เขื่อนโมซุล “อันตรายที่สุดในโลก” เสี่ยงทำลายคนนับแสน-โบราณสถาน 1,000 ปี

เขื่อนโมซุล “อันตรายที่สุดในโลก” เสี่ยงทำลายคนนับแสน-โบราณสถาน 1,000 ปี

หาก เขื่อนโมซุล ในอิรักพังทลาย ไม่เพียงแต่คร่าชีวิตคนนับแสนเท่านั้น แต่ยังทำลายพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีอายุยาวนานนับพันปีอีกด้วย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรักได้ออกประกาศข้อความที่น่าหวั่นพรึงแก่ชาวอิรักว่า “ เตรียมพร้อมรับมือกับความเป็นไปได้ในการพังทลายของ ‘ เขื่อนโมซุล ’ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองที่มีชื่อเดียวกันไปทางทิศเหนือประมาณ 56 กิโลเมตร (35 ไมล์) ”

เอกสารข้อมูลที่แนบมาด้วยระบุว่า เขื่อนโมซุล ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ “เผชิญกับความเสี่ยงอันร้ายแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นผลจากการพังทลายที่แทบไม่มีสัญญาณเตือนภัย” อันจะส่งผลให้เกิด “คลื่นยักษ์บนแผ่นดิน” ไหลลงใต้ไปตามแม่น้ำไทกริสเป็นระยะทาง 282 กิโลเมตร (175 ไมล์) ไปยังเมืองซามาร์รา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโก ผู้คนประมาณ 500,000 ถึง 1.47 ล้านคนจะเสียชีวิตจากอุทกภัย หากพวกเขาอพยพออกจากเส้นทางน้ำท่วมไม่ทันเวลา

ในปีต่อๆ มาหลังจากคำเตือนนั้น รัฐบาลอิตาลีได้ช่วยซ่อมแซมเขื่อนโมซุล และยังคงให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลอิรักในการบำรุงรักษาก่อสร้าง และปกป้องประชาชนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ปลายน้ำ แต่หลายคนแย้งว่ายังคงมีความเสี่ยงอยู่มาก

ในขณะที่โอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติทางมนุษยธรรมครั้งใหญ่นั้นชัดเจน ความล้มเหลวของเขื่อนโมซุลจะทำให้แหล่งโบราณคดีและวัฒนธรรมนับพันแห่งตามแม่น้ำไทกริสหายไปด้วย ซึ่งรวมถึงแหล่งวัฒนธรรมโบราณอีกหลายแห่งที่ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายไปแล้วโดยกลุ่มรัฐอิสลาม (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ISIS)

เขื่อนโมซุล, อิรัก, เขื่อน
ภาพเขื่อนโมซุลของอิรัก ในเดือนกันยายน 2016 ได้รับการขนานนามว่าเป็นเขื่อน “อันตรายที่สุด” ในโลก วิศวกรคาดการณ์ว่าความล้มเหลวของโครงสร้างจะส่งผลให้เมืองโมซุลซึ่งอยู่ห่างไปทางใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร (37 ไมล์) ถูกน้ำท่วม

เขื่อนโมซุล เขื่อนที่อันตรายที่สุดในโลก

ความสมบูรณ์ของโครงสร้างเขื่อนโมซุล (เดิมชื่อเขื่อนซัดดัม) เป็นที่น่ากังวลมาตั้งแต่เริ่มใช้งานเมื่อ 35 ปีก่อน เขื่อนพลังน้ำนี้สร้างขึ้นบนฐานรากของแร่ธาตุที่ละลายน้ำได้ซึ่งเป็น “แร่ที่ไม่ดีอย่างยิ่ง” จนต้องคอยฉาบปูนซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับโครงสร้างยาว 4.5 กิโลเมตร (2.8 ไมล์) สูง 114 เมตร (375 ฟุต) ซึ่งจุน้ำได้ถึง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร (2.7 ลูกบาศก์ไมล์)

ในปี 2006 วิศวกรของกองทัพสหรัฐฯ เรียกเขื่อนแห่งนี้ว่า “เขื่อนที่อันตรายที่สุดในโลก” และคาดการณ์ว่าความล้มเหลวของโครงสร้างอาจทำให้เมืองโมซุลจมอยู่ใต้น้ำลึกกว่า 21 เมตร (70 ฟุต) ภายในสามหรือสี่ชั่วโมง

เขื่อนโมซุล, อิรัก, เขื่อน

เมืองโบราณของจักรวรรดิอัสซีเรีย อันได้แก่ เมืองนิเนเวห์ (Nineveh), นิมรัด (Nimmrud) และคอร์ซาบัด (Khorsabad) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงจักรวรรดิแห่งแรกๆ ของโลกในช่วงสหัสวรรษแรกก่อนคริสต์ศักราช ต่างอยู่ในเส้นทางที่คาดการณ์ว่าจะถูกน้ำท่วมซึ่งเป็นผลมาจากการพังทลายของเขื่อน สถานที่เหล่านี้รวมถึงพิพิธภัณฑ์โมซุลและสถานที่ทางศาสนาอีกมากมาย ล้วนเป็นเป้าหมายของความเสียหายและการทำลายโดย ISIS หลังจากเข้ายึดโมซุลในปี 2014

แม้ว่าความเสียหายที่เกิดจาก ISIS ต่อบรรดาสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของอิรักและซีเรียต่างทำให้ผู้คนทั่วโลกกังวลใจ แต่บรรดาผู้วิจัยก็กำลังพยายามที่จะคำนวณความเสียหายที่เกิดจากการพังทลายของเขื่อนโมซุลด้วยเช่นกัน

“ผมทำใจลำบากเมื่อทราบผลประเมินว่าจะมีสถานที่ทางโบราณคดีและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายพันแห่งต้องหายไป” ไมเคิล ดันติ ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยบอสตันและผู้อำนวยการร่วมของโครงการ Syrian Heritage Initiative ที่สถาบันวิจัยตะวันออกของอเมริกัน (American Schools of Oriental Research) ซึ่งรวบรวมข้อมูลการทำลายมรดกทางวัฒนธรรมโดยเจตนาในอิรักและซีเรียกล่าวและเสริมว่า “มันจะเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่”

เมืองนิเนเวห์ เมืองหลวงเก่าของจักรวรรดิอัสซีเรีย ซึ่งเคยเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในเส้นทางน้ำท่วมของเขื่อนโมซุลที่อาจพังทลายได้

เจสัน อูร์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งข้อสังเกตว่า หากเป้าหมายไปที่เมืองใหญ่ของอัสซีเรียหมายความว่ายังมีแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่อีกหลายแห่งริมแม่น้ำไทกริส ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจอย่างเหมาะสมอาจเสียหายไปด้วย “เราไม่รู้แน่ชัดว่าเราจะสูญเสียอะไรไป” เขากล่าว

นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่านักโบราณคดีในภูมิภาคนี้มักพึ่งพาสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้งานบนพื้นผิวเพื่อกำหนดอายุและขนาดของสถานที่โดยประมาณโดยไม่ต้องขุดสำรวจ อุทกภัยครั้งใหญ่ที่ไหลผ่านภูมิประเทศนี้จะทำให้พื้นผิวถูกทำลายระเกะระกะ “เครื่องมือที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของเราในการสำรวจจะถูกพรากไปจากเราทั้งหมด มันจะทำให้การทำงานในอนาคตยากมากขึ้น”

เขากล่าวว่า สิ่งที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือการสะสมตะกอนจำนวนมากทั่วลุ่มแม่น้ำไทกริส “แล้วเราจะเข้าไม่ถึงพื้นผิวระเกะระกะนั้นได้อีกเลย”

เขื่อนโมซุล, อิรัก, เขื่อน
พนักงานทำงานภายในเขื่อนโมซุลในเดือนกุมภาพันธ์ 2016

การหล่อหลอมอัตลักษณ์ในอนาคต

ในขณะที่นักวิจัยหลายคนรู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดคุยเกี่ยวกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์รวมไปถึงชีวิตอีกหลายล้านคนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน พวกเขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่จะมีบทบาทในการหล่อหลอมชาวอิรักในอนาคต

“ชาวเคิร์ดถามว่า ‘อดีตของเราเป็นอย่างไร?’ และชาวซุนนีและชาวชีอะห์ก็ทำเช่นเดียวกัน” อูร์กล่าว “ผู้คนสร้างอัตลักษณ์ประจำชาติของพวกเขาขึ้นอยู่กับสิ่งที่มาก่อนพวกเขา ดังนั้นโบราณคดีจึงเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนั้น”

สำหรับดันติ ผู้ติดตามการทำลายล้างสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมโดยกลุ่ม ISIS กล่าวอีกว่า ความจริงอันน่าเศร้าของการสูญเสียมรดกของอิรักในระดับใหญ่ก็ไม่ได้จางหายไป

“ไม่บ่อยนักที่ผมคิดว่าจะมีสิ่งจะเลวร้ายกว่าสิ่งที่ [กลุ่ม ISIS] ทำไว้” เขากล่าว “พวกเขาทำลายสถานที่ไปหลายร้อยแห่ง แต่เขื่อนนี้อาจพรากทุกอย่างไป”

เรื่อง KRISTIN ROMEY


อ่านเพิ่มเติม การสร้างเขื่อนมากขึ้นช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและความแห้งแล้ง จริงหรือไม่?

Recommend