เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 สำนักข่าว ไทยพีบีเอส รายงานว่า กรมป่าไม้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำเจ้าหน้าที่กว่า 200 คน ลงพื้นที่ดับไฟป่า พรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช
หลังพบว่า ระยะเวลาภายใน 7 เดือนเกิดไฟไหม้ในป่า พรุควนเคร็ง 88 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ป่าจำนวน 4,968 ไร่ โดยระบุต้นเหตุชัดเจน คือ การเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร และหาปลาในป่าพรุ
รู้จักกับพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ และไฟป่าพรุ
พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland)
คำจำกัดความตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ กล่าวว่า
พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) หมายถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือ น้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเลและที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร
พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้
1. พื้นที่ชุ่มน้ำทางทะเล และชายฝั่งทะเล (Marine and Coastal Wetlands) ได้แก่ แนวปะการังชายฝั่ง หาดทราย แหล่งน้ำกร่อย หาดโคลน หาดเลน ป่าชายเลน
2. พื้นที่ชุ่มน้ำภายในแผ่นดินใหญ่ (Inland Wetlands) เช่น ทะเลสาบ หนอง บึง ห้วย ป่าพรุ
3. พื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น (Human-made Wetlands) เช่น อ่างเก็บน้ำ สระน้ำ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่เกษตรกรรม
ดังนั้นป่าพรุจึงเป็นหนึ่งในประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีระบบนิเวศภายในที่แตกต่างจากป่าบกทั่วไป
ลักษณะโดยทั่วไปของป่าพรุ
คำว่า พรุ เป็น คำสามัญที่ชาวบ้านทางภาคใต้ใช้เรียกบริเวณที่เป็นที่ลุ่มชุ่มชื้น มีน้ำแช่ขังมาก มีซากผุพังของต้นไม้และพันธุ์พืชทับถมมากหรือน้อย เวลาเหยียบย่ำจะยุบตัวและมีความรู้สึกหยุ่นๆ
ป่าพรุ (peat swamp forest) เกิดจากแอ่งน้ำจืดขังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และมีการสะสมของชั้นดินอินทรียวัตถุ ได้แก่ ซากพืช ซากต้นไม้ ใบไม้ที่ย่อยสลายอย่างช้า ๆ กลายเป็นดินพีท (peat) หรือดินอินทรีย์ที่มีลักษณะหยุ่นยวบเหมือนฟองน้ำ มีความหนาแน่นน้อย อุ้มน้ำได้มาก
ไฟไหม้ป่าพรุ
จากลักษณะทางกายภาพของป่าพรุ ส่งผลให้ชั้นดินและซากอินทรีย์ที่ทับกันอยู่ด้านล่างถมกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ในช่วงอากาศแห้งแล้งจัด หรือมีการระบายน้ำออกจากป่าพรุ จนระดับน้ำในป่าพรุลดต่ำลงกว่าระดับผิวดิน เป็นช่วงเวลาที่พบไฟไหม้ป่าพรุบ่อยครั้งที่สุด
ไฟไหม้ป่าพรุมีลักษณะพิเศษ คือเป็นไฟกึ่งผิวดินกึ่งใต้ดิน (Semi-Ground Fire) คือส่วนหนึ่งจะไหม้ในแนวระนาบไปตามผิวพื้นป่าเช่นเดียวกับไฟผิวดิน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะไหม้ในแนวดิ่งลึกลงไปในชั้นดินพรุ ซึ่งในเรื่องนี้ ถึงแม้ชั้นดินพรุบางแห่งจะหนาหลายเมตรก็ตาม แต่ไฟในแนวดิ่งจะไหม้ลึกลงไปได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากยิ่งลึกปริมาณออกซิเจนจะยิ่งน้อย และใกล้ระดับน้ำใต้ดิน ทำให้ความชื้นมีมากขึ้นตามระดับความลึก
เนื่องจากลักษณะเฉพาะของไฟป่าพรุที่แตกต่างไปจากไฟป่าบกโดยทั่วไป การดับไฟป่าพรุจึงมีความยากลำบากกว่าการดับไฟป่าบกหลายเท่าตัว เพราะต้องต่อสู้กับไฟทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง เจ้าหน้าที่หาขอบเขตที่แท้จริงของไฟได้ยาก เนื่องจากไฟมีควันมหาศาลแต่แทบจะไม่มีเปลวไฟให้เห็น ในขณะที่ไฟจะคุกรุ่นคืบคลานไปเรื่อยๆ ดังนั้นไฟที่คิดว่าดับลงแล้วจึงกลับคุขึ้นใหม่ได้โดยง่าย
ในประเทศไทย เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าพรุหลายครั้ง โดยครั้งสำคัญเกิดในปี 1997 ที่ป่าพรุบาเจาะมีพื้นที่พรุถูกไฟไหม้ประมาณ 7,000 ไร่ และในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ปี 1998 เกิดไฟไหม้ป่าพรุโต๊ะแดง เสียหายไปถึง 14,837 ไร่ โดยต้องใช้ระยะเวลาเกือบสองเดือนและเสียงบประมาณไปจำนวนหลายล้านบาทกว่าจะควบคุมไฟป่าไว้ได้
อ่านต่อหน้า 2 เรื่องความสำคัญของป่าพรุควนเคร็ง