
ขณะที่เขื่อนไซยะบุรี ก่อความทุกข์ร้อนให้ชีวิตผู้คนโดยรอบ ผลกระทบร้ายแรงที่สุดของมันอาจอยู่ที่การเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างให้เขื่อนแห่งอื่นๆ การที่ลาวเพิกเฉยต่อคำแนะนำของการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเอ็มอาร์ซีเป็นผู้ออกทุน แล้วตัดสินใจเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี เท่ากับเป็นการแผ้วถางทางให้โครงการสร้างเขื่อนแห่งอื่นๆที่เหลือ
หัวใจหรือศูนย์กลางการทำประมงในแม่น้ำโขงอยู่ในประเทศกัมพูชา ที่นั่นทะเลสาบขนาดใหญ่ชื่อ โตนเลสาบ เชื่อมต่อกับลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขงเหมือนปอดเชื่อมต่อกับหลอดลม โตนเลสาบจะแผ่ขยายออกไปจนกว้างใหญ่ไพศาลในฤดูฝนและหดเล็กลงในฤดูแล้ง
สายน้ำขุ่นคลั่กและกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาของโตนเลสาบประกอบกันเป็นโรงงานปลาธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์นี้โอบอุ้มประชาชาติขนาดย่อมๆที่ประกอบไปด้วยเหล่า “หมู่บ้านลอยน้ำ” หรือกลุ่มเรือบ้านซึ่งทอดสมอเรียงรายอยู่ตามริมทะเลสาบปลามากกว่าหนึ่งร้อยชนิดที่ฟักเป็นตัวในโตนเลสาบจะอพยพขึ้นไปทางต้นน้ำเป็นระยะทางไกลมาก เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางต้นน้ำราว 900 กิโลเมตรอาจอยู่ห่างไกลจนไม่ส่งผลกระทบโดยตรงมากนักต่อปลาเหล่านี้ แต่โครงการอื่นๆอยู่ใกล้กว่านั้นมาก ห่างจากพรมแดนระหว่างกัมพูชากับลาวขึ้นไปทางเหนือเพียงเล็กน้อย เขื่อนบนลำน้ำสายหลักอีกเขื่อนชื่อ เขื่อนดอนสะโฮง จะเริ่มก่อสร้างในไม่ช้า แม้เขื่อนนี้จะปิดกั้นลำน้ำเพียงสายเดียวของแม่น้ำที่ประกอบด้วยลำน้ำหลายสายตัดไขว้กันไปมา แต่มันจะส่งผลกระทบต่อการอพยพของปลาอย่างแน่นอน
ภัยคุกคามต่อการทำประมงที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นส่อเค้าให้เห็นในภาคเหนือของกัมพูชาเอง นั่นคือลำน้ำสาขาสายหนึ่งของแม่น้ำโขงที่เรียกกันว่า โตนเลซานหรือแม่น้ำแซซาน ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในเวียดนามและไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงตรงจุดที่อยู่ห่างจากเขื่อนดอนสะโฮงลงมาทางปลายน้ำราว 50 กิโลเมตร เป็นที่รู้กันว่าแม่น้ำนี้เป็นเส้นทางอพยพหลักของปลาหลายสิบชนิด เขื่อนที่มีชื่อว่า แซซานล่าง 2 ซึ่งจะตัดการเชื่อมต่อของแม่น้ำแซซานกับแม่น้ำโขง ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างห่างจากจุดน้ำสบไปทางตะวันออก 24 กิโลเมตร
เขื่อนที่วางแผนก่อสร้างในกัมพูชาและลาวจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าความต้องการภายในประเทศเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่ช่วยให้ประชาชนทั้งสองประเทศมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงทุกครัวเรือน ไฟฟ้าร้อยละ 90 ที่ได้จากเขื่อนต่างๆบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขงจะขายให้แก่ไทยกับเวียดนาม และรายได้ส่วนใหญ่จะไหลเข้าสู่บริษัทสร้างเขื่อน รายงานการวิเคราะห์เมื่อปี 2010 ที่เอ็มอาร์ซีจัดทำขึ้นทำนายว่า ความสูญเสียทางการประมงอันสืบเนื่องมาจากโครงการสร้างเขื่อนเหล่านี้จะยิ่งทำให้ปัญหาความยากจนเลวร้ายลง

เจ้าหน้าที่รัฐบางคนแย้งว่า การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการปลูกข้าวสามารถทดแทนการลดลงของแหล่งอาหารใดๆก็ตามได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงไม่เห็นด้วยอย่างชัดแจ้ง พวกเขาบอกว่า ผลกระทบจากเขื่อนบนลำน้ำสายหลักที่มีต่อการทำประมงในแม่น้ำโขงจะทบทวีขึ้นเรื่อยๆ ไม่อาจเยียวยาให้กลับมาดีดังเดิม และส่งผลเสียหายอย่างมหาศาล ในแม่น้ำสายอื่นๆ ของภูมิภาคปริมาณปลาที่จับได้ลดลงระหว่างร้อยละ 30 ถึง 90 หลังเขื่อนสร้างเสร็จ และแม้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะทำกันอย่างกว้างขวางแล้วตลอดลำน้ำโขง แต่ปลาเหล่านั้นก็เลี้ยงด้วยปลาเล็กปลาน้อยในธรรมชาติที่จับจากแม่น้ำ การเลี้ยงด้วยอาหารปลาสำเร็จรูปจากโรงงานหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นจนไม่อาจแบกรับสำหรับผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ ผู้คนจำนวนมากที่พึ่งพาการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรายย่อยมีแนวโน้มที่จะถูกผลักเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินสดโดยปราศจากทั้งเงินทุนหรือความรู้ที่จำเป็นต่อการอยู่รอด

แม่น้ำโขงไม่ได้เป็นแหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำเพียงแหล่งเดียวในภูมิภาคนี้ ประเมินกันว่าโครงการสร้างเขื่อน 11 แห่งบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขงตอนล่างอาจตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ราวร้อยละ 6-8 ภายในปี 2025 และผลการวิเคราะห์หลายชิ้นก็บ่งชี้ว่า มาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอื่นๆ อาจผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณพอๆกันหรือสูงกว่าโดยใช้ต้นทุนน้อยกว่า แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางเลือกเหล่านั้นเพิ่งจะเริ่มพัฒนา สำหรับรัฐบาลกัมพูชาและลาวแล้ว ไฟฟ้าพลังน้ำเป็นสิ่งที่ทั้งคุ้นเคยและเข้าถึงได้ง่าย ทั้งยังมีมูลค่าสูงกว่าในฐานะสินค้าส่งออก
เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะใช้ประโยชน์จากพลานุภาพของแม่น้ำโขง พร้อมๆ ไปกับการพิทักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำสายนี้เอาไว้ด้วย
เรื่อง มิเชลล์ ไนฮัส
ภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์
อ่านเพิ่มเติม