เคราะห์กรรมที่ไม่จบสิ้น ของเหยื่อ ทุ่นระเบิด ในไทย

เคราะห์กรรมที่ไม่จบสิ้น ของเหยื่อ ทุ่นระเบิด ในไทย

ช่างภาพผู้หลงใหลการถ่ายภาพผู้คนออกสำรวจผลกระทบตกค้างจากสงคราม ทุ่นระเบิด ซึ่งเปลี่ยนชะตากรรมของผู้เคราะห์ร้ายที่ใช้ชีวิตธรรมดาสามัญไปตลอดกาล

เมื่อช่างภาพผู้คุ้นเคยกับประเด็นที่อยู่ในกระแส ต้องถ่ายทอดเรื่องราวว่าด้วยชะตากรรมของผู้คนที่ไม่ได้รับการพูดถึง

เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ชื่นชอบการถ่ายภาพผู้คนมาอย่างน้อยสองทศวรรษ ความที่ครอบครัวทำการค้า เอกรัตน์จึงมีโอกาสพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตาที่แวะเวียนมาที่บ้านตั้งแต่เด็ก จนเกิดเป็นความสนใจในพฤติกรรมของมนุษย์ในที่สุด

สำหรับเขา การได้ร่วมงานกับกาชาดสากลหรือไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross: ICRC) และศูนย์ปฏิบัติ-การทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thai Mine Action Center: TMAC) เป็นประสบการณ์ที่ต่างออกไป เอกรัตน์เดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตจังหวัดที่อยู่ติดชายแดนเพื่อบันทึกภาพผลกระทบของทุ่นระเบิดตกค้าง

เอกรัตน์เลือกนำเสนอภาพภูมิทัศน์ของพื้นที่ที่ดูเหมือนไม่มีอันตรายใด ๆ สะท้อนให้เห็นสภาพแวดล้อมของการใช้ชีวิตตามปกติเหมือนวันธรรมดาวันหนึ่งของผู้ประสบเหตุ “ดูน่าเชื่อว่าไม่มีอะไร น่าจะเข้าไปได้ แต่มีระเบิดซุกซ่อนอยู่” เอกรัตน์เล่า แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังรู้สึกและยอมรับถึงความน่า-พรั่นพรึงเมื่ออยู่ในบริเวณดังกล่าว

ความท้าทายอีกประการคือการรับฟังเหตุ-การณ์ร้ายที่เปลี่ยนชีวิตของเหยื่อแต่ละคน “เราไม่มีวันเข้าใจความรู้สึกนั้นหรอกครับ”เอกรัตน์บอก “เห็นได้ชัดว่าบางคนต่อสู้และก้าวข้ามความเจ็บปวดเหล่านั้นมาได้ แต่บางคนยังทนทุกข์กับความเศร้า ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร”

ทุ่นระเบิด, เหยื่อทุ่นระเบิด, ขาเทียม
ปลายเท้าของขาเทียมนี้ถูกตัดออกไปเพราะทำให้เดินไม่สะดวก ส่วนบริเวณข้อเท้าใช้ยางในจักรยานพันไว้เพื่อเสริมความแข็งแรง นอกจากการทำใจให้ใช้ชีวิตต่อไปได้แล้ว การประยุกต์ขาเทียมให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ก็เป็นโจทย์ที่เหยื่อจากทุ่นระเบิดตกค้างทุกคนต้องรับมือ
ทุ่นระเบิด, เหยื่อทุ่นระเบิด, ตราด
พื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านท่าเส้น ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด ที่อยู่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งในอดีต และปัจจุบันยังกำหนดให้เป็นบริเวณเก็บกู้ทุ่นระเบิดอยู่ การปักสัญลักษณ์แนวระเบิดที่เก็บกู้แล้วเอาไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้ศึกษาและทำความเข้าใจยุทธวิธีการวางทุ่นระเบิด มีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจให้ปฏิบัติการเก็บกู้ครั้งต่อไป
ทุ่นระเบิด, เหยื่อทุ่นระเบิด,
ศรีรา คำมูล อายุ 61 ปี มีบุตรสองคน เคราะห์ร้ายเหยียบทุ่นระเบิดตกค้างเมื่อ พ.ศ. 2549 หรือ 17 ปีก่อน ระหว่างออกไปหาปลาในบริเวณใกล้เคียงเพื่อนำมาประกอบอาหาร
ทุ่นระเบิด, เหยื่อทุ่นระเบิด, คนพิการ, ขาเทียม
“โดนแล้วมันทำไงได้ ก็ต้องทำใจให้ได้” สงวน สินทรัพย์ บอก เขาเหยียบทุ่นระเบิดเมื่อ พ.ศ. 2535 ที่อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ระหว่างออกไปหาของป่า
ทุ่นระเบิด, เหยื่อทุ่นระเบิด, เขาค้อ
ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2511 ถึง 2525 พื้นที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบสำคัญระหว่าง ทหารไทยกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังการสู้รบสิ้นสุดลง เขาค้อที่เคยเป็นสมรภูมิสงคราม และเข้าถึงได้ยากเปลี่ยนแปลงไปมาก ปัจจุบัน เขาค้อและพื้นที่ใกล้เคียงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับ ความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
“คนไม่เต็มเขาก็ไม่อยากจ้าง มีแต่พี่น้องแหละที่จ้างทำงาน” สุข ตุ้มนาค บอก เมื่อ พ.ศ. 2539 เขาถูกทุ่นระเบิดตอนอายุ 32 ปี ขณะไปหาเห็ดมาทำอาหารที่บ้านคะนา ตำบลตาตุม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์

เรื่อง นิรมล มูนจินดา

ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา

โปรเจ็คนี้ได้รับความการสนับสนุนในเรื่องข้อมูลและการลงพื้นที่จาก คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross : ICRC) และ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thai Mine Action Center : TMAC)

ติดตามสารคดี เคราะห์กรรมที่ไม่มีวันจบสิ้น ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/594704


อ่านเพิ่มเติม ทุ่นระเบิดสังหาร: สงครามไม่รู้จบของผู้รอดชีวิต

Recommend