บันทึกภาษาให้ทันก่อนสิ้นสูญ

บันทึกภาษาให้ทันก่อนสิ้นสูญ

บันทึกภาษาให้ทันก่อนสิ้นสูญ

ณ อาคารที่อยู่อาศัยระหว่างย่านบรูคลินและควีนส์ คือสถานที่ตั้งของ Gottscheer Hall ป้ายประกาศที่ติดอยู่ด้านหน้าเขียนเอาไว้ว่าสถานที่แห่งนี้รับจัดงานแต่งงานและอีเว้นต่างๆ ที่ด้านในประดับประดาด้วยภาพถ่ายของผู้ชนะการประกวด “Miss Gottschee” เมื่อหลายสิบปีก่อน “คุณต้องรู้ภาษาถึงจะชนะได้” Alfred Belay วัย 92 ปีกล่าว พลางชี้ไปที่ภาพของลูกสาวเขาที่ชนะการประกวดในทศวรรษ 1980 ทุกวันนี้ในการประกวดแต่ละปี ปรากฏว่ามีผู้เข้าแข่งขันเพียงคนเดียวเท่านั้น

Belay แวะเวียนมายัง Gottscheer Hall อย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่เขาเดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกาเมื่อ 60 ปีก่อน จากนั้นในละแวกนี้ก็เต็มไปด้วยผู้อพยพจากภูมิภาค Gottschee ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นที่ราบสูงของประเทศสโลวาเนีย พวกเขาพูดภาษาเยอรมันแบบชาว Gottschee หรือที่เรียกกันว่าภาษา Gottscheerisch ปัจจุบัน Belay เป็นหนึ่งในไม่กี่พันคนที่ยังคงพูดภาษานี้ได้ และในทุกเทศกาลคริสต์มาสเขาจะกล่าวอวยพรเป็นภาษาอายุ 600 ปีนี้ ที่มีเพียงไม่กี่คนที่เข้าใจความหมาย

Belay และน้องสาวของเขา Martha Huntter วัย 83 ปี อนุญาตให้ Daniel Bogre Udell วัย 26 ปี บันทึกวิดีโอขณะที่สองพี่น้องสนทนากันในภาษาดั้งเดิม และเมื่อ Bogre Udell ตั้งกล้องเสร็จ ทั้งคู่ก็พ่นภาษาลึกลับในกลุ่มเจอร์แมนิกที่แสนจะเข้าใจยากออกมาอย่างน้ำไหลไฟดับ

 

ความหลากหลายของภาษา

การได้ยินภาษาแปลกๆ หายากในย่านควีนส์ของมหานครนิวยอร์ก ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ Bogre Udell ตัวเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีชื่อว่า Wikitongues แค่ในรัศมีระยะ 10 ไมล์ของนครนิวยอร์ก ก็มีภาษาที่ผู้คนพูดกันมากถึง 800 ภาษาแล้ว แต่สัดส่วนนี้คิดเป็นเพียง 10% จากภาษาทั้งหมดทั่วโลกที่ประมาณกันว่ามีราว 7,099 ภาษา และภารกิจขององค์กรนี้คือการบันทึกภาษาที่มีทั้งหมดไว้ก่อนที่จะสิ้นสูญและหายไปตามกาลเวลา

Bogre Udell พูดได้สี่ภาษา เขาได้พบกับ Frederico Andrade ที่พูดได้ถึงห้าภาษา ในโรงเรียน Parsons เมื่อปี 2014 พวกเขาตัดสินใจเปิดตัวโปรเจคที่เกิดจากความทะเยอทะยานของทั้งคู่ในการรวบรวมภาษาทั่วโลกเอาไว้ ณ ตอนนี้พวกเขารวบรวมได้ 350 ภาษาแล้ว และในสิ้นปีนี้คาดว่าจะรวมได้ทั้งหมด 1,000 ภาษา ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถฟังตัวอย่างได้ผ่าน ช่องทางออนไลน์

“เมื่อมนุษย์สูญเสียภาษาใดภาษาหนึ่งไป นั่นหมายถึงการสูญเสียความหลากหลายในด้านศิลปะ, ดนตรี, วรรณกรรมและวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย” Bogre Udell กล่าว “มิเกล เดอ เซอร์วันเตสจะยังประพันธ์งานได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ใช้ภาษาสเปน? หรือบียอนเซ่จะร้องเพลงได้เหมือนเดิมไหมถ้าไม่ใช้ภาษาอังกฤษ?”

ในช่วงปี 1940 ถึง 2010 มีภาษาที่สูญหายหรือเรียกกันว่ากลายเป็นภาษาตายไปแล้วจำนวน 230 ภาษา ข้อมูลจาก UNESCO Atlas ทุกวันนี้หนึ่งในสามของภาษาทั้งหมดทั่วโลกมีผู้ใช้เหลือน้อยกว่าพันคน และทุกๆ สองสัปดาห์จะมีภาษาตายเกิดขึ้นเพิ่มอีกหนึ่งภาษา นั่นทำให้นักวิชาการคาดการณ์กันว่าในอีกศตวรรษหน้า ราว 50 – 90% ของภาษาในวันนี้จะหายไป

อย่างไรก็ตามในบางกรณีเจตจำนงทางการเมืองและการจดบันทึกอย่างละเอียดก็สามารถช่วยภาษาที่ตายแล้วให้กลับมาได้ เช่นภาษาฮีบรูที่เคยสูญหายไปในช่วงก่อนศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์กาลถึงทศวรรษที่ 1800 หรือภาษาคาตาลันที่กลับมานิยมอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1970 เพราะรัฐบาล หรือกรณีภาษาของชนเผ่าไมอามี ในรัฐโอคลาโฮมา ที่ผู้พูดคนสุดท้ายเสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 40 ปีก่อน แต่ภาษานี้สามารถกลับมาได้อีกครั้งในปี 2001 โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยไมอามี ในโอไฮโอที่ศึกษามันอีกครั้ง ทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตมีส่วนมากในการช่วยเชื่อมโยงผู้คนที่พูดภาษาหายากให้เข้าถึงคนอื่นๆ รวมไปถึงบรรดานักวิจัยและนักวิชาการ หรือแม้กระทั่งการแชทข้อความเองก็มีส่วนช่วยอนุรักษ์ภาษาไว้ แม้ว่าภาษานั้นๆ จะไม่มีรูปแบบการเขียนก็ตาม

ต่อให้ไม่มีบันทึกหรือไม่ทราบถิ่นที่ผู้คนใช้ภาษานั้นๆ แต่ Wikitongues สามารถรวบรวมภาษาที่ใกล้สูญสิ้นเหล่านี้ได้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากบรรดาอาสาสมัครทั่วโลกใน 40 ประเทศ ที่ช่วยบันทึกวิดีโอของเจ้าของภาษาตัวจริง ในบทสนทนาที่ให้ความแตกต่างของรูปประโยคอดีต ปัจจุบัน และอนาคต นอกจากนั้นพวกเขายังถูกขอให้เล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็ก หรือเรื่องราวโรแมนติก ถกเถียงถึงเป้าหมายชีวิตและความฝันอีกด้วย เพื่อให้ได้อารมณ์ของผู้สื่อสารออกมา

ยกตัวอย่างอาสาสมัครท่านหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศวานูอาตู บนหมู่เกาะทะเลใต้แปซิฟิกพบเข้ากับภาษาที่นักภาษาศาสตร์เองก็ไม่เคยศึกษามาก่อน อาสาสมัครอีกท่านหนึ่งตามรอยภาษาเก่าไปจนเจอลูกหลานของชาวไอนุ ชนพื้นเมืองในญี่ปุ่นที่แยกตัวอย่างโดดเดี่ยวมานาน นั่นทำให้ภาษาของพวกเขายังคงเอกลักษณ์และไม่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่น

ทว่าเป้าหมายของ Wikitongue ยิ่งใหญ่กว่าการแค่เก็บรวบรวมบันทึก พวกเขามีแผนที่จะเปิดให้ผู้คนทั่วไปที่สนใจได้เรียนรู้ภาษาใกล้สูญเหล่านี้ด้วย แม้ว่าบรรดาเจ้าของภาษาจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ด้วยแอพพลิเคชั่น Poly ที่เอื้อให้ผู้ใช้งานสร้างพจนานุกรมภาษาขึ้นมาทั้งในรูปแบบของตัวอักษร, เสียง และวิดีโอ

 

Recommend