ความตายอันร้อนระอุเมื่อเด็กถูกทิ้งไว้ในรถ

ความตายอันร้อนระอุเมื่อเด็กถูกทิ้งไว้ในรถ

ความชะล่าใจหรือความประมาทเลินเล่อของผู้ปกครองอาจทำให้บุตรหลานตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตได้ หาก ลืมเด็กในรถ

ในปัจจุบันนี้ ทั่วทุกแห่งในโลกต่างก็ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุก ๆ ปี และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมาอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติจากคลื่นความร้อนรุนแรงในสหรัฐอเมริกาก็ได้คร่าชีวิตเด็กชายอายุเพียง 5 ขวบในรัฐเท็กซัสขณะถูกผู้ปกครองลืมไว้ในรถ

โดยสำนักข่าว CNN ได้รายงานว่าเด็กชายถูกทิ้งไว้บนรถหลายชั่วโมงในอากาศกว่า 38 องศา ซึ่งถือว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรัฐดังกล่าว ทว่ากว่าผู้ปกครองจะนึกได้ว่าตนลืมลูกชายไว้บนรถก็สายไปเสียแล้ว แม้มารดาของเด็กยืนยันว่าลูกของเธอรู้วิธีปลดเข็มขัดคาร์ซีทและประตูของรถที่เธอเช่ามาไม่มีปุ่มล็อคป้องกันเด็ก แต่เด็กชายกลับนั่งรอผู้ปกครองจนไม่สามารถทนต่อความร้อนที่ระอุภายในรถได้และเสียชีวิตลงจากอาการฮีทสโตรก โดยทีมสอบสวนสันนิษฐานว่าที่เด็กชายไม่กล้าปลดเข็มขัดและลงจากรถนั้นอาจเกิดจากความไม่คุ้นชินเนื่องจากไม่ใช่รถที่ครอบครัวใช้เป็นปกติ

สำหรับสาเหตุของการเสียชีวิตจากการถูกลืมไว้บนรถนั้นไม่ได้เกิดจากการขาดอากาศหายใจจากประตูและหน้าต่างที่ปิดสนิท แต่เกิดจากความร้อนสะสมภายในตัวรถ ซึ่งนายแพทย์ฉัตรชัย อิ่มอารมย์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายผ่านรายการคมชัดลึกในวันที่ 12 พฤษภาคม ปี 2559 ไว้ว่า “กรณีเด็กเสียชีวิตในรถที่จอดอยู่กลางแดดนั้น สาเหตุมาจากภาวะร่างกายเป็นโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก คือร่างกายถูกเผากลางแดด เปรียบเทียบเหมือนรถยนต์ที่อยู่ในสภาวะโอเวอร์ฮีท ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถทนกับอุณหภูมิที่สูงขนาดนั้นได้”

นอกจากนี้นายแพทย์ฉัตรชัยยังได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้โดยสามารถสรุปได้ว่า การจอดรถไว้กลางแดดส่งผลให้อุณหภูมิภายในรถเพิ่มขึ้นจนสูงกว่าอุณหภูมิภายนอก และยิ่งเวลาผ่านไปภายในตัวรถจะยิ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับเตาอบเนื่องจากไม่มีช่องทางใดที่จะสามารถระบายความร้อนออกได้ หากมีเด็กถูกลืมอยู่ในรถ อุณหภูมิของร่างกายเด็กจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอุณหภูมิภายในรถ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้กลไกของร่างกายมนุษย์จะพยายามลดอุณหภูมิลงให้ได้มากที่สุดผ่านการขับเหงื่อออกทางรูขุมขน แต่ในขณะเดียวกันอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็จะทำให้เส้นเลือดขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ และแตกในที่สุด เมื่อถึงขีดจำกัดของร่างกายแล้ว เด็กจะมีอยู่ในภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงเนื่องจากเสียเหงื่อเป็นจำนวนมาก สิ่งต่อมาที่จะเกิดคืออวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายจะเริ่มทำงานผิดปกติจนถูกทำลายลง และท้ายที่สุดเด็กก็จะค่อย ๆ หมดสติหรือชักจนหมดสติเนื่องจากสมองได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้เด็กที่ถูกลืมไว้ในรถเสียชีวิตอย่างเร็วที่สุดภายใน 1 ชั่วโมง

เหตุการณ์อันน่าสลดใจนี้นับเป็นอุทาหรณ์สำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุน้อย โดยจะเห็นได้ว่าความชะล่าใจหรือความประมาทเลินเล่อของผู้ปกครองอาจทำให้บุตรหลานตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตได้ ถึงอย่างนั้นการลืมเด็กไว้บนรถก็ยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในประเทศอเมริกาและในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยสถิติจาก Kids and Car Safety องค์กรด้านความปลอดภัยสำหรับเด็กเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะได้ระบุไว้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ ปีในอเมริกามีเด็ก 38 คนเป็นอย่างต่ำเสียชีวิตจากการถูกทิ้งไว้บนรถขณะที่อากาศร้อน

 

ภาพโดย Lama Roscu จาก unsplash

สำหรับประเทศไทย พบว่าเหตุการณ์ลืมเด็กไว้ในรถนั้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและโดยส่วนมากเหตุการณ์เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยครั้งล่าสุดที่มีเหตุการณ์สุดสะเทือนใจนี้เกิดขึ้นคือเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 เกิดเหตุเด็กนักเรียนชายอายุเพียง 2 ขวบถูกลืมไว้ในรถตู้ซึ่งจอดกลางแดดถึง 6 ชั่วโมงด้วยความสะเพร่าของพนักงานและครูที่ดูแลรถรับ-ส่งนักเรียน แม้จะมีคนพบและรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีแต่เด็กชายเคราะห์ร้ายก็ตกอยู่ในภาวะโคม่าไม่สามารถตอบสนองอะไรได้และเสียชีวิตลงในที่สุด เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่านอกจากการลืมเด็กไว้ในรถจะเกิดจากความประมาทของตัวผู้ปกครองเองแล้วก็ยังสามารถเกิดขึ้นจากความประมาทของบุคคลอื่น ๆ เช่น บุคลากรในโรงเรียน ได้เช่นกัน

ข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรคได้ระบุว่าในช่วงปี 2557-2563 ประเทศไทยมีเหตุเด็กถูกลืมหรือถูกทิ้งไว้ในรถถึง 129 เหตุการณ์ และช่วงอายุของเด็กที่พบว่าตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์นี้มากที่สุดคือช่วง 1-3 ขวบ โดยเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 2 ขวบมากที่สุด รองลงมาเป็นเด็กอายุ 1 ขวบ และ 3 ขวบตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในรถยนต์ส่วนบุคคลมากถึง 96 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเด็กเสียชีวิตรวม 6 ราย ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกลืมในรถรับ-ส่งนักเรียน 5 รายและเสียชีวิตจากการถูกลืมในรถยนต์ส่วนบุคคลของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 ราย โดยพบว่าเด็กทุกรายหลับขณะนั่งรถโดยสารดังกล่าวจึงถูกลืมไว้บนรถหลังจากรับส่งนักเรียนเสร็จเป็นเวลามากกว่า 6 ชั่วโมง

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้ให้คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงที่จะลืมเด็กไว้บนรถ 4 ข้อดังนี้

  1. ไม่ควรทิ้งเด็กไว้ในรถตามลำพังโดยเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม
  2. หากต้องให้ลูกติดรถไปกับผู้อื่นควรสอบถามเป็นระยะว่าขณะนั้นลูกของตนอยู่ที่ไหนหรืออยู่ตำแหน่งใด
  3. หากมีความจำเป็นต้องใช้บริการรถรับ-ส่งหรือรถโรงเรียน ผู้ปกครองควรตรวจสอบสภาพรถ การดูแลของพนักงาน และมาตรการความปลอดภัยสำหรับเด็กให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจใช้บริการ
  4. หากเป็นไปได้ควรสอนให้เด็กรู้จักวิธีช่วยเหลือตนเองหากติดอยู่ในรถ เช่น การบีบแตรรถ หรือการปลดล็อครถ เนื่องจากอาจจะสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อเด็กลงได้

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่พาบุตรหลานออกไปข้างนอก ผู้ปกครองทุกท่านควรคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นหลัก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารหรือช่วยเหลือตัวเองได้ ควรตระหนักว่าความประมาทหรือความสะเพร่าอาจนำอันตรายมาสู่บุตรหลานของตนได้ และควรเรียนรู้จากเหตุการณ์อันตรายต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นกับตนเอง

 

สืบค้นและเรียบเรียง พรรณทิพา พรหมเกตุ

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

 

ที่มา

https://edition.cnn.com/2022/06/21/us/5-year-old-hot-car-death-houston/index.html

https://nypost.com/2022/06/17/devastating-statistics-reveal-the-high-rate-of-infant-deaths-in-hot-cars/ 

https://www.thairath.co.th/news/local/south/1911124

https://siamrath.co.th/n/175394#:~:text=%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%96!-,7%20%E0%B8%9B%E0%B8%B5%20129%20%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%20%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%2D%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%96,20%3A16%20%E0%B8%99.%20%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95 

http://csip.org/ebook/no18/page6.html 

https://www.thaihealth.or.th/Content/48825-%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%96%20%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%88.html 

 


อ่านเพิ่มเติม พัฒนาการเด็ก ได้รับผลกระทบจากการเก็บตัวช่วงโควิด-19 อย่างไรบ้าง

Recommend