สัมผัสงานที่ทำด้วยใจ สร้างอาชีพยั่งยืน คนในชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้าชลูด “ทุกรอยเย็บ เกิดจากรอยยิ้ม”

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจ สร้างอาชีพยั่งยืน คนในชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้าชลูด “ทุกรอยเย็บ เกิดจากรอยยิ้ม”

วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด จ.ระยอง คือ กลุ่มผู้หญิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านที่มีข้อจำกัดในการออกไปทำงานนอกบ้าน มารวมตัวกัน เพื่อใช้เวลาว่างและทักษะงานฝีมือมาสร้างอาชีพ เกิดเป็นความมหัศจรรย์ในชุมชน จากพลังของกลุ่มผู้หญิง ที่สามารถสร้างรายได้รวมแล้วถึงหลักล้านบาทได้

“ระยอง” เมืองที่หลายคนอาจคิดถึงภาพเมืองเศรษฐกิจ อุดมด้วยผลไม้นานาพรรณ และเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมที่โด่งดังอันดับต้น ๆ แต่นอกจาก ‘ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า’ เมืองระยองแห่งนี้ยังมีแง่มุมของคนในชุมชนที่รวมพลังกันก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อขับเคลื่อนชุมชนอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด วิสาหกิจบ้านรลิณ หรือวิสาหกิจส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา 

วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดระยองที่เราได้ไปพบมา 3 กลุ่มนี้ เป็นชุมชนต้นแบบของแคมเปญมหัศจรรย์ชุมชน (Amazing Community) หนึ่งในแคมเปญขับเคลื่อนความยั่งยืน ที่เกิดจากการรวมพลังของคนในชุมชนกับ SCGC เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณค่าให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

จุดเริ่มต้นจากสองมือ และหนึ่งฝีเข็ม สู่อาชีพชุมชน

กึก กึก กึก กึก … เสียงจักรเย็บผ้าที่ทำงานตามจังหวะ คือเสียงที่เราคาดว่าจะได้ยิน ยามไปถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้ามาบชลูด แต่เมื่อไปถึง สิ่งที่เราได้พบคือความสงบ ได้ยินเพียงเสียงกระดิ่งลม และบรรยากาศรอบตัว ไม่ใช่เสียงเครื่องจักรที่แข่งกันทำงาน เพราะที่นี่ ทุกคนไม่จำเป็นต้องมานั่งตัดเย็บร่วมกัน แต่สามารถทำงานอยู่ที่บ้านของตัวเองได้ 

วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด มีจุดเริ่มต้นจาก คุณประคอง เกิดมงคล หรือพี่โต ที่สูญเสียสามีและต้องกลับมาอยู่บ้าน โดยประกอบอาชีพตัดเย็บ แก้ไข เสื้อผ้าเป็นหลัก แต่ด้วยกำลังของสองมือและหนึ่งฝีเข็ม ที่ไม่สามารถรับงานได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ พี่โตจึงวางแผนเปลี่ยนรูปแบบ เกิดการรวบรวมกลุ่มช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชน ให้มีกำลังมากพอสำหรับรับงานใหญ่ ๆ

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด
พี่โต ประคอง เกิดมงคล ประธานกลุ่ม วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

“ในช่วงเริ่มต้นมันค่อนข้างยาก เดือนแรกเรามีกลุ่มอยู่ 3 คน รายได้ 800 บาท
แต่เราทำไปเรื่อย ๆ ทำไม่หยุด ให้คนเห็นว่า มันสร้างรายได้จริง จากนั้นมันกระเตื้องขึ้นเรื่อย ๆ
จากการขายได้ไม่กี่ชิ้น ก็มีออเดอร์เข้ามาเยอะขึ้น พอทำแล้วมีรายได้ คนก็เริ่มมองเห็น”

พี่โตเล่าให้เราฟังถึงการขยายของกลุ่ม สมาชิกที่เพิ่มขึ้นหลายคนเป็นกลุ่มแม่บ้านที่มีข้อจำกัด บางคนต้องอยู่บ้านดูแลลูก หรือดูแลคนป่วยในบ้าน ไม่สามารถออกไปทำงานข้างนอกได้ และไม่สามารถมาทำงานที่กลุ่มได้อย่างเต็มกำลัง การรับตัดเย็บเสื้อผ้าที่ใช้เวลามาก ต้องทำร่วมกันจึงยังไม่ใช่คำตอบ 

พี่โตได้แก้ปัญหาโดยการหาแนวทางสร้างรายได้แบบที่ใช้เวลาน้อย ทำที่บ้านได้ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่า จึงเป็นที่มาของ “กระเป๋าผ้าชลูด” สินค้าที่ใช้เวลาทำต่อชิ้นไม่มาก แม่บ้านใช้เวลาหลังส่งลูกไปโรงเรียน เวลาที่ว่างจากงานบ้าน มาตัดเย็บ 2–3 ชั่วโมงต่อวัน ก็สามารถหาค่ากับข้าวเข้าบ้านได้ โดยชื่อแบรนด์ Chalud ก็มาจากชื่อของชุมชนบ้านมาบชลูดนั่นเอง

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

กระเป๋าผ้าในร้านของพี่โต เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีหลากหลายรูปแบบและลวดลาย แต่ละใบตัดเย็บมาจากบ้านแต่ละหลัง หรือบางใบตัดเย็บที่วิสาหกิจที่มีเครื่องจักรให้ใช้ และมีสมาชิกคอยสอนให้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย แม้กระเป๋าแต่ละใบจะมีสีสัน ดีไซน์แตกต่างกัน แต่ทุกใบล้วนมีฝีเย็บเรียบร้อย สวยงาม รูปทรงและวัสดุ แข็งแรง ทนทาน เมื่อได้สัมผัสเองยังรู้สึกมหัศจรรย์ใจว่า แม้ร้านของพี่โตจะเป็นร้านเล็ก ๆ ติดถนนในชุมชน แต่คุณภาพสินค้านั้นสูงจนเทียบเท่าแบรนด์ในห้างสรรพสินค้าได้

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

สินค้าของที่นี่มีทั้งแบบขายหน้าร้าน ขายในงานอีเวนต์ต่าง ๆ และทำตามออเดอร์ โดยรายได้หลังการจำหน่ายกระเป๋าแต่ละใบจะมอบให้กับแม่บ้านผู้เย็บกระเป๋าใบนั้น ๆ หากตั้งใจเย็บ มีผลงานดี ก็มีโอกาสขายได้มากขึ้น นี่จึงเป็นจุดที่ทำให้กระเป๋าทุกใบมีคุณภาพและเต็มไปด้วยความใส่ใจตลอดระยะเวลา 7 ปีที่กลุ่มได้ก่อตั้ง จนเกิดเป็นยอดขายเดือนละ 30,000-40,000 บาท หรือบางเดือนขึ้นสูงสุดถึงหลักแสน

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

จากการต่อต้าน สู่การรวมพลัง เพื่อเศรษฐกิจชุมชน

หลังจากการรวมกลุ่มได้ราว 2 ปี พี่โตได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมผ้าต่อที่ไร่ภูทอง ทำให้ได้รู้จักกับทีมงานของบริษัท SCGC ทำให้ทราบว่า SCGC มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาชุมชนรอบข้างให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับความตั้งใจของกลุ่มพี่โต จึงเป็นจุดเริ่มที่ได้มาทำงานร่วมกัน โดยมีพี่เอ็กซ์ เศรษฐศักดิ์ จรกิจ CSR Project Manager จาก SCGC มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ

การทำงานเพื่อสังคมไม่ใช่เพียงนโยบายในการพัฒนาชุมชนรอบข้างที่เขียนไว้บนแผ่นกระดาษ แต่ในภาคปฏิบัติ ทีมทำงานจากแพสชัน ที่อยากส่งเสริมและผลักดันชุมชนที่คิดดี ทำดี มองประโยชน์ส่วนรวม พร้อมจะส่งต่อโอกาสและกระจายรายได้ให้กับคนอี่น ๆ ในชุมชน ให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง เติบโตขึ้น อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด
พี่เอ็กซ์ เศรษฐศักดิ์ จรกิจ CSR Project Manager จาก SCGC และ พี่โต ประคอง เกิดมงคล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด ให้สัมภาษณ์กับเราอย่างเป็นกันเอง

“ต้องบอกก่อนว่า คนท้องถิ่นเราอยู่กับธรรมชาติ พอมีกลุ่มโรงงานเข้ามาเราก็ยังมีอคติอยู่ เพราะเราคิดว่ากลุ่มโรงงานสร้างมลภาวะให้กับชุมชนเรา แต่พอ SCGC เข้ามา เราเห็นความจริงใจที่เขามีให้กับเรา ดูว่าเรามีปัญหาด้านไหน เขาเข้ามาดูแลทุกเรื่อง ทำให้เรามั่นใจว่าเขาไม่ได้มาหลอกเอาผลประโยชน์ เพราะมันมีนะ คนที่เข้ามาแล้วก็ไป”

พี่โตกล่าวกับเราถึงความรู้สึกต่อต้านที่มีในช่วงแรก หลังจากการเข้ามาของโรงงานใหญ่ แต่หลังจากที่ได้สัมผัสความจริงใจของทีม SCGC ที่มีให้อย่างไม่ห่างหาย เพราะไม่ใช่เพียงการมอบสิ่งของ อุปกรณ์ แต่สิ่งที่เราเห็น คือการอยู่เคียงข้างกับชุมชนเพื่อคอยให้คำปรึกษา เติมสิ่งที่ขาดเหลือให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเอง เข้ามาช่วยเสริมแรงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้มั่นคงขึ้นทั้งการเสริมความรู้การบริหารจัดการ การตลาดออฟไลน์และออนไลน์ในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนไม่ได้เกิดจากการคาดเดาแนวทาง แต่มาจากการพูดคุยว่าคนในกลุ่มต้องการอะไร ผลักดันจุดแข็งพัฒนาจุดอ่อน และนำไปต่อยอดสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดวิสาหกิจที่แข็งแรง สร้างอาชีพในท้องถิ่น สร้างความมั่นคง สร้างรายได้ให้คนในชุมชน

พี่เอ็กซ์เล่าว่า การทำงานกับชุมชนนั้นเหมือนการวางแผนธุรกิจ โดยเรามองเห็นถึงจุดแข็งของที่นี่คือกลุ่มมีความตั้งใจดี จัดสรรรายได้ลงตัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้กลุ่มแข็งแรงไปต่อได้ และจุดที่ต้องพัฒนาของกลุ่มนี้ คือการแบ่งหน้าที่ในกลุ่ม ด้วยความที่ทุกคนเป็นช่างฝีมือจึงทำให้กลุ่มยังขาดคนบริหาร คนทำการตลาด นอกจากนี้คือการพัฒนาวัสดุ รูปแบบ และดีไซน์ เพราะสินค้ากระเป๋าเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์จึงต้องดูเทรนด์แฟชั่น ควบคู่ไปกับฟังก์ชันการใช้งานด้วย 

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

พี่โตเองได้กล่าวถึงทีม SCGC กับเราว่า “เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมพลังทำให้กลุ่มเราแข็งแรง ยั่งยืนขึ้น เขาช่วยสร้าง ทั้งอบรมความรู้ที่เราไม่มี พาเราไปเรียนรู้สิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน อย่างเช่น ทำบัญชี ภาษี การตลาดออนไลน์ เอาความรู้เข้ามาให้ เท่าที่เราจะรับได้ เหมือนเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มเรา ตอนที่เราตัน เขาก็ช่วยหาทางไปให้ อย่างตอนที่ช่วยหาตลาดให้ เขาก็เข้ามาดูด้วยว่า เราขายได้ไหม ถ้าขายไม่ได้ เขาก็พาเราไปลองตลาดใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่จัดตลาดให้แล้ว ขายได้ไม่ได้ก็ไม่สนใจ”

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

“เราเอาสิ่งที่เราถนัดไปเสริมในสิ่งที่เขาไม่มี เอาส่วนที่เขามีมาช่วยในส่วนที่เราขาด เหมือนการต่อจิ๊กซอว์เข้าหากัน ต้องหามุมเข้าให้ถูก เราเข้าไปช่วยเขาในเรื่องการบริหาร แล้วเราก็ต้องยอมรับในฝีมือการเย็บผ้าของเขา ดันจุดแข็งที่เขามีให้แข็งแรงขึ้น เราไม่ได้ไปสอนเขา แต่เข้าไปช่วยเสริมกำลังในสิ่งที่เขาขาดอยู่”

พี่เอ็กซ์กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงใจ ในท่าทีที่ไม่จริงจังจนเกินไป ยังมีความขี้เล่น และอารมณ์ขันซ่อนอยู่ตลอดการสนทนา ทำให้เกิดเป็นบรรยากาศที่เป็นกันเอง จนทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเมื่อเรามาถึง คนในชุมชนถึงกล่าวทักทายทีมงาน SCGC อย่างสนิทสนม ราวกับเป็นญาติมิตร ดั่งเป็นสมาชิกคนนึงในกลุ่มได้มากเพียงนี้ รับหน้าที่ทุกตำแหน่ง ทั้งเป็นเทรนเนอร์ ที่ปรึกษา เซลส์ มาร์เก็ตติ้ง และสารพัดสิ่งที่คิดว่าชุมชนขาดเหลืออยู่

“ตอนที่เขาไม่ประสบความสำเร็จ เราเองก็เครียดนะ 

ก็มันเหมือนเป็นกลุ่มเรา งานของเรา”

ชุมชนอยู่รอดไม่พอ สิ่งแวดล้อมต้องอยู่อย่างยั่งยืนด้วย

หลังจากการร่วมมือกันของชุมชนและ SCGC รายได้ของกลุ่มเองก็เพิ่มขึ้น จนสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างจริงจัง สร้างอาชีพ สร้างงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำแนวคิด Low Carbon, Low Waste ซึ่งจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้มาปรับใช้ นำมาสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ ๆ ด้วยวัสดุที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสร้างเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนขึ้น เช่น การนำเศษผ้าเหลือใช้ มาตัดเย็บเป็นกระเป๋าผ้าต่อ ที่ช่วยลดปริมาณขยะ เปลี่ยนผ้าเหลือใช้ให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่า 

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด
กระเป๋าผ้าต่อจาก วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

นอกจากนี้ยังมีกระเป๋าที่ใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นจากการร่วมมือกันระหว่างวิสาหกิจจังหวัดระยองอื่น ๆ ในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ SCGC ดูแลอยู่ก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ จากวิสาหกิจชุมชนแตนบาติก อ.บ้านฉาง จ.ระยอง หรือผ้าทอใยสับปะรด จากใบสับปะรดเหลือทิ้ง ของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ที่ส่งต่อผืนผ้ามาตัดเย็บที่วิสาหกิจชุมชนมาบชลูด

ตัวอย่างกระเป๋าผ้ามัดย้อม จากวิสาหกิจชุมชนแตนบาติก อ.บ้านฉาง จ. ระยอง
ตัวอย่างกระเป๋าผ้าใยสับปะรด วิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี อ.ปลวกแดง จ.ระยอง

ผ้าจากวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ต่างมีจุดเด่น และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับ SCGC มาก่อนหน้า จากการพูดคุยกับ พี่แตน ไพลิน โด่งดัง และ พี่รักษ์ จงรักษ์ โด่งดัง ประธานวิสาหกิจชุมชนแตนบาติก อ.บ้านฉาง ทำให้ได้พบกับความมหัศจรรย์ของผืนผ้าที่ล้วนรังสรรค์ขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นระยองอย่างมีเอกลักษณ์ 

พี่แตน ไพลิน โด่งดัง ประธานวิสาหกิจชุมชนแตนบาติก อ.บ้านฉาง
พี่รักษ์ จงรักษ์ โด่งดัง ประธานวิสาหกิจชุมชนแตนบาติก อ.บ้านฉาง ยิ้มกับเราอย่างภาคภูมิใจ เมื่อพูดถึงแฟชั่นผ้ามัดย้อมจากเปลือกเนื้อมังคุด ที่ได้ออกมาเป็นเสื้อผ้าสีเอิร์ทโทน สุดเท่

ไม่ว่าจะเป็น ผ้าย้อมครามทะเล ที่ใช้น้ำทะเล ทดแทนการใช้น้ำเกลือในขั้นตอนการย้อม ทำให้สีติดคงทน และเป็นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นของจังหวัดชายทะเลอีกด้วย ผ้าย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกมังคุด ผลไม้ท้องถิ่นระยอง ที่เคยถูกทิ้งให้เป็นขยะเศษอาหาร พี่แตนได้นำมาเป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้าที่ไม่มีน้ำทิ้งจากสารเคมี ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน 

“ลายหงส์เหิน” ซึ่งเป็นลายหน้าบันพระอุโบสถ ของวัดลุ่มมหาชัยชุมพล จ.ระยอง

นอกจากนี้ยังมีจุดขายอย่าง “ลายหงส์เหิน” ซึ่งเป็นลายหน้าบันพระอุโบสถ ของวัดลุ่มมหาชัยชุมพล จ.ระยอง โดยความร่วมมือกับหน่วยงานวัฒนธรรมจังหวัดระยอง นำมาทำเป็นลายบนผ้า ด้วยเทคนิคการสกรีน เพื่อใช้ตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของวิสาหกิจชุมชนแตนบาติก อ.บ้านฉาง หาที่อื่นไม่ได้ และเป็นที่ต้องการจนขาดตลาด (จนเราเองก็ยังไม่เห็นเช่นเดียวกัน)

ผอ.แดง พัทธกานต์ วัฒนสหโยธิน ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี อ.ปลวกแดง

ในส่วนขอวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี อ.ปลวกแดง ผอ.แดง พัทธกานต์ วัฒนสหโยธิน (ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจฯ) ได้เล่าให้เราฟังถึงความมหัศจรรย์ของ “ผ้าใยลักกะตา” หรือออกเสียงในภาษาท้องถิ่นว่า ลั่ก-กะ-ต๊า ที่มีความหมายว่า สับปะรด ผลไม้ท้องถิ่น จ.ระยอง ซึ่งที่นี่เป็นถิ่นกำเนิดผ้าใยสับปะรดที่ไม่เหมือนใคร โดดเด่นกว่าผ้าอื่น ๆ ในเรื่องของความแข็งแรง คงทน จากความเหนียวของใยสับปะรด แต่ยังคงความนุ่มไว้ในเนื้อผ้า 

เคล็ดลับความนุ่ม ที่เปลี่ยนใยลักกะตาจากกระด้างให้นุ่มผิวของที่นี่ คือการตำและดีดเส้นใยสับปะรดผสมเข้ากับฝ้าย ในอัตราส่วนที่ผ่านการศึกษาร่วมกับ SCGC มาแล้วว่าเหมาะกับการใช้ผลิตเป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าหรือของใช้ต่าง ๆ 

ใบสับปะรดที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว

นอกจากที่นี่จะรักษาไว้ซึ่งองค์ความรู้ศิลปะผ้าทอแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโดยใช้วัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวในภาคการเกษตรอย่าง ‘ใบสับปะรด’ มาผสานเข้ากับเอกลักษณ์ลวดลายผ้าท้องถิ่นระยอง ที่เรียกว่า ลายตาสมุก ทั้งหมดนี้ยิ่งเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน พร้อมสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน ส่งต่องานฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น และดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยผ้าทอใยสับปะรดผืนเดียว

โดยทั้งพี่แตน และผอ.แดง ต่างมีผลงานเป็นผืนผ้าที่มีค่า และได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายส่งมาตัดเย็บกับพี่โต มาบชลูด โดยมี SCGC ที่เป็นเหมือนตัวกลางเชื่อมต่อจิ๊กซอว์แต่ละชิ้น เข้าหากันในมุมที่ถูกต้อง เป็นภาพชุมชนใหญ่ที่สวยงาม แข็งแรง รวมกันได้อย่างมั่นคงขึ้น มีพลังที่จะดูแลกันเองในพื้นที่ ส่งต่อไปเกื้อกูลกันในจังหวัด ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

เมื่อมีอาชีพ มีรายได้ยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งได้ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน ก็นำมาซึ่งรอยยิ้มและความสุขที่มากขึ้น พี่โตเล่าพร้อมอมยิ้มกับพวกเราว่า ที่มาของสโลแกน “ทุกรอยเย็บ เกิดจากรอยยิ้ม” คือการที่แม่ ๆ พี่น้องในกลุ่ม ทำงานตัดเย็บไป ก็ชูงานของตัวเองขึ้นมาชมไประหว่างทำด้วย มองไปก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ชื่นชมความสวยงามของผลงานที่ตัดเย็บมากับมืออย่างสุขใจในแต่ละวัน 

สิ่งที่เราเห็นจึงมากกว่าแค่กระเป๋า แต่เป็นคุณค่าที่ผู้ตัดเย็บสร้างให้ตนเองด้วย มากไปกว่านั้น ชิ้นงานที่ได้ยังเต็มไปด้วยความใส่ใจ ความประณีตที่อยู่ในทุกฝีเข็ม ส่งต่อชิ้นงานแห่งความสุขใจให้กับผู้รับ

มหัศจรรย์ เพราะใจสู้ แม้มีข้อจำกัดมากมาย

ความมหัศจรรย์ที่เราได้เห็นเมื่อสัมผัสกับชุมชนกลุ่มนี้ คือ ความใจสู้ จนสามารถอยู่รอด แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย บางคนต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ต้องดูแลผู้สูงอายุ ต้องดูแลบ้าน จึงออกไปทำงานทั้งวันไม่ได้ 

“จริง ๆ เขาอาจมีวิธีการอื่นที่จะเรียกร้องให้มาช่วยเหลือได้ แต่พวกเขาไม่ทำ เขาอาศัยตัวเอง พึ่งพาตัวเอง พัฒนามาเรื่อย ๆ จากรายได้ไม่กี่ร้อย บางเดือนกลายเป็นหลักหมื่น ขึ้นไปเป็นหลักแสนได้ มันทำอย่างนี้ได้ คนมันสู้จนอยู่รอดได้”

เมื่อโครงการวิสาหกิจชุมชนของ SCGC ได้นำองค์ความรู้ที่คนในกลุ่มและทีม SCGC มีต่างกัน มาผสานรวมกันแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงยิ่งใหญ่กว่าแค่ความเป็นอยู่ที่ดี แต่รวมไปถึง “ความมหัศจรรย์ของชุมชน” ได้ตามดั่งชื่อ โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งวิสาหกิจในปี 2561 จนปัจจุบัน มีรายได้รวมแล้วกว่า 3.6 ล้านบาท จากฝีมือของสมาชิกกว่า 20 คน

ความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้ สร้างจากคนธรรมดา ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นพิเศษ พี่โตย้ำปิดท้ายว่า “พี่โตทำได้ ทุกคนก็ทำได้” พี่โตหวังอยากจะเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อให้พื้นที่ตรงนี้อยู่ต่อไปในอนาคต คอยช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ ต่อไป

 ใครที่สนใจอยากเรียนรู้การตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากผ้า หรือกำลังหาอาชีพที่ตอบโจทย์ข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต พี่โตก็เปิดบ้านต้อนรับ พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนที่สนใจสร้างอาชีพแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายอยู่เสมอ ที่หน้าร้านป้าประคอง หรือ วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด รอให้ทุกคนแวะมาสัมผัส 

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

สัมผัสงานที่ทำด้วยใจอาชีพยั่งยืนชุมชนอยู่รอด วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งของ วิสาหกิจกระเป๋าผ้ามาบชลูด ที่เราได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์ และอยากถ่ายทอดให้ทุกคนได้เห็น สำหรับเรื่องราวมหัศจรรย์ของชุมชนต่อไป จะพาไปชมวิถีชีวิตแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มต้นจากความรักใน วิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ ที่อยู่ด้วยความคิดที่ว่า ‘โลกต้องดีให้ได้’ จะเป็นอย่างไรต้องมาติดตามกัน

ติดตามความหัศจรรย์ของชุมชนต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/SCGCOfficial/ หรือเว็บไซต์ www.scgchemicals.com 

ชมสินค้า และสอบถามรายละเอียดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้า ชุมชนมาบชลูด ได้ที่ https://www.facebook.com/chaludbag หรือโทร 081-649-1089 (พี่โต)

Recommend