ถ้าเพดานห้อง “สูง” คะแนนสอบจะ “ต่ำ” แม้เหลือเชื่อ แต่เกี่ยวข้องกัน

ถ้าเพดานห้อง “สูง” คะแนนสอบจะ “ต่ำ” แม้เหลือเชื่อ แต่เกี่ยวข้องกัน

เพดานห้องที่สูงเชื่อมโยงกับผลการสอบที่ย่ำแย่ของนักศึกษา งานวิจัยใหม่ทางจิตวิทยาเผยความสัมพันธ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน มันอาจฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ความสูงของเพดานมีผลกระทบต่อความสามารถ สมาธิ และกระบวนการคิดของเรา

นักศึกษาหลายคนคงเคยผ่านการสอบในห้องขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าสอบจำนวนมาก มันเป็นห้องกว้างที่เก้าอี้วางเรียงอยู่เต็มเพื่อรองรับคนที่มาสอบจากหลากหลายคณะ หลายภาควิชา และห้องเหล่านี้ก็ถูกใช้เพื่อสอบอยู่บ่อยครั้ง

ทว่า มันกลับมีสิ่งหนึ่งที่นักศึกษาอาจไม่ได้สังเกต แต่กลับส่งผลกระทบต่อการทำข้อสอบของเรา นั่นคือ เพดานที่สูง ทำให้สมองของเราไม่อาจทำข้อสอบที่อยู่ตรงหน้าได้เต็มที่

งานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย และมหาวิทยาเดคินซึ่งเผยแพร่ไว้ในวารสาร ‘Journal of Environmental Psychology’ ได้ระบุเอาไว้ว่า ห้องขนาดใหญ่ เปิดโล่ง และมีเพดานสูง ทำให้นักเรียนนักศึกษาผู้เข้าสอบโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ยากขึ้น

“เราอยากจะนำเสนอสิ่งที่ค้นพบจากห้องปฏิบัติการของเราไปใช้กับชุดข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริง และการอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่เช่น โรงยิม ในขณะที่ต้องมุ่งความสนใจไปยังงานที่สำคัญนั้น จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเราแย่ลงหรือไม่?” ดร. อิซาเบลลา โบเวอร์ นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย กล่าว

ดร. โบเวอร์และทีมงานของเธอ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 15,400 คนที่กำลังเรียนอยู่ในระหว่างปี 2011 ถึง 2019 ในวิทยาเขต 3 แห่งของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย โดยมุ่งเน้นไปที่ผลการสอบของนักศึกษากลุ่มตัวอย่างและความสูงของเพดานห้องที่พวกเขาเข้าสอบ

ซึ่งมีตั้งแต่ความสูงระหว่าง 2.79 เมตรถึง 9.50 เมตร และมีพื้นที่ภายในระหว่าง 38 ตร.ม. ถึง 1,562 ตร.ม. จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์โดยตัดตัวแปรอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องอย่าง เพศ อายุ ประสบการสอบที่ผ่านมา หน่วยการเรียน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อม ด้วยวิธีทางสถิติที่เรียกว่า ‘โมเดลเชิงเส้นแบบผสม’ (linear mixed model)

สิ่งที่พวกเขาพบนั้นเป็นไปตามสมมติฐาน นักศึกษาที่สอบในห้องที่มีเพดานสูง มีแนวโน้มจะทำคะแนนสอบได้ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับห้องที่มีเพดานสูง ‘ตามมาตราฐาน’ อย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็อีกหนึ่งปัจจัยว่า คะแนนของหลักสูตรที่เรียนก่อนหน้าก็เป็นตัวแปรสำคัญในการทำนายคะแนนสอบได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก

“คะแนนการเรียนในหลักสูตรก่อนหน้าของนักศึกษามีผลกระทบต่อคะแนนสอบมากขึ้น แต่เราก็ยังค้นพบว่าความสูงของเพดานเป็นตัวทำนายผลลัพธ์ที่สำคัญ กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้จะคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ แล้ว ความสูงของเพดานที่สูงขึ้นก็ยังเป็นตัวทำนายคะแนนสอบของนักศึกษาที่มีนัยสำคัญ” ดร. โบเวอร์ กล่าว

“สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่านิสัยการเรียนก็มีความสำคัญ แต่ขนาดของห้องที่คุณเข้าสอบก็เช่นกัน” เธอกล่าวเสริม

ผลลัพธ์ของงานวิจัยได้สนับสนุนการศึกษาก่อนหน้าที่เป็นของดร. โบเวอร์ ด้วยเช่นกัน ซึ่งได้ทำการตรวจสอบสัญญาณในสมองที่เรียกว่า EEG (Electroencephalography) ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อต้องทำงานที่ต้องใช้การโฟกัสมากเป็นพิเศษในห้องขนาดใหญ่โดยใช้เครื่องความเป็นจริงเสมือน (VR) และได้ผลลัพธ์ว่าห้องขนาดใหญ่ทำให้สมองของผู้เข้าร่วมการทดลองโฟกัสได้น้อยลง

แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น นักวิจัยได้ให้ตั้งข้อสังเกตไว้บางประการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำข้อสอบ เช่น บรรยากาศในห้องและอุณหภูมิ เนื่องจากห้องขนาดใหญ่เช่นโรงยิมนั้นออกแบบมาเพื่อทำ ‘กิจกรรมอื่น ๆ’ โดยเฉพาะอย่างการแข่งกีฬา ทำให้การไหลเวียนของอากาศ ความชื้น หรืออุณหภูมิไม่ได้เหมาะสมกับการทำข้อสอบ

ขณะเดียวกันห้องขนาดใหญ่เหล่านั้นก็สร้างบรรยากาศที่อาจทำให้ผู้เข้าสอบหวนนึกถึงกิจกรรมที่พวกเขาเคยทำภายในห้องนี้หรือห้องอื่นที่คล้ายกัน ซึ่งอาจดึงความสนใจจากข้อสอบที่อยู่ตรงหน้าไปยังจุดอื่นมากกว่า ทำให้นักศึกษาบางคนไม่มีสมาธิในการสอบ

ตัวแปรทั้งหมดนี้นักวิจัยได้เน้นย้ำว่าต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม และทำซ้ำในกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาภาตวิชาอื่น ๆ เพื่อยืนยันผลการทดลอง ทั้งนี้การค้นพบดังกล่าวได้ให้เบาะแสบางอย่างว่า สภาพแวดล้อมหรือการออกแบบอาคารนั้นก็มีส่วนสำคัญว่านักศึกษาจะทำข้อสอบได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่? เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะมีโอกาสเท่าเทียมกันในการทำข้อสอบ

“การสอบเป็นส่วนสำคัญของระบบการศึกษาของเรามานานมากกว่า 1,300 ปี ซึ่งกำหนดเส้นทางอาชีพและชีวิตของนักเรียนนักศึกษา” เจซ์ลิน บอร์ดเบนท์ (Jayclyn Broadbent) รองศาสตร์จารย์และหนึ่งในทีมวิจัย กล่าว

“สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่อผลการเรียนของนักเรียน และทำการปรับเปลี่ยนสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการประสบความสำเร็จ การค้นพบนี้จะช่วยให้เราสามารถออกแบบอาคารที่เราอาศัยและทำงานได้ดีขึ้น เพื่อให้เราสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มความสามารถ” รองศาสตราจารย์ บอร์ดเบนท์ กล่าวทิ้งท้าย

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
sciencedirect.com
sciencealert.com
phys.org
theconversation.com
news-medical.net


อ่านเพิ่มเติม ปวดประจำเดือน ผิดปกติ ทำ คะแนนสอบ แย่ลง – วิจัยจากสหราชอาณาจักร

ปวดประจำเดือน

Recommend