แรร์เอิร์ธ แร่ที่กุมชะตาแห่งสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

แรร์เอิร์ธ แร่ที่กุมชะตาแห่งสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

หน่วยการผลิต แร่แรร์เอิร์ธ neodymium ทั่วโลก ต้องเพิ่มการผลิตถึง 5 เท่า เพื่อนำไปใช้สำหรับผลิตกังหันลม ซึ่งจะเป็นพลังงานทดแทนได้ในอนาคต ภาพถ่ายโดย NELSON CHING, BLOOMBERG/GETTY IMAGES


แร่แรร์เอิร์ธ (Rare-Earth Element) หรือกลุ่มแร่หายาก คือสินแร่ของโลกที่เป็นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งบัดนี้อาจกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญในศึกสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา

เมื่อประเทศใหญ่ของโลกอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาขยับตัว โลกก็สั่นไหว

ขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตามอง สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อ หลายมาตรการที่ทั้งสองประเทศนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าจากทั้งสองประเทศ หรือที่สร้างความฮือฮาไปไม่น้อย คือการที่สหรัฐอเมริกาสั่งห้ามการใช้งานอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและการสื่อสารจากบริษัทที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึงบริษัทเทคโนโลยีการสื่อสารจากประเทศจีน

และเมื่อเร็วๆ นี้ ท่าทีในการตอบโต้ครั้งใหม่ของจีน คือการแสดงออกว่าจะระงับการส่งแร่ธาตุสำคัญซึ่งจำเป็นในการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยี (โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ) ของทั้งสองประเทศ ที่เรียกว่า แรร์เอิร์ธ (Rare-Earth) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลายคนมองว่า เป็นการตอบโต้ที่น่ากลัวไม่น้อย

แร่หายาก, แร่แรร์เอิร์ธ
วัสดุผสมเหล็กแร่แรร์เอิร์ธ (Rare-earth metal composites) สามารถนำไปผลิตแม่เหล็กแรงดึงสูงได้ เนื่องจากโครงสร้างผลึกได้เรียงการเรียงตัวของแม่เหล็กไปในทางเดียว ทำให้มีแรงดึงที่สูง ในภาพคือแม่เหล็กจากแร่แรร์เอิร์ธ ที่ถูกจัดแสดงในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ประเทศจีน ภาพถ่ายโดย NELSON CHING, BLOOMBERG/GETTY IMAGES

แร่ที่พร้อมสั่นสะเทือนโลกทั้งใบ

แร่แรร์เอิร์ธ หรือชื่อเต็มคือ Rare-Earth Element เป็นสินแร่ชนิดโลหะธาตุ เป็นแร่ธาตุ 17 ชนิดที่เรียกว่า กลุ่มธาตุแลนทาไนด์ (Lanthanide) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายโลหะ แต่ไม่ได้เอามาผลิตเป็นโลหะโดยตรง โดยเหตุที่เรียกว่าเป็นแร่หายาก ไม่ได้เป็นเพราะว่าแร่เหล่านี้มีน้อย แต่เป็นเพราะสินแร่ที่พบในบริเวณเปลือกโลกเหล่านี้มักจะไม่รวมกลุ่มอยู่ในที่เดียวกัน และการสกัดแร่ชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ยากต่อการสร้างเหมืองเพื่อขุดเจาะทำเหมืองแร่ชนิดนี้

โดยวิธีการถลุงแร่แรร์เอิร์ธแบบคร่าวๆ คือต้องถลุงและสกัดเอาสารบริสุทธิ์จากแร่ เพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า ออกไซด์ของโลหะ ก่อนที่จะเอาออกไซด์มาบดเป็นผง และแยกออกมาเป็นชนิดต่างๆ กัน แล้วนำไปจำหน่ายในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ

แร่หายากเหล่านี้ถูกนำไปใช้ผลิตสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากมาย เช่น

– Promethium ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่พลังงานนิวเคลียร์
– Lanthanum ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกล้องถ่ายภาพ เช่น กระจกเลนส์ ไฟถ่ายภาพยนตร์
– Yttrium ใช้ในการผลิตหลอดภาพของทีวีสี เตาไมโครเวฟ
– Neodymium ใช้ในการผลิตแม่เหล็กที่ใช้ในการผลิตลำโพงและฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์
– Praseodymium ใช้ในการผลิตใยแก้วนำแสงและเครื่องยนต์ของเครื่องบิน

แร่หายาก, แร่แรร์เอิร์ธ
ภาพคนงานในเหมืองแห่งหนึ่งที่มณฑลเจียงซี ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตแร่แรร์เอิร์ธร้อยละ 95 ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญในการผลิตแหล่งพลังงานในอนาคต ภาพถ่ายโดย  REUTERS

แม้จะยกตัวอย่างเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่ก็น่าจะทำให้ทราบแล้วว่าสินแร่แรร์เอิร์ธนั้นมีความสำคัญมากสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างไรบ้าง โดยปัจจุบัน จีนคือผู้ผลิตแร่แรร์เอิร์ธที่มีอัตราสูงถึงร้อยละ 95 ของอัตราการใช้งานของโลก อาจกล่าวได้ว่าจีนนั้นขึ้นเป็นมหาอำนาจได้ ส่วนหนึ่งมาจากการขายแร่เหล่านี้

แน่นอนว่าสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาแร่แรร์เอิร์ธจากจีนเพื่อผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงเป็นส่วนประกอบของสมาร์ตโฟนยี่ห้อดัง โดยสหรัฐฯ ต้องนำเข้าแร่แรร์เอิร์ธจากจีนคิดเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณการใช้ในประเทศ ทำให้มาตรการนี้เป็นการพลิกเกมครั้งสำคัญในสงครามการค้าของจีนเลยก็ว่าได้ และทำให้สหรัฐฯ ต้องพิจารณาถึงผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่อาจจะเกิดขึ้นการอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเทคโนโลยีของประเทศ

สำรวจปริมาณแร่หายากของโลก

จีนเป็นประเทศที่ผลิตและมีปริมาณสำรองของแร่แรร์เอิร์ธมากที่สุดในโลก แต่ทว่าก็มีอีกหลายประเทศในโลกที่มีทรัพยากรแบบเดียวกันนี้ โดยในการสำรวจเมื่อปี 2560 พบข้อมูลปริมาณกำลังการผลิตแร่แรร์เอิร์ธ จำนวนดังต่อไปนี้

1. ประเทศจีน กำลังการผลิต 105,000 เมตริกตัน
2. ออสเตรเลีย กำลังการผลิต 20,000 เมตริกตัน
3. รัสเซีย กำลังการผลิต 3,000 เมตริกตัน
4. บราซิล กำลังการผลิต 2,000 เมตริกตัน
5. ไทย กำลังการผลิต 1,600 เมตริกตัน

นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ที่มีกำลังการผลิตแร่แรร์เอิร์ธในปริมาณมากรองลงมา เช่น อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม

แร่หายาก, แร่แรร์เอิร์ธ, ท่าเรือ, มณฑลเจียงซี
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นแร่หายาก แต่ก็สามารถพบได้ทั่วไป เพียงแต่สินแร่เหล่านี้มักจะไม่รวมกลุ่มอยู่ในที่เดียวกันในพื้นดินเท่านั้น ซึ่งทำให้แร่หายากที่ท่าเรือในมณฑลเจียงซูแห่งนี้มีมูลค่ามหาศาลและถูกคิดภาษีสิ่งแวดล้อม ภาพถ่ายโดย IMAGINECHINA/CORBIS

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนเป็นผู้ครองตลาดการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธ นอกจากปริมาณแร่ที่มีในประเทศแล้ว จีนยังมีศักยภาพในการผลิตแร่ที่ราคาถูก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จนทำให้สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทผลิตสินค้าทางเทคโนโลยีจากประเทศอื่นๆ เข้ามาทั้งฐานการผลิตในจีน

ถ้าสหรัฐฯ ยังไม่ยอมลดราวาศอกกับจีนในสงครามการค้า อาจจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการไปเจรจากับประเทศอื่นๆ ที่มีกำลังการผลิตรองลงมา เช่น ออสเตรเลีย รัสเซีย หรือแม้กระทั่งประเทศไทย แต่นั้นก็จะทำให้สหรัฐต้องซื้อแร่ชนิดนี้ในราคาที่สูง และอาจมีปริมาณแร่แรร์เอิร์ธที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของตลาดได้ในระยะยาว

เราอาจจะกล่าวได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่ผู้นำหรือเจ้าของอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของทั้งสองประเทศ แต่เป็นผู้คนทั่วไป ที่ต้องพึ่งพิงสินค้าเหล่านี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แหล่งอ้างอิง

“อยากรู้..ต้องได้รู้” แร่ rare-earth สำคัญอย่างไร อเมริกาถึงต้องหยุดเมื่อจีนขยับ

ทำความรู้จัก Rare Earth ที่จีนอาจใช้ต่อรองกับสหรัฐฯ

แร่ Rare Earth คืออะไร ? ทำไมจีนใช้ขู่สหรัฐฯ ทำสงครามการค้า

รู้หรือไม่ ไทยเป็นเบอร์ 5 ผู้ผลิต “แร่ Rare Earth” แร่หายากที่เป็นกุญแจสำคัญของสงครามการค้า

สินแร่หายากหรือ rare earth คืออะไรและทำไมจึงกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ?

10 Top Countries for Rare Earth Metal Production   


อ่านเพิ่มเติม พวกเขาจะอยู่รอดอย่างไร เมื่อประเทศจีนกำลังพึ่งพาทรัพยากรที่กำลังลดลง

Recommend