ชวน อ. สฤณี อาชวานันทกุล คุยเรื่อง ความยุติธรรม , วิชา ‘การให้เหตุผลเชิงศีลธรรม’ ผ่านเหตุการณ์ชีวิตจริง

ชวน อ. สฤณี อาชวานันทกุล คุยเรื่อง ความยุติธรรม , วิชา ‘การให้เหตุผลเชิงศีลธรรม’ ผ่านเหตุการณ์ชีวิตจริง

คุยกับ อ. สฤณี อาชวานันทกุล ในยุคที่การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่หลักสูตรภาคบังคับ วิชา Justice ความยุติธรรม โดย ไมเคิล เจ. แซนเดล กลายมาเป็นวิชาถูกสอนในโรงเรียนมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

เพราะการศึกษาในศตวรรษใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหลักสูตรตามกระบวนการเรียนรู้ในขนบเดิมอีกต่อไป หลายโรงเรียนออกค้นหาวิชาที่เอื้อให้เด็กมีทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นและสาธารณะอย่างมีคุณภาพ Justice กลายมาเป็นหนึ่งในวิชาสำคัญที่กลายมาเป็นแกนหลักในการส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิตให้กับนักเรียนชั้นมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง หรือใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา

JUSTICE : What’s the Right Thing to Do? หรือ ‘ความยุติธรรม’ หนังสือชื่อตรงไปตรงมา ถูกแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกในปี 2554 และพิมพ์ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 จนถึงปัจจุบัน จากความตั้งใจของ สฤณี อาชวานันทกุล ผู้แปลและลูกศิษย์ของอาจารย์ไมเคิล เจ. แซนเดล ผู้เขียน ที่ต้องการชวนผู้อ่านตั้งคำถามกับสังคมผ่านประเด็นเรื่องราวร่วมสมัยด้วยแว่นตาของทฤษฎีปรัชญาแบบย่อยง่ายและอ่านสนุก

สังคมที่ความกล้าตั้งคำถามเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนให้ผู้คนก้าวออกมาส่งเสียง การคิดเชิงวิเคราะห์และความรู้นอกห้องเรียนคือสิ่งที่ผู้คนโหยหา หนังสือคือแหล่งข้อมูลที่เป็นกลางสำหรับทุกคน ทั้งหมดนี้ประกอบสร้างให้ Justice ไม่เพียงแต่เป็นหนังสือที่มีชื่อเสียง แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างสังคมและอารยชน

ความยุติธรรม

เราอยู่ในเทศกาลหนังสือกับนักอ่านที่แวะเวียนเข้ามาพบปะกับคุณสฤณี ขอลายเซ็น และแลกเปลี่ยนทรรศนะ เช่นเดียวกันกับที่เราชวนเธอนั่งคุยเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้

จากประสบการณ์ในห้องเรียน สู่วิชา ‘ความยุติธรรม’ ที่เป็นของทุกคน

สมัยเรียนปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วิชา Justice ของ ไมเคิล เจ. แซนเดล เป็นหนึ่งในวิชาเลือกยอดนิยมของมหาวิทยาลัยในหมวดวิชา Moral Reasoning หรือการให้เหตุผลเชิงศีลธรรม และมีนักศึกษาเข้าเรียนร่วมพันคน จนต้องใช้หอประชุมใหญ่เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน

“จากประสบการณ์ส่วนตัว อาจารย์แซนเดลเป็นอาจารย์ที่สอนหนังสือเก่งที่สุดเท่าที่เคยเรียนด้วย” คุณสฤณีเริ่มต้นเล่า “ความเก่งในที่นี้คือ อาจารย์สามารถสะกดให้นักศึกษาอยู่กับการเรียนได้ สำหรับห้องเรียนใหญ่ขนาดนั้น เราก็จะคิดว่าการเรียนการสอนทำได้ยาก แต่กับอาจารย์แซนเดลที่ใช้การสอนแบบ Socratic Method หรือใช้การถามตอบเป็นหลัก กลับสามารถโยนคำถามให้คนเป็นพันคนตอบคำถาม คำตอบนั้นย้อนกลับไปเป็นคำถามให้อีกคน เหมือนกับการดำเนินรายการโต้วาที และมันก็เป็นวิธีการสอนที่ค่อนข้างได้ผลด้วย”

คำถามที่อาจารย์แซนเดลโยนให้กับห้องเรียนเป็นประเด็นร่วมสมัยทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ‘วันก่อนมีพายุเฮอริเคนพัด แล้วพ่อค้าขึ้นราคาร่ม คุณคิดว่ามันถูกต้องไหม?’ การถกเถียงจากทรรศนะที่แตกต่างกันเริ่มต้นขึ้น แล้วความคิดเหล่านั้นสนับสนุนด้วยสำนักคิดทางปรัชญาแบบใด นี่ทำให้คำว่าปรัชญาไม่ได้ยากหรือใหญ่อย่างที่คิด หากแต่เส้นทางสู่การสร้างทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ให้กับผู้เรียน

“โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนกับรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียน คือเริ่มต้นด้วยประเด็นร่วมสมัยทั้งหมด อย่างในหนังสือก็จะมีเรื่องการทำแท้ง การเกณฑ์ทหาร หรือการอุ้มบุญ ค่อยมองทีละประเด็น แล้วแนะนำสำนักคิดทางปรัชญาที่เกี่ยวข้อง โดยใช้การอธิบายว่าแต่ละสำนักมองในเรื่องนี้แบบไหนบ้าง ซึ่งไม่ได้เป็นการชี้นำคนอ่านว่าเราต้องคิดอย่างไร”

ความยุติธรรม

“หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์ตรงที่ว่า เป็นการสรุปแก่นของสำคัญของสำนักปรัชญาตะวันตกหลักค่อนข้างครบถ้วนและรอบด้าน เมื่ออ่านจนจบเล่ม นักอ่านจะเห็นชัดเจนว่า ความยุติธรรมมันไม่ได้มีนิยามอย่างเดียว มันเป็นไปได้ที่เราจะสามารถมองคุณค่าที่ไม่เหมือนกัน มันไม่ได้แปลว่าสำนักไหนดีกว่าใคร ทำให้เป็นหนังสือที่เหมาะกับการเรียนการสอน และเป็นตำราในโรงเรียน”

ช่วงเวลาที่สังคมไทยครุ่นคิดและตั้งคำถามถึงสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะกับกระบวนการยุติธรรมเช่นในปัจจุบัน บวกกับการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิมอย่างที่ทุกคนคุ้นเคยกับการจำข้อเท็จจริงไปสอบ คุณสฤณีบอกว่า “แต่ว่าในความเป็นจริง ความยุติธรรม หรือวิชาปรัชญาโดยรวม มันไม่ได้เป็นวิชาที่จะให้คำตอบ แต่เป็นวิชาที่สอนการตั้งคำถามกับเรื่องราวต่างๆ รอบตัว”

หนังสือที่เป็นแบบเรียนตลอดชีวิตของทุกคน

คุณสฤณีชวนเราถอยออกจากคำว่า ‘ปรัชญา’ ที่ดูจะเป็นคำยิ่งใหญ่ มาสู่คำถามที่ว่า ‘ทักษะอะไรที่นักเรียนควรจะมี?’ หากคำตอบคือ ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ หรือ Critical Thinking แล้วทักษะนี้จะถูกพัฒนาได้อย่างไร?

“อยู่ดีๆ เราจะพัฒนาเองได้ไหม มันก็อาจจะได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้ง่าย คือถ้าเราจะพัฒนาทักษะนี้ เราจะต้องอ่านเยอะๆ แล้วก็ตั้งคำถามเยอะๆ กับสิ่งที่เราอ่าน โดยเฉพาะกับเรื่องเดียวกันที่มีหลายเวอร์ชั่น ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นในอินเตอร์เน็ท ซึ่งวิชาปรัชญาก็เป็นวิชาที่สอนทักษะนี้แหละ ปรัชญามันไม่ได้หลุดลอยจากชีวิตจริง หมายความว่า ปรัชญามันอยู่ในทุกเรื่อง อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นมันอย่างไร และอาจารย์แซนเดลก็เป็นนักปรัชญาสมัยใหม่ที่ทำให้วิชาปรัชญาในแง่นี้”

“ดังนั้น ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการให้เหตุผลเชิงศีลธรรม หรือการรับฟังความคิดเห็นของผู้คนในความเชื่อหรือชุดคุณค่าที่แตกต่าง เราก็อาจจะทะเลาะกันโดยไม่จำเป็นก็ได้ บางทีเราทะเลาะกัน เราอาจจะไม่ได้ขัดแย้งกันจริงๆ อาจเป็นเพียงเรื่องชุดความคิดอยู่คนละระนาบหรือมองคนละแบบ”

เราถามต่อถึงความสำคัญของการเรียนวิชาสายปรัชญา หรือการพัฒนาชุดทักษะความคิดเหล่านี้ “วิชานี้ฝึกให้เราคิดแบบมีระบบจริงๆ และฝึกให้เราตั้งคำถามกับทุกอย่างในทางที่มันมีกรอบ หลายครั้งที่คนเราอาจจะไม่ได้มีเวลามานั่งอยู่กับตัวเอง กลับมาทบทวนความนึกคิดของเราว่าเป็นความคิดของเราจริงไหม หรือจำจากที่ไหนมาตอบ การเรียนรู้เรื่องทักษะการคิด จึงเป็นประโยชน์อยู่แล้วในเรื่องของการพัฒนาตัวเอง”

เมื่อคุณค่าในเชิงปัจเจกเริ่มผลิบานในตัวผู้คนแล้ว ย่อมส่งผลต่อมวลรวมของสังคมในเรื่องการยอมรับความเห็นต่าง หรือ Tolerance “การคิดเชิงวิเคราะห์เปิดโอกาสและเปิดโลกทัศน์ให้เห็นว่า มันไม่ได้มีทางเดียวที่เราจะคิดถึงความยุติธรรม ไม่ได้มีความหมายเดียว ไม่ได้มีชุดคุณค่าที่ถูกต้องที่สุดหรือสำเร็จรูป”

“ดังนั้นโดยปริยาย มันก็แปลว่าเราก็จะยอมรับคนอื่นๆ ที่เห็นไม่ตรงกับเรามากขึ้น เปิดใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ถ้าเราเจอคนที่คิดอีกแบบ เราก็จะไม่ได้คิดแบบอัตโนมัติว่าเขาไม่รู้เรื่อง หรือตัดสินว่าเขาโง่ แต่เราก็จะอยากฟังเขามากขึ้นว่าเขาคิดอะไรและคิดอย่างไร เช่นเดียวกับกับอาจารย์แซนเดลที่เชื่อมั่นในเรื่องของการให้เหตุผลสาธารณะ เชื่อว่าสังคมจะมีความสงบสุข ก็ต่อเมื่อคนมีภราดรภาพ ความกลมเกลียว ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน สะท้อนผ่านการรับฟังความเห็นคนอื่น วิธีการจูงใจให้คนเข้ามามีส่วนร่วม และเชื่อในการเปิดกว้างทางความคิด”

รากฐานของประชาธิปไตยคือการประนีประนอม และหาจุดร่วมหรือฉันทามติในความคิดที่แตกต่างหลากหลาย ทักษะการวิเคราะห์เชิงศีลธรรมจึงเป็นเรื่องของการเปิดมุมมองทางความคิด การหาจุดร่วมสาธารณะ การใช้สิทธิพลเมือง และการใช้ความตื่นตัวของพลเมืองในการผลักดันประโยชน์สาธารณะ “อาจารย์แซนเดลเชื่อในคุณธรรมของพลเมือง หรือ Civic Virtue”

อุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้วยสื่อการเรียนที่สร้างทักษะชีวิต

ด้วยศักยภาพของทรัพยากรและวิธีการเรียนการสอนที่ต้องการการถกเถียงกันด้วยเหตุผล ทำให้วิชา Justice ยังคงกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนหรือชั้นเรียนมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้น นั่นก็เพราะเป็นการเรียนที่ต้องอาศัยการหารือแบบรายบุคคล และต้องเป็นกลุ่มขนาดจำกัดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการสอน

“เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ หลายคนที่เข้ามาบอกว่าเป็นแฟนหนังสือเล่มนี้ เขาพูดว่ารู้จักอาจารย์แซนเดลไม่ใช่จากหนังสือ แต่จากยูทูบหรือเท็ดทอล์ก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า มีหลายคนที่เริ่มต้นจากความสนใจ ขวนขวาย ก็สามารถเข้าถึงบทสนทนาของอาจารย์แซนเดลได้ หลายคนก็มาเล่าให้ฟังว่าอ่านหนังสือไม่จบหรอกนะ แต่เขาไปนั่งดูยูทูบของอาจารย์ที่มีครบแล้วทุกตอน ก็คิดว่าเป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดช่องว่างเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ส่วนหนึ่ง”

“ประเด็นคือคุณก็สามารถก้าวข้าม หรือลดอุปสรรคเหล่านี้ได้ เช่นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอน เห็นคุณค่าในเรื่องนี้แล้วมองว่าควรเป็นสาธารณะ ก็สามารถอัปโหลดการสอนขึ้นยูทูบได้เหมือนที่อาจารย์แซนเดลทำ แล้วปล่อยให้เป็นสมบัติสาธารณะ หรือ Public Domain นี่ก็เป็นอีกส่วนที่สามารถใช้เทคโนโลยีในการลดช่องว่างได้”

เพราะเป็นหนังสือที่มีความยากระดับหนึ่งในการทำความเข้าใจ แต่แน่นอนว่า เนื้อหาภายในหนังสือจะทำให้ผู้ที่ได้อ่านจนจบสามารถเปิดมุมมองหรือวิธีคิดแบบอื่นๆ ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน “ฟังก์ชั่นนึงของหนังสือที่ดี คือมันทำให้เรามองโลกในมุมที่ไม่เหมือนเดิม” อาจารย์สฤณีทิ้งท้าย

“เราอาจจะมองเห็นว่า วิธีคิดที่เราเคยคิดว่าถูก มันอาจจะไม่ใช่วิธีคิดแค่แบบเดียว แบบอื่นก็ถูกเหมือนกัน แล้วก็คิดว่าถ้าคนเราได้เปิดความคิดแบบนี้ ก็น่าจะทำให้เป็นคนที่ดีขึ้น เพราะว่าเราก็จะตั้งใจฟังคนอื่นมากขึ้น”

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ หทัยรัตน์ ดีนวลพะเนาว์


อ่านเพิ่มเติม AGRINOVATOR KMITL เกษตรนวัตกรรม สู่ความมั่นคงทางอาหารของเมืองไทย

Recommend