ประเทศ ตุรกี (Turkey) เปลี่ยนชื่อเป็น ตุรเคีย (Türkiye) เรียบร้อยแล้ว – เปิดสาเหตุ ทำไมตุรกีถึงคิดเปลี่ยนชื่อประเทศ
องค์การสหประชาติ – เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้รับจดหมายจากประเทศตุรกีเพื่อขอจดทะเบียนชื่อใหม่ในภาษาต่างประเทศ จาก ตุรกี (Turkey) เป็น ตุรเคีย (Türkiye) และสหประชาชาติได้เปลี่ยนชื่อตามคำขอดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา
.
โดย นาย Mevlut Cavusoglu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ “จะช่วยเพิ่มคุณคุณค่าภาพลักษณ์ของประเทศได้” โดยการเปลี่ยนชื่อประเทศนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างภาพลักษณ์ประเทศใหม่ของประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ซึ่งมีแผนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานาธิบดีของประเทศอีกครั้งในสมัยหน้า
.
ที่มาของชื่อ Turkey
สำนักข่าว TRT ซึ่งเป็นของรัฐบาลตุรกี ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ว่า นอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศแข็งแกร่งขึ้นแล้ว ยังทำให้ชื่อประเทศไม่ไปพ้องเสียงกับ ไก่งวง (Turkey) ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสัตว์ปีกที่เกี่ยวข้อง (หรือเป็นอาหารที่เฉลิมฉลอง) ในเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และวันขอบคุณพระเจ้า
.
ในภาษาอังกฤษ Turkey มีความหมายว่า “ดินแดนที่ถูกครอบครองโดยชาวเติร์ก (Turks) ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อพยพจากเอเชียกลางมาตั้งถิ่นฐานที่ดินแดนอานาโตเลีย (พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศตุรกีปัจจุบัน) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ดินแดนดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “จักรวรรดิออตโตมัน” มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1300 จนถึงปี 1922
.
โดยในภาษาตุรกี จะเรียกชื่อประเทศของตัวเองว่า Turkiye ซึ่งใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่ประกาศเอกราชจากอิทธิพลของประเทศตะวันตกเมื่อปี 1923 แต่ก็ใช้ภาษาอังกฤษที่เรียกตัวเองว่า ตุรกี (Turkey) มาอย่างยาวนานเช่นกัน
.
อย่างไรก็ตาม ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษของเคมบริดจ์ได้ให้ความหมายของคำว่า Turkey ว่า “สิ่งที่ล้มเหลวอย่างรุนแรง” และ “คนโง่หรือคนเซ่อ” ด้วยเช่นกัน ซึ่งจัดอยู่ในหมวดหมู่คำที่ไม่เป็นทางการ (informal)
.
โดยตุรกีได้ใช้ชื่อ Turkey ในภาษาอังกฤษเรื่อยมา จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2021 ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ได้สั่งให้ใช้ชื่อ Türkiye โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม อารายธรรม และคุณค่าของชาวตุรกี (Turkish) ได้ดียิ่งขึ้น และสั่งให้มีการระบุสินค้าที่ส่งออกจากประเทศว่า “Made in Türkiye” แทนที่ “Made in Turkey” ส่วนบรรดาหน่วยงานราชการก็ได้ใช้ชื่อ Türkiye ในเอกสารทางการ
.
และเมื่อปี 2022 รัฐบาลได้ออกวิดีโอประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้ชื่อนี้ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเนื้อหาที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกพูดคำว่า “Hello Türkiye” ในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ และสำนักงานเพื่อการสื่อสารของประธานาธิบดีตุรกีได้เริ่มโครงการรณรงค์นี้ออกไปเพื่อ “ส่งเสริมการใช้คำว่า Türkiye ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งการใช้ชื่อนี้ในระดับประเทศ และในระดับนานาชาติ” จนกระทั่งสหประชาชาติได้เปลี่ยนชื่อตามคำขอของตุรกีที่ส่งไปในที่สุด
.
ชาวตุรกีคิดเห็นอย่างไร?
จากกระแสในสื่อโซเชียลมีเดีย มีทั้งวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ว่า “มุ่งไปสู่ความแปลกประหลาด” ในขณะที่มีอีกคนจำนวนมากมองว่าเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศที่จำเป็น และมีหลายคนที่มองว่า นี่เป็นการเบี่ยงความสนใจของประชาชนจากวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงของประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ที่กำลังเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งอีกครั้งในปีหน้า
.
ไทยเราเองก็เคยเปลี่ยนชื่อประเทศ
ในโลกนี้มีอีกหลายประเทศที่เคยผ่านการเปลี่ยนชื่อมาก่อน อย่างเช่นในปี 2020 ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ละทิ้งพยายามในการเปลี่ยนชื่อเป็นฮอลแลนด์ ด้านประเทศมาซิโดเนียได้เปลี่ยนชื่อเป็นมาซิโดเนียเหนือ เนื่องจากข้อขัดแย้งทางการเมืองกับกรีซ และประเทศสวาซิแลนด์ก็เปลี่ยนชื่อเป็นเอสวาตีนีในปี 2018
.
ย้อนไปในประวัติศาสตร์ ชื่อเดิมของอิหร่านก็เคยเป็น เปอร์เซีย ด้านประเทศโรดีเซีย ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นซิมบับเว และประเทศไทยได้เปลี่ยนชื่อมาจาก “สยาม” เมื่อปี พ.ศ. 2482 ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยให้เหตุผลในการเปลี่ยยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับ “เชื้อชาติ” ของคนในประเทศซึ่งเป็นชนชาติ “ไท” แต่มิได้ระบุถึงเหตุผลว่าทำไมคำว่า “ไทย” จึงต้องมี “ย” ต่อท้าย
สืบค้นและเรียบเรียง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ที่มา
https://www.bbc.com/news/world-europe-61671913
https://www.theguardian.com/world/2022/jun/03/turkey-changes-name-to-turkiye-as-other-name-is-for-the-birds
https://edition.cnn.com/2022/06/03/middleeast/turkey-name-change-mime-intl/index.html
https://www.dnaindia.com/explainer/report-dna-explainer-why-has-turkey-changed-its-name-north-america-bird-meleagris-recep-tayyip-erdogan-ottoman-empire-2957673
https://www.thansettakij.com/world/527525
https://www.silpa-mag.com/history/article_2224