สำรวจประเด็นสังคมในแอนิเมชันครอบครัวแห่งปี The Mitchell vs. The Machines

สำรวจประเด็นสังคมในแอนิเมชันครอบครัวแห่งปี The Mitchell vs. The Machines

The Mitchell vs. The Machines ไม่เพียงแต่พาคนดูไปพบกับความสนุกในการกู้โลกของครอบครัวมิตเชล์ล แต่ยังพาคนดูไปสำรวจประเด็นทางสังคมอย่างช่องว่างระหว่างวัยที่อาจทำให้คนดูบางคนต้องย้อนหันกลับไปมองถึงสาเหตุความไม่เข้าใจกันภายในครอบครัวของตน

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สภาวะช่องว่างระหว่างวัย (Generation gap) เป็นหนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุก ๆ ครอบครัวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งสภาวะนี้สามารถก่อให้เกิดได้ทั้งผลดีและผลเสีย ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวนั้นจะรับมือกับมันอย่างไร

อาจด้วยวิธีประนีประนอมอย่างการจับเข่าคุยกันเพื่อปรับความเข้าใจ หรือบางครอบครัวอาจเลือกที่จะปิดกั้นการเรียนรู้ แล้วใช้อารมณ์ในการโต้เถียงเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น แต่ทว่าในแอนิเมชันอย่าง The Mitchell vs. The Machines นั้นแลดูจะมีวิธีการปรับความเข้าใจกันที่ค่อนข้างจะพิสดารพอสมควร

เทคโนโลยีที่เป็นดาบสองคม

The Mitchell vs. The Machines เล่าถึงเรื่องราวอันแสนวุ่นวายของครอบครัวมิตเชล์ล ที่ไม่ค่อยจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสักเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกสาวคนโต เคธี่ กำลังจะย้ายออกจากบ้านเพื่อไปเรียนยังมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ แต่ผู้เป็นพ่ออย่าง ริค กลับไม่เห็นด้วยกับเส้นทางชีวิตของลูก ส่งผลให้วันแห่งการจากลาจบลงด้วยการทะเลาะกัน

ริคพยายามที่จะซ่อมแซมความสัมพันธ์กับลูกสาวอีกครั้ง จึงได้จัดโร้ดทริปครอบครัวเพื่อไปส่งเคธี่ยังมหาวิทยาลัย โดยพ่วงด้วยสมาชิกในบ้าน อีก 2 คน 1 ตัว อย่าง ลินดา ผู้เป็นทั้งแม่และภรรยาที่เปรียบเสมือนคนกลางระหว่างความไม่เข้าใจกันของสองพ่อลูก และแอรอน น้องชายคนเล็กผู้คลั่งไคล้ไดโนเสาร์ ปิดท้ายด้วย มอนชิ หมาปั๊กที่หน้าเหมือนหมูและขนมปังแถว

แต่ทุกอย่างกลับกลายเป็นความโกลาหลเมื่อเหล่าหุ่นยนต์ของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังพยายามที่จะยึดครองโลก และครอบครัวมิตเชล์ลคือมนุษย์กลุ่มสุดท้ายที่เหลือรอด ส่งผลให้พวกเขาต้องกอบกู้โลกจากเทคโนโลยีล้ำยุคและซ่อมแซมความสัมพันธ์ฉันท์ครอบครัวไปในระหว่างทาง

กล่าวได้ว่าท่าทีในการนำเสนอของแอนิเมชันเรื่องนี้ดูจะไม่ผิดโผไปจากสูตรสำเร็จและไม่ยากเกินกว่าที่จะสามารถคาดเดาตอนจบของมันได้สักเท่าไหร่นัก แต่ก็ต้องยอมรับในชั้นเชิงของการเล่าเรื่องที่ตลอดการเดินทาง ผู้สร้างเลือกที่จะใส่ท่ายากเข้าไปอย่างพอดีคำมากกว่าที่จะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปตามสูตร

รวมไปถึงมุขตลกสถานการณ์ที่สามารถทำหน้าที่สร้างเสียงหัวเราะได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยเหตุนี้เองความบันเทิงตลอดองก์ 1 และ 2 จึงเข้ามาเกื้อหนุนให้การปิดจบในองก์ 3 สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้แก่คนดูได้อย่างอยู่หมัดตลอดไคล์แม็กซ์

ประเด็นสังคมใหญ่ที่ซ่อนอยู่

แต่ใช่ว่าความบันเทิงจะเป็นสิ่งเดียวที่หนังมอบให้ เพราะจากที่กล่าวไปข้างต้นถึงประเด็น สภาวะช่องว่างระหว่างวัย (Generation gap) ที่มีพื้นฐานอยู่บนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว โดยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “ช่องว่าง” นั้นเขยิบห่างมากยิ่งขึ้น ซึ่งมันก็สะท้อนสภาพสังคมโลกปัจจุบันได้อย่างร่วมสมัยและรู้สึกจับต้องได้ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้คนดูได้คิดตามตลอดทางว่า สิ่งที่ตัวละครเข้าใจในแบบของตนเองนั้นแท้จริงแล้วถูกต้องหรือไม่

การให้คนดูได้ฟังความทั้งสองข้างอย่างเท่าเทียมถือเป็นจุดแข็งที่น่าชื่นชมของแอนิเมชันเรื่องนี้ที่ไม่ทำให้เกิดอาการเอนเอียงทางความรู้สึกไปยังตัวละครใดตัวละครหนึ่ง และนำมาซึ่งความเข้าอกเข้าใจในตัวละครนั้น ๆ ที่ถึงแม้ว่าในตอนต้นเรื่องพวกเขาอาจจะยังไม่สามารถเชื่อมติดกันได้อย่างลงรอย แต่จากตลอดการเล่าให้ทราบที่ค่อย ๆ เผยความในใจของเรื่องราวออกมา มันก็พอจะทำให้คนดูรู้ว่าต้องเตรียมรอยยิ้มไว้ใช้ในช่วงเวลาไหน

แอนิเมชันเรื่องนี้จึงมีการนำเสนอประเด็นที่ทั้งแนบเนียนและหนักแน่น หลายครั้งหลายคราว มันได้นำเสนอให้คนดูได้เห็นอย่างชัดเจนผ่านความอลหม่านชวนปวดหัวของครอบครัวมิตเชล์ลซึ่งถูกเล่นงานด้วยประเด็นข้างต้นจนยากที่พวกเขาจะเดินหน้าต่อในบางครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกไม่ปรับความเข้าใจกันของสองพ่อลูกจนนำมาซึ่งช่องว่างระหว่างวัยที่ไม่มีท่าทีของการเชื่อมติดกันอีกครั้ง

หรือจะเป็นการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทำให้ใครหลายคนละเลยต่อคนสำคัญรอบข้างไปอย่างไม่รู้ตัว ส่งผลให้โร้ดทริปกู้โลกเชื่อมสัมพันธ์ครอบครัวแฝงไปด้วยความกระอักกระอ่วนในตลอดการเดินทาง หรือแม้กระทั่งบทสนทนาในภาพยนตร์ของเคธี่ มันก็เหมือนกับว่าเธอหยิบยกประโยคที่ผู้เป็นพ่อเคยพูดมาใช้ และตอบโต้มันด้วยความในใจที่เธอไม่อาจพูดออกไปได้ในชีวิตจริง

โลกใบเล็กที่เรียกว่าครอบครัว

แต่กระนั้นเอง ผู้สร้างก็สามารถที่จะหาทางลงให้แก่ปัญหาภายในครอบครัวมิตเชล์ลได้ด้วยรอยยิ้มของทั้งตัวละครและคนดู พวกเขาจึงเปรียบเสมือนเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ในการปรับความเข้าใจกันของคนสองคนซึ่งมีชุดความคิดที่แตกต่างกัน หรือหากให้กล่าวอย่างเน้นเสียงคงเรียกได้ว่าเป็น “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” โดยไม่มีทิฐิในช่วงวัยของกันและกัน

การแก้ปัญหาของตัวละครภายในเรื่องไม่เพียงแต่จะทำให้พวกเขาสามารถกอบกู้โลกเอาไว้ได้ แต่ยังสามารถทำให้พวกเขากอบกู้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของครอบครัวได้อย่างชวนอบอุ่นหัวใจ

เรื่อง พัทธนันท์ สวนมะลิ

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ รายากับมังกรตัวสุดท้าย: ดิสนีย์นำเสนอความเป็นอาเซียนในแอนิเมชันอย่างไร

รายา

Recommend