ปลาพลวง ถั่วฝักยาว หรือ เสือโคร่งแห่งสายน้ำ

ปลาพลวง ถั่วฝักยาว หรือ เสือโคร่งแห่งสายน้ำ

บทสนทนารอบกองไฟ

รอบกองไฟคืนนั้นเต็มไปด้วยหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจ ดร.เดฟ เล่าประสบการณ์ที่เขาได้จากภูฏานว่า “มาห์เซียร์เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลำน้ำใสสะอาดและมีการย้ายถิ่นตลอดลำน้ำขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำเหมือนปลาแซลมอน ทำให้ปลามาห์เซียร์เป็นตัวแทนของการอนุรักษ์ปลาน้ำจืดที่ส่งผลไปถึงการอนุรักษ์ทั้งลำน้ำ ที่ภูฏานยกให้ปลามาห์เซียร์เป็น “เสือโคร่งแห่งสายน้ำ” (River Tiger) เพราะเปรียบได้กับเสือที่เป็นเหมือนตัวแทนของการอนุรักษ์ระบบนิเวศของป่า”

“ที่ภูฏาน ปลามาห์เซียร์เป็นหนึ่งในสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนา ในภาพวาดทางศาสนามีปลามาห์เซียร์เป็นส่วนหนึ่งด้วยนะ” แอรอนกล่าวเสริม เขาหมายถึง Eight Auspicious Signs หรือสัญลักษณ์มงคลทั้ง 8 ของศาสนาพุทธ นิกายวัชรยาน เรื่องนี้บ้านเรายังต้องสื่อความเข้าใจกันอีกมาก เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังรู้จักปลาพลวงในฐานะปลาเลี้ยงตามน้ำตกที่คอยกินถั่วฝักยาวจากมือของนักท่องเที่ยว แต่ผมก็เริ่มมีหวังว่าสักวันเราอาจจะได้ไปเฝ้าดูปลาพลวงขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำกันโดยไม่ต้องบินไปดูปลาแซลมอนที่อยู่ไกลๆ

ปลาพลวง, การวิจัย, รอบกองไฟ
รอบกองไฟที่อบอุ่น เต็มไปด้วยหัวข้อสนทนาที่ให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับปลาทั่วโลก

“ที่อเมริกาถึงแม้ว่าการอนุรักษ์ปลาของเราจะได้ผลแต่เราก็ทำอะไรพลาดมาเยอะนะ” ดร.เดฟ บอกและเล่าว่า “เรื่องการเพาะเลี้ยงปลาแล้วปล่อยกลับลงแม่น้ำนี่แหละเรื่องใหญ่เลย เพราะปลาที่เพาะเลี้ยงมันไม่ได้เติบโตมาแบบธรรมชาติ และได้ทำให้ปลาธรรมชาติแท้ๆ หายไปเกือบหมด” เขาอธิบายอีกยาวซึ่งน่าสนใจมาก

จากการศึกษาครั้งนี้ ถ้าเราสามารถเข้าใจการเดินทางและวงจรชีวิตของปลาพลวงและปลาเวียนได้ สิ่งนี้จะเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การตัดสินใจสำหรับการจัดการหลายๆ อย่างเช่น เราควรจะมีเขื่อนหรือไม่ ถ้ามีควรจะสร้างตรงไหน หรือการอนุรักษ์ต้นน้ำหรือการทำอะไรจะช่วยให้ปลาทั้งสองชนิดสามารถเพิ่มจำนวนได้โดยธรรมชาติโดยที่เราไม่ต้องไปเพาะเลี้ยงหรือให้อาหารมัน

“แทนที่จะอนุรักษ์เป็นช่วงๆ หน้าหมู่บ้าน ผมว่าเราควรจะสนับสนุนให้ชาวบ้านที่นี่อนุรักษ์ปลาตลอดแม่น้ำเลยนะ ให้เขาหารายได้จากการตกปลาแล้วไปซื้ออาหารอื่นทดแทน ซื้อหมูมาเลี้ยง ซื้อปลามาเลี้ยงในบ่อก็ได้” จิกมีออกความเห็นและให้เหตุผลว่า ที่ภูฏาน การตกปลาทุกชนิดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยกเว้นการตกเพื่อเกมส์กีฬาซึ่งเพิ่งจะเริ่มอนุญาตเมื่อไม่นานมานี้ คนภูฏานเกือบทั้งหมดเห็นว่าการตกปลาเป็นเรื่องบาปเช่นเดียวกับคนไทยในเมืองใหญ่

ปลาพลวง, เขตอนุรักษฺ์
ภาพจากเขตอนุรักษ์ปลาในลำน้ำว้า จ.น่าน จากสบมาง ปลาสีเข้มที่เห็นมีจำนวนมากนี้คือปลาพลวง ส่วนปลาขนาดใหญ่สีเทา ที่เห็นอยู่ในน้ำลึกกว่านั้นคือปลาเวียน จะเห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่ากันมาก

เราถกเถียงในประเด็นนั้นกันด้วยความเห็นที่แตกต่าง (ท่านอานันท์ ปันยารชุน เรียกว่าการถกเถียงเช่นนี้ว่า dialogue ไม่ใช่ debate เพื่อเอาชนะ) ผมเสนอว่า การที่ชาวบ้านริเริ่มอนุรักษ์ปลาไว้ก็เพื่อรักษาให้ลูกหลานเขามีอาหารกินตลอดไป คุณค่าที่แท้จริงของปลาที่นี่อยู่ตรงนี้ เงินที่ได้จากนักตกปลาเป็นเพียงรายได้เสริม เราไม่ควรจะเอาเรื่องสมมุตินั้นมาแทนที่เรื่องของชีวิตจริงของคนที่นี่ และไม่ควรเอาเงินเข้ามาเป็นตัวแปรแทนวิถีงดงามที่คนในพื้นที่สามารถหาอาหารชั้นดีและสะอาดได้จากธรรมชาติอย่างยั่งยืนเช่นนี้

ดร.อภินันท์ แบ่งปันมุมมองที่แตกต่างออกไป สำหรับอาจารย์ผู้ที่คลุกคลีกับลุ่มน้ำในภาคเหนือของประเทศไทยมากว่า 20 ปี ความยาวของเขตอนุรักษ์อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด “ยาฆ่าหญ้าไม่ได้ฆ่าเฉพาะหญ้านะ เมื่อถูกชะลงแม่น้ำ มันฆ่าตะไคร่น้ำ ฆ่าแพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารของปลาและแมลงที่เป็นอาหารหลักของปลาไปด้วย” ดร.อภินันท์ บอก “เราห้ามเขาใช้ยาไม่ได้หรอก แต่เราต้องหารายได้อื่นมาทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว” คำพูดนั้นทำให้ผมนอนไม่หลับอยู่นานแม้จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบกองไฟไปหลายกระป๋อง

Recommend