เกมเมอร์ ชายเล่นห่วย! มักอคติใส่ “เกมเมอร์หญิง” ในแนวคิด “พื้นที่ผู้ชาย”

เกมเมอร์ ชายเล่นห่วย! มักอคติใส่ “เกมเมอร์หญิง” ในแนวคิด “พื้นที่ผู้ชาย”

“ เกมเมอร์ ผู้ชาย” ที่มีทักษะต่ำ มักจะมีแนวโน้ม ‘ท็อกซิก’ (Toxic) ใส่ ‘ผู้เล่นที่เป็นผู้หญิง”

หากคุณกำลังมีปัญหากับ เกมเมอร์ หญิง บางทีอาจต้องลองย้อนกลับมาดูความสามารถของตัวเอง โดยเฉพาะเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (FPS)

หลายการสำรวจที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่า ผู้หญิงที่เล่นเกมกว่าร้อยละ 50 มีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศหลายครั้ง โดยกว่าร้อยละ 75 ของกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 24 ปี บ้างก็ถูกด่าทอ บ้างก็ “ถูกเหยียด” โดยผู้ชายในทีม แต่ทั้งหมดนี้มุ่งเป้าไปที่ผู้เล่นที่เป็นเพศหญิง ทั้งทางกล่องข้อความพูดคุย และเสียงพูดในเกม

พฤติกรรมด่าทอ กดดัน คุกคาม กลั่นแกล้ง ยุยง ไม่ให้ความร่วมมือ และอื่น ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดความสบายใจของผู้ที่เห็นหรือได้ยินเหล่านี้ถือเป็นพฤติกรรมที่เป็นพิษต่อบุคคลรอบข้าง อีกทั้งยังทำให้บรรยากาศในการเล่นเกมแย่ลง หลายครั้งเกิดจากความไม่พอใจทักษะที่ ‘ไม่ถูกใจ’ เพื่อนร่วมทีม และระดับความสามารถที่อาจเรียกได้ว่า ‘ไม่เก่งพอ’ ในสายตาของผู้เล่น

ทว่าก็ไม่มีใครคิดถึงเลยว่า ผู้เล่นทักษะต่ำที่เป็นชายจะมุ่งเป้าพฤติกรรมที่เป็นพิษ (toxic) ไปยังนักเล่นเกมที่เป็นผู้หญิงมากกว่า และในงานวิจัยเมื่อปี 2015 ได้ให้เบาะแสไว้ว่าทำไม?

ในรายงานที่เผยแพร่ในวารสาร PLOS ONE ได้ศึกษาพฤติกรรมกลุ่มนักเล่นเกมกลุ่มหนึ่งโดยใช้เกมที่ชื่อว่า Halo 3 ในการทดสอบ ซึ่งเป็นประเภทเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First Person Shooter: FPS) ซึ่งผู้เล่นจะได้สวมชุดเกราะของ ‘มาสเตอร์ชิฟ’ และออกผจญภัยในอวกาศ โดยตัวเกมจะบันทึกสถิติต่าง ๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า จำนวนการตาย และคะแนนอื่น ๆ

ข้อดีของการสวมชุดเกราะนี้ก็คือผู้เล่นจะไม่รู้ว่าคนที่เล่นด้วยเป็นเพศอะไร (หรืออย่างน้อยก็ไม่มีการเลือกเพศตัวละครเล่น) ทีมงานได้ทำการทดลองการเล่น 126 เกม โดยจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ ควบคุมและทดลอง กลุ่มควบคุมจะไม่มีการพูดคุยและเงียบตลอดการเล่น ขณะที่กลุ่มทดลองนั้นจะมีการเล่นเสียงที่บันทึกไว้ก่อนหน้าให้ดูเหมือนว่า ผู้เล่นคนนั้นกำลัง ‘พูด’ อยู่จริง ๆ

“วลีที่บันทึกไว้ล่วงหน้าเหล่านี้เหมือนกับสภาพของชายและหญิง (หมายถึงพูดประโยคเดียวกันในทั้งเสียงผู้ชายและเสียงผู้หญิง) ไม่มีอันตรายโดยธรรมชาติ และได้รับการออกแบบมาไม่ให้น่ารังเกียจ” รายงานระบุ

“วลีต่าง ๆ เช่น ‘ฉันชอบแผนที่นี้’, ‘ยิงได้สวย’, ‘ฉันสนุกกับการเล่นเกมนั้น’, ‘ฉันคิดว่าเพิ่งเห็นพวกเขาสองคนมุ่งไปทางนี้’ และ ‘เป็นเกมที่ดีนะทุกคน’” รายงานเขียน โดยทั้งหมดนี้ใช้ I เป็นคำว่า ฉัน ไม่มีการแบ่งเพศใด ๆ แล้วกลุ่มทดลองจะได้ฟังเสียงของทั้งชายและหญิงปะปนกันไป

จากนั้นทีมวิจัยก็จะคอยบันทึกปฏิกิริยาตอบสนองและจัดให้อยู่ในประเภท เชิงบวก เชิงลบ และเป็นกลาง ท้ายที่สุดก็นำมาเชื่อมโยงเข้ากับทักษะการเล่นที่แสดงออกผ่านบันทึกสถิติของเกม Halo 3

ผลลัพธ์ที่ได้นั้นออกมาค่อนข้างชัดเจน ผู้เล่นชายที่มีสถิติต่ำ มีการฆ่าน้อย เสียชีวิตมาก และได้คะแนนต่ำ มักจะเป็นผู้เล่นที่มีพฤติกรรมเป็นพิษ (toxic) มากที่สุด อีกทั้งยังมุ่งเป้าไปที่เกมมอร์ผู้หญิงด้วย

“เราพบว่า “ทักษะ” นั้นเป็นตัวกำหนดความถี่ของคำพูดเชิงบวกและเชิงลบต่อเพื่อนร่วมทีมที่กล่าวออกมาทั้งชายและหญิง” รายงานระบุ “นอกจากนี้ ทักษะที่ย่ำแย่ (ฆ่าน้อยและเสียชีวิตจำนวนมาก) ส่งผลให้เกิดคำพูดเชิงลบมากขึ้น โดยเฉพาะการตอบสนองต่อเสียงผู้หญิง”

ผู้เล่นชายที่มีทักษะต่ำจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นศัตรูกับผู้เล่นหญิงมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม พวกเขา (นักเล่นเกมทักษะต่ำ) ก็มีแนวโน้มจะท็อกซิกใส่ผู้ชายที่มีความสามารถน้อยลงเช่นกัน แต่เพราะอะไรกัน ทำไมเกมเมอร์ชายถึงทำตัวเช่นนี้?

ทีมงานได้เสนอแนวคิดเอาไว้ โดยพิจารณาจากมุมมองของวิวัฒนาการว่า “ผู้ชายที่มีสถานะต่ำมีโอกาสที่จะต้องสูญเสียมากที่สุดเนื่องจากการกำหนดค่าแบบลำดับขั้นขึ้นมาใหม่ ก่อเกิดเป็นการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากคู่แข่งที่เป็นผู้หญิง”

ในบริบทนี้กล่าวคือ ผู้เล่นชายที่มีทักษะต่ำรู้สึกเหมือนตนเองจะสูญเสียตำแหน่งใน ‘ลีดเดอร์บอร์ด’ ให้กับผู้เล่นหญิง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักถูกมองว่าความสามารถด้านนี้ไม่เท่าผู้ชาย (แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน มีผู้หญิงหลายคนเล่นเกมเก่งกว่าผู้ชายจำนวนมาก) จนทำให้เกมเมอร์ชายรู้สึกเหมือนจะไม่มีตัวตนอีกต่อไป พวกเขาจึงตอบสนองอย่างรุนแรงใส่เป้าหมายที่เป็นผู้หญิงราวกับเป็นภัยคุกคาม

ขณะที่เดียวกันรายงานยังระบุอีกว่า “ผู้เล่นชายที่มีทักษะสูง” น่าจะมีความกลัวในด้านนี้น้อยกว่ามาก ทำให้พวกเขามีทัศคติเชิงบวกมากกว่า อีกทั้งยังให้การชื่นชมผู้เล่นหญิงมากกว่า “โดยบอกเป็นนัยว่าพวกเขาเปลี่ยนมาทำหน้าที่สนับสนุนได้ และอาจช่วยดึงดูดคู่ครองได้อีกด้วย” รายงานระบุ

ในส่วนที่ว่าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นกับเกมประเภทอื่น ๆ ไหม? ทีมงานเองก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเกมที่เล่นเป็นทีมและใช้ความร่วมมือกันอย่าง League of Legends หรือ DOTA2 จะมีผลลัพธ์ไปในทางเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไป

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0131613#pone.0131613.s002
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4503401/
https://arstechnica.com/gaming/2015/07/study-online-gaming-losers-are-more-likely-to-harass-women/
https://www.abc.net.au/news/2015-07-21/male-gaming-bullies-are-literal-losers-study-finds/6636320
https://www.iflscience.com/low-skilled-gamers-are-more-likely-to-get-hostile-towards-female-gamers-73022
https://www.wired.co.uk/article/women-more-likely-to-receive-online-harrassment-in-games


อ่านเพิ่มเติม วิจัยระบุ การเล่นเกมเพิ่มไอคิวให้เด็ก แนะพ่อแม่ให้สื่อเหมาะกับวัย

Recommend