สารพัดประโยชน์ของเห็ด อาหารซูเปอร์ฟู้ด
เห็ดพบได้ทุกที่ ตั้งแต่บนพื้นป่า ในสวน และใต้เท้าเรา แท้จริงแล้วสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือเห็ดนํ้าผึ้ง (Armillaria) ที่มีโครงข่ายโยงใยใต้ดินครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 9.6 ตารางกิโลเมตรในแถบเทือกเขาบลูของรัฐออริกอนกระนั้น เห็ดกลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และการศึกษาเห็ดทางการแพทย์ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เห็ดเคยถูกมองข้ามว่าเป็นอาหารให้พลังงานตํ่า และมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยทั้งที่ในความเป็นจริง เห็ดหลายชนิดอุดมไปด้วยธาตุอาหาร ตามข้อมูลของนักชีวเคมีและนักสมุนไพร มาร์ติน พาวล์ เห็ดหลายชนิดสร้างสารประกอบที่แสดงให้เห็นศักยภาพในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลการรักษาสำหรับผู้ป่วยจากโรค เช่น มะเร็ง และภาวะสมองเสื่อม
“เห็ดราลึกลับกว่าพืชทั่วไปมาก” โรเบิร์ต บีลมัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเห็ดและพืชอาหารเพื่อสุขภาพเพนน์สเตต กล่าว เขาเป็นหัวหน้าโครงการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ที่พบว่า สารต้านอนุมูลอิสระทั่วไปสองชนิดที่พบในเห็ดบางชนิด ได้แก่ เออร์โกไทโอนีนและกลูตาไทโอนมีศักยภาพในการช่วยป้องกันโรคที่มากับความชรา เช่น โรคหัวใจ และอัลไซเมอร์ส เป็นต้น เห็ดบางชนิดเป็นที่รู้จักจากคุณสมบัติที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ขณะที่เห็ดชนิดอื่น ๆ เช่นที่เห็นในภาพนี้ ไม่เพียงเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าพ่อครัว แต่ยังมีคุณค่าเชิงบำบัดอีกด้วย
เรื่อง แดเนียล สโตน
เห็ดหัวหมี (Hericium americanum)
งานวิจัยบางชิ้นเชื่อมโยงเห็ดชนิดนี้เช่นเดียวกับชนิดอื่น ๆ ในสกุล Hericium กับสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง
เห็ดไมตาเกะ (Grifola frondosa)
เห็ดที่ใช้ประกอบอาหารและทางการแพทย์เห็ดชนิดนี้อาจช่วยลดนํ้าตาลในเลือดและเสริมภูมิคุ้มกัน
เห็ดหลินจือ (Ganoderna lucidum)
เห็ดที่ได้ฉายาในประเทศจีนว่าเห็ดแห่งชีวิตอมตะนี้ ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ รักษาโรคภูมิแพ้และข้ออักเสบมาช้านาน
เห็ดยามาบูชิตาเกะหรือเห็ดปุยฝ้าย (Hericium erinaceus)
ด้วยสรรพคุณช่วยกระตุ้นการเติบโตของเซลล์ประสาทในสมอง เห็ดชนิดนี้อาจใช้เสริมการรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติโรคความเสื่อมของระบบประสาท
เห็ดเชสต์นัต (Pholiota adipose)
การบริโภคสารสกัดจากเห็ดเชสต์นัตอาจช่วยป้องกันการสะสมของไขมันในเลือด หรือคอเลสเตอรอลสูง
เห็ดนางรมทอง (Pleurotus citrinopileatus)
เช่นเดียวกับเห็ดนางรมชนิดอื่น ๆ ในสกุล Pleurotus เห็ดนางรมทองได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ
เห็ดนางรมดอย (Pleurotus ostreatus)
ผลการศึกษาหลายชิ้นแสดงว่า เห็ดในกลุ่มเห็ดนางรมมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลและเพิ่มระดับวิตามินซีและอี
เห็ดนางรมอินเดีย (Pleurotus pulmonarius)
เห็ดนางรมชนิดนี้เพาะง่าย อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และอาจช่วยบำบัดการอักเสบ
เห็ดโคนญี่ปุ่น (Agrocybe aegerita)
คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระในเห็ดชนิดนี้แสดงให้เห็นในหนูว่า ช่วยเพิ่มคอลลาเจนในผิวหนังและลดผลกระทบบางอย่างของความชรา
เห็ดหิ้งไซบีเรีย (Inonotus obliquus)
มักบริโภคในรูปชา เห็ดชนิดนี้ใช้บำบัดความผิดปกติของระบบย่อยอาหารและโรคสะเก็ดเงิน นวนิยาย เมื่อปี 1968 กล่าวอ้างให้เป็นสมุนไพรรักษามะเร็ง
อ่านเพิ่มเติม