สนทนาธรรมกับองค์ดาไลลามะ : หนึ่งจุดหมายหลายหนทาง

สนทนาธรรมกับองค์ดาไลลามะ : หนึ่งจุดหมายหลายหนทาง

สนทนาธรรมกับ องค์ดาไลลามะ (ทะไลลามะ) : หนึ่งจุดหมายหลายหนทาง

เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนได้รับโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตโดยร่วมคณะไปกับคณะภิกษุสงฆ์และฆราวาสชาวไทย  ภายใต้การนำของหอจดหมายเหตุพุทธทาส  อินทปัญโญ  เพื่อไปเข้าเฝ้าสนทนาธรรมกับองค์ทะไลลามะ ประมุขทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต  ณ  กรุงนิวเดลี  สาธารณรัฐอินเดีย  ระหว่างวันที่  15-16  ธันวาคม พ.ศ.  2555 ต่อไปนี้คือสาระสำคัญบางส่วนจากการสนทนาธรรมในครั้งนั้น

 

แนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง

“อาตมาไม่เคยพยายามเผยแผ่พุทธศาสนา  อาตมาเป็นชาวพุทธก็จริง  แต่ขณะเดียวกัน อาตมาก็ไม่ควรยึดติดกับความเป็นพุทธของตนเอง  ไม่เช่นนั้นอาตมาก็ไม่สามารถมองเห็นคุณค่าในศาสนาอื่น ๆ  ความท้าทายหรือสิ่งที่อาตมาให้ความสำคัญคือ  การให้แต่ละคนรักษาหรือยึดถือศาสนาของตนเองไว้  แทนที่จะเปลี่ยนศาสนา  อาตมาเดินทางสอนในโลกตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกา  และมักบอกกับผู้คนในประเทศเหล่านั้นว่า พวกคุณนับถือศาสนาคริสต์  ศาสนายิว  ก็ขอให้รักษาไว้  บางครั้งการเปลี่ยนศาสนา อาจก่อให้เกิดความสับสนมากขึ้น  เว้นเสียแต่ว่า  ปัจเจกบุคคลผู้นั้นศึกษาศาสนาใหม่อย่างลึกซึ้ง  และพิจารณาเห็นว่าเหมาะกับจริตหรือทัศนคติของเขาหรือเธอมากกว่า เช่นนั้นก็ถือว่ายอมรับได้  หากปราศจากความเข้าใจนี้แล้ว  ก็อาจเกิดปัญหา  เป็นต้นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาอเทวนิยม  ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าผู้สร้างโลก  หรือแนวคิดเรื่องอัตตาตัวตน  ทุกอย่างเป็นไปตามกรรมและเหตุปัจจัย  ต่างจากศาสนาเทวนิยม  นี่คือความแตกต่างสำคัญที่ต้องเข้าใจ  เราเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้  โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนา”

 

ความท้าทายของศาสนาในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด

“อาตมาคิดว่าประการแรกที่สุด  ถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดถึงมนุษยชาติโดยรวม  ไม่เกี่ยงว่าคุณจะนับถือศาสนาใด  หรือไม่นับถือศาสนาใดเลยก็ตาม  พวกเราพี่น้องมนุษยชาติทั้งชายหญิงต้องอาศัยอยู่ในโลกนี้ด้วยกัน  หากโลกนี้เป็นสุขมากขึ้น  สันติมากขึ้น ทุกคนล้วนย่อมได้ประโยชน์  รวมถึงสัตว์โลกด้วย  อาตมาคิดว่าสิ่งนี้คือภาระหรือความจำเป็นเร่งด่วนของเรา  ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงพยายามหาหนทางช่วยเหลือ อาตมาใช้หลักปรัชญาหรือแนวคิดของอินเดียว่าด้วยจริยธรรมทางโลก  (secular ethics)  โดยไม่ยึดหรืออิงกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง  แต่มาจากสามัญสำนึกหรือประสบการณ์ร่วมกัน  มุ่งเน้นการปฏิบัติเรื่องเมตตาและกรุณาเพื่อสร้างสันติภายใน บ่มเพาะความมั่นใจและความเข้มแข็งภายในตนเอง  มีงานวิจัยยืนยันว่าคนที่ปฏิบัติเมตตาและกรุณาธรรม  จิตใจจะสงบเพราะความกลัวลดลง  ความยึดมั่นถือมั่นหรือคิดถึงแต่ตนเองมากเกินไปมีแต่จะสร้างความกลัวและความกังวล  แต่เมื่อเราคิด หรือคำานึงถึงสวัสดิภาพของผู้อื่น  จิตใจย่อมไม่มีพื้นที่สำหรับความกลัว  ความสงสัย  และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ”

 

ความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับนักวิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยในการเผยแผ่ธรรมะอย่างไรบ้าง

“ตลอดระยะเวลากว่า  30  ปีที่ผ่านมา  อาตมาติดต่อสื่อสารกับนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างจริงจัง  โดยเฉพาะด้านจักรวาลวิทยา  (cosmology)  เพราะพระอภิธรรมในพุทธศาสนาก็พูดถึงจักรวาลวิทยาด้วยเช่นกัน  หรือเรื่องของประสาทชีววิทยา (neurobiology)  ซึ่งคัมภีร์ในพุทธศาสนาโดยเฉพาะสายตันตระก็มีการพูดถึง  ดังนั้น  การแลกเปลี่ยนกับนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จึงเป็นประโยชน์มาก  แล้วยังมีศาสตร์อย่างควอนตัมฟิสิกส์  (quantum  physics)  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางพุทธศาสนาที่ว่า  สรรพสิ่งประกอบด้วยอนุภาค หรือจะเป็นจิตวิทยาที่เราสามารถเทียบเคียงได้กับหลักปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนาในพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู  วิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างจิตวิทยาค้นพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์มหาศาลจากศาสตร์โบราณของอินเดีย  ซึ่งรวมถึงพุทธศาสนาด้วย  เราอาจแบ่งพุทธศาสนาออกกว้างๆ  ได้เป็นพุทธศาสตร์  (Buddhist  Science)  พุทธปรัชญา (Buddhist  Philosophy)  และพุทธศาสนา  (Buddhist  Religion)  สองประการแรก คือหลักสากล ส่วนประการหลังสุดเป็นเรื่องชาวพุทธ”

 

Recommend