22 กุมภาพันธ์ “วันแมวเหมียวญี่ปุ่น” เพื่อนที่ภายนอกเย็นชาแต่อยู่ใกล้แล้วสบายใจ แถมนำโชคดีมาให้

22 กุมภาพันธ์ “วันแมวเหมียวญี่ปุ่น” เพื่อนที่ภายนอกเย็นชาแต่อยู่ใกล้แล้วสบายใจ แถมนำโชคดีมาให้

ที่มาของ “วันแมวเหมียว”ในประเทศญี่ปุ่น  วันสำคัญที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสี่ขาที่มีคาแรกเตอร์เรียบเฉย สงบนิ่ง แต่แฝงด้วยความผูกพันและเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ถ้าจะถามถึงประเทศที่มีความผูกพันกับแมวมากที่สุด มีประชากรที่หลงรักแมวและเรียกว่าเป็น “ทาสแมว” มากที่สุด หนึ่งในคำตอบนั้นคงต้องมีประเทศญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย พวกเขารักและผูกพันกับสัตว์ชนิดนี้ถึงขนาดมีวัน “แมวญี่ปุ่น” หรือ Neko No Hi ซึ่งตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ของทุกปี เพิ่มเติมจากวัน แมวโลก (International Cat Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม

คนญี่ปุ่นหลงใหลแมวมากๆ มีความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงชนิดนี้มาช้านาน โดยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งอธิบายว่า บรรพบุรุษของแมวบ้านในญี่ปุ่นน่าจะมาพร้อมกับกองคาราวานที่เดินทางผ่านเส้นทางสายไหมและเข้าสู่พื้นที่ของคาบสมุทรเกาหลีประมาณสมัยนารา (ค.ศ. 710-794) คาบเกี่ยวสมัยเฮมันตอนต้น (ค.ศ. 794-1185) ในช่วงนี้แมวถูกนำขึ้นเรือสำเภาเพื่อให้พวกมันปกป้องพระคัมภีร์จากหนู ซึ่งหลังจากนั้นเองก็เคยมีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตรงกับสมัยยาโยอิ (300 ปีก่อนคริสตศักราช – ค.ศ.300) ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีคาราคามิบนเกาะอิกิจังหวัดนะงะซะกิ ที่มีการการค้นพบกระดูกแมวบนเกาะดังกล่าวซึ่งยืนยันว่า แมวถูกเลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นตั้งแต่ 2,000 ปีก่อน

ในอดีตนั้น การเลี้ยงแมวในญี่ปุ่นจำกัดอยู่ในแวดวงคนชั้นสูง แต่เมื่อวัฒนธรรมการเลี้ยงแมวได้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น บ้านเมืองมีการขยายตัวมากขึ้น ในขณะเดียวกันจำนวนหนูก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ประชาชนก็เริ่มหันมาสนใจเลี้ยงแมวมากยิ่งขึ้น และถ้าหากใครได้เห็นผลงานศิลปะ วรรณกรรมญี่ปุ่น ก็จะพบว่า “แมว” ปรากฎอยู่ในตำนานและความเชื่อของคนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างการ์ตูนอนิเมะ ของที่ระลึก ก็มักจะมีแมวเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์สำคัญ

  • 22 กุมภาพันธ์ “วันแมวญี่ปุ่น”

การที่ญี่ปุ่นยกให้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็น “วันแห่งแมวเหมียว” นอกจากจะระลึกถึงความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงประเภทนี้แล้ว ในวันที่ 22 เดือน 2 นั้น ยังมีที่มาจากการออกเสียงที่เลียนแบบเสียงร้องของแมว แมวแบบเดียวกับในประเทศไทยที่มักออกเสียงว่า “เหมียว เหมียว เหมียว” แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นจะออกว่าเสียงว่า “Niyaa Niyaa Niyaa” ซึ่งพ้องกับตัวคาตาคานะเสียงร้องของน้องแมวในภาษาญี่ปุ่นที่ร้องว่า ニャーニャーニャー ~ (Nyā Nyā Nyā~)  และจึงเป็นที่มาของ “วันแห่งแมว” นั่นเอง

ข้อมูลจากเว็ปไซต์ statista ระบุว่า ในปี 2021 สัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่นคือสุนัข โดยที่อยู่ร้อยละ 11.3 จากประชากรทั้งหมด รองลงมาคือแมวที่ร้อยละ 9.8 ถัดจากนั้นก็เป็นสัตว์เลี้ยงอย่างปลา เต่า นก กระต่าย ขณะที่ตัวเลขที่มากที่สุดคือกลุ่มที่ไม่มีสัตว์เลี้ยงซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ 72.4 ซึ่งส่วนหนึ่งของการเลือกที่จะไม่มีสัตว์เลี้ยงก็เป็นเพราะพื้นที่ของเมืองในสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันที่ค่อนข้างจำกัด

ถึงเช่นนั้น แมวก็ได้ชื่อว่า เป็นสัตว์เลี้ยงที่เข้ากับลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นมากที่สุดโดยอย่างแรกคือ คือลักษณะนิสัยของเจ้าแมวเหมียวที่รักสงบ ไม่ส่งเสียงดัง สามารถฝึกฝนเรื่องการขับถ่ายได้ง่าย ทำให้การเลี้ยงแมวเหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน ที่อาศัยในห้องเช่า คอนโด หรือบ้านที่มีพื้นที่ไม่มากนัก แตกต่างกับการเลี้ยงสุนัขที่ต้องอาศัยพื้นที่ในการใช้ชีวิต ต้องเดินเล่น และส่งเสียงเห่าซึ่งอาจรบกวนเพื่อนบ้าน

  • ทำไมคนญี่ปุ่นชอบแมว

ถึงตรงนี้ เคยมีนักวิเคราะห์ที่สนใจปรากฏการณ์รักแมวของชาวญี่ปุ่นว่าเพราะสาเหตุใดทำให้มีคนตกหลุมรักเจ้าเหมียวได้ถึงขนาดนี้ ซึ่งท่ามกลางเหตุผลทางกายภาพแล้ว มีการนำเสนอข้อสรุปในเชิงจิตวิทยาหึ่งที่น่าสนใจคือการที่แมวมีนิสัย “สึนเดเระ” (Tsundere) ซึ่งหมายถึงลักษณะนิสัยที่ภายนอกดูเหมือนจะเย็นชา แต่จริงๆแล้วมีความอ่อนโยน อ่อนหวาน แค่ไม่แสดงออก ซึ่งตรงกับบุคลิกของแมว

“สึนเดเระ” เป็นคำภาษาญี่ปุ่น ใช้เรียกบุคลิกที่แรกเริ่มเดิมทีดูประหนึ่งไม่เป็นมิตร ดูเย็นชา หรือฉุนเฉียวง่าย แต่มาภายหลังหรือลึก ๆ แล้วอ่อนไหวหรืออ่อนหวาน อยู่ด้วยแล้วรู้สึกสงบและมีความสุข

ขณะเดียวกันการเลี้ยงแมวยังช่วยให้เจ้าของได้อิ่มเอมใจจากความรู้สึกเป็นผู้ให้ ซึ่งโดยลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มัก มีแนวโน้มว่าจะเป็นฝ่ายที่หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้อื่น เมื่อได้เลี้ยงแมวเจ้าของจึงกลายสถานะเป็นผู้ให้ เป็นผู้คอยเอาอกเอาใจ จนเจ้าของเกิดความรู้สึกดีๆจากการที่ได้ทำอะไรให้กับแมว

นอกจากนี้แล้ว ในความเชื่อของญี่ปุ่น แมวยังได้ชื่อว่า เป็นสัตว์นำโชค มีพลังนำโชคให้กับผู้คนได้ เราจึงเห็นรูปปั้นแมว หรือสัญลักษณ์แมวในหลายเมือง เช่น นายสถานีทามะ (Takayama) ที่โด่งดังมาก และของฝาก “แมวกวักนำโชค” หรือที่เรียกกันว่า Maneki Neko

ทุกวันนี้ แมวกวักนำโชค  คือของฝากที่เราคุ้นเคยกันดี และท่าทางในแต่ละแบบ ก็มีความหมายต่างกัน เช่น แมวกวักที่ยกมือขวาขึ้นบน ถือกันว่าจะช่วยเรียกเงินทองและโชคลาภมาให้ , แมวที่ยกมือซ้ายขึ้นบน มีความเชื่อกันว่าจะช่วยเรียกแขกผู้มาเยือน และลูกค้าให้เข้าร้านค้าจำนวนมาก แมวกวักที่ยกแขนทั้งสองข้าง หมายถึง การกวักเรียกทั้งเงินทอง โชคลาภ และเรียกลูกค้าให้เข้าร้านไปพร้อม ๆ กัน

คนญี่ปุ่นนิยมแมวขนาดไหนเห็นได้จาก การมี Cat Cafe ในปัจจุบัน นี่คือแหล่งที่จะให้เจ้าแมวเหมียวได้ช่วยเยียวยาใจให้กับผู้คน ช่วยเพิ่มพลังในวันที่อ่อนล้าโดยบุคลิกที่ภายนอกเย็นชาแต่อยู่ใกล้ๆแล้วกลับมีความสุขนั่นเอง

………………..

ที่มา : statista, soranews24, วารสารญี่ปุ่นศึกษา : ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับแมวในสังคมญี่ปุ่นก่อนและหลังสมัยใหม่, เฟสบุ๊คJeducation เรียนภาษาญี่ปุ่น


อ่านเพิ่มเติม มนุษย์เริ่มเลี้ยงสุนัขไว้เป็นเพื่อนคู่กาย แล้วเริ่ม เลี้ยงแมว ไว้ทำอะไร! เรื่องชวนคิดจากสารคดี (ล้อเลียน) เรื่อง Cunk on Earth

เลี้ยงแมว

Recommend