พื้นที่คุ้มครองทางทะเล ความหวังสุดท้ายของทะเลไทย

พื้นที่คุ้มครองทางทะเล ความหวังสุดท้ายของทะเลไทย

พื้นที่คุ้มครองทางทะเล ความหวังสุดท้ายของทะเลไทย

พื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นรูปแบบของ “พื้นที่คุ้มครองทางทะเล”  (Marine Protected Area: MPA) ที่คนรู้จักกันดีที่สุด เพราะมี “การคุ้มครอง” ซึ่งทำให้เกิด “กลไกในการดูแลรักษาธรรมชาติ” ให้เห็นเป็นรูปธรรม  ในบ้านเรา อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่จัดตั้งแล้วมีจำนวนมากถึง 24 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศบนสองฝั่งทะเลไทย หลายแห่งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทั้งทางฝั่งอันดามัน เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล ส่วนฝั่งอ่าวไทยก็เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง  อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

“หลายคนรู้จักและคุ้นเคยกับอุทยานแห่งชาติทางทะเลเหล่านี้เป็นอย่างดี  ใครเล่าจะไม่รู้จักชื่อของ พีพี  สิมิลัน อ่าวพังงา เกาะช้าง เกาะเสม็ด พื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละนับหมื่นล้านบาท แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรายังมีปัญหาในการจัดการพื้นที่เหล่านี้อยู่ไม่น้อย” ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีหนุ่มแห่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ความเห็น  “พื้นที่ที่โด่งดังมีชื่อเสียงก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปมากเกินไป จนเกินขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเลขนาดเล็กที่รัฐควรจัดการร่วมกับชุมชนก็ทำไม่ได้ เพราะติดข้อกฎหมาย บางครั้งข้อห้ามอันเคร่งครัดเกินไปของอุทยานแห่งชาติที่ห้ามไปหมดทุกอย่างก็เป็นข้อจำกัดในการสร้างการมีส่วนร่วมและจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ”

พื้นที่คุ้มครองทางทะเล
ฉลามวาฬวัยเด็กแหวกว่ายอยู่ใต้ท้องเรือที่พานักท่องเที่ยวออกชมสัตว์ทะเลหายากชนิดนี้ในน่านนํ้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา น่านนํ้าชุมพรกลายเป็นบริเวณที่มีการพบฉลามวาฬบ่อยที่สุดของไทย และทำให้การท่องเที่ยวทางทะเลเติบโตอย่างรวดเร็วตามไปด้วย

ดร.ปิ่นสักก์ ที่ใครๆเรียกกันว่า “ดร.โด่ง”เป็นคนโอภาปราศรัย ตัวสูงโด่งสมชื่อ เขาเป็นข้าราชการอาวุโสรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ​ ด้วยความที่มีพื้นฐานจากการเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ประกอบกับประสบการณ์อันยาวนานในการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมสมัยเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้เขาให้น้ำหนักกับการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมโดยอาศัยหลักวิชาการมาโดยตลอด

สิ่งที่ ดร.โด่ง พยายามจะบอกหรือสื่อออกไปก็คือ พื้นที่คุ้มครองทางทะเลไม่ได้มีแต่เฉพาะอุทยานแห่งชาติเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการอนุรักษ์ในรูปแบบอื่นๆที่แตกต่างหลากหลายออกไปด้วย เช่น เขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำของกรมประมงที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญ  พื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ซึ่งมุ่งปกป้องพื้นที่ป่า                     ชายเลนธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ และศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลของกองทัพเรือที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยทางราชการ เพื่อสงวนพื้นที่จากกิจกรรมมนุษย์ให้เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลตามธรรมชาติ เช่นที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ริเริ่มโดยหน่วยงานราชการทั้งสิ้น สิ่งที่ยังเป็นช่องว่างในบ้านเราคือพื้นที่คุ้มครองที่บริหารจัดการโดยชุมชน

 

ความหวังที่อ่าวมาหยา

ข่าวใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นไปได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตัดสินใจประกาศปิดอ่าวมาหยา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกภายในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเลเป็นระยะเวลาสี่เดือน ตามข้อเสนอแนะของนักวิชาการที่นำโดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กับกลุ่มพิทักษ์พีพี กลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นที่ประกอบไปด้วยชาวบ้านและผู้ประกอบการบนเกาะพีพีกว่าร้อยคน

ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการพบว่า ปะการังภายในอ่าวมาหยาเสียหายอย่างหนักจนเหลือปะการังโขดที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่กี่ก้อน เพราะต้องเจอกับกองทัพเรือเร็วที่วิ่งเข้า-ออกอ่าวมาหยาทุกวัน เกือบตลอดทั้งวันต่อเนื่องมาหลายสิบปี นอกจากนี้ ระบบนิเวศบนเกาะยังเผชิญกับทัพนักท่องเที่ยวที่มีมากถึงวันละ 4,000-5,000 พันคนทุกวัน

พื้นที่คุ้มครองทางทะเล
นักท่องเที่ยวเบียดเสียดบนชายหาดของอ่าวมาหยาบนเกาะพีพีเล อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อ่าวมาหยาเป็นที่รู้จักทั่วโลกจากภาพยนตร์เรื่อง เดอะบีช ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 5,000 คนต่อวัน และทำให้สภาพแวดล้อมของอ่าวเสื่อมโทรมลงอย่างมาก เพราะสามารถรองรับคนในช่วงเวลาหนึ่งได้เพียง 170 คนเท่านั้น

“ผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว และทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันแล้วว่า เรายอมให้ทะเลถูกทำร้ายอย่างนี้ไม่ได้อีกต่อไป  แม้กระทั่งผู้ประกอบการและชาวบ้านที่อาจจะเสียผลประโยชน์จากการปิดพื้นที่ครั้งนี้” ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็น

ดร.ธรณ์ หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า “อาจารย์ธรณ์” เป็นหัวหอกในการจุดกระแสอนุรักษ์ทะเลไทยอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ปฏิรูปการจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยเริ่มจากการปรับปรุงระบบการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้มีความโปร่งใส จนทำให้สามารถเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติได้เพิ่มขึ้นปีละหลายพันล้านบาท เพื่อนำรายได้มาใช้ในการอนุรักษ์อย่างคุ้มค่า นับเป็นงานที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในวงการอนุรักษ์ทะเลไทย

แต่อาจารย์ธรณ์ยังไม่หยุดแค่นั้น หากยังขยายไปถึงงานอนุรักษ์เชิงพื้นที่ เขาเรียกร้องให้ปิดพื้นที่ที่ระบบนิเวศเปราะบางเพื่อฟื้นฟูสภาพ เช่น บริเวณเกาะยูง ภายในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ซึ่งหลังปิดพื้นที่ไปสองปีก็พบว่า แนวปะการรังที่เสียหายเริ่มฟื้นตัวจนมีแนวโน้มสามารถคืนสู่สภาวะปกติได้ นอกจากนี้  ยังริเริ่มกิจกรรมรณรงค์งดขาย งดบริโภค ปลาฉลามและปลานกแก้วบนเกาะพีพี  ใช้งานวิจัยในการติดตามการฟื้นฟูปะการังในอ่าวมาหยา เดินหน้าให้การศึกษาและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการและชุมชนอย่างต่อเนื่อง  โดยดึงเอาผู้บริหารระดับสูงทั้งรัฐมนตรีและอธิบดีมาลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาด้วยตัวเอง จนเกิดเป็นต้นแบบความร่วมมือในการฟื้นฟูระบบนิเวศของเกาะพีพี หรือที่รู้จักกันในนาม “พีพีโมเดล”

พื้นที่คุ้มครองทางทะเล
ซากโครงกระดูกของวาฬบรูด้านอนสงบนิ่งอยู่บนลานทรายใต้ผืนนํ้าของเกาะห้า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา สัตว์ทะเลหายากและว่าที่สัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทยนี้ได้ประโยชน์จากการคุ้มครองพื้นที่ทางทะเลที่เข้มแข็งขึ้น จึงมีพื้นที่อยู่อาศัยและหากินเป็นบริเวณกว้างตลอดแนวชายฝั่งของทั้งอ่าวไทยและอันดามัน

แม้การปิดอ่าวมาหยาจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโปรแกรมทัวร์และทำให้สูญเสียรายได้มหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ข่าวการปิดอ่าวมาหยาซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก็ดังไปทั่วโลก เสียงตอบรับจากนานาประเทศล้วนแล้วแต่ออกมาในทางชื่นชมว่า ในที่สุดรัฐบาลไทยก็เลือกคุ้มครองธรรมชาติ แทนที่จะปล่อยให้การท่องเที่ยวทำลายแหล่งธรรมชาติแห่งนี้ไปเรื่อยๆ

กรมอุทยานฯ บอกว่า หลังจากปิดอ่าวมาหยาสี่เดือนครั้งนี้แล้ว ก็จะไม่อนุญาตให้นำเรือเข้าอ่าวมาหยาอีกต่อไป โดยจะกำหนดเส้นทางศึกษาธรรมชาติใหม่ และอนุญาตให้เรือทั้งหมดพานักท่องเที่ยวเข้าจอดทางด้านหลังเกาะเพื่อลดผลกระทบต่อปะการังและระบบนิเวศ พร้อมกับพัฒนาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติแบบยกพื้น  (boardwalk nature trail) เพื่อลดการเหยียบย่ำพืชพรรณชายหาด และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิน 2,000 คนต่อวัน

พื้นที่คุ้มครองทางทะเล
ชาวมอแกนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตผูกพันแน่นแฟ้นกับท้องทะเล ในอดีตพวกเขาใช้ชีวิตบนเรือออกร่อนเร่ไปตามหมู่เกาะและดำรงชีพจากความอุดมสมบูรณ์ของทะเลอันดามัน แต่ปัจจุบันชาวมอแกนส่วนใหญ่ในไทยตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งและเลี้ยงชีพจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

การปิดอ่าวมาหยานับเป็นความหวังสำคัญ และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในประเทศไทยก็ว่าได้  เพราะหากสามารถปฏิวัติรูปแบบการท่องเที่ยวที่อ่าวมาหยาได้สำเร็จ เราย่อมสามารถแก้ปัญหาพื้นที่อื่นๆ ได้ไม่ยาก เพราะคงไม่มีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งไหนที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผลประโยชน์เกี่ยวข้องมากเท่าที่เกาะพีพีอีกแล้ว

“ผมคิดว่ายังไม่สายเกินไป ตอนนี้คนตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ทะเลกว่าแต่ก่อนมาก เมื่อก่อนเรารับรู้กันแต่ปัญหา น้ำเสีย ขยะล้นทะเล การท่องเที่ยวแบบทำลายล้าง สัตว์ทะเลหายากตายลงทุกวัน แต่เรามักจะไม่คิดว่ามีทางออก หรือเราจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ผมพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราทำได้ ทุกอย่างมีทางออก อยู่ที่ว่าเราจะทำไหม การอนุรักษ์ทะเลต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้ เรารอไม่ได้อีกแล้ว หากพื้นที่ที่สำคัญขนาดอ่าวมาหยาเรายังรักษาไว้ไม่ได้ ก็อย่าหวังเลยว่าทะเลไทยจะเหลืออะไรอีก”  อาจารย์ธรณ์ ทิ้งท้าย

เรื่อง เพชร มโนปวิตร

ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

พื้นที่คุ้มครองทางทะเล
ทุ่งปะการังเขากวางที่สมบูรณ์ก็โผล่พ้นผิวนํ้าใต้แสงดาวจากทางช้างเผือก ริมชายหาดของเกาะบุโหลนเลในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ปัจจุบันแนวปะการังนํ้าตื้นที่สมบูรณ์เช่นนี้หาได้ยากมาก

 

อ่านเพิ่มเติม

สัตว์มหัศจรรย์แห่งทะเลใต้ผืนน้ำแข็งอาร์กติก

Recommend