ปักหมุดเพื่อไปต่อ ล้อหมุนสู่ความยั่งยืนที่จับต้องได้ของ Grab ประเทศไทย

ปักหมุดเพื่อไปต่อ ล้อหมุนสู่ความยั่งยืนที่จับต้องได้ของ Grab ประเทศไทย

“แกร็บทำเรื่องความยั่งยืนด้วยหรือ ?” เมื่อบริการจัดส่งต้องใช้พลังงานและพลาสติกมากมาย แกร็บจัดการเรื่องนี้อย่างไร?

นี่คือคำถามแรกที่ผู้เขียนสงสัยเมื่อติดต่อกับทีมงานของแกร็บ ประเทศไทย เนื่องจากเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ซึ่งใช้ทรัพยากรด้านพลังงานสูง รวมทั้งบริการจัดส่งอาหารที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วจะปรับรูปแบบการทำธุรกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?

คำตอบอาจเริ่มต้นจากการเปิดใจรับฟังและเปิดกว้างสำหรับข้อมูลใหม่ๆ

ทศวรรษแรกของแกร็บผ่านไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับการก้าวขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มทรงพลังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันแกร็บดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปฟินส์ ไทย และเวียดนาม โดยมีศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญในจีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย และโรมาเนีย จากบริการด้านการขนส่ง ต่อยอดไปถึงบริการจัดส่งสินค้า อาหาร และผู้ช่วยอเนกประสงค์ มาวันนี้แกร็บก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินด้วย นับว่าเดินมาไกลกว่าจุดเริ่มต้นที่เรารู้จักพอสมควร

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย เล่าเส้นทางของการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและมีธรรมภิบาลที่ดี (ESG) ให้เราฟังอย่างละเอียด ทั้งหลักยึดสำคัญที่ทุกประเทศที่แกร็บประกอบกิจการต้องปฏิบัติตาม รวมถึงโครงการต้นแบบที่โดดเด่นจากประเทศไทยที่ช่วยสร้างหมุดหมายใหม่ๆและทำให้การทำธุรกิจดูจะสนุกมากขึ้น

เรียนรู้เรื่องของร้านข้าว คาร์บอนจากท่อไอเสีย และชีวิตที่ขึ้นของไรเดอร์ได้จากบทสัมภาษณ์นี้

ESG ในมุมของแกร็บเป็นอย่างไรและเริ่มต้นจากจุดไหน?

ผมว่าคนยังสับสนระหว่างความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) กับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล (ESG) นะ  บ้านเรามีบริษัทขนาดใหญ่เยอะ มีกำไรมากๆ แล้วเอาเงินไปบริจาคในโครงการอะไรสักอย่าง เราก็มีภาพจำทั้งโครงการปลูกป่า สร้างโรงเรียน หรือทาสีให้ชุมชน นั่นคือรูปแบบเดิมที่เป็นการคืนกำไรสู่สังคมในรูปแบบการบริจาค แต่กับ ESG นั้นต่างออกไป มันคือการเอาความยั่งยืนมาฝังอยู่ในกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งเป็นความแตกต่างที่ชัดเจน

แกร็บเป็นบริษัทเทคโนโลยี ทุกวันนี้เราอยู่ในตลาดหุ้นในฐานะบริษัทมหาชน เราอยู่ในเมืองไทยมาเป็นปีที่ 9 และนับเป็นปีที่ 10 ของการทำธุรกิจ ช่วง 2 ปีหลังนี้เราจะเห็นว่าความยั่งยืนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ESG คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากขึ้น เราเริ่มเรื่องนี้จริงจังในปี 2018 พอมาถึงปีนี้ก็เป็นปีที่อะไรๆ เริ่มผลิดอกออกผลหลายโครงการ ในตอนเริ่มต้นเราก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่า ESG สำหรับเราคืออะไร? ต่อมาก็เริ่มตั้งไข่และเห็นโครงการมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้น

เรามองตัวเองเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยนี่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลายๆ แผนกถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่แค่คิดว่าเราจะโตต่อไปช่วงโควิด-19 อย่างไรนะครับ เราคิดว่าเราเป็นเหมือนกลไกของสังคมไปแล้ว เรามีบทบาทต่อสังคมไทย ภาครัฐและประชาชน ไม่ใช่แค่บริษัทเทคโนโลยีในมุมที่เคยเข้าใจ เรากลายเป็นบริการพื้นฐานในช่วงปิดเมืองของร้านอาหาร ร้านค้าที่ต้องการช่องทางการขาย เป็นช่องทางเดียวที่เขามีอยู่ในตอนนั้น หรืออย่างแพทย์ พยาบาล ประชาชน ผู้ป่วย ที่ต้องการเข้าถึงยา อาหาร หรือกระทั่งบุคลากรที่ต้องการกลับบ้านตอนกลางคืนในช่วงเคอร์ฟิว ก็ใช้บริการของแกร็บ

ผมว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้เรามองตัวเองแต่เรื่องธุรกิจหรือกำไรอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราเกี่ยวข้องความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างชัดเจน

เกี่ยวข้องในมิติไหนบ้าง?

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ในช่วงโควิด-19 ระบาด ทุกคนปิดร้านหมด หันมาขายของบนแพลตฟอร์ม ถ้าเราไปเก็บค่าธรรมเนียมร้านค้าแพงๆ มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ จึงมีโปรแกรมส่งเสริมการขายช่วยให้ร้านค้าเข้าร่วมเต็มไปหมด ช่วงที่คนตกงานเยอะ เราก็ลงทุนระบบเพื่อสนับสนุนให้พวกเขามีงานทำเพื่อเติมอุปสงค์ฝั่งลูกค้าฟู้ดเดลิเวอรี่ที่สูงขึ้น สร้างโอกาสในเวลาเดียวกัน อีกส่วนคือ เราคิดว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าเราสามารถทำให้ธุรกิจโตแบบมีผลกำไรโดยที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมไทยได้ด้วย คงจะเป็นงานที่น่าภาคภูมิใจ ดีต่อทั้งสังคมและองค์กรและช่วยดึงคนเก่งๆ ให้อยากเข้ามาทำงานกับเรา ถ้าเราเอาทั้งสองอย่างมารวมกันได้และวางเป็นกลยุทธ์ขององค์กร มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ตลอดโดยไม่ต้องเปลี่ยนแนวทางกันบ่อยๆ

คิดว่าบทบาทของแกร็บกับการทำงานและคุณภาพชีวิตของไรเดอร์เป็นเช่นไร?

ไรเดอร์หรือคนขับเรายังเป็นรูปแบบฟรีแลนซ์ ซึ่งกฎหมายในประเทศไทยยังอยู่ตรงกลางระหว่างกฎหมายแรงงานที่ดูแลลูกจ้างประจำกับลูกจ้างชั่วคราว คำว่าฟรีแลนซ์ยังไม่ได้ถูกกำหนดอย่างเป็นกิจลักษณะ อย่างช่วงโควิด-19 ระบาด เราจะเห็นว่าคนขับที่เรามีอยู่หลายแสนคน มีแค่ 30% ที่เป็นคนขับประจำ คือขับเกินวันละ 8 ชั่วโมง ที่เหลือขับน้อยกว่านั้น หมายความว่าส่วนใหญ่เขาจะขับเช้ากับเย็นที่เป็นชั่วโมงเร่งด่วน ความต้องการใช้งานสูง เขาอาจจะออกจากบ้านเร็วหน่อยเพื่อไปรับส่งคนได้ 3-4 รอบ แล้วค่อยเข้าทำงานประจำ ตอนเย็นหลังเลิกงานก็ไปรับส่งคนต่อแล้วค่อยกลับบ้าน หารายได้เพิ่มได้อีกเดือนละเป็นหมื่น ถือว่ารายได้สูงนะ และยังกำหนดเองได้ว่าวันไหนอยากทำก็ทำ วันไหนอยากกลับบ้านเร็วก็กลับ ช่วงที่จำเป็นต้องใช้เงินก็มาขับเพิ่ม มันเป็นโอกาสที่เราสร้างขึ้นมา เป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้กับชีวิตเขา

แกร็บมีวิสัยทัศน์เรื่องความยั่งยืนอย่างไร?

บริบทของแกร็บในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เราอาจต่างด้านกลยุทธ์ได้ แต่ภาพใหญ่ต้องไปด้วยกันนั่นคือ Triple Bottom Line ที่ทุกประเทศต้องมี อย่างแรกคือผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม จริงๆ เป็นแนวคิดของแกร็บตั้งแต่แรกอยู่แล้วที่เราเน้นการสร้างโอกาส วิสัยทัศน์ของเราคือ ‘Empower Southeast Asia’ เราช่วยสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างช่องทางการขาย การเข้าถึงระบบดิจิทัล ไปจนถึงเรื่องบริการทางการเงินที่ครอบคลุม

อย่างที่สองคือ การรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง อย่างทุกวันนี้เราพูดเรื่องฝุ่น PM2.5 แกร็บเรามีรถวิ่งในท้องถนนวันหนึ่งหลายสิบล้านเที่ยว มันเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะบอกว่าเรามีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก แม้เราจะไม่ใช่เจ้าของยานพาหนะเหล่านั้น เราไม่ได้สร้างโรงงานที่ปล่อยควัน แต่แพลตฟอร์มเราใช้รถในการวิ่งส่งคน ส่งของ บทบาทของเราคือ เราสามารถทำให้คนขับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประสิทธิภาพบนแพลตฟอร์มให้สูงที่สุดอย่างระบบแผนที่ของเราเอง ที่ทำให้การขนส่งใช้เส้นทางสั้นที่สุด เร็วที่สุดได้ อีกเรื่องก็คือ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ซึ่งเป็นอะไรที่จับต้องได้มากขึ้นแล้วในทุกวันนี้

ส่วนอย่างที่สามคือ การมีธรรมาภิบาลและกระบวนการทางธุรกิจที่ดี เรื่องนี้สำคัญมาก ทุกวันนี้เราจะเห็นข่าวที่ซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีบางองค์กรทำตัวไม่เหมาะสมหรือไม่ทำตามหลักธรรมาภิบาลที่ เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง คนพวกนี้เติบโตขึ้นเร็ว จนอาจคิดว่าเขาจะทำอะไรก็ได้และบางทีก็เกิดการล้ำเส้น สิ่งที่เราทำคือ บรรจุเรื่องนี้เป็นกิจลักษณะเลยว่าธรรมาภิบาลของเราคืออะไรและต้องทำตามให้ได้ นอกจากนี้ เราได้เพิ่มส่วนที่เป็นความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติมเข้าไปด้วย

โจทย์ที่ไม่ง่ายคือการจัดการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ทำได้อย่างไร?

เรามองประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นสองเรื่องคือ การปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นหลักใหญ่ของทุกบริษัทอยู่แล้ว แม้เราจะไม่ใช่บริษัทพลังงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงแต่ทุกคนก็ต้องช่วยคนละไม้คนละมือ ทำเต็มที่ในส่วนของเรา ก็คิดกันว่าจะสนับสนุนให้คนขับของเราใช้รถอีวีได้อย่างไรบ้าง กับอีกเรื่องคือขยะพลาสติกที่เกิดจากการส่งอาหาร ซึ่งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แกร็บมีรถวิ่งเป็นล้านเที่ยวต่อวัน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาย คนสั่งอาหารเราก็หลายสิบล้านครั้งต่อเดือน สร้างขยะพลาสติกจำนวนไม่น้อยเลย

อย่างเรื่องอาหารเรามองเป็นสองส่วนคือ ขยะ ของเหลือทิ้งจากการประกอบอาหาร ถ้าร้านค้าคำนวณไม่ดีก็จะเกิดขยะจากอาหารจำนวนมาก ยังไม่รวมขยะพลาสติกโดยตรงทั้งช้อน ส้อม ภาชนะต่างๆ สิ่งที่เราทำคือ เราให้ข้อมูลเขาว่าเมนูไหนขายดี เมนูไหนขายไม่ดี คาดการณ์ยอดขายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ร้านอาหารจัดการสต็อกของตัวเองได้ดีขึ้นเพื่อไม่ให้มีของเน่าเสียทิ้งเยอะ อีกโครงการที่ผลตอบรับดีมาก คือการไม่รับช้อมส้อม ในระบบจะมีเมนูให้ลููกค้าเลือกว่าไม่ต้องการช้อนส้อมพลาสติกได้ จากสถิติปี 2021 ของแกร็บใน 8 ประเทศที่เราดำเนินธุรกิจ พบว่าเราลดขยะจากช้อนส้อมพลาสติกไปได้ถึง 700 ล้านชุด เป็นการดึงเอาผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งพวกเขาตระหนักถึงเรื่องนี้ดีจนเกิดพฤติกรรมใหม่ในที่สุด

เรื่องภาชนะใส่อาหาร แกร็บอยู่ระหว่างผลักดันให้เปลี่ยนภาชนะพลาสติกเป็นภาชนะกระดาษ ซึ่งต้นทุนจะเพิ่มขึ้น เราทำงานร่วมกับคู่ค้ารายใหญ่ว่าทำอย่างไรได้บ้างจึงจะทำให้ต้นทุนของภาชนะกระดาษถูกกว่าพลาสติกได้เสียที ก็น่าแปลกเหมือนกันนะครับ อะไรที่รักโลกนี่จะแพงทันที เหมือนของที่ดีต่อสุขภาพก็จะแพงว่าของที่ทำลายสุขภาพ เราก็จะพยายามต่อไปเพื่อจูงใจให้ร้านค้าหันมาใช้ภาชนะกระดาษมากขึ้น พร้อมทำงานกับผู้วิจัยพัฒนาว่าทำอย่างไรให้ภาชนะกระดาษมีความคงทนไปจนถึงขั้นที่สามารถรองรับอาหารเปียกได้ เป็นการทำต้นทุนให้แข่งขันได้

แล้วบริหารจัดการเรื่องคาร์บอนอย่างไร?

เราประกาศเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2040 ซึ่งเป็นพันธสัญญาของแกร็บทั้ง 8 ประเทศ ระบุอยู่ในเอกสารเผยแพร่และรายงานความยั่งยืนของเรา ตอนนี้แกร็บทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนกับธุรกิจขนส่ง ปีที่แล้ว (2021) เราพยายามทำเรื่องรถอีวีแต่ตอนนั้นตลาดยังไม่พร้อม ราคารถยังสูง ภาครัฐไม่ได้สนับสนุน ตัวเลือกก็ยังมีไม่มากนัก จุดชาร์จยังไม่ครอบคลุม และความมั่นใจของผู้บริโภคยังน้อย ปีที่แล้วจึงเน้นเรื่องการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) โดยมีตัวเลือกให้ลูกค้าบนแพลตฟอร์มเลยว่า คุณยินดีบริจาคเงินเพื่อทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนหรือเปล่า ซึ่งจะร่วมกันจ่ายเงินกับเรา และเราจะนำเงินที่ได้ไปปลูกป่าที่แม่ฮ่องสอน

อีกอันคือ การใช้ยานยนต์มลพิษต่ำซึ่งนับรวมถึงรถไฮบริดด้วย คือเมื่อภาครัฐประกาศลดภาษีให้ผู้ผลิตรถอีวี ทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนแรกที่ทำคือคือการร่วมมือกันระหว่างแกร็บ ค่ายรถ MG และ K-Leasing เราเห็นว่าจุดแข็งเราคือการเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน เราไม่ได้ต้องการเป็นเจ้าของทุกอย่าง การทำงานกับพันธมิตรเป็นเรื่องที่ดีกว่า เรามีข้อมูล เรารู้ว่าคนขับต้องการอะไร วิ่งวันหนึ่งกี่กิโลเมตร ถ้าจะชาร์จแบตเตอรี่ เขาอยากจะชาร์จที่ไหน กำลังซื้อเขามีกี่บาท ถ้าจะผ่อนรถผ่อนไหวที่เท่าไหร่ เราก็เชิญคู่ค้าที่มีความพร้อมและมุมมองแบบเดียวกับเราเข้ามาคุย อย่าง MG เขาก็มีรถพร้อมส่งมอบในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่สูงเกินไปนัก ส่วนธนาคารกสิกรไทยก็เข้ามาเสริมเรื่องการทำเช่าซื้อ ซึ่งแกร็บกับธนาคารกสิกรไทยปล่อยสินเชื่อร่วมกัน เราช่วยหักเงินจากคนขับเป็นรายวันให้ ถือว่าอยู่ตรงกลางคอยช่วยเก็บเงิน ขณะที่การออกรถต่างๆ ก็เป็นหน้าที่ของธนาคาร นอกจากนี้เรายังจับมือกับกลุ่ม ปตท. เรื่องสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในอนาคตก็จะวางแผนกันต่อว่าจุดชาร์จควรจะไปอยู่ที่ตรงไหน อย่างไรบ้าง

ตั้งเป้าสัดส่วนของรถไฟฟ้าในระบบของแกร็บเท่าไหร่?

เราตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีนับจากนี้ 10% ของรถทั้งหมดบนแพลตฟอร์มของแกร็บต้องเป็นรถอีวี ซึ่งถามว่าท้าทายมั้ยก็ตอบว่ามากเพราะเรามีรถหลายแสนคันทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ในระบบ การที่บอกว่า 10% ก็หมายความว่าต้องมีรถอีวีวิ่งอยู่หลายหมื่นคันในระบบของเรา ซึ่งก็จะทำให้การลดการปล่อยคาร์บนได้อย่างเป็นรูปธรรม  ตอนนี้โครงการรถอีวีสี่ล้อออกไปแล้ว เราอยากจะเพิ่มประเภทของรถให้มากขึ้นกว่านี้ ซึ่งเราเองก็กำลังมองหารถอีวีที่เหมาะสมมาร่วมกันทำตลาดต่อไป ซึ่งเราเน้นที่รถเก๋งขนาดใหญ่หรือเอสยูวี

สิ่งที่เราตั้งใจจะผลักดันในช่วงที่เหลือของปีนี้คือ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งเราศึกษามานานแล้วแต่ยังไม่เจอโมเดลรุ่นที่เหมาะสมจะมาวิ่งบนท้องถนนประเทศไทยเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นรถขนาดเล็ก ล้อเล็กจากจีนหรือไต้หวัน ไม่เหมาะกับบ้านเราที่ลักษณะถนนซับซ้อนและหลากหลาย เราก็บอกกับผู้ผลิตและให้ข้อมูลกับบริษัทเหล่านี้โดยเฉพาะเอกชนของไทยเราเอง เชิญมาคุยกันที่ออฟฟิศและเล่าผลตอบรับของคนขับให้พวกเขาฟัง  เหมือนเราไปช่วยเขาทำวิจัยพัฒนาด้วยเลย เพื่อพวกเขาจะนำข้อมูลพวกนี้ไปผลิตรุ่นที่เหมาะสมกับประเทศไทยในที่สุด ซึ่งถ้ามีระบบบริการที่ดี การซ่อมบำรุงที่เหมาะสม เราก็จะทำโครงการไปพร้อมกับพวกเขาและทำตลาดไปยังกลุ่มคนขับของเราโดยตรง คือมีอุปสงค์ให้ชัดเจนเลยถ้าของคุณดีจริง เราจะช่วยผลักดันให้  ถ้าเราทำได้ผมว่าตัวเลข 10% ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

เห็นว่าแกร็บพัฒนาแผนที่ของตัวเองมาใช้งาน เป็นอย่างไร?

แกร็บ ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำร่องเรื่องนี้ เราพัฒนาแผนที่เพื่อลดการใช้เส้นทางและพลังงานลง เราพัฒนาแผนที่ของเราเองได้เกือบปีแล้ว โดยใช้กล้องติดกับหมวกกันน็อกของคนขับ ซึ่งผลตอบรับนับว่าดี ประเทศอื่นๆ ก็นำโมเดลของเราเอาไปใช้  คือต้องบอกว่าประเทศอย่างไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซียนี่ตรอกซอกซอยเยอะมาก เราก็เลยให้คนขับมามีส่วนร่วมกับเรา ติดกล้องให้ ถ้าคุณไปไหนแล้วปักหมุดให้เรา คุณได้เงินเพิ่มจากค่าส่งอาหารหรือค่าเที่ยว มันก็ดีทั้งคู่ เราได้ข้อมูล คนขับก็ได้เงินเพิ่ม เราจะเก็บข้อมูลเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีกให้ครอบคลุมทุกจังหวัดที่มีแกร็บบริการ ทีนี้ถ้าแผนที่แม่นยำขึ้น คนขับก็เสียเวลาวนหาสถานที่จัดส่งน้อยลง ประหยัดทั้งน้ำมันและเวลาไปในตัว

ดูเหมือนแกร็บจะใหญ่มากขึ้นทุกวันและกลายเป็นสัญลักษณ์ของบริการด้านนี้ไปแล้ว?

ทางเราก็ดีใจนะครับที่คนชื่นชอบ การที่ธุรกิจของเราเดินมาจนถึงวันนี้ มีคนขับเยอะขนาดนี้ เราไม่ได้จ่ายเงินให้สูงที่สุดนะ แพลตฟอร์มอื่นอาจจะจ่ายมากกว่าด้วยซ้ำ แต่อยู่กับเราเขา(คนขับ)มีความสุขมากกว่า เรามีงานหลากหลายกว่า ทำรายได้ต่อวันได้สูงกว่า นอกจากนี้ยังมีส่วนอื่นๆอย่างประกัน สินเชื่อ ส่วนลดร้านค้าและปั๊มน้ำมัน คนขับเราก็รู้ว่าสึกนี่มันดีและยังอยู่กับเราต่อไปครับ

– – – –

เรื่อง มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม


อ่านเพิ่มเติม World Economic Forum กับความยั่งยืน ในวันที่สงครามบดบังความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม

Recommend