เคอร์ดิสถาน (Kurdistan) ดินแดนของ ชาวเคิร์ด ดินแดนไร้ตำแหน่งบนแผนที่โลก

เคอร์ดิสถาน (Kurdistan) ดินแดนของ ชาวเคิร์ด ดินแดนไร้ตำแหน่งบนแผนที่โลก

เคอร์ดิสถาน (Kurdistan) ซึ่งมีความหมายว่า ดินแดนของ ชาวเคิร์ด (Kurd) เป็นดินแดนที่ไม่มีพรมแดนชัดเจนบนแผนที่ อยู่ตรงจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศตุรกี อิหร่าน อิรัก และซีเรีย

ชาวเคิร์ด เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มานานหลายพันปีแล้ว แต่พวกเขายังไม่มีประเทศเป็นของตนเอง อันเป็นผลพวงจากยุคจักรวรรดินิยมที่ชาติมหาอำนาจกำหนดพรมแดนประเทศโดยไม่คำนึงถึงชาติพันธุ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อให้เกิดปัญหายืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

สารคดีภาพถ่ายชุดนี้เปรียบเสมือนบันทึกภาคสนามของ อธิคม แสงไชย ช่างภาพสารคดีชาวไทยผู้ออกเดินทางไปเคอร์ดิสถานตั้งแต่ ค.ศ. 2018 เป็นต้นมา เขาได้เดินทางหลายพันกิโลเมตรไปยังเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเคิร์ดในประเทศอิหร่าน ตุรกี และอิรัก (ในเวลานั้นยังไม่สามารถเดินทางไปซีเรียได้เนื่องจากภาวะสงคราม)

เมื่อมีโอกาส เขายังคงเดินทางกลับไปเคอร์ดิสถานอยู่เรื่อยๆ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของ ชาวเคิร์ด และนำมาบอกเล่าผ่านภาพถ่าย แต่ละภาพในบทความเรื่องนี้สะท้อนเสี้ยวหนึ่งของชีวิตและประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนของชาวเคิร์ด ผ่านคำสำคัญ (keyword) ที่จะช่วยให้ผู้อ่านรู้จักและเข้าใจเคอร์ดิสถานในภาพรวมมากขึ้น

ภาพ/ คำบรรยายภาพ อธิคม แสงไชย

ดูผลงานของช่างภาพได้ที่ https://www.instagram.com/s.athikhom/

ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ – ประวัติศาสตร์ของชาวเคิร์ดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเต็มไปด้วยการต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเอกราชของตนเอง ปัญหาการถูกกดขี่และปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมาเป็นเวลานาน ทำให้พวกเขารู้สึกคับแค้นใจและก่อการลุกฮือหลายครั้ง โดยเฉพาะในตุรกี อิรัก และอิหร่าน แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างหนัก กลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน

ในภาพคือซากปรักหักพังของบ้านเรือนที่เมืองชือร์นัค (Sirnak) ประเทศตุรกี ซึ่งถูกทำลายในช่วง ค.ศ. 2015 – 2016 ขณะเกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างกองกำลังของรัฐบาลตุรกีกับกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Workers’ Party – PKK) ซึ่งมีเป้าหมายต้องการแยกดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีเป็นอิสระ พื้นที่ดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเคิร์ดมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ระหว่างการปราบปรามกลุ่มกบฏที่เข้ามาซ่อนตัวในบ้านเรือนของประชาชนในเมืองชือร์นัค รัฐบาลตุรกีประกาศห้ามชาวเมืองออกนอกบ้านเป็นเวลานานถึง 9 เดือน บ้านเรือนถูกทำลายกว่า 2 พันหลังคาเรือน ซากปรักหักพังและรอยกระสุนปืนยังคงพบเห็นได้จนถึงปัจจุบัน

ชาวเคิร์ด

เอกภาพผ่านอัตลักษณ์ชาวเคิร์ด – เนื่องจากเคอร์ดิสถานมีภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขา ในอดีตชาวเคิร์ดจึงแยกกันอยู่เป็นเผ่า (tribe) ตั้งราชวงศ์ปกครองตนเองเป็นรัฐขนาดเล็ก ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกัน ประกอบกับชาวเคิร์ดมีวัฒนธรรม ภาษา และนับถือศาสนาต่างกัน ปัจจัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเอกภาพของชาวเคิร์ดมาตลอด

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อเกิดการรวมประเทศเป็นรัฐสมัยใหม่และเกิดกระแสชาตินิยม (nationalism) ชาวเคิร์ดจึงไม่สามารถรวมตัวกันได้ และกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่กระจายตัวอยู่ในประเทศต่าง ๆ ปัจจุบันประมาณการณ์ว่ามีชาวเคิร์ดรวมกันทั่วโลกประมาณ 30-40 ล้านคน

สิ่งเดียวที่หลอมรวมพวกเขาเข้ากันได้คือความเป็นชาติพันธุ์เคิร์ดที่พวกเขาภาคภูมิใจ ดังจะเห็นได้จากภาพชาวเคิร์ดที่กำลังเต้นรำอย่างสนุกสนานที่เมืองดียาร์บาคือร์ (Diyarbakir) ประเทศตุรกี ขณะเฉลิมฉลองเทศกาลเนารูซ (Newroz แปลว่า “วันใหม่”) ตรงกับวันแรกของฤดูใบไม้ผลิทางซีกโลกเหนือ ถือเป็นเทศกาลปีใหม่ในวัฒนธรรมเคิร์ดและเป็นวัฒนธรรมร่วมของหลายกลุ่มชาติพันธุ์
เนื่องจากรัฐบาลตุรกีเคยออกกฎหมายห้ามจัดเทศกาลประเพณีของชาวเคิร์ดจนถึง ค.ศ. 2003 เทศกาลเนารูซจึงเป็นโอกาสสำคัญที่ชาวเคิร์ดในประเทศตุรกีจะได้รวมพลังแสดงอัตลักษณ์ของพวกเขา และกลายเป็นพื้นที่แสดงออกความคิดทางการเมือง

ชาวเคิร์ด

วัฒนธรรมเก่าแก่ – จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า ชาวเคิร์ดตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนเคอร์ดิสถานมาตั้งแต่ 2 พันปีก่อนคริสตกาล พวกเขาได้โอบรับอิทธิพลจากศาสนาและอารยธรรมอื่นที่เจริญรุ่งเรืองในแถบนั้น แต่ก็ยังคงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตนเองไว้

จนกระทั่งถึงยุคสมัยใหม่ที่ชาติผู้ปกครองดำเนินนโยบายชาตินิยมอย่างแข็งกร้าว และพยายามกลืนวัฒนธรรมของชาวเคิร์ดและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เข้ากับวัฒนธรรมของตนเอง เช่น วัฒนธรรมเปอร์เซีย (Persianization) วัฒนธรรมตุรกี (Turkification) และวัฒนธรรมอาหรับ (Arabization) มีการออกกฎหมายห้ามชาวเคิร์ดแสดงออกอัตลักษณ์ของตนเอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษถึงจำคุก

แต่เนื่องจากชาวเคิร์ดเคร่งครัดในการสืบสานประเพณีของตนเอง เป็นสังคมวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็ง หลายประเพณีของชาวเคิร์ดก็ยังคงอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน เช่น เทศกาลเพียร์ ชัลยาร์ (Pir Shalyar Festival) เทศกาลประจำปีกลางฤดูหนาวที่หมู่บ้านฮอรามาน-ทัคท์ (Hawraman-Takht) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอิหร่าน

ในภาพผู้เฒ่าชาวเคิร์ดกำลังปรุงซุปสูตรโบราณ “ฮลอชีเน เทเช” (hloshine teshe) ซึ่งทำเพียงปีละหนึ่งครั้งเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ กินแล้วจะโชคดี สูตรการทำซุปได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาภายในครอบครัวของผู้เฒ่าซึ่งรับผิดชอบทำซุปประกอบพิธีมานานหลายศตวรรษ

ภูมิใจในความเป็นเคิร์ด – สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาสำหรับผู้มาเยือนดินแดนเคอร์ดิสถานคือการที่ชาวเคิร์ดทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่ยังคงแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองในชีวิตประจำวัน สะท้อนความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง

ดังเช่นเด็กชายในภาพซึ่งถ่ายที่หมู่บ้านฮอรามาน-ทัคท์ (Hawraman-Takht) ประเทศอิหร่าน เขาสวมชุด “คาวาพันทอล” (kavapantol) ตัดเย็บอย่างประณีตด้วยผ้าที่เข้าชุดกัน กับ “ฟารันจี” (faranji) เสื้อแจ็คเก็ตขนสัตว์ที่มีบ่าแหลมเป็นเอกลักษณ์ของหุบเขาฮอรามาน (Hawraman Valley)

ความหลากหลายทางศาสนา – แม้ว่าชาวเคิร์ดส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี (Sunni) แต่ก็มีชาวเคิร์ดจำนวนไม่น้อยที่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ (Shia) หรือนิกายอาเลวี (Alevism และยังมีชาวเคิร์ดที่นับถือศาสนาคริสต์ เช่น นิกายอัสซีเรียน (Assyrian) นิกายซีเรียออร์โธดอกซ์ (Syrian Orthodox) หรือนับถือศาสนาเล็ก ๆ เช่น ยาซิดี (Yazidism) ยาร์ซานี (Yarsanism)

ความแตกต่างทางศาสนานี้ส่วนหนึ่งทำให้ชาวเคิร์ดไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ และในขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเขาถูกแบ่งแยกจากชนกลุ่มใหญ่ในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ ไปจนถึงถูกกวาดล้างและบังคับให้เปลี่ยนศาสนา

ในภาพ ชายชาวเคิร์ดกำลังละหมาดในโรงนอนของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งหมู่บ้านบยารา (Byara) ในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก ซึ่งเป็นสถานที่ทำกิจกรรมของชาวมุสลิมลัทธิศูฟี (Sufism) โรงนอนนี้เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนทุกคน จากทุกอาชีพ ทุกศาสนา และทุกเชื้อชาติ สามารถเข้ามานอนพักและกินอาหารได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ชาวเคิร์ด

ต่อต้านและต่อสู้ – ที่ผ่านมา ชาวเคิร์ดพยายามจัดตั้งดินแดนของตัวเองหลายครั้ง เช่น สาธารณรัฐมาฮาบัด (Republic of Mahabad) เมื่อ ค.ศ. 1946 แต่ก็ไม่สำเร็จและถูกปราบปรามอย่างหนัก ยกเว้นในอิรักที่พวกเขาสามารถจัดตั้งเขตปกครองตนเองชื่อ Kurdistan Regional Government (KRG) ซึ่งแม้จะไม่มีสถานะเป็นรัฐเอกราช แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงกับความเป็นประเทศมากที่สุด

การที่ชาวเคิร์ดไม่สามารถจัดตั้งประเทศของตัวเองได้สำเร็จ ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นชนกลุ่มน้อยกระจายตัวอยู่ในประเทศต่าง ๆ แต่การที่พวกเขายังคงยึดถือวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของตนเองอย่างเหนี่ยวแน่น รัฐบาลกลางมองว่าขัดกับนโยบายสร้างเอกภาพทางวัฒนธรรมและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จึงใช้มาตรการควบคุมและปราบปรามอย่างเคร่งครัด ประกอบกับนโยบายเลือกปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยยังก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวเคิร์ดรู้สึกถูกกดขี่และคับแค้นใจ นำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวและกองกำลังติดอาวุธที่มีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ เรียกร้องดินแดนและอำนาจปกครองตนเอง

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐบาลกลางถูกนานาชาติกดดัน จนต้องผ่อนคลายมาตรการที่กดทับอัตลักษณ์ชาวเคิร์ดและอนุญาตให้ชาวเคิร์ดมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น มีชาวเคิร์ดจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของกลุ่มเคลื่อนไหวชาวเคิร์ดหัวรุนแรง และมองว่า ปัญหาปากท้องและสภาพความเป็นอยู่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า

ในภาพ ชายหนุ่มชาวเคิร์ดกำลังซ้อมยิงปืนลมบริเวณทางเดินริมทะเลสาบซเรบาร์ เมืองมาริวาน (Marivan) ประเทศอิหร่าน

ห่างไกลและถูกละเลย – พื้นที่ที่ชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ส่วนใหญ่อยู่บนเทือกเขาสูง เดินทางลำบาก และห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจ ประกอบกับรัฐบาลกลางมีนโยบายเลือกปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ เขตที่ชาวเคิร์ดอยู่ส่วนใหญ่แห้งแล้งทุรกันดารและไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้ชาวเคิร์ดมีฐานะยากจน ไม่มีงานทำ และเข้าถึงโอกาสได้ยาก

นอกจากนั้น เขตภูเขาสูงยังเป็นแหล่งซ่อนตัวของกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ทำให้ชาวเคิร์ดถูกหน่วยงานความมั่นคงของรัฐจับตามองเป็นพิเศษ มีการตั้งจุดตรวจก่อนเข้าออกเมืองและหมู่บ้าน ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ในภาพคือเส้นทางไปหุบเขาฮอรามาน (Hawraman Valley) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณพรมแดนประเทศอิหร่านและประเทศอิรัก

ชาวเคิร์ด

ร้านน้ำชา – ร้านน้ำชาเป็นสถานที่สำคัญสำหรับชาวเคิร์ด รองลงมาจากมัสยิด ทุกละแวกบ้าน ไม่ว่าจะในเมืองใหญ่หรือชนบท จะต้องมีร้านน้ำชาอย่างน้อยหนึ่งร้าน เป็นจุดนัดพบที่ชาวบ้านจะมาดื่มน้ำชาและสังสรรค์กับเพื่อน สำหรับคนต่างถิ่น ร้านน้ำชาเป็นศูนย์รวมข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง ที่พัก และกิจกรรมในย่านนั้น ๆ

ในภาพเป็นบรรยากาศร้านน้ำชาที่เมืองซิลวาน (Silvan) ประเทศตุรกี แม้ว่าจะไม่มีกฎห้ามผู้หญิงเข้า แต่ร้านน้ำชาลักษณะนี้เป็นสถานที่สำหรับผู้ชายเท่านั้น

ชาวเคิร์ด

ภาษาเคิร์ด – ชาวเคิร์ดมีภาษาเป็นของตนเองซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาอินโดยูโรเปียน ภาษาเคิร์ดแยกออกเป็นภาษาถิ่นอีกมากมายโดยมีลักษณะแตกต่างกันมาก จนบางทีก็ไม่สามารถใช้สื่อสารระหว่างชาวเคิร์ดด้วยกันได้

ในช่วงทศวรรษ 1980 ตุรกีเคยออกกฎหมายห้ามใช้ภาษาเคิร์ด ทุกวันนี้แม้ว่าจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว (ยกเว้นในซีเรียที่ยังห้ามเผยแพร่สิ่งพิมพ์ภาษาเคิร์ด) แต่รัฐบาลกลางยังคงมองว่า การแสดงอัตลักษณ์ชาวเคิร์ดเป็นภัยต่อเอกภาพของชาติ ครูชาวเคิร์ดในอิหร่านหลายคนที่ทำงานอาสาสมัครสอนภาษาเคิร์ดถึงขั้นถูกดำเนินคดีและจำคุก พวกเขาถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน

ปัจจุบันยังคงไม่มีการสอนภาษาเคิร์ดในโรงเรียนรัฐบาลของประเทศตุรกีและอิหร่าน และรัฐบาลยังคงไม่อนุญาตให้ใช้ภาษาเคิร์ดเป็นภาษาหลักในการสอนหนังสือ ปัจจัยนี้ประกอบกับกระแสความนิยมวัฒนธรรมสมัยใหม่ ส่งผลให้ภาษาถิ่นเคิร์ดจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญหายไป

ในภาพ เด็กนักเรียนชาวเคิร์ดที่หมู่บ้านโดลอว์ (Dolaw) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอิหร่าน ทุกวันคณะครูซึ่งเป็นชาวเคิร์ดจะต้องเดินทางหนึ่งชั่วโมงครึ่งจากในเมืองมาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ซึ่งเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวในหุบเขา

การสังหารหมู่ชาวเคิร์ด – ปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานระหว่างรัฐบาลกลางกับกลุ่มชาติพันธุ์เคิร์ดนำมาสู่โศกนาฏกรรมหลายครั้ง

เหตุการณ์ครั้งสำคัญเกิดขึ้นที่อิรักในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน รัฐบาลสมัยนั้นภายใต้ซัดดัม ฮุสเซน ดำเนินปฏิบัติการที่รู้จักกันในชื่อ “การสังหารหมู่อันฟาล” (Anfal Genocide) เพื่อกวาดล้างกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรัก โดยอ้างว่าพวกเขาอยู่เบื้องหลังและสนับสนุนอิหร่าน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอิรักก็มีแผนที่จะย้ายคนอาหรับไปอยู่บริเวณนั้น โดยเฉพาะในเขตที่อุดมไปด้วยบ่อน้ำมัน

กองกำลังอิรักจึงเข้าโจมตีเขตพื้นที่ของชาวเคิร์ดทั้งทางบกและทางอากาศ ใช้อาวุธเคมี ทำลายบ้านเรือนและขับไล่ชาวเคิร์ดออกจากพื้นที่ ปฏิบัติการนี้ส่งผลให้มีชาวเคิร์ดเสียชีวิตมากกว่า 1 แสนคน

ในภาพคือหุ่นจำลองเหตุการณ์การสังหารหมู่ด้วยอาวุธเคมีที่หมู่บ้านฮาลับยา (Halabja) ในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1988 รัฐบาลอิรักได้ยิงจรวดปล่อยแก๊สพิษในหมู่บ้าน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีมากกว่า 5 พันคน และบาดเจ็บกว่า 7 พันคน

ชาวเคิร์ด

พลัดถิ่นและลี้ภัย – ความขัดแย้งระหว่างชาวเคิร์ดและรัฐบาลกลางที่หลายครั้งนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ส่งผลให้ชาวเคิร์ดหลายล้านคนต้องตกอยู่ในสถานะผู้พลัดถิ่นในประเทศของตัวเอง (internally displaced person) หรือกลายเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) อพยพไปต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา

ในอิรัก ชาวเคิร์ดหลายล้านคนลี้ภัยมาอิหร่าน หนีการถูกกวาดล้างและการกลืนวัฒนธรรมตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ในตุรกี กองกำลังตุรกีจัดการกับกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดที่แฝงตัวอยู่กับพลเรือนด้วยการบังคับให้ชาวบ้านย้ายออกจากหมู่บ้านและเข้าทำลายบ้านเรือน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านและกลุ่มกบฏกลับมาได้อีก หมู่บ้านชาวเคิร์ดกว่า 3 พันแห่งต้องกลายเป็นซากปรักหักพังด้วยสาเหตุนี้

ในภาพ สองแม่ลูกกำลังเดินผ่านเศษซากบ้านเรือนในเขตเมืองเก่าของเมืองชือร์นัค (Sirnak) ประเทศตุรกี ซึ่งเคยเป็นสนามรบระหว่างกองกำลังทหารตุรกีและกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด ในฉากหลังคือตึกอพาร์ตเมนต์ที่รัฐบาลตุรกีสร้างขึ้นใหม่สำหรับครอบครัวที่สูญเสียบ้านจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ชาวเคิร์ด

ขุนเขา – เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ของเคอร์ดิสถานเป็นภูเขา ชาวเคิร์ดจึงรู้สึกผูกพันกับภูเขามาก จนมีคำกล่าวว่า “ชาวเคิร์ดไม่มีมิตร มีแต่ภูเขา” (“The Kurds have no friends but the mountains.”)

ประโยคนี้สะท้อนประวัติศาสตร์อันขมขื่นของชาวเคิร์ดได้เป็นอย่างดี พวกเขาคือชนกลุ่มน้อยที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาตลอด โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจจากภายนอกที่เคยขอให้ชาวเคิร์ดช่วยเหลือการรบในพื้นที่ โดยสัญญาว่าจะให้ดินแดน อำนาจปกครองตนเอง หรือความคุ้มครองเป็นการตอบแทน แต่เมื่อช่วยสำเร็จ พวกเขากลับผิดสัญญาและทอดทิ้งให้ชาวเคิร์ดต้องเผชิญชะตากรรมตามลำพัง

ในภาพ ซาบาห์ ครูสอนภาษาอาหรับเชื้อสายเคิร์ดจากเผ่าฮอรามี (Hewrami) กำลังทอดสายตามองเทือกเขาซากรอซ (Zagros Mountains) ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเขตฮอรามาน (Hawraman) ที่เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของเผ่าฮอรามีตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ต้องถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศเมื่อมีการกำหนดเส้นพรมแดนประเทศอิหร่านและประเทศอิรัก


อ่านเพิ่มเติม สงครามที่ไม่อาจพ่ายแพ้ของชาวเคิร์ด

Recommend