“ขยะอาหาร” ปัญหาใหญ่ที่ถูกมองข้าม

“ขยะอาหาร” ปัญหาใหญ่ที่ถูกมองข้าม

ภาพมะม่วงในงานเลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขอบคุณภาพจาก https://www.posttoday.com/politic/news/577649

ขยะอาหาร ปัญหาใหญ่ที่ถูกมองข้าม

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ประเทศไทยเพิ่งจะทำสถิติใหม่ลงกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดไป ด้วยการจัดเลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วงใหญ่ที่สุดในโลกแก่นักท่องเที่ยวจีนจำนวนหมื่นคน ภายในงานใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูไปทั้งหมด 1.5 ตัน มะม่วงน้ำดอกไม้จำนวน 6,000 ลูก รวมน้ำหนัก 4.5 – 5 ตัน กิจกรรมนี้นอกเหนือจากเป็นการสร้างสถิติใหม่แล้ว ยังจัดขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวจีน และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ประเทศหลังเผชิญกับเหตุการณ์เรือล่ม ในจังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018 โศกนาฏกรรมครั้งนั้นมีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตรวม 47 ราย

ทว่าหลังเสร็จสิ้นงานปรากฏภาพถ่ายของขยะอาหารจำนวนหนึ่งจากเมนูข้าวเหนียวมะม่วงที่เหลือทิ้งไว้ สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์มากมาย ส่วนใหญ่ไม่พอใจในประเด็นที่นำเงินภาษีของประชาชนมาใช้จ่ายอย่างทิ้งขว้าง ด้านผู้จัดงานเผยในเวลาต่อมา กิจกรรมนี้เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างหน่วยงานเอกชน ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีประชาชนแต่อย่างใด พร้อมระบุ ข้าวเหนียวมะม่วงที่เหลือมีการบรรจุใส่กล่องแจกจ่ายให้นักท่องเที่ยวจีนนำติดมือไปกิน อย่างไรก็ดีแม้จะมีการชี้แจงข้อมูลแล้ว แต่วิวาทะระหว่างทั้งฝ่ายเห็นด้วย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยังคงเกิดขึ้น

ขยะอาหาร
ภาพมะม่วงในงานเลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขอบคุณภาพจาก https://www.posttoday.com/politic/news/577649

อันที่จริงแม้จะเป็นเม็ดเงินจากเอกชนที่เต็มใจจ่ายเพื่อจัดงานเอง ทว่ากองขยะอาหารจากกิจกรรมจะไม่กระทบต่อประชาชนแน่หรือ? ทุกวันนี้ขยะอาหารคือหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกไม่น้อยไปกว่าก๊าซเรือนกระจก 30% ของอาหารที่ผลิตได้บนโลกนี้ ไปไม่ถึงจานของคุณ แต่กลับลงเอยในหลุมฝังกลบแทน เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้อย่างไร? บนโลกออนไลน์เสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงตำหนิ ว่าเป็นการผลาญเงินและอาหารไปอย่างไร้ประโยชน์ อันที่จริงต้องขอบคุณกิจกรรมนี้ที่แม้จะยังไม่อาจมั่นใจได้ว่าสามารถเรียกคืนนักท่องเที่ยวจีนกลับมา แต่อย่างน้อยก็เป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของ “การกินให้หมด อย่าเหลือทิ้ง”

 

จินตนาการว่าเงินเก็บของคุณหายไปจากบัญชี 30% หรือถ้าคุณทำธุรกิจสักอย่าง แล้วสินค้าของคุณราว 30% ไม่สามารถขายได้ คุณจะรู้สึกอย่างไร? นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับอาหารทั่วโลก และอาหารที่หายไปอย่างไร้ค่าที่มีมูลค่ารวมกันมากถึง 162,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหากคิดเป็นน้ำหนักมันจะหนักถึง 1.2 ล้านล้านกิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอจะช่วยให้คนจำนวน 3 พันล้านคนอิ่มท้อง การสูญเสียอาหารในรูปแบบนี้ หรือที่เราเรียกว่า “ขยะอาหาร” (food waste) เป็นคนละประเด็นกับการสูญเสียอาหารในกระบวนการเพาะปลูก (food loss) ซึ่งเกิดขึ้นในขั้นตอนแรกๆ ของการผลิตอาหาร และส่วนใหญ่มักเกิดกับประเทศที่ยังไม่พัฒนา ซึ่งขาดแคลนเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการผลิตอาหาร ตัวอย่างเช่น ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารา ทวีปแอฟริกา 10 – 20% ของพื้นที่เพาะปลูกมักเผชิญกับศัตรูพืชอย่างแมลง และสัตว์ฟันแทะ ส่งผลให้พวกเขาสูญเสียรายได้ไปประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่ากับอาหารที่หล่อเลี้ยงผู้คนราว 48 ล้านคนในหนึ่งปี

ทว่าขยะอาหาร หรือ food waste ต่างกับ food loss โดยสิ้นเชิง นี่คือการสูญเสียอาหารในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต และไม่มีอิทธิพลจากธรรมชาติมาเกี่ยวข้อง ปัญหาขยะอาหารพบในประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าประเทศที่ยังไม่พัฒนา เนื่องจากผู้คนมีตัวเลือก และสามารถกักตุนอาหารได้มากกว่า งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนอเมริกันทิ้งอาหารที่ยังสามารถกินได้เฉลี่ยคนละ 0.4 กิโลกรัมต่อวัน และส่วนใหญ่แล้วมากกว่า 80% ของปัญหามาจากครัวเรือนไม่ใช่ร้านอาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เหตุผลในการทิ้งอาหารมีตั้งแต่ ซื้ออาหารมาเยอะเกินจนกินไม่ทัน, สับสนข้อมูลวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อนบนฉลาก ไปจนถึงเหตุผลที่ว่าหน้าตาของอาหารนั้นๆ ไม่สวยงาม มีรูปร่างไม่สมประกอบ ข้อนี้อาจฟังดูไร้สาระ แต่ในสหรัฐฯ 1 ใน 5 ของผักผลไม้จากฟาร์มไม่สามารถขึ้นไปอยู่บนชั้นวางสินค้าได้ เนื่องจากขนาดหรือรูปลักษณ์ของมัน “ไม่ได้มาตรฐาน” และแน่นอนลงเอยในถังขยะ

ผู้คนในทวีปอเมริกาเหนือก่อขยะอาหารเฉลี่ย 105 กิโลกรัมต่อปี ขยะเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้กับหลอดไฟ 100 วัตต์ ได้นาน 2 อาทิตย์ หรือใช้กับเตาอบที่สามารถอบอาหารได้ 1 ชั่วโมง

(ขยะอาหารวิกฤตแค่ไหน และสำคัญอย่างไรที่เราทุกคนควรรับรู้ ลองชมสารคดีโดย เทสโก้โลตัส)

แล้วเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราทิ้งอาหารที่ยังกินได้ให้เป็นขยะ? ถ้าเราทิ้งไข่ไก่หนึ่งฟอง นั่นหมายความว่าเราไม่ได้แค่ทิ้งไข่ใบเดียว แต่ยังรวมไปถึงการทิ้งน้ำอีก 55 แกลอนให้สูญเปล่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะอาหารทุกชนิดต้องใช้ทรัพยากร และเวลาในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นน้ำ, แร่ธาตุ, ธัญพืชที่ใช้เลี้ยงสัตว์, ที่ดิน, แรงงาน, พลังงาน และอื่นๆ อีกมากมาย หากเอาสัดส่วนของขยะอาหารที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมากองรวมกัน ต้องใช้ที่ดินในการผลิตอาหารที่เราไม่ได้กินเหล่านี้รวมเป็นพื้นที่กว้างใหญ่กว่าผืนแผ่นดินของประเทศจีนเสียอีก มากไปกว่านั้นที่ดินในการเพาะปลูก หรือทำฟาร์มไม่ได้ลอยขึ้นมาเฉยๆ แต่ต้องแลกมาด้วยการทำลายผืนป่าเดิม ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายสายพันธุ์ และบ้านของชนพื้นเมืองหลายเผ่า นี่คือผลกระทบที่มองไม่เห็นจากการทิ้งอาหารที่ยังคงกินได้ และผลกระทบนี้ไม่ได้ครอบคลุมแค่การสิ้นเปลืองทรัพยากรในขั้นตอนการผลิตเท่านั้น เมื่ออาหารถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบ กระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากจัดอันดับสัดส่วนการผลิตก๊าซเรือนกระจกตามประเทศแล้ว ขยะอาหารจะถือเป็นประเทศอันดับที่ 3 ผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและจีน ก๊าซเหล่านี้จะปกคลุมชั้นบรรยากาศส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น น้ำแข็งละลาย, ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ซึ่งในที่สุดแล้วผลกระทบจะวนกลับมาทำลายพืชผลทางการเกษตร

กว่าจะได้มาซึ่งอาหารต้องใช้ทรัพยากรมากแค่ไหน สำหรับเนื้อหมู 1 กิโลกรัม ใช้น้ำทั้งหมด 6,000 ลิตร หรือเทียบได้กับการอาบน้ำฝักบัว 188 ครั้ง และเทียบได้กับการอาบน้ำในอ่าง 250 ครั้ง

ขยะอาหาร
Rob Greenfield คือหนึ่งในผู้รณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของวิกฤตขยะอาหาร ด้านหลังของเขาคืออาหารที่ถูกเก็บมาจากถังขยะทั้งสิ้น และไม่เพียงแค่อาหารเท่านั้น เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในประเด็นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ Rob พิสูจน์ให้เห็นว่าขยะทั่วไปที่เราทิ้งในแต่ละวันนั้นมากมายแค่ไหน ด้วยการเก็บขยะที่เขาก่อไว้กับตัวในชุดพิเศษเป็นเวลา 30 วัน
ขอบคุณภาพจาก https://thelachatupdate.com/2018/03/12/interview-with-rob-greenfield/

ความน่ากังวลก็คือหากวงจรเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ในอนาคตอันใกล้ เมื่อถึงปี 2050 นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,800 ล้านคน จำนวนผู้คนที่เพิ่มขึ้นมาอีกมากกว่า 2,300 ล้านคนในอีก 31 ปีข้างหน้า หมายถึงความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อเราคิดถึงภัยคุกคามต่างๆ ที่จะนำไปสู่สงคราม ความขัดแย้ง เราอาจไม่คิดถึงภัยจากการขาดแคลนอาหาร ทว่าท้องหิวคือหายนะที่รุนแรงและท้าทายที่สุดท่ามกลางการแก่งแย่งทรัพยากรในโลกที่ล้นไปด้วยผู้คน การเกษตรคือทางออกที่จะยุติปัญหานี้ และหนทางดังกล่าวต้องแลกมากับผลกระทบมากมาย ทุกวันนี้กิจกรรมการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์คือกิจกรรมขนาดใหญ่ที่สุดบนโลก ซึ่งใช้พื้นที่ที่ไร้น้ำแข็งปกคลุมไปมากกว่าร้อยละ 38 การเกษตรใช้ทรัพยากรน้ำอย่างหิวกระหาย และปลดปล่อยมลพิษมากมายกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม ถ้าเช่นนั้นการเกษตรแบบไหนที่จะตอบสนองความต้องการอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ปลอบประโลมโลกที่บอบช้ำไม่ให้ย่ำแย่ลง? เหล่านี้คือตัวอย่างของโมเดล 5 ขั้นในการรับมือกับวิกฤตดังกล่าว

1 หยุดขยายกิจกรรมทางการเกษตร – ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อเรามีความต้องการผลิตอาหารเพิ่ม เราก็เพียงแผ้วถามป่า หรือไถปราบทุ่งหญ้าเพื่อขายพื้นที่เพาะปลูก ทว่าการกระทำเช่นนี้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศตามมามากมาย หรือที่เรียกว่า “รอยเท้าการเกษตร” แต่ในที่สุดแล้วเราไม่อาจอยู่ได้ หากถางป่าจนหมด และทำให้พื้นที่สีเขียวบนโลกเป็นพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ดังนั้นการตัดไม้ทำลายป่าคือสิ่งแรกที่ต้องหลีกเลี่ยง

2 เพาะปลูกให้ได้มากขึ้นในที่ดินที่มีอยู่ – เมื่อไม่ได้เพิ่มพื้นที่สำหรับการเกษตร โลกก็ควรหันไปสนใจการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่า โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา, ละตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก ซึ่งยังสามารถพัฒนาผลผลิตในอนาคตให้เพิ่มมากขึ้นได้จากการนำระบบการเกษตรสมัยใหม่ และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้

3 ใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น – ทุกวันนี้มีระบบการเกษตรมากมายที่สามารถใช้ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้รถแทรกเตอร์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ทั้งยังติดตั้งจีพีเอสและเซนเซอร์ หรือแม้แต่ตัวเกษตรกรเองก็สามารถผสมหรือปรับสูตรปุ๋ยเคมีที่เข้ากับสภาพที่ดินของตนได้

(อยากรู้ไหมว่าถ้าคุ้ยขยะในสหรัฐฯ จะเจออะไรบ้าง? Yara Elmjouie ผู้สื่อข่าวจาก AJ+ อาสาพาไปชม)

4 เปลี่ยนอาหารการกิน – ทุกวันนี้พืชผลที่ถูกผลิตขึ้นเป็นอาหารของมนุษย์เพียงร้อยละ 55 ส่วนที่เหลือกลายเป็นอาหารของปศุสัตว์ราวร้อยละ 36 และอีกร้อยละ 9 เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ผู้คนสามารถช่วยลดปริมาณการผลิตพืชผลเหล่านี้ได้ด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง หรือเปลี่ยนจากการกินสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยธัญพืช ไปเป็นสัตว์ที่กินหญ้า ก็จะช่วยเพิ่มสัดส่วนปริมาณอาหารโลกได้อย่างมหาศาล

5 ลดขยะ – ในประเทศร่ำรวย ขยะส่วนใหญ่มาจากครัวเรือน, ภัตตาคาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนในประเทศยากจน ขยะอาหารมักเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการขนส่งจากเกษตรกรไปยังตลาด ดังนั้นควรพิจารณาแก้ปัญหาให้ถูกจุด รณรงค์นิสัยไม่กินเหลือ ตักแก่พอดี ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา ควรนำระบบการขนส่งหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเก็บรักษาผลผลิตเข้าไปช่วยลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น

เหล่านี้คือมาตรการใหญ่ๆ ในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน แล้วสำหรับปุถุชนคนธรรมดาเราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง? อันที่จริงข้อ 5 คือข้อสำคัญที่ทุกคนควรนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ลดการก่อขยะให้น้อยที่สุดด้วยการตักอาหารเท่าที่พอกิน เพื่อป้องกันการกินเหลือ, หมั่นตรวจเช็ควันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ หากไม่แน่ใจว่ายังทานได้ไหม ใช้จมูกดมกลิ่นในการตัดสินใจ มากกว่าที่จะเชื่อฉลากระบุวันหมดอายุหรือวันบริโภคก่อน, บริจาคอาหารที่ไม่ต้องการ แต่ยังกินได้ให้ผู้อื่น, ไม่รังเกียจอาหารที่มีรูปลักษณ์ไม่ได้ตามมาตรฐาน, สนับสนุนร้านค้าท้องถิ่น หรืออาหารพื้นถิ่น เพื่อลดการใช้พลังงานและมลพิษจากการขนส่ง, สร้างบ่อหมักปุ๋ยจากขยะอาหารของตนเอง เพื่อนำไปปลูกพืช หรือหากไม่นำไปหมักก็นำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ ส่วนในระยะยาวคุณสามารถทำได้ด้วยการทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และลองทานผลผลิตที่คุณปลูกเอง ข้อหลังนี้จะช่วยให้ซาบซึ้งถึงความเพียรพยายามกว่าจะได้มาซึ่งอาหารที่เราทาน

เมืองที่มีประชากรจำนวน 10,000 คน ก่อขยะอาหารประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องได้นานถึง 800 ปี

และหากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจร้านค้า หรือร้านอาหาร ทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถทำได้ เพิ่มเติมคือการจัดตั้งส่วนหรือแผนกพิเศษสำหรับอาหารที่ไม่ต้องการเหล่านี้ ในราคาถูกลง หรือแจกฟรี เพราะมีคนมากมายที่ต้องการมัน ในยุโรปมีหลายองค์กรที่รับบริจาคอาหารเหล่านี้จากร้านค้าหรือภัตตาคารเพื่อนำไปปรุงอาหารแก่คนไร้บ้าน ข้อแนะนำเหล่านี้คุณสามารถนำไปปรับใช้อย่างยืดหยุ่นเพื่อให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของคุณเอง ทุกวันนี้ไม่ควรมีใครเข้านอนขณะท้องยังหิวโซ และขยะอาหารคือสิ่งไม่จำเป็นที่สุดที่เราช่วยกันลดมันได้ ไม่ใช่แค่เป็นการช่วยเหลือผู้คนยากจนที่ขาดแคลนอาหาร มากไปกว่านั้นคือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพราะ “การกินให้หมด” มีคุณค่าต่อโลกไม่น้อยไปกว่าการเลิกใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง หรือลุกขึ้นมาใช้ขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว

(Too Good To go คือแอพพลิเคชั่นที่เป็นสื่อกลางช่วยนำอาหารเหลือจากภัตตาคารมาขายใหม่ในราคาย่อมเยา เพื่อลดปริมาณขยะอาหารลง พวกเขามีระบบการทำงานอย่างไรชมได้จากวิดีโอนี้)

 

อ่านเพิ่มเติม

รายการอาหารแห่งอนาคต

 

แหล่งข้อมูล

สารคดีชุด “อนาคตของอาหาร” เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับเดือนพฤษภาคม 2014

One-Third of Food Is Lost or Wasted: What Can Be Done

The Problem of Food Waste

THE PROBLEM OF FOOD WASTE

Solving the problem of Food waste

Feeding the World by Reducing Food Waste

How To End The Food Waste Fiasco

Food Power Per Hour

 

Recommend