เมื่อรักไร้พรมแดน
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อห้าร้อยปีก่อน การใช้ชีวิตคู่ของคนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมเหล่านี้ มีบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ การแต่งงานของหญิงไทยและหญิงมอญกับชาวตะวันตกเป็นไปไม่ได้เนื่องจากกฎหมายพระไอยการหลวงห้ามบิดามารดายกบุตรสาวของตนให้เป็นเมียฝรั่งหรือเข้ารีดนอกศาสนา มิฉะนั้นจะถูก “ฟันคอริบเรือน”
ห้าร้อยปีให้หลังจากการตรากฎหมายพระไอยการอาญาหลวง สังคมไทยเปิดกว้างกับการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนามากกว่ายุคโบราณอย่างเทียบกันไม่ได้ เมื่อพ้นไปจากการควบคุมความสัมพันธ์ของรัฐ การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมและศาสนา และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลจึงเป็นประเด็นสิ่งที่สองฝ่ายต้องเผชิญและเรียนรู้เพื่อประคับประคองชีวิตคู่ข้ามพรมแดนเอาไว้
ทลายปราการสองวัฒนธรรมอันเคร่งครัด
ภัทรพรรณ์ และศรีจาล รานา (ภาพบน)
“ครอบครัวเราเป็นคนจีนที่ค่อนข้างเคร่งครัด การแต่งงานกับลูกคนจีนก็เหมือนกับแต่งกับครอบครัวต้องมีการพบปะกินข้าวกับญาติพี่น้องในหลายโอกาส ซึ่งแรกๆ ก็สร้างความลำบากใจให้เขาอยู่พอสมควร” เป็นคำบอกเล่าของแพน หรือภัทรพรรณ์ เมื่อเราถามถึงอุปสรรคที่ทั้งคู่ต้องฟันฝ่ากว่าจะครองรักกันมายาวนานกว่าสิบปี ขณะที่รานา หรือ “ครูรานา” ที่แพนเรียกสามีซึ่งพบกันครั้งแรกในคลาสเรียนโยคะที่เขาสอนในฟิตเนสแห่งหนึ่งย่านอโศก มีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวเนปาลที่ยังยึดถือระบบวรรณะ
“ครอบครัวเรามาจากวรรณะสูง และที่ผ่านมาคนในครอบครัวก็ไม่เคยแต่งงานกับคนต่างชาติซึ่งถือเป็นคนนอกวรรณะ” แม้จะฟังดูเป็นอุปสรรคที่ยากจะข้าม แต่ก็คงเป็นอย่างที่หลายคนพูดว่า ความรักชนะทุกสิ่ง วันนี้ทั้งแพนและรานาไม่เพียงสมรสเป็นคู่สามีภรรยาที่น่ารัก แต่ยังสามารถเอาชนะหัวใจของคนในครอบครัวทั้งสองฝั่ง และบางทีสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นอุปสรรคของคู่รักต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างภาษา (ทั้งคู่ยังคงสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่) แพนและรานากลับมองว่า “ในแง่หนึ่งก็อาจเป็นอุปสรรค เช่น การสื่อสารกับคนในครอบครัวแพน แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ภาษากลับกลายเป็น ‘ตัวช่วย’ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเราราบรื่น เพราะการจะทะเลาะกันลึกๆ ด้วยภาษาอังกฤษ [ซึ่งไม่ใช่ภาษาแม่ของทั้งคู่] ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนทะเลาะกันด้วยภาษาของตัวเอง” แพนเล่าติดตลกพลางหันไปแซวอีกฝ่ายว่า “จริงไหมคะครู”
เมื่อความแตกต่างกลายเป็นเคมีที่ลงตัว
เบรนต์ ดี. สมิท และ อำนาจ รูจีพันธ์
“เราเจอกันครั้งแรกที่สวนลุมฯครับ ตอนนั้นผมกำลังปั่นจักรยาน ส่วนเขากำลังจ๊อกกิ่ง” เบรนต์ เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อเก้าปีก่อนตอนที่เขาพบกับนาจ – อำนาจ รูจีพันธ์ ตอนนั้นเบรนต์อยู่ในวัย 40 ส่วนนาจอายุ 29 เช่นเดียวกับคู่ชายรักชายจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่มีชีวิตค่อนข้างอิสระจากครอบครัว เบรนต์ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในเมืองไทยส่วนครอบครัวอยู่ในสหรัฐฯ นาจเองสูญเสียทั้งพ่อและแม่ “เรื่องการยอมรับของครอบครัวเลยไม่ใช่อุปสรรคสำหรับเราทั้งคู่ครับ”
ขณะที่คู่รักชายรักชายในไทยจำนวนมากเลือกใช้ชีวิตคู่แบบเงียบๆ แต่ทำไมวันหนึ่งเพื่อนฝูงจึงได้รับทราบข่าวว่า ทั้งคู่จะแต่งงานกัน “วันหนึ่งเมื่อสองปีก่อน เพื่อนถามผมว่า พักอยู่กับใคร ผมฟังแล้วเก็บมาคิดว่า ความสัมพันธ์ของเราดูเหมือนไม่ซีเรียส จะแยกทางกันเมื่อไหร่ก็ได้” นาจเล่า “เราไปจดทะเบียนสมรสกันแบบง่ายๆ ที่เมืองเล็กๆ ในชิคาโกบ้านเกิดผม” เบรนต์เล่า ก่อนจะกลับมาจัดงานเลี้ยงในเมืองไทยเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
“น่าแปลกครับที่หลังแต่งงานเรารู้สึกรักกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น สงสัยจะเป็นมนตร์วิเศษของการแต่งงานกระมังครับ” นาจพูดถึงความรู้สึกหลังแต่งงาน เมื่อเราถามถึงสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนยืนยาวมาเกือบสิบปีนอกจาก ความรัก “ผมเคยมีความสัมพันธ์ครั้งๆก่อน แต่ไม่เคยยืนยาว เพราะผมมองหาอีกคนที่เหมือนตัวเอง เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผมกลับได้คิดว่า คนอีกคนที่จะเติมเต็มส่วนที่เหลือของเราอาจไม่มีอยู่จริง ถ้าผมต้องการหลุดพ้นไปจากวงจรนี้ ผมต้องเลิกคิดเข้าข้างตัวเองครับ” เบรนต์พบเคมีที่ลงตัวนั้นแล้วในนาจ ผู้ชายที่เขาบอกว่า สงบ ใจดี ยิ้มแย้ม และผ่อนคลาย “ต่างจากผมครับที่เป็นคนใจร้อน ฉุนเฉียวง่าย”