Cowspiracy สารคดีที่บอกว่ากินเนื้อหนึ่งชิ้นสะเทือนถึงป่า มหาสมุทร และชั้นบรรยากาศ

Cowspiracy สารคดีที่บอกว่ากินเนื้อหนึ่งชิ้นสะเทือนถึงป่า มหาสมุทร และชั้นบรรยากาศ

Cowspiracy ภาพยนตร์สารคดีที่เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่เกี่ยวโยงกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และธุรกิจผลิตอาหารป้อนคนทั้งโลก

Cowspiracy หรือชื่อไทย ‘กุญแจลับสู่ความยั่งยืน’  ดำเนินเรื่องผ่านการสืบค้น สัมภาษณ์ รวบรวม และเปรียบเทียบข้อมูลของ คิป แอนเดอสัน (Kip Anderson) ชายหนุ่มชาวแคลิฟอร์เนียผู้รักษ์โลกตามแบบฉบับนักอนุรักษ์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ เปลี่ยนหลอดไฟ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ หรือแม้กระทั่งการหันมาขี่จักรยานแทนการขับรถ แต่แม้จะเคร่งครัดต่อวิถีชีวิตรักษ์โลกแค่ไหน แต่ข่าวการทำลายสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติกลับเกิดขึ้นต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อย ๆ

วันหนึ่งคิป ได้อ่านรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food Agriculture Organization: FAO) ที่ระบุว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก มากกว่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการคมนาคม

เขาจึงตั้งข้อสงสัยว่าทำไมองค์กรสิ่งแวดล้อมหลายแห่งต่างเลือกที่จะไม่พูดถึงและมองข้ามความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ และนั่นคือที่มาของแนวคิดของคิป ที่เชื่อว่านี่อาจเป็นการสมคบคิด (Conspiracy) ขององค์กร ธุรกิจและการเมือง ที่ตั้งใจบิดเบือนไม่ให้คนทั่วไปรู้ผลกระทบจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์

01 สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง

คิปติดต่อขอสัมภาษณ์หน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในประเทศสหรัฐอเมริกา หลายแห่ง เช่น Oceana, Sierra club, Climate Reality, Amazon Watch และ Rainforce Action Network ในช่วงต้นของการสัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เหล่าผู้ถูกสัมภาษณ์ต่างสามารถให้คำตอบได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ รวมไปถึงข้อมูลซึ่งอัดแน่นไปด้วยความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ

แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อพวกเขาถูกถามถึงข้อมูลและสาเหตุที่เกิดขึ้นจากการทำปศุสัตว์ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือท่าทีเฉไฉ อ้ำอึ้ง และความตะกุกตะกักเมื่อถูกถามย้ำ หลายครั้งที่เหล่าผู้ถูกสัมภาษณ์แสดงท่าทีไม่ปกติ ขณะที่หน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติอย่างกรีนพีช (Green Peace) ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์แก่ภาพยนตร์เรื่องนี้

เมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไปจนถึงระยะเวลาหนึ่ง สาเหตุในการไม่เอ่ยถึงความร้ายแรงผลกระทบจากการทำปศุสัตว์ ซึ่งมีผลต่อความยั่งยืนของโลก ค่อยๆ ทยอยเผยออกมาให้คนดูได้รับรู้ว่า นี่เป็นเรื่องที่มีกฎหมาย ผลประโยชน์ทางธุรกิจ การเมือง และที่สำคัญที่สุดคือ “ความปลอดภัยในชีวิตของผู้พูด” เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

นอกจากองค์กรข้างต้น คิปยังได้สัมภาษณ์นักวิจัย นักเขียน กลุ่มธุรกิจและนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Kirk R. Smith ศาสตราจารย์ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมโลก University of California Berkeley, Demosthenes Maratos สถาบันด้านความยั่งยืน Molloy College และ Dr.Will Tuttl นักเขียนด้านจริยธรรมสิ่งแวดล้อม

02 ความสูญเสียที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง

“มนุษย์ขโมยโลกใบนี้ไปจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ”

ข้อความตอนหนึ่งของสารคดีอธิบายว่า มนุษย์เห็นแก่ตัว เพราะนอกจากการสร้างอาหารสักจานของมนุษย์จะใช้ทรัพยากรมหาศาลโดยไม่จำเป็นแล้ว เรายังกินทิ้งกินข้วางอย่างสิ้นเปลือง การผลิตเนื้อ นม ชีส ไข่ ในธุรกิจอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงมนุษย์บนโลก คือหนึ่งในสาเหตุใหญ่ในการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติ

ความโดดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจประเด็นได้อย่างรวดเร็ว คือการเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสูญเสียและสิ้นเปลืองอันมากโขจากการทำปศุสัตว์ รวมถึงการคำนวณตัวเลขออกมาให้สามารถคิดตามไปได้อย่างไม่ซับซ้อน เช่น

เบอร์เกอร์ 1 ชิ้น จำเป็นต้องใช้ปริมาณน้ำในการผลิตถึง 660 แกลลอน

อุตสาหกรรมโคเนื้อและโคนม ในสหรัฐฯ มีผลต่อการเพิ่มก๊าซเรือนกระจก 18 เปอร์เซ็นต์ มากกว่ามลพิษจากพาหนะทั้งหมดที่รวมกันแล้วเพิ่มก๊าซเรือนกระจกเพียง 13 เปอร์เซ็นต์

อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ใช้น้ำระหว่างกระบวนการราว 34 ล้านล้านแกลลอนต่อปี เท่ากับว่าคนธรรมดาใช้น้ำราว 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปศุสัตว์ใช้น้ำถึง 55 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

เมื่อ 1,000 ปีก่อน โลกประกอบไปด้วยสัตว์ที่อาชีพอ่างอิสระอยู่ตามธรรมชาติถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ปัจจุบัน สัตว์ตามธรรมชาติ (จากมวลชีวภาพ) มีเหลือเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และอีก 98 เปอร์เซ็นต์บนโลกคือ มนุษย์และสัตว์ภายใต้การควบคุมของมนุษย์

03 ปกป้องโลกในแบบตัวเอง

ในเมื่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์สร้างผลกระทบต่อโลกขนาดนี้ คิปนำเสนอว่าผู้บริโภคควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อให้การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นไปได้อย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นเหตุ

นั่นคือการลดปริมาณการบริโภคเนื้อ นม และไข่ หรือเลิกบริโภคไปเลย หันมาเป็น “วีแกน” (Vegan วิถีการใช้ชีวิตโดยไม่บริโภคหรือใช้ผลิตภัณ์ที่ทำจากสัตว์) หากสามารถทำได้ เพื่อช่วยโลกของเราจากผลกระทบอันรุนแรงซึ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านการทำปศุสัตว์ รวมถึงสัมภาษณ์ Dr.Michael A. Klaper นักกายภาพจาก True North Health Center ผู้เลิกบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์มานานกว่า 30 ปี และยังมีสุขภาพแข็งแรงดีพร้อม

อย่างไรก็ตาม หนทางสู่ความยั่งยืนและการปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก คงต้องขึ้นอยู่กับกำลังและความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ Cowspiracy ก็ไม่วายทิ้งวลีเด็ดช่วงท้ายภาพยนตร์สารคดี ด้วยคำพูดของ Howard Lyman เกษตรกรและนักกิจกรรมด้านสิทธิสัตว์ชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงจากการรณรงค์เรื่องการกินแบบละเว้นสัตว์ และการทำเกษตรกรรมออแกนิก

You can’t be an environmentalist and eat animal products.

คุณไม่สามารถเป็นนักสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ยังบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์อยู่

เรื่อง พัทธนันท์ สวนมะลิ

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : มิติความจริงที่หายไปจาก Seaspiracy สารคดีโด่งดังที่บอกให้มนุษย์เลิกกินปลา

Recommend