ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ฝุ่น PM 2.5 (ตอนที่ 1)

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ฝุ่น PM 2.5 (ตอนที่ 1)

ภาพถ่ายโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ฝุ่น PM 2.5 (ตอนที่ 1)

ทำความรู้จัก PM 2.5

PM ย่อมาจาก Particulate Matter หรืออนุภาคใดๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (ไมครอน) ซึ่งขนจมูกไม่ดักจับได้ โดยเป็นสารแขวนลอยที่ฟุ้งกระจายในชั้นบรรยากาศ อาจอยู่ในสภาพของเหลวหรือของแข็งขนาดเล็ก เช่น อนุภาคต่างๆ เชื้อโรค หรือฝุ่นละออง จนทำให้เรามองเห็นในภาพกว้างเป็นลักษณะคล้ายหมอกหรือควัน

ฝุ่นละออง

ในประเทศไทยเริ่มตรวจวัดค่า PM 2.5 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ก่อนที่กรมควบคุมมลพิษจะมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นละอองและข้อมูลอื่นๆ หลังจากนั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงออกประกาศการกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใน พ.ศ. 2553

ในสถานการณ์ปัจจุบันนิยมใช้การวัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใช้ระบุคุณภาพอากาศของสถานที่นั้นๆ โดยตัวเลขบอกปริมาณ PM 2.5 เป็นหน่วย ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (μg/m3)

ค่าเฉลี่ย AQI ของ PM 2.5 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้ที่ 25 μg/m3  สำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 10 μg/m3 สำหรับค่าเฉลี่ยต่อปี ขณะที่ประเทศไทยกำหนดมาตรฐานไว้ที่ 50 μg/m3  ในค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 25 μg/m3 ในค่าเฉลี่ยต่อปี ซึ่งสูงกว่า WHO ถึงกว่า 2 เท่า

ฝุ่นละออง
ดัชนีคุณภาพอากาศ 1 ค่า เท่ากับ ค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ โดยแบ่งเป็น 6 ระดับตามภาพ ตั้งแต่ 0-500 ซึ่งแต่ละระดับใช้สีเปรียบเทียบที่แตกต่างกัน หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกิน 100 แสดงว่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ มีค่าเกินมาตรฐาน และอาจส่งผลต่อสุขภาพ

ฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ในที่โล่งของการเกษตร การคมนาคมขนส่ง ไอเสียจากรถยนต์ ฝุ่น ควันดำ รวมถึงภัยธรรมชาติอย่างไฟป่าและภูเขาไฟระเบิด ในเวลาปกติชั้นบรรยากาศจะไล่อุณหภูมิความร้อนบริเวณพื้นดินขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน ทำให้ฝุ่นต่างๆ ลอยขึ้นสูงและถูกกระแสลมพัดออกไปในที่สุด แต่ในฤดูหนาวอุณหภูมิที่พื้นดินมักเย็นกว่าชั้นบรรยากาศด้านบน ทำให้ชั้นบรรยากาศเป็นแนวผกผัน (Inversion Layer) จึงเปรียบเหมือนโดมครอบพื้นที่ไว้ ทำให้ฝุ่นละอองไม่สามารถขึ้นสูงด้านบนได้ และสะสมจนกลายเป็นฝุ่นควันฟุ้งกระจายทั่วเมืองในที่สุด

แนวผกผันคืออะไร

แนวผกผัน (Inversion Layer) หรือเรียกอีกอย่างว่า ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ของอุณหภูมิปกติในชั้นบรรยากาศ ซึ่งโดยปกติ อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศจะลดลงตามประมาณ 6.4 องศาเซลเซียสในทุกๆ ความสูง 1,000 เมตร

สภาวะของปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันทำให้ควันและฝุ่นละอองต่างๆ ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ช่วงเวลากลางคืน อุณหภูมิเหนือพื้นดินจะมีความเย็นกว่าอากาศข้างบน เนื่องจากมีการคายความร้อนของพื้นผิวโลก จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันขึ้น

สำหรับในพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมและเมืองใหญ่ๆ ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ควันจะไม่สามารถลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้ เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศโดยรอบมีค่าสูงกว่า เรียกว่า แนวผกผัน (Inversion Layer) ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาตอนเช้าและหัวค่ำของฤดูหนาว โดยเฉพาะคืนที่ไม่มีลมและท้องฟ้าปลอดโปร่ง

ฝุ่น, PM2.5, มลพิษทางอากาศ, โดมความร้อน, ฝุ่นละออง
ภาพจำลองการเกิดความร้อนผกผันแบบปิด ที่ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในประเทศไทย เมื่อเดือน มกราคม 2562

ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมแบบใดในประเทศไทยมักก่อมลพิษ PM 2.5

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวก่อมลพิษทั้งทางด้านการผลิต และการเผาของเสีย ซึ่งทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น อุตสาหกรรมที่มีการเผาไหม้จากการผลิตในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานถลุงโลหะ โรงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน โดยโรงงานเหล่านี้ไม่มีการกรองฝุ่น PM 2.5 ก่อนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนมลพิษที่เกิดจากภาคเกษตรกรรมนั้น มักมาจากการเผาไร่อ้อยขนาดใหญ่ ถึงแม้จะเป็นวิธีที่สะดวกสบายสำหรับคนงานที่เข้าไปตัดอ้อย แต่ผลกระทบจากการเผาไหม้สามารถแพร่กระจายออกไปในวงกว้างได้ง่าย

ฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราได้อย่างมากมาย เหตุเพราะ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งสามารถเล็ดลอดเข้าจมูกไปสู่เส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะได้ โดยผลกระทบเบื้องต้นคือเกิดการระคายเคืองต่อดวงตา แสบจมูก และส่งผลให้ผิวพรรณบริเวณใบหน้าเกิดริ้วรอย จุดด่างดำ เหี่ยวย่นง่าย และถ้าฝุ่นละอองสะสมอยู่ในอวัยวะเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหอบหืด


อ่านเพิ่มเติม : “ต้นไม้” วิธีที่ง่ายและยั่งยืนที่สุดในการลดปัญหาฝุ่นควัน

Recommend