5 คำถามสำคัญเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก

5 คำถามสำคัญเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก

28845

5 คำถามสำคัญเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก

“If you can’t reuse it, refuse it” หรือ “หากคุณเอามันกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ก็จงปฏิเสธมันเสีย” คือคำขวัญใหม่ประจำวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2561 โดยโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติที่มุ่งเน้นไปที่การขจัดวิกฤติขยะพลาสติกโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้กำลังกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของโลก

ความตายของวาฬนำร่องครีบสั้นที่มีขยะพลาสติกมากถึง 8 กิโลกรัมในท้องเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ยิ่งจุดประกายให้ผู้คนเห็นภาพของปัญหานี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเราทุกคนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการตายของมัน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย พูดคุยกับศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิโลกสีเขียว กับ 5 คำถามสำคัญเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่ยังคงคาใจคนธรรมดาอย่างเราๆ ว่าจะใช้ชีวิตประจำวันอย่างไรเพื่อชดเชยให้วาฬนำร่องครีบสั้นตัวนั้น ตลอดจนหลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

 

  1. เราลดการใช้พลาสติกแค่คนเดียวจะไปช่วยอะไรได้ ในเมื่อคนอื่นก็ยังใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันอยู่?

เราลดการใช้พลาสติกแค่คนเดียว คงเปลี่ยนโลกไม่ได้จริงๆ ครับ แต่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่มีแค่เราคนเดียวครับที่คิดและลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด หากคุณรู้สึกว่าตัวเองทำอยู่คนเดียวแล้วท้อลองหาโอกาสร่วมกิจกรรม หรือเสพสื่อในกลุ่มของผู้คนที่พยายามทำเรื่องนี้กันดูครับ เราจะได้ไม่ท้อ

หากชวนคนรอบตัวแล้วเขายังไม่สนใจเปลี่ยนพฤติกรรมทันที นั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ เรื่องพฤติกรรมมันเป็นเรื่องของความเคยชิน ยิ่งนานวัน ยิ่งเปลี่ยนยาก ลองนึกถึงวันแรกๆ ที่เราตระหนักแล้วพยายามลดการใช้พลาสติกดูสิ เราต้องเจอกับความยุ่งยากหลากหลายรูปแบบ แต่สุดท้ายพอเราชิน พอทุกอย่างลงตัว เราก็จะทำมันได้โดยไม่รู้สึกลำบากอะไร ไปๆ มาๆ กลายเป็นรู้สึกดีด้วยซ้ำที่ได้ทำ – ทำได้ในทุกๆ วัน

ทว่าหากเราพยายามลดคนเดียว ในขณะที่คนรอบข้างไม่สนใจเลย ผมเข้าใจว่ามันดูเจ็บปวดใจ แต่ผมเชื่อว่า “น้ำเซาะหินทุกวัน หินมันยังกร่อน” แค่เพียงเราหมั่นทำไปเรื่อยๆ สักวันคนรอบข้างจะต้องคล้อยตามในที่สุด มันมีทริคบางอย่างที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายขึ้น นั่นคือหาวิธีที่ทำให้ใช้สะดวก อย่างเช่นเรื่องการใช้ปิ่นโตซื้อกับข้าวแทนหิ้วถุงแกงเข้าบ้าน เราสามารถจัดวางปิ่นโตและภาชนะลดขยะในจุดที่เห็นเด่นชัด หยิบฉวยใช้ง่าย เพื่อให้สมาชิกในบ้านเห็นว่าสะดวกใช้กว่า เวลากลับมาบ้านก็เปิดฝาแล้วกินได้เลย อยากให้อาหารร้อนก็ไม่ต้องอุ่น เพราะใส่ภาชนะเก็บรักษาอุณหภูมิได้ ทำแบบนี้บ่อยๆ เดี๋ยวคนอื่นก็มาใช้ตามเอง ทุกวันนี้แม้ญาติๆ ของผมจะยังไม่อินในประเด็นสิ่งแวดล้อมมาก แต่หากพวกเขานึกได้ก็จะหยิบปิ่นโต กล่องข้าวไปใช้เสมอ

นอกจากนั้น ปัจจุบันนี้สื่อโซเชียลมิเดียเข้าถึงง่าย และเราทุกคนเป็นสื่อได้ หากเราทำ เราจงบอกต่อไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ เชื่อเถอะว่า ทั้งโลกใบนี้ ไม่ได้มีแค่เราเท่านั้นหรอกที่พยายามลดการใช้พลาสติกแค่คนเดียว เมื่อทำเช่นนั้นพลังของพวกเราจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นใครที่อินเรื่องนี้แล้วจะเปลี่ยนใจกลับไปใช้ชีวิตไม่แคร์โลกได้อีก

และเมื่อจำนวนคนแคร์โลกมีมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง มันจะก่อเกิดเจตจำนงทางการเมือง แล้วสิ่งที่เปลี่ยนมันจะไม่ใช่แค่จำนวนพลาสติกที่เราลดได้ แต่มันจะกลายเป็นคุณภาพชีวิตของมนุษย์และธรรมชาติที่งดงาม

(อยากทราบไหมว่าจังหวัดของคุณมีขยะมูลฝอยตกค้างมากเป็นอันดับที่เท่าไหร่ ดูได้ ที่นี่ ตั้งแต่หน้า 29 เป็นต้นไป)

 

  1. กรณีพลาสติกฆ่าวาฬ เราแยกขยะและทิ้งพลาสติกให้ถูกจุดแล้ว แต่ทำไมขยะพลาสติกจึงยังลงไปในทะเลได้ กรณีนี้เกิดจากกระบวนการกำจัดขยะที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเกิดจากความมักง่ายของคนทิ้งเอง?

เกิดจากทั้ง 2 อย่างเลยครับ ทั้งกระบวนการจัดการขยะที่ไม่มาตรฐาน และความมักง่ายของคนก็ยิ่งส่งเสริมให้การจัดการขยะยิ่งยุ่งยากขึ้นไปอีก ทุกวันนี้ โลกเราให้ความสำคัญกับการผลิตมากกว่าการจัดการขยะ เพราะการผลิตนั้นสร้างเม็ดเงินมหาศาล ส่วนการจัดการขยะ หากจะทำให้ดี ยิ่งต้องมีต้นทุนการจัดการมาก และถ้าจะแก้ไขให้ครบวงจร สุดท้ายก็ต้องวนกลับมาจัดการตั้งแต่ต้นทางการผลิต นั่นคือการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงการจัดการหลังเลิกใช้งานด้วย

เรื่องการจัดการขยะให้ดีเป็นเรื่องไม่ง่าย ทุกวันนี้ในประเทศไทย เอาแค่เก็บขยะที่ทิ้งกันให้หมด ไม่เหลือตกค้างยังทำกันไม่ได้เลย (แม้จะเหลือตกค้างน้อยลงทุกปี) แต่ทุกวันนี้ปีๆ หนึ่ง เรายังมีขยะตกค้างเป็น 10 ล้านตัน

นอกจาก 2 สาเหตุที่กล่าวไปแล้วเรายังมีปัญหาความเข้าใจหรือทัศนคติอยู่บ้าง เช่น ยังมีชาวบ้านที่เชื่อว่าการทิ้งขยะ ลงคลอง ลงทะเล หรือพื้นที่รกร้าง เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สามารถทำได้ เพราะเดี๋ยวน้ำมันก็พัดพาขยะจมหายไป หรือทิ้งไว้เดี๋ยวมันก็ย่อยสลายไปเองในที่สุด

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยระบุว่าขยะพลาสติกที่พบในทะเลราว 80% เป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมบนบก และอีก 20% เกิดจากกิจกรรมทางทะเล ดังนั้นแม้เราจะอยู่ห่างจากทะเลมาก ขยะที่เราทิ้งอย่างดีแล้วก็อาจไปอืดอยู่ในท้องวาฬได้ด้วยประการฉะนี้

เพื่อไม่ให้หมดหวังขอเสริมว่า ในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่ง เราสามารถจัดการขยะของตัวเราเองได้มากเลยทีเดียว เพียงเริ่มจากแยกขยะเศษอาหาร (ขยะที่ย่อยสลายได้) ออกจากขยะที่ย่อยไม่ได้ ไปทำปุ๋ยหรือเป็นอาหารสัตว์ ขยะที่เราก่อก็จะกลับคืนสู่ธรรมชาติไปราวๆ 60% และหากเราแยกขยะที่ย่อยไม่ได้แต่ขายให้ซาเล้งได้ออกมาอีก อย่างน้อยๆ ก็จะลดขยะไปได้อีกราว 15%  ส่วนที่เหลือที่ย่อยไม่ได้ ขายไม่ได้ เราอาจลองพิจารณาทบทวนดูว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ก่อขยะเหล่านี้ขึ้นมาอีกภายหลัง

หากเราทำได้เท่านี้ ก็ลดปริมาณขยะของเราเองไปมากโข

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ขยะในไทยได้ ที่นี่ )

 

  1. ใช้ชีวิตประจำวันแบบไม่สนับสนุนและไม่บริโภคของป่า เท่านี้เพียงพอหรือไม่ที่จะช่วยบรรดาสัตว์จากองค์กรลักลอบค้าสัตว์ป่า หรือมีวิธีไหนที่ประชาชนคนธรรมดาสามารถทำได้อีก?

รอให้พวกเขาล่าสัตว์ป่ากันให้หมด ก็หมดปัญหาไปเองครับ (ฮ่า) จริงๆ เราก็คงทำได้เท่านี้แหละครับ คือไม่สนับสนุนและไม่บริโภคของป่า หากอยากจะทำมากกว่านี้คงต้องพยายามโน้มน้าวให้คนรอบข้างไม่สนับสนุน และไม่บริโภคเช่นกัน ตลอดจนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือร่วมสนับสนุนแคมเปญรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ต่างๆ ตามโอกาสที่เหมาะสม

 

  1. ปัจจุบันมีพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้แล้ว ทำไมไม่เปลี่ยนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในชีวิตประจำวันให้เป็นพลาสติกย่อยสลายได้ทั้งหมด?

พลาสติกที่ย่อยสลายได้มี 2 แบบ แบบที่ไม่ได่ย่อยจริงๆ แต่แค่แตกตัวเป็นเศษชิ้นเล็กๆ ทว่ายังคงสมการทางเคมีเป็นพลาสติกอยู่ ซึ่งแบบนี้ดูเหมือนจะดี แต่จริงๆ แล้วอันตรายมาก เพราะเศษพลาสติกจิ๋วๆ เหล่านี้จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมง่ายมาก

ส่วนพลาสติกที่ย่อยสลายได้จริงๆ (Biodegradable plastic) ก็ไม่ใช่ว่าใช้เสร็จแล้วจะโยนๆ ทิ้งไปทางไหนก็ได้  เพราะพลาสติกประเภทนี้ก็ต้องการการกำจัดอย่างถูกวิธีเช่นกัน ซึ่งจะต้องมีกระบวนการคัดแยก รวบรวม และส่งไปยังโรงย่อยสลายพลาสติก  ดังนั้นไม่ใช่แค่เปลี่ยนมาใช้พลาสติกแบบย่อยสลายได้ แล้วปัญหาขยะพลาสติกจะหมดไป

หนทางที่ง่ายกว่าและเราทุกคนสามารถทำได้ทันทีคือ ลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด และหันมาใช้วัสดุธรรมชาติแทน

วันสิ่งแวดล้อมโลก
ขยะที่รวบรวมได้จากท้องของเต่าทะเล ภาพถ่ายโดย Ocean Cleanup Foundation องค์กรที่วิจัยเกี่ยวกับขยะพลาสติกในทะเลโดยเฉพาะ

 

  1. จะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจและเห็นความสำคัญของปัญหาพลาสติกล้นโลกอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่เคยชินกับการใช้ถุงพลาสติก?

เวลาต้องอธิบายปัญหานี้ เรามักเล่าถึงปัญหาแพขยะพลาสติกกลางมหาสมุทร ว่าทุกวันนี้มีขยะในทะเลลอยตามกระแสน้ำไปรวมกันจนเกาะกันเป็นแพขนาดใหญ่ คล้ายๆ ผักตบชวา แต่ทีนี้ ทั้งโลกขยะพลาสติกมีมากมายเหลือเกิน และประเทศไทยเราก็เป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของโลกที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด แพขยะที่ว่านั้นมีหลายแพทั่วโลก และแพที่ใหญ่ที่สุด มีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ประเทศไทยเราทั้งประเทศถึง 3 เท่า…ย้ำว่า 3เท่าเชียวนะ

เล่าแค่นี้อาจฟังดูไกลตัว ขยะลอยกลางทะเลก็ลอยไป ฉันไปเที่ยวทะเล ว่ายน้ำดูปะการัง ก็ไม่เคยเห็นแพขยะสักหน่อย เราก็จะถามเสริมว่า เคยสำลักน้ำทะเลไหม? รู้หรือเปล่าว่าเดี๋ยวนี้ ในน้ำทะเลหนึ่งแก้วนั้นมีชิ้นพลาสติกจิ๋ว(ที่เล็กมากๆ จนอาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า) ปนเปื้อนเยอะมากกว่าแพลงก์ตอนเสียอีก เร็วๆ นี้ที่อเมริกา มีการสำรวจเกลือทะเลที่ขายตามท้องตลาด ผลสำรวจพบว่า เกลือทุกยี่ห้อมีพลาสติกจิ๋วๆ ปนเปื้อนทั้งนั้น และประเทศไทยก่อพลาสติกอันดับ 5 ของโลก ฉะนั้นเกลือในครัวเราจะรอดพ้นจากเศษพลาสติกหรือ?

ยังไม่พอ เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน เปิดเผยรายงานการศึกษาล่าสุดของ Orb Media ว่า น้ำประปา 83 % ที่นักวิจัยเก็บตัวอย่างมาทั่วโลกนั้นมีเส้นใยพลาสติก (Plastic Fibres) ปนเปื้อนมาด้วย ในรายงานไม่ได้ระบุว่าน้ำประปาบ้านเราเป็นอย่างไร แต่อเมริกา อังกฤษ อินเดีย เยอรมัน ก็มีปนเปื้อนกันทั้งนั้น

สุดท้ายนี้ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ กล่าวเสริมว่าวิธีแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง คือต้องพยายามทำให้ทรัพยากรต่างๆ นั้นหมุนเวียนเป็นวงจรให้ได้ แต่ทุกวันนี้ กระบวนการผลิตของบ้านเรายังคงเป็นเส้นตรง ดังนั้นก็จะหมักหมมปัญหาขยะไปเรื่อยๆ อีกปัญหาใหญ่ที่ถูกละเลย และควรให้ความสำคัญไม่ต่างจากขยะพลาสติกก็คือ การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ หากเราทุกคนยึดหลักการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) แทนที่จะเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ขยะก็คงไม่มากมายล้นโลกดังเช่นทุกวันนี้

 

อ่านเพิ่มเติม

ผลกระทบจากพลาสติก: เมื่อพลาสติกทำร้ายสัตว์ป่า

Recommend