นักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นว่าเกาะ กรีนแลนด์ กำลังเข้าสู่จุดวิกฤต และมีแนวโน้มทำให้ระดับน้ำทะเลของโลกสูงขึ้น
มีงานวิจัยใหม่เตือนว่าน้ำแข็งของเกาะ กรีนแลนด์ กำลังละลายรวดเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดเอาไว้ แต่ทว่า สิ่งที่พวกเขาไม่คาดคิดมาก่อนคือปริมาณของน้ำแข็งที่ละลายส่วนใหญ่เกิดจากแผ่นน้ำแข็งที่อยู่บนเกาะกรีนแลนด์ ไม่ได้มาจากธารน้ำแข็งของกรีนแลนด์เอง
งานศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Proceeding of the National Academy of Science (PNAS) ระบุว่า การสูญเสียปริมาณน้ำแข็งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2003 ถึงช่วงกลางปี 2013 เกิดจากน้ำแข็งทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากบรรดาธารน้ำแข็งขนาดใหญ่
เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างกรีนแลนด์ได้อยู่ในจุดวิกฤตฉับพลันในช่วงปี 2002-2003 อันเป็นช่วงเวลาที่มีการสูญเสียปริมาณน้ำแข็งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไมเคิล เบวิส นักธรณีวิทยาประจำมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต ผู้เขียนนำงานวิจัยในครั้งนี้ กล่าวและเสริมว่า ในปี 2012 ปริมาณน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์ละลายมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวคือ มีการละลายของน้ำแข็งสูงถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2003
การละลายของน้ำแข็งในอัตราเร่งนี้มาจากน้ำแข็งบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ อันเป็นภูมิภาคที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าเป็นพื้นที่ที่การละลายของน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว โดยก่อนหน้านี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างมุ่งความสนใจไปที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ อันเป็นสถานที่ที่มีธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ในด้านมหาสมุทรแอตแลนติก
“เราทราบว่าเรามีหนึ่งปัญหาใหญ่ นั่นคือการละลายของน้ำแข็งทำให้ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่เกิดการแตกตัว” เบวิสกล่าวและเสริมว่า และตอนนี้เราได้พบปัญหาที่สองคือ ก้อนน้ำแข็งจำนวนมากได้ละลายเป็นน้ำและไหลลงสู่ทะเล
ตามข้อมูลจากดาวเทียม GRACE ขององค์กรนาซาและสถานีระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS Stations) ที่กระจายตัวอยู่ตามชายฝั่งของเกาะกรีนแลนด์ระบุว่า ระหว่างปี 2002 จนถึงปี 2016 กรีนแลนด์ได้สูญเสียปริมาณน้ำแข็งราว 280 พันล้านตันต่อปี โดยค่าเฉลี่ยของปริมาณการละลายของน้ำแข็งนี้เทียบเท่าได้กับพื้นที่ของรัฐฟลอริดาและนครนิวยอร์ก
“การละลายของน้ำแข็งนี้เป็นสาเหตุของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และเรากำลังเฝ้าดูแผ่นน้ำแข็งละลายไปยังจุดวิกฤต” เบวิสกล่าวเสริม
แผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์มีความหนาถึง 3,000 เมตร และมีปริมาณที่จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นได้อีกราว 7 เมตร ในช่วงศตวรรษที่ 20 เกาะกรีนแลนด์สูญเสียน้ำแข็งทั้งหมดไปประมาณ 9,000 ตัน ทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 25 มิลลิเมตร (ต้องมีปริมาณน้ำแข็ง 360 พันล้านตันเพื่อให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 1 มิลลิเมตร)
อย่างไรก็ตาม เกาะกรีนแลนด์ถูกทำให้เล็กลงโดยแผ่นน้ำแข็งแอตแลนติก ในกรณีที่แผ่นน้ำแข็งนี้ละลายหมด ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 57 เมตร ด้านทวีปแอนตาร์กติกาได้มีการละลายของน้ำแข็งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน กล่าวคือ มีอัตราการละลายของน้ำแข็งเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จากการรายงานเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีการละลายของน้ำแข็งโดยเฉลี่ย 252 พันล้านตันต่อปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
การละลายของน้ำแข็งเกิดจากอะไร
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียงหนึ่งองศาคือสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการละลายน้ำแข็งของโลกครั้งมโหฬารนี้ ในเกาะกรีนแลนด์ บรรดานักวิจัยค้นพบว่าภาวะโลกร้อน ประกอบกับปรากฏการณ์การเคลื่อนตัวของกระแสลมแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Oscillation) ทำให้เกิดการละลายของผิวหน้าน้ำแข็งอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูร้อน
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนตัวของกระแสลมแอตแลนติกเหนือนั้นเป็นเรื่องปกติ ทว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติในความดันบรรยากาศ (atmospheric pressure) ที่นำพาความอบอุ่น และสภาพอากาศแบบแสงแดดจ้ามายังด้านตะวันตกของกรีนแลนด์ซึ่งกำลังอยู่ในระยะเวลาที่ย่ำแย่ (negative phase) โดยก่อนในช่วงปี 2000 ปรากฏการณ์การเคลื่อนตัวดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดการละลายของน้ำแข็งอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่หลังจากนั้น ระยะเวลาที่ย่ำแย่นี้ส่งผลให้น้ำแข็งละลายเพิ่มมากขึ้น
สิ่งใดจะเกิดขึ้นต่อจากนี้
ถ้าไม่มีการทำสิ่งใดเพื่อหยุดการเผาไหม้พลังงานฟอสซิลที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น น้ำแข็งส่วนใหญ่ของเกาะกรีนแลนด์จะละลาย และปริมาณน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นอีกราว 7 เมตร ริชาร์ด อัลลีย์ นักธรณีวิทยาธารน้ำแข็งแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต กล่าวและเสริมว่า การละลายของน้ำแข็งเช่นนี้เกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาราวศตวรรษ อย่างไรก็ตาม นี่คือการส่งสัญญาณเตือนว่า การละลายของน้ำแข็งกรีนแลนด์อาจใช้เวลาเพียง 20-30 ปี หรืออาจเร็วกว่านั้น และถ้าปรากฏการณ์เช่นนี้ยังดำเนินต่อไป เกาะกรีนแลนด์จะละลายไปจนไม่อาจหวนคืนกลับมาได้ดังเดิม
ยังมีเรื่องน่ากังวลอีกเรื่องหนึ่งคือ น้ำที่ละลายจากน้ำแข็งนี้ได้หน่วงกระแสน้ำกัลฟ์สตรีม (Gulf Stream) หรือที่รู้จักกันในนามกระแสน้ำ AMOC (Atlantic Meridional Overturning Circulation) ที่นำพากระแสน้ำอุ่นจากบริเวณเส้นศูนย์สูตรสู่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ และผลักกระแสน้ำเย็นลงสู่ใต้ทะเลลึก และทำให้ภูมิภาคยุโรปตะวันตกมีสภาพอากาศที่อบอุ่นมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในปีที่แล้ว เหล่านักวิจัยรายงานว่า กระแสน้ำ AMOC นี้ได้ลดกำลังลงราวร้อยละ 15 ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา