การ อพยพ เดินเท้ารอบโลก สอนอะไรเกี่ยวกับการก้าวผ่านศตวรรษแห่งความอลหม่านของเรา
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดหลังท่องอยู่ในแอฟริการาว 240,000 ปี มนุษย์ที่มีโครงสร้างทางกายวิภาคสมัยใหม่เหมือนพวกเรา จึงเริ่มตั้งหน้าตั้งตาเดินออกจากทวีปมารดรและพิชิตโลก
ผมหมกมุ่นกับคำถามนี้ เพราะเกือบเก้าปีในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการเล่าเรื่อง ผมออกเดินเท้าไปตามเส้นทางยุคหินของบรรพบุรุษเราที่แยกย้ายออกจากแอฟริกา ผมเดินมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว โดยท้ายที่สุดแผนที่วางไว้คือย่ำไปให้ถึงปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้ ที่ซึ่ง โฮโม เซเปียนส์ เดินไปจนจดขอบฟ้าทวีปแล้ว เป้าหมายของผมเรียบง่ายตลอดมา นั่นเหยียบเบรคให้ชีวิต ชะลอความคิด หน้าที่การงาน และโมงยามให้ช้าลง
โชคไม่ดีที่โลก ก็มีความคิดอ่านของตัวเอง วิกฤติสภาพภูมิอากาศถึงขั้นสิ้นโลก การสูญพันธุ์อย่างกว้างขวาง การอพยพของมวลมนุษย์เพราะสถานการณ์บังคับ การลุกฮือของประชาชน ไวรัสโคโรนาที่คร่าชีวิต กว่า 3,000 รุ่งอรุณแล้วที่ผมผูกเชือกรองเท้าบู๊ต ออกก้าวไปบนดาวเคราะห์ที่เหมือนกำลังเร่งความเร็วจนฝ่าเท้าสะเทือน สู่วิกฤติมากมายที่จะส่งผลลึกล้ำต่ออนาคต ก่อนมาถึงเมียนมา ผมยังไม่เคยเดินหน้าเข้าหารัฐประหารเลย
มีสมมติฐานมากมายว่าด้วยเหตุที่ทำให้เรากระจัดกระจายออกจากแอฟริกา
นักวิจัยบางคนเชื่อว่า ทุพภิกขภัยขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหวี่ยงเราออกไปสู่โลกที่กว้างขึ้น หมายความว่าพวกเราเก็บอาหารกินจนหมดทุ่งสะวันนาอันเป็นถิ่นกำเนิดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ บอกว่า ดินแดน“อาหรับเขียว” หรือตะวันออกกลางที่เคยเขียวขจีกว่าตอนนี้ล่อใจบรรพบุรุษขายาวของเราไปสู่พื้นที่ล่าสัตว์ใหม่ๆ กระนั้นก็ยังมีบางคนที่อ้างว่า เราเริ่มออกเร่ร่อนเก็บของตามชายหาด แล้วพลัดออกจากพื้นที่คุ้นเคยในแอฟริกา ไปตามแนวชายฝั่งที่เพิ่งผุดเมื่อระดับทะเลลดลง (ทฤษฎีการอพยพย้ายถิ่นทางแนวชายฝั่ง)
สมมติฐานอธิบายมูลเหตุแห่งความอยู่ไม่ติดที่ของมนุษย์ที่ถูกใจผมมากกว่านั้นเกี่ยวข้องกับเสียงแห่ง ความทรงจำ พอจะอธิบายได้ดังนี้
เผ่าพันธุ์มนุษย์โบราณเดินโซซัดโซเซไปตามขอบเหวแห่งการสูญพันธุ์อยู่นานเหลือเกิน พวกเรามีจำนวนน้อยมากจนแทบไร้ตัวตนบนแผ่นดินบรรพกาล ใครบางคนอาจประดิษฐ์สิ่งของ เช่น เครื่องมือใหม่ขึ้นมาสักอย่าง แต่นวัตกรรมดังกล่าวกลับสูญหายไป เมื่อวงศ์วานของเธอล้มตายไปหมด ความก้าวหน้าเหล่านั้นจึงไม่เคยเผยแพร่ออกไปหรือตกทอดต่อมา วนเวียนอยู่อย่างนั้นนับพันปีอันมืดมน ค้นพบ สูญหาย ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ จะเรียกว่า ตกร่องอยู่นานแสนนานก็ได้ จวบจนเมื่อประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นและมีเสถียรภาพมากพอจะรักษาและต่อยอด การบุกเบิกต่างๆได้แล้วเท่านั้น พวกเราจึงปลดล็อกประตูสู่โลกนี้ได้ในที่สุด เราจดจำความทรงจำของกันและกันได้ เราชนะศึกเหนือความลืมเลือน เราจึงก้าวรุดไปข้างหน้า
ผมมาได้เกือบถึงครึ่งทางในโครงการเดินเท้า 38,500 กิโลเมตรที่ดูเหมือนไร้เหตุผลนี้ โดยมุ่งไปทางตะวันออก สู่ดวงอาทิตย์อุทัย เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผมจะหวนนึกถึงใบหน้าผู้คนนับพันที่พานพบระหว่างทาง ในบรรดาพวกเขาเหล่านั้น ใครที่ดูมีคุณสมบัติพร้อมจะเอาตัวรอด ถ้าไม่ถึงกับเอาชนะ ความท้าทายสารพัดในยุคแห่งความ ไม่แน่นอนของเรา ใครกันที่จะเดินฝ่าศตวรรษนี้ไปอย่างครบสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจกันเล่า
เมื่อการปราบปรามรุนแรงถึงขั้นนองเลือด การสูญเสียความทรงจำอย่างประหลาดแผ่ปกคลุมทั้งย่างกุ้ง มันคือข้อความต่างๆ ที่หายไป มิตรสหายชาวพม่า ทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ศิลปิน นักศึกษา เยาวชนคนหนุ่มสาวที่เฝ้ารักษาเครื่องกีดขวางเอาไว้ ต่างต้องเปลี่ยนไปใช้แอพฯ เข้ารหัส พวกทหารสืบหาร่องรอยจากโทรศัพท์ของพลเรือนตามจุดตรวจค้น เราตั้งเวลาสำหรับข้อความด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย (หกชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง หนึ่งนาที) แล้วเฝ้าดูชีวิตเราในรูปบทสนทนาดิจิทัลสลายไปตลอดกาล
แม่ฉันบอกว่าไม่อยากเห็นลูกสาวทั้งสองคนติดคุก… พวกมันยิงคนในย่านตัมเว… ขอให้ปลอดภัยนะ… ผมกำลังพยายามขอเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศที่สามอยู่… บันทึกความวิตกกังวลที่สื่อถึงความกลัว ความโกรธ และการปลุกปลอบเหล่านี้อันตรธานไปทุกคราว ที่ผมลืมตารับอรุณอันเรืองรองอีกวัน ผมกำลังก้าวฝ่าการปฏิวัติในภาวะการสื่อสารบกพร่อง ผมนึกภาพว่า นี่คงใกล้เคียงที่สุดแล้วกับยุคต้นกำเนิดของพวกเรา
ผมพักการเดินของผมที่ย่างกุ้ง
ทหารกำลังไล่ยิงประชาชนนับร้อย สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อกำลังเริ่มต้น เส้นทางข้างหน้าอันตรายเกินไป ผมละเมิดกฎการเดินทางของตัวเองชนิดไม่มีทางเลือก ด้วยการทิ้งเมียนมาแล้วบินไปจีน
ผมไปย่านที่มีต้นไม้ร่มรื่นแห่งหนึ่งเพื่ออำลาเพื่อนจำนวนหนึ่ง พวกเขาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่กำลังหลบซ่อนอยู่ ภายในบ้านมีสภาพเหมือนหอพักมหาวิทยาลัย จักรยานจอดเรียงอยู่เต็มห้องโถง กีตาร์ตัวหนึ่งตั้งพาดอยู่ตรวมุมห้อง เพื่อนๆ ผมยืนล้อมโต๊ะรับแขกกันอยู่ กำลังขะมักเขม้นเรียนรู้การใช้คันธนูกับลูกศรไม้ไผ่ต่อสู้กับกองทัพของรัฐบาลทหาร ฉากประเภทนี้เก่าแก่แค่ไหนหรือ หัวลูกศรเก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักมีอายุย้อนหลังไป 61,000 ปี เป็นหัวลูกศรที่พบในถ้ำซีบูดูในแอฟริกาใต้ โฮโมเซเปียนส์ ยุคโบราณที่ผมเดินตามรอยเป็นผู้ประดิษฐ์อย่างไม่ต้องสงสัย
“พวกเราทุกคนจะต้องเผชิญอันตรายในการต่อสู้” โปรดิวเซอร์วิดีโอผู้มีรอยสักคนหนึ่งในเซฟเฮาส์ดังกล่าว เอ่ยขึ้นมา “ไม่มีใครจะผ่านไปได้อย่างไร้รอยขีดข่วนหรอก”
ฟังดูเหมือนพรส่งท้ายสำหรับการเดินทางเป็นหมู่คณะที่จะมาถึง ผมจะบังอาจแนะนำอะไรได้ แบ่งปันแม้คุณจะมีเพียงน้อยนิด จงอย่าไว้ใจกำแพง เราต่างอวยพรให้อีกฝ่ายโชคดี ลูกศรกองอยู่บนโต๊ะข้างไอแพดเครื่องหนึ่ง
ผมบอกตัวเองว่า จงจำภาพนี้เอาไว้
เรื่อง พอล ซาโลเพก
ภาพถ่าย จอห์น สแตนเมเยอร์
สามารถติดตามสารคดี บทเรียนจากการเดินทาง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2564
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/534541