แมรี วอลล์สโตนคราฟต์ – มาลาลา ยูซาฟไซ หญิงแกร่งในคำตอบ “มิสยูนิเวิร์ส”

แมรี วอลล์สโตนคราฟต์ – มาลาลา ยูซาฟไซ หญิงแกร่งในคำตอบ “มิสยูนิเวิร์ส”

แมรี วอลล์สโตนคราฟต์ และ มาลาลา ยูซาฟไซ สองสตรีผู้ต่อสู้เพื่อสตรีทั่วโลก คือสองบุคคลที่ปรากฎในการตอบคำถามของผู้เข้าประกวด มิสยูนิเวิร์ส เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ผลการประกวด มิสยูนิเวิร์ส นั้นเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว แต่สตรีทั้งสองคนนี้คือใครและมีความสำคัญอย่างไร?

แมรี วอลล์สโตนคราฟต์ (Mary Wollstonecraft) – “ทำให้พวกเขาเป็นอิสระ แล้วพวกเขาจะฉลาดและมีคุณธรรมขึ้นอย่างรวดเร็ว” สตรีผู้สร้าง “คลื่นลูกแรกสุด” ของความเท่าเทียมทางเพศ

แมรี โวลสโตนคราฟต์
แมรี โวลสโตนคราฟต์

เมื่อ เชย์นิส ปาลาซิออส (Sheynnis Palacios) ผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สจากประเทศนิการากัว ได้รับคำถามว่า ‘หากให้เลือกเป็นคนใดคนหนึ่งได้นาน 1 ปีจะเลือกเป็นใคร?’ ปาลาซิออส ตอบกลับว่า เธอต้องการเป็น แมรี วอลล์สโตนคราฟต์ เท่านั้น

วอลล์สโตนคราฟต์ คือผู้หญิงคนแรก ๆ ที่ออกมาเรียกร้องถึงความเท่าเทียมและกลายเป็น ‘แม่ของสตรีนิยม’ กระนั้นเธอก็ต้องทนทุกข์กับเหล่าผู้ชายที่หัวเราะเยาะเกี่ยวกับความคิดของเธอ วอลล์สโตนคราฟต์ เกิดในปี 1759 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวชนชั้นกลาง

แต่น่าเศร้าที่เธอต้องคอยเห็นแม่ของเธอถูกทำร้ายด้วยน้ำมือของพ่อที่ชื่นชอบการใช้ความรุนแรง วอลล์สโตนคราฟต์ จึงรู้สึกหงุดหงิดกับตัวเลือกทางการศึกษาและอาชีพที่จำกัดสำหรับเด็กผู้หญิง

เธอเชื่ออย่างสุดใจว่าทุกคนมีสิทธิในการเลือกชีวิตของตนเอง และมีความคิดอย่างเป็นอิสระ ซึ่งขัดแย้งกับยุคสมัยที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิแม้แต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

วอลสโตนคราฟต์แย้งว่าผู้หญิงมีความสามารถเท่าเทียมกัน (กับผู้ชาย) ในการได้รับคุณธรรมเหล่านี้ และได้รับประโยชน์จากการศึกษาเต็มรูปแบบ หากเพียงแค่ได้รับโอกาสในการพัฒนาความสามารถของตนในลักษณะเดียวกับผู้ชาย คุณธรรมที่บ่งบอกถึงลักษณะทางศีลธรรมและแสดงออกมาเป็นหลักในความสามารถในการตัดสินอย่างมีเหตุผล และมีข้อมูลครบถ้วน

“ทำให้พวกเขาเป็นอิสระ แล้วพวกเขาจะฉลาดและมีคุณธรรมขึ้นอย่างรวดเร็ว” ประโยคอันโด่งดังที่เธอเขียนถึงทุกคน

วอลสโตนคราฟต์ เชื่อว่าคุณสมบัติที่มีเหตุผลนั้นไม่ถูกกำหนดโดยเพศของธรรมชาติ แต่สามารถเรียนรู้และหล่อหลอมผ่านสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเลี้ยงดู การศึกษา และวัฒนธรรม ถ้าการศึกษาแคบและจำกัด ก็จะเกิดความคิดที่แคบและจำกัดเช่นเดียวกัน

บริตเจ็ท คอตเตอร์ (Bridget Cotter) จากภาควิชาสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมินสเตอร์ได้เขียนบทความผ่านเว็บไซต์ The Conversation ไว้ว่า “บ่อยครั้งที่ผู้หญิงยังคงใช้ชีวิตอยู่ในวังวนทุกวันนี้ นั่นคือ ติดอยู่ในการดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากความคิดที่คิดไว้ล่วงหน้าว่าเราเป็นใครและจะทำอะไรได้ เราควรสวมใส่อะไร เราควรมีลักษณะอย่างไร และสิ่งที่เราควรให้คุณค่าในตัวเอง”

การปลดปล่อยจาก ‘อะไรบางอย่าง’ ที่กดขี่ความคิด ความสามารถในการกำหนดตัวเอง และทิศทางชีวิตของเรา จำเป็นต้องเข้าถึงทรัพยการทางปัญญาและความรู้เพื่อพัฒนาให้จิตใจได้เป็นอิสระ นี่คือข้อความสำคัญที่สุดของ วอลสโตนคราฟต์ สื่อสารออกมาถึงทุกคนโดยไม่คำนึงเพศ

มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) – “ให้เราหยิบหนังสือและปากกาของเรา พวกมันคืออาวุธที่ทรงพลังที่สุดของเรา”

Malala Yousafzai, มาลาลา ยูซาฟไซ
Malala Yousafzai PHOTO: JOHN RUSSO

ขณะที่ ‘แอนโทเนีย โพซิ้ว’ ตัวแทนจากประเทศไทยได้ตอบว่า เธอต้องการเป็น ‘มาลาลา ยูซาฟไซ’ สตรีอีกคนหนึ่งที่ยืนหยัดต่อสู้กับความรุนแรง เคยถูกยิงที่ศีรษะ แต่ยังคงสู้ต่อไป และกลายเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ยูซาฟไซ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมปี 1997 ที่ประเทศปากีสถาน เธอมีชีวิตวัยเด็กเหมือนเด็กทั่วไป แต่หลังจากกลุ่มตอลีบันโจมตีโรงเรียนสตรี ยูซาฟไซ ออกมาเรียกร้องอย่างทรงพลังว่า “กลุ่มตอลิบานกล้าเอาสิทธิขั้นพื้นฐานในการศึกษาของฉันไปได้อย่างไร” จนกลายเป็นผู้เขียนบล็อกบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตที่อยู่ภายใต้คำขู่ของกลุ่มตอลิบานในปี 2009 ซึ่งเธอมีอายุเพียง 11 ปี

แม้ยูซาฟไซ และครอบครัวจะหวาดกลัว แต่พวกเขาก็เชื่อว่ากลุ่มผู้ชายเหล่านั้นจะไม่ทำร้ายเด็กจริง ๆ จนกระทั่งวั่นที่ 9 ตุลาคม 2012 มือปืนสวมหน้ากากคนหนึ่งขึ้นมายังรถบัสที่ ยูซาไฟ นั่งอยู่ เธอถูกยิงเข้าที่ศีรษะด้านซ้าย กระสุนวิ่งลงไปหยุดที่คอของเธอ สร้างอาการสาหัสให้กับเด็กหญิงคนนี้

เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดี เธอถูกย้ายไปยังเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ แม้ว่าจะต้องผ่านการผ่าตัดหลายครั้ง รวมทั้งการซ่อมแซมเส้นประสาทในใบหน้าเพื่อแก้ไขอาการอัมพาต กระนั้นในปี 2013 เธอก็สามารถเริ่มกลับมาเข้าเรียนต่อได้ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีผู้สนับสนุนยูซาฟไซจำนวนมาก

“ผู้ก่อการร้ายคิดว่าพวกเขาจะเปลี่ยนเป้าหมายของเราและหยุดความทะเยอทะยานของเรา แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิตของฉันยกเว้นสิ่งนี้ ความอ่อนแอ ความกลัว และความสิ้นหวังได้มลายหายไป ความแข็งแกร่ง พลัง และความกล้าหาญได้ถือกำเนิดขึ้น” ยูซาฟไซ กล่าวผ่านสุนทรพจน์ที่สหประชาชาติ เมื่อปี 2013

“พวกหัวรุนแรงกลัวหนังสือและปากกามาก พลังของการศึกษาทำให้พวกเขาหวาดกลัว พวกเขากลัวผู้หญิง…ให้เราหยิบหนังสือและปากกาของเรา พวกมันคืออาวุธที่ทรงพลังที่สุดของเรา” และเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2014 กลายเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้

ยูซาฟไซเรียกร้องให้ดำเนินการด้านการศึกษา ต่อต้านความยากจน และต่อต้านการก่อการร้าย

“เสียงของฉันมีพลังมากจนคนอันตรายพยายามจะปิดปากฉัน แต่พวกเขาก็ล้มเหลว” ยูซาฟไซเขียน

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nobelprize.org/prizes/peace/2014/yousafzai/lecture/

https://www.britannica.com/biography/Malala-Yousafzai

https://www.theguardian.com/commentisfree/2013/jul/12/malala-yousafzai-united-nations-education-speech-text

https://www.biography.com/activists/malala-yousafzai

https://www.brooklynmuseum.org/eascfa/dinner_party/place_settings/mary_wollstonecraft

https://www.britannica.com/biography/Mary-Wollstonecraft

https://theconversation.com/mary-wollstonecraft-an-introduction-to-the-mother-of-first-wave-feminism-201046

https://plato.stanford.edu/entries/wollstonecraft/


อ่านเพิ่มเติม ความงาม : นิยามใหม่ที่ใครเป็นผู้กำหนด

ความงาม

Recommend