คนรุ่นใหม่ไฮเทคแห่งแอฟริกา

คนรุ่นใหม่ไฮเทคแห่งแอฟริกา

คนรุ่นใหม่ไฮเทคแห่งแอฟริกา

วันหนึ่งเมื่อปี 2004 ที่หมู่บ้านเกษตรกรรมเอ็นจิเนียร์ในเคนยา ซึ่งได้ชื่อนี้มาเพราะเคยมีคนอังกฤษเปิดร้านซ่อมเครื่องยนต์กลไกที่นั่น เด็กชายร่างผอมบางผู้มีสายตาสั้นเดินผ่านร้านรับพิมพ์งานแห่งเดียวในหมู่บ้านและเห็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือคอมพิวเตอร์

เด็กชายยืนข้างเครื่องที่ส่งเสียงหึ่งๆ สายตาจับจ้องไปที่คำและตัวเลขบนกระดาษที่ส่งผ่านจากคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ปีเตอร์ คารีอูคี เด็กชายซึ่งเพิ่งย่างเข้าวัยรุ่นได้ค้นพบอนาคตของตนเอง

พ่อแม่ของปีเตอร์ซึ่งปลูกกะหล่ำและมันฝรั่งพอยังชีพ  เริ่มกังวลว่าลูกของตนไปขลุกอยู่ที่ร้านพิมพ์งานนานเกินไปไม่มีชาวบ้านเอ็นจิเนียร์คนใดเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แม้แต่บ้านที่มีไฟฟ้าใช้ก็มีอยู่ไม่กี่หลัง การเฟื่องฟูของธุรกิจเทคโนโลยีคือแนวคิดอันไกลห่าง  กระนั้น ปีเตอร์ก็ติดใจเสียแล้ว  เมื่อคะแนนสูงลิ่วในระดับประถมศึกษาส่งให้เขาเข้าโรงเรียนมาเซโนอันทรงเกียรติ (ซึ่งมีศิษย์เก่าอย่างบิดาของบารัก โอบามา) ครูให้เขาถือกุญแจห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ซึ่งปีเตอร์จะเข้าไปนั่งเขียนโปรแกรมทั้งคืน

สร้างความสามารถทางเทคโนโลยี รวันดาจับมือกับซิปไลน์ บริษัทในแคลิฟอร์เนีย ใช้โดรนเพื่อลำเลียงเลือดและพลาสมา สร้างงานด้านเทคนิคให้ผู้คนอย่างโอลิวิเยร์ มูกีราเนซา

พอถึงปี 2010 พ่อมดคอมพิวเตอร์วัย 18 ปีก็เดินทางไปกรุงคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา  เขาได้งานออกแบบระบบออกตั๋วอัตโนมัติให้ระบบรถโดยสารประจำทางของที่นั่น  ถึงแม้คิกาลีจะเป็นหนึ่งในเมืองที่สะอาดและปลอดอาชญากรรมที่สุดในแอฟริกา ทว่าระบบขนส่งมวลชนกลับไม่หนีประเทศอื่นๆ  รถประจำทาง (ที่จริงเป็นเพียงรถตู้) ไม่ตรงเวลา  แน่นเป็นปลากระป๋องและช้ายังกับเต่าคลาน  คนเดินทางส่วนใหญ่พึ่งจักรยานยนต์รับจ้างซึ่งขึ้นชื่อเรื่องขับขี่หวาดเสียว อันที่จริงในภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา อุบัติเหตุบนท้องถนนคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ไล่ตามเอดส์และมาลาเรียมาติดๆ และสถิติของตำรวจที่คาริอูคีเห็นก็บ่งชี้ว่า  อุบัติเหตุบนท้องถนนราวร้อยละ 80 ในคิกาลีเกี่ยวข้องกับจักรยานยนต์ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้  คาริอูคีกับรูมเมตชื่อ บาร์เร็ตต์ แนช เพื่อนร่วมอุดมการณ์สตาร์ท-อัปจากแคนาดา  จับมือกัน หลังปิดคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปในตอนเย็น คาริอูคีกับแนชจะเดินผ่านย่านเริงรมย์ของคิกาลีไปยังบาร์กลางแจ้งเพื่อนั่งดื่มเบียร์  พลางครุ่นคิดหาคำตอบของคำถามพื้นฐานว่า พวกเขาจะจัดหาบริการจักรยานยนต์รับจ้างที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง แบบเดียวกับอูเบอร์ในคิกาลี ได้อย่างไร

คาริอูคีกับแนชอธิบายแนวคิดของพวกเขาในวีดิโอที่โพสต์บนเว็บไซต์ระดมทุนของสตาร์ท-อัป  ต่อมากลุ่มธุรกิจที่ส่งเสริมและให้เงินทุนแก่ธุรกิจสตาร์ตอัปกลุ่มหนึ่งก็อีเมลถึงพวกเขา  พร้อมเสนอการให้คำปรึกษาและบ่มเพาะแนวคิดเป็นเวลาสามเดือนที่เมืองคอร์กของไอร์แลนด์โดยออกค่าใช้จ่ายให้  เมื่อมั่นใจว่าข้อเสนอนี้ไม่ใช่การต้มตุ๋น คาริอูคีกับแนชก็ลาออกจากงานประจำ

คาริอูคีกับแนชกลับมายังคิกาลีในฤดูใบไม้ผลิปี 2015 พร้อมซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นสุดท้ายสำหรับธุรกิจที่พวกเขาตั้งชื่อว่า เซฟโมโตส์ (SafeMotos)

บริษัทลักษณะเดียวกับอูเบอร์ มุ่งช่วยผู้โดยสารหามอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขับขี่อย่างปลอดภัย ปีเตอร์ คาริอูคี ซึ่งหัดเขียนโปรแกรมด้วยตนเองตั้งแต่เด็ก หวังว่าแอปพลิเคชั่นเซฟโมโตส์ของเขาจะพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งในแอฟริกาโดยเริ่มจากรวันดา

ทุกวันนี้ ธุรกิจสตาร์ท-อัปในรวันดาแห่งนี้ซึ่งมีทุนประเดิม 126,000 เหรียญสหรัฐฯ คือบริษัทที่ให้บริการจักรยานยนต์รับส่งเจ้าแรกและเจ้าใหญ่ที่สุดในแอฟริกา โดยจับมือกับคนขับจักรยานยนต์รับจ้างที่มีใบอนุญาตและได้รับการติดตามควบคุมอย่างใกล้ชิดกว่า 400 คนในคิกาลี  รายได้รวมของปี 2017 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  “ผมฝันจะทำให้คิกาลีเป็นฐานที่มั่นที่ไม่มีใครสู้ได้  จากนั้นจะขยายไปยังเมืองอื่นๆอีกสิบแห่งครับ” คาริอูคีบอกผมเมื่อไม่นานนี้บนระเบียงหลังคาโรงแรมใหม่เอี่ยมแห่งหนึ่งของคิกาลี

ชายผู้เป็นหน้าเป็นตาให้หมู่บ้านเอ็นจิเนียร์คือส่วนหนึ่งของคลื่นผู้ประกอบการดิจิทัลที่มุ่งพลิกโฉมภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา พวกเขาผงาดขึ้นพร้อมๆกับการแพร่สะพัดไปทั่วทวีปของโทรศัพท์มือถือ และการมาถึงของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งหากย้อนเวลากลับไปเพียงสิบปีก่อนถือเป็นของหายากในพื้นที่ส่วนใหญ่ของแอฟริกา  ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เงินลงทุนหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลบ่าจากตะวันตกไปสู่ประเทศอย่างเคนยา รวันดา ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ ส่งผลให้เกิดนวัตกร (innovator) รุ่นใหม่ เจ้าของแนวคิดที่งอกงามขึ้นในท้องถิ่นและอาจช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวแอฟริกันให้ดีขึ้นแบบเดียวกับเซฟโมโตส์

ออกแบบเพื่อแอฟริกา คือเป้าหมายของธุรกิจด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ทวีปนี้ยังเป็นตลาดที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีใครเข้าถึง โดยเฉพาะที่กันดารห่างไกล มาร์ก คามาอู ผู้อำนวยการด้านการออกแบบเพื่อผู้ใช้ของบริษัทบีอาร์ซีเคในไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา ถือต้นแบบสถานีตรวจวัดสภาพอากาศเคลื่อนที่

พัฒนาการนี้ไม่ควรเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ  ทั้งๆที่มีภาระหนักหน่วงทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมมากมายที่เป็นอุปสรรคกีดขวางความก้าวหน้าโดยรวมของแอฟริกา “ในโลกนี้มีแค่ทวีปเดียวที่จำนวนประชากรเติบโตเร็วกว่าทวีปอื่นและมีแนวโน้มว่าจะเติบโตเร็วขึ้นด้วย” สตีฟ มูตาบาซี หัวหน้านักกลยุทธ์ที่ทำงานให้คณะกรรมาธิการพัฒนารวันดา บอกและเสริมว่า “ผมเฝ้ามองประเทศในเอเชียอย่างอิจฉา  และมีข้อหนึ่งที่เห็นได้ชัด นั่นคือ เมื่อภูมิภาคที่กำลังพัฒนามีสมาชิกที่ช่วยพัฒนาระบบนิเวศจำนวนมากพอ  จะทำให้เกิดแรงส่งอันเหลือเชื่อที่ช่วยเกื้อหนุนการลงทุนในภูมิภาคนั้น” มูตาบาซีชี้ว่า แอฟริกา “มาถึงจุดนั้นแล้วในตอนนี้”

การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลล่าช้าของแอฟริกามาพร้อมข้อได้เปรียบในการแข่งขันบางอย่าง นั่นคือประโยชน์จากความก้าวหน้าและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในซิลิคอนแวลลีย์  ประชากรของแอฟริกามีอายุน้อยกว่าประชากรในทวีปอื่นๆ ตลาดที่นั่นเปรียบเหมือนพรมแดนใหม่ “ดูการแข่งกันระหว่างจีนกับอินเดียในตลาดอิเล็กทรอนิกส์สิครับ” บีตังเก อึนเดโม อดีตปลัดกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร และปัจจุบันเป็นอาจารย์ด้านวิสาหกิจที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยไนโรบี บอก “อินเดียเดินหน้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกไปแล้ว  พวกเขาทำได้อย่างไร ก็ด้วยการมีประชากรหนุ่มสาวที่ไม่ค่อยมีอะไรทำมากเสียจนสามารถทำอะไรต่างๆได้มากมายเพื่อแลกกับอะไรเพียงน้อยนิดมีทวีปไหนทำแบบนั้นได้อีกบ้าง แอฟริกาไงครับ”

เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์

ภาพถ่าย คีริล จัซเบ็ก

 

อ่านเพิ่มเติม : 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติในแอฟริกาภูมิประเทศอันน่ามหัศจรรย์จากเทคโนโลยี Laser Scanner

Recommend