เรื่องไม่ลับในวงหวย
ใกล้วันหวยออก ป้าอ้วน ศิวณัฐ รัชตดำรงรัตน์ ต้องคอยบอกให้คนที่อยากได้เลขเด็ดจากเธอไปบนบาน “พระเจ้าทันใจ”ด้วยธูปสามดอก แล้วเขย่ากระบอกเสี่ยงเซียมซีหาเลขเอาเอง “เบื่อค่ะ มีแต่คนมาขอหวย ฉันไม่ได้ใบ้หวยนะคะ” เธอบอกด้วยนํ้าเสียงหงุดหงิด นับจากวันที่เราพูดคุยกัน เธอถูกหวยติดกัน 29 งวดจนกลายเป็นข่าวดัง ป้าอ้วนตกเป็นเป้าของขบวนนักแสวงโชคที่แห่มาเยือนวัดพระธาตุดอยคำซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราวสิบกิโลเมตร เธอเป็นคณะกรรมการวัดและช่วยทางวัดจำหน่ายวัตถุมงคลในซุ้มใกล้ ๆ กับศาลาประดิษฐานพระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า 500 ปี
ป้าอ้วนเชื่อว่า “โชคลาภ” ที่เธอได้รับมาจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าทันใจและ “เสบียงบุญ” ที่ สะสมมาหากคืนไหนฝัน วันรุ่งขึ้นเธอจะตีความเรื่องราวในฝันออกมาเป็นตัวเลข โดยอาศัยตำราทำนายที่อ่านเป็นประจำ “เห็นคนตายก็เป็นศูนย์ ดอกบัวนี่เป็นเก้าอยู่แล้ว ที่รู้เพราะชอบอ่านค่ะ ของพวกนี้ต้องศึกษา” ป้าอ้วนว่าที่ผ่านมา เธอเคยให้เลขเด็ดกับคนที่แวะเวียนมาเยือน แต่ระยะหลังต้องปฏิเสธ พอกันที “เค้าบ่นว่าซื้อเลขป้าอ้วนไม่เคยถูกเลย ทำไมป้าอ้วนถูกเอา ๆ หาว่าป้าอ้วนหลอกลวง ไปซื้อเลขมาโปรโมตวัด ฉันจะทำอย่างนั้นทำไม เค้าไม่เห็นนี่ว่าฉันเล่นยังไง” เธอบ่น “แล้วเล่นยังไงครับ” ผมถาม ป้าอ้วนเดินไปที่โต๊ะทำงาน ไขลิ้นชัก ควักลอตเตอรี่ปึกใหญ่ขึ้นมาวางบนโต๊ะ คลี่เป็นแผง ผู้คนที่ผ่านไปมาเหลือบตามอง “นี่ตรวจแล้วไม่ถูก นี่ยังไม่ได้ตรวจ นี่อีกเยอะ” เธอพลิกทีละปึก “ฉันเล่นงวดละหลายหมื่น บางทีก็เป็นแสน นี่ไง โอกาสมันก็ต้องเยอะ” เธอไม่วายเหน็บว่า เวลาไม่ถูกรางวัลไม่เห็นมีใครมาทำข่าว “ทำไมชอบเล่นหวย” ผมถามต่อ “ก็ฉันชอบท้าทาย” เธอดูผ่อนคลายลง “เวลาฝันแล้วเอามาตีเป็นเลข ก็ได้ลุ้นว่าจะถูกไหม มันท้าทายดีนะคุณ”

ตามที่มีบันทึก หวยบนแผ่นดินสยามมากับคนจีนโพ้นทะเล (ซึ่งเล่นมาตั้งแต่ครั้งอยู่ที่ประเทศจีน เป็นการพนันทายป้ายแผ่นไม้ บนนั้นเขียนเป็นรูปดอกไม้ชนิดต่าง ๆ เลยเรียกกันติดปากว่า “ฮวยหวย” แปลว่า “ชุมนุมดอกไม้”) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนไม่จับจ่ายใช้สอยและนำเงินไปซ่อนในไหฝังดิน รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงหวยขึ้นในเดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. 2375 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามคำกราบบังคมทูลของคหบดีจีนรายหนึ่ง
โรงหวยยุคนั้นออกรางวัลโดยใช้แผ่นป้ายเขียนอักษรไทย 34 ตัว เรียกว่าหวย ก.ข. ออกวันละหนึ่งครั้ง โรงหวยสร้างรายได้ให้รัฐมากพอ ๆ กับสร้างนักพนันหวยซึ่งติดกันงอมแงม มีเจ้ามือหวยเถื่อนตามต่างจังหวัดเกิดขึ้นมากมาย จนล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5และรัชกาลที่ 6 จึงเริ่มทยอยยกเลิกอากรทั้ง “บ่อน” และตามมาด้วยยกเลิกอากร “โรงหวย” ช่วงรอยต่อก่อนปิดฉากยุคโรงหวย เป็นห้วงเวลาของอิทธิพลตะวันตกบนแผ่นดินสยาม และเป็นครั้งแรกของการออกสลากกินแบ่ง เฮนรี อาลาบาสเตอร์ ข้าราชการอังกฤษในราชสำนักไทย ผู้ถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจลุ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบันทึกไว้ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2417 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ฝ่ายทหารมหาดเล็กได้เชื้อเชิญบรรดาพ่อค้าฝรั่งให้นำสินค้าหรือข้าวของแปลก ๆ มาจัดแสดงนิทรรศการ “โรงมุเซียม” ระหว่างการขนส่งสินค้าเกิดแตกหักหลายชิ้น ทางฝ่ายผู้จัดงานนึกเห็นใจ จึงเปิดโอกาสให้พ่อค้าฝรั่งเหล่านั้นออกตั๋ว “ลอตเตอรี่” ตามแบบยุโรป เพื่อให้คนซื้อได้เสี่ยงโชครับเป็นของหรือเงินรางวัล นับจากนั้น ธรรมเนียมการออกสลากกินแบ่งก็ดำเนินเรื่อยมา ส่วนมากเป็นไปเพื่อระดมทุนให้สาธารณกุศล ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการออกสลากเสือป่าล้านบาท ราคาใบละหนึ่งบาทจำนวนล้านฉบับ (งวดหนึ่งโดนผู้ดูแลการออกสลากโกงรางวัลเสียเอง กลายเป็นข่าวเกรียวกราว)
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการออกลอตเตอรี่รัฐบาลสยามชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายลดเงินรัชชูปการ (เงินที่จ่ายเพื่อไม่ต้องเกณฑ์ทหาร) สลากกินแบ่งทำหน้าที่ระดมทุนได้ดี จนกระทั่งรัฐบาลเห็นชอบจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นใน พ.ศ. 2482 เพื่อระดมเงินจากการออกสลากเป็นรายได้รัฐบาลอีกทางหนึ่ง