ฤาษีประหลาดแห่งหน้าผาศักดิ์สิทธิ์

ฤาษีประหลาดแห่งหน้าผาศักดิ์สิทธิ์

 

ฤาษีประหลาดแห่งหน้าผาศักดิ์สิทธิ์

บนหน้าผาเหนือหุบเขาคาดิชาแห่งเลบานอนมีวัดน้อยอายุเก่าแก่หลายศตวรรษตั้งเด่นอยู่ เป็นอารามที่คุณพ่อดาริโอ เอสโคบาร์ นักบวชชาวโคลอมเบียแห่งคณะแมรอนไนต์อายุ 83 ปี ซึ่งอาศัยมา 17 ปีแล้ว ทั้งยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักเดินทางเฉพาะกลุ่ม กลางเดือนกันยายนที่อากาศร้อนระอุ นักปีนเขา 3 คนจากเบรุตเดินทางมาถึงที่นี่ตอนบ่ายแก่ หวังว่าจะได้เห็นคุณพ่อสักแวบหนึ่ง ตอนแรกพวกเขาเกือบจะผิดหวัง เพราะคุณพ่อซ่อนตัวอยู่ในห้องของเขา แต่อีก 20 นาทีถัดมา “ฤาษี” ผู้นี้ก็โผล่ออกมาปิดประตูไม้อันหนักอึ้งซึ่งนำไปสู่ห้องหับภายใน  เขาจึงหยุดพูดคุยกับผู้มาเยือนด้วยภาษาอังกฤษ อาหรับ และฝรั่งเศสปนเปกัน

คุณพ่อเอสโคบาร์ผู้ยืนยันว่าตนไม่ได้ข้อเกี่ยวอันใดกับเจ้าพ่อยาเสพติดชาติเดียวกัน พาโบล เอสโคบาร์ (ถึงแม้ว่าชื่อสกุลของคุณพ่อจะเคยทำให้เขาถูกกักตัวที่สนามบินดีทรอยต์นานสามชั่วโมงก็ตาม) มาถึงเลบานอนเมื่อ 27 ปีก่อน  เขาเคยได้ยินถึงกิตติศัพท์ความงามของของหุบเขาคาดิชาและประวัติของอารามโบราณจากพระชาวเลบานอนที่พบกันในไมอามี และบวชในคณะแมรอนไนต์ อันเป็นสาขาหนึ่งของคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในเลบานอน “ฉันมาที่นี่เพราะมีแต่ที่เลบานอนเท่านั้นที่ยังมีฤาษีอยู่” คุณพ่อเอสโคบาร์กล่าว หุบเขาคาดิชา ซึ่งแปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ในภาษาซีริอัก มีอารามและอาศรมตั้งกระจายอยู่ทั่วไป เป็นถิ่นที่ชาวคริสต์จาริกมาเพื่อแสวงหาความสันโดษและความปลอดภัย

หุบเขาคาดิชาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกเมื่อ ค.ศ. 1998 ด้วยความเก่าแก่ของชุมชนนักบวชชาวคริสต์และป่าซีดาร์ใหญ่ของเลบานอนที่อยู่ใกล้เคียง

ความที่หุบเขานี้เข้าถึงยากและถูกละเลยจากราชการ “มันจึงดึงดูดคนที่ที่อยากใช้ชีวิตอยู่ห่างจากปัญหา” อานิส ชาอายา นักโบราณคดีและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเลบานอน ผู้เป็นหนึ่งในทีมที่ประสบความสำเร็จในการเสนอชื่อให้หุบเขาแห่งนี้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 1998  “มีทั้งโจรหลบซ่อนอยู่ ทั้งผู้เคร่งศาสนาที่ไม่อยากถูกก่อกวน”

เอสโคบาร์ต้องรอนานถึง 10 ปีหลังเดินทางมาถึงเลบานอนกว่าพระผู้ใหญ่ของอารามนักบุญแอนโทนีแห่งโคชายาจะอนุญาตให้เขาใช้ชีวิตเป็นฤาษีที่อารามแม่พระแห่งฮอว์คา ศ. อาชายา เล่าว่าอารามซึ่งตั้งอยู่บนหน้าผาสร้างขึ้นเมื่อปลายศตรวรรษที่ 13 หลังจากกองกำลังมามลุกรุกรานหุบเขาคาดิชา ชาวบ้านต้องหลบอยู่ในถ้ำใกล้บริเวณที่เป็นอารามในปัจจุบัน แต่กลับถูกอิบน์ ชาบา คนท้องถิ่นด้วยกันหักหลังด้วยการบอกให้กองทหารเปลี่ยนทางน้ำที่อยู่ไกลๆ ล้อมปิดทางออกของชาวบ้าน “สองสามปีถัดมา ชาบาถูกมโนธรรมของตนเองหลอกหลอน จนตัดสินใจสร้างอารามแห่งนี้เพื่อไถ่โทษ”

ภายในอาราม มีวัดน้อยที่สร้างจากหิน ผู้มาเยือนจุดเทียนและทิ้งคำอธิษฐานไว้บนกระดาษใต้แท่นบูชาได้ ข้างนอกมีลานซึ่งมองเห็นหุบเขาขรุขระข้างล่างได้ ที่พักของคุณพ่อประกอบด้วยห้องทำงานซึ่งมีอุปกรณ์ต่างๆ โต๊ะ ตะกร้าที่มีขวดน้ำเสกสำหรับแจกจ่ายให้แขก และชั้นวางหนังสือเกี่ยวกับภาษาศาสตร์และศาสนา ซึ่งมีกะโหลกมนุษย์วางอย่างประดักประเดิดข้างบนสุด ข้างใต้มีห้องขนาดเล็กสำหรับนอนและที่นอนสำหรับนักพรต อันประกอบด้วยแผ่นโฟมที่มีแผ่นกระดาษแข็งวางซ้อนและก้อนหินสำหรับเป็นหมอน

คุณพ่อดาริโอ เอสโคบาร์ นั่งในลานของอารามแม่พระแห่งฮอว์คา

ฤาษีเอสโคบาร์กล่าวว่ากิจวัตรประจำวันดำเนินไปด้วยการสวดภาวนา 14 ชั่วโมง ทำงาน 3 ชั่วโมง ศึกษา 2 ชั่วโมง และนอน 5 ชั่วโมง  เขารับประทานอาหารมังสวิรัติ  “ฉันกินอาหารที่ได้จากสวน เช่น มันฝรั่ง ถั่ว และทุกอย่าง”  มันจึงดูขัดแย้งเมื่อกลุ่มผู้หญิงจากเมืองใกล้ๆ นำถุงของใช้จำเป็นมาให้ รวมทั้งถุงมันฝรั่งทอดกรอบ

คุณพ่อเอสโคบาร์ที่ลานอารามแม่พระแห่งฮอว์คา

ในฤดูหนาว อารามอาจไม่มีผู้มาเยือนเลย แต่เมื่อถึงฤดูร้อน จะมีผู้มาเยือนเป็นร้อย  บ้างมาจากหมู่บ้านใกล้ๆ ที่มีระยะทาง 20 นาทีทางบันไดหิน  บ้างอาจเดินมาจากเส้นทางในหุบเขา  แต่หลังจากที่ทางการทำเส้นทางเดินภูเขาเลบานอนในปี 2007 ซึ่งยาว 470 กิโลเมตรจากเหนือจรดใต้ของประเทศแล้ว ผู้มาเยือนก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ  แม้ว่าเส้นทางดังกล่าวจะไม่ตัดผ่านอารามของคุณพ่อเอสโคบาร์โดยตรง แต่นักเดินเขาก็มักใช้เวลา 45 นาทียอมออกนอนเส้นทางเพื่อมายังวัดน้อยแห่งนี้ โดยหวังว่าจะได้พบเขา แขกบางคนที่มาขอให้เขาอวยพรลูกที่เกิดใหม่หรือการหมั้นของตน เคยมีกรณีผู้พิการที่นั่งรถเข็น ให้คน 4 คนแบกเขาเข้ามาถึงวัดด้วย  ส่วนคนอื่นๆ แค่อยากรู้อยากเห็นอยากพบฤาษี ไกด์บางคนพานักท่องเที่ยวมาที่นี่ตั้งแต่ปี 2006 ถึงแม้บางทีจะไม่ได้พบกับเขาก็ตาม “แล้วแต่อารมณ์ของเขา หรือต่อให้เขาออกมาข้างนอก ก็แทบไม่พูดจากับใครเลย บางทีเขาก็เล่าเรื่องตลกและหัวเราะ คนอื่นๆ ก็หัวเราไปกับเขาด้วย”  แต่ฤาษีคนนี้ก็ยังขึ้นชื่อเรื่องพูดจาตลกสัปดนที่เขาพูดกับผู้มาเยือนสตรีหน้าตาดีด้วยเหมือนกัน

ในหุบเขาแห่งนี้ยังมีฤาษีคนอื่นอาศัยอยู่ด้วย บางคนยังหนุ่ม ใช้ชีวิตเคร่งครัด และไม่พูดกับใครเลย บางคนที่แก่ชรามากแล้วก็ต้อยย้ายเข้าไปอยู่ในสถานดูแลของอารามนักบุญแอนโทนี ที่ซึ่งคุณพ่อเอสโคบาร์บอกว่าเมื่อเขาแก่ตัวลงมากกว่านี้ ก็จะต้องเข้าไปอยู่ที่นั่นเช่นกัน

เรื่อง  แอบบี ซีเวล

ภาพ  คาเวห์ คาเซมิ, ทิม เจอราร์ด บาร์เกอร์

หมอกปกคลุมเมืองบชาร์ริ มีหุบเขาคาดิชาเป็นฉากหลัง

 

อ่านเพิ่มเติม

ท่องเที่ยวไปในย่านอันเป็นเอกลักษณ์ของนครเยรูซาเลม

Recommend