ยุติการรับภิกษุและภิกษุณีจากวัดอื่นๆของทิเบตเข้าเรียน อย่างสิ้นเชิง

แผนงานดังกล่าวออกแบบเพื่อจัดการสถาบันทางศาสนา ให้ลดขนาดลง แทนการสั่งปิด และเพื่อผลิตธรรมาจารย์ทาง พุทธศาสนาที่รับการฝึกฝนมา “ทั้งด้านคำสอนทางศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อปรับพุทธศาสนาแบบทิเบตสู่สังคมนิยม” ฮิวแมนไรต์วอตช์สรุปในรายงานดังกล่าว

ลารุงการ์ สถาบันศึกษาพุทธศาสนาใจกลางหุบเขาในเขตปกครองตนเองการ์เซ สูงจากระดับทะเลราว 4,000 เมตร เป็นที่พำนักเพื่อศึกษาธรรมะของ
เหล่าภิกษุ ภิกษุณี ฆราวาส และผู้จาริกแสวงบุญราว 40,000 คน ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เรียบเรียง นีรมล มูนจินดา
ภาพถ่าย คัมภีร์ ผาติเสนะ

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2561

ภาพและเนื้อหาที่ปรากฎมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย


อ่านเพิ่มเติม ปลัดขิก : โลกิยธรรมในวิถีพุทธของชาวภูฎาน

Recommend