คนเก็บขยะแบกถุงวัสดุที่รีไซเคิลได้ ในภูเขาขยะ Dandora กรุงไนโรบี อันเป็น 1 ใน 4 ภูเขาขยะที่ใหญ่และเป็นพิษมากที่สุดในแอฟริกา ภาพถ่ายโดย BENEDICTE DESRUS, SIPA via AP
แม้ประเทศไทยจะดำเนินนโยบายให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ งดแจกถุงพลาสติก ให้กับประชาชน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะต้องทำควบคู่ไปกับระบบคัดแยก รีไซเคิล และกำจัดขยะให้มีประสิทธิภาพ จึงจะแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยเริ่มดำเนินนโยบายให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้องดแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า และขอความร่วมมือให้ลูกค้านำถุงผ้าหรือภาชนะอื่นๆมาใส่สิ่งของเอง เพื่อตั้งเป้าลดปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย สอดคล้องกับกระแสโลกที่กำลังเอาจริงเอาจังเรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติก นโยบายดังกล่าวนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้ามานานนับแรมเดือน หลังวันเริ่มดำเนินนโยบายก็มีเสียงตอบรับทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมองในแง่บวกว่า หลังผ่านไปสักระยะ ประชาชนจะสามารถปรับตัวและให้ความร่วมมือกับนโยบายนี้ได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านโยบายนี้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบรรเทาปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เพราะนอกจากการแจกถุงพลาสติกตามร้านค้ารายย่อยหรือตลาดสดที่ยังดำเนินอยู่เหมือนเดิมแล้ว ประเทศไทยยังต้องเผชิญปัญหาจากขยะพลาสติก (รวมไปถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นขยะอันตราย) องค์การกรีนพีซ องค์การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ได้ออกรายงานระบุว่า ประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็นแหล่งนำเข้าขยะพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นปริมาณมาก ซึ่งในปี 2561 กลุ่มประเทศอาเซียนนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 2,265,962 ตัน คิดเป็นร้อยละ 27 จากทั่วโลก โดยมาเลเซียนำเข้าขยะ 872,797 ตัน เวียดนาม 492,839 ตัน และไทย 481,381 ตัน ส่วนประเทศที่ส่งออกขยะมายังประเทศไทยมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ ญี่ปุ่น 430,064 ตัน ฮ่องกง 99,932 ตัน และสหรัฐอเมริกา 84,462 ตัน
จึงทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยเริ่มนโยบายที่ย้อนแย้งในตัวเองด้วยการงดแจกถุงพลาสติก แต่ก็อนุมัติให้มีการนำเข้าขยะพลาสติก
โรงงานนำเข้าขยะในประเทศจำนวนไม่น้อยเป็นบริษัทต่างชาติที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการของไทยให้นำเข้า ขยะรีไซเคิล จากประเทศต่างๆ (ตามหลักการที่ถูกต้อง) เพื่อนำมาหลอมเป็นสินค้าพลาสติกชิ้นใหม่มาจำหน่าย ส่งเสริมการลงทุนของบริษัทต่างชาติในประเทศ และตอบสนองการบริโภคสินค้าพลาสติกราคาถูกจากขยะรีไซเคิล โดยประเทศไทยเองถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีค่าดำเนินการราคาถูกและกฎหมายเรื่องการนำเข้าขยะไม่เข้มงวดมากนัก จึงมีโรงงานลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมาย
ขยะพลาสติกส่วนนำใหญ่เข้ามาทางท่าเรือแถบจังหวัดชลบุรีทางตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบทางศุลกากรว่าเป็นขยะที่นำเข้าตรงตามประเภท (ขยะรีไซเคิลได้) อย่างไรก็ตาม มีขยะนำเข้าที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ปะปนมาด้วยปริมาณมาก เนื่องจากต้องการให้ประเทศไทยเป็นที่ทิ้งขยะที่ไร้ประโยชน์ และหวังฉวยโอกาสจากระบบการตรวจสอบที่ย่อหย่อน โดยขยะที่นำเข้ามาปริมาณไม่น้อยต้องลงเอยที่บ่อฝังกลบหรือกลายเป็นขยะในทะเล เช่นเดียวกับขยะพลาสติกในประเทศ กลายเป็นปัญหาขยะที่ทับถมประเทศมาจากทั้งสองด้าน
คำถามสำคัญจากสถานการณ์นี้คือ เราจะมีวิธีกำจัดหรือใช้ประโยชน์จากขยะที่ดีกว่าการฝังกลบหรือการกำจัดอื่นๆที่ผิดวิธีอย่างไร
“การรีไซเคิลขยะ” กระบวนการสำคัญในการลดขยะพลาสติกที่ถูกมองข้าม
นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โพสต์ข้อความทางบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า นโยบายการแยกขยะที่ต้นทางไม่จริงจังของรัฐบาลเป็นสาเหตุของการล่มสลายในการจัดการปัญหาขยะในประเทศ โดยชี้แจงว่า การที่ประชาชนทิ้งขยะโดยไม่ได้คัดแยก ทำให้ขยะที่คัดแยกได้มีปริมาณน้อยและช้ากว่าความต้องการของโรงงาน ดังนั้นการนำเข้าขยะสำเร็จรูป (จากต่างประเทศ) จึงตอบโจทย์โรงงานเหล่านี้ได้มากกว่า
สอดคล้องกับรายงานจากสำนักข่าวไทยพีบีเอสที่ระบุว่า ขณะนี้โรงงานรับซื้อขยะและผู้ค้าขยะ (ซาเล้งรับซื้อของเก่า) ทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาราคาขยะตกต่ำ เนื่องจากมีขยะรีไซเคิลนำเข้าจากต่างประเทศมาตีตลาด เกิดปัญหาซาเล้งไม่กล้าเก็บขยะเพราะไม่คุ้มค่าตอบแทน ก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง เพิ่มมลภาวะให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง
เราจึงสรุปได้ว่า ขยะที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการคัดแยกจากครัวเรือน เมื่อมารวมกับกระบวนการจัดการขยะที่ยังไม่ได้ประสิทธิภาพ จึงมีขยะที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลน้อย ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมืองในประเทศไทย
นายสนธิได้โพสต์ในบัญชีเฟซบุ๊กเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นปีละ 2 ล้านตัน แต่มีเพียง 5 แสนตันเท่านั้นที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใช้ประโยชน์ได้
ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยการงดแจกถุงพลาสติกเพียงอย่างเดียว อาจเป็นแค่เพียงการบรรเทาปัญหาโดยผลักภาระการแก้ปัญหาไปที่ผู้บริโภค แต่ไม่อาจแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองอย่างได้ผล ถ้าไม่มีการเริ่มต้นนโยบายการรีไซเคิลขยะอย่างจริงจัง
ต่างประเทศ: ให้ความสำคัญกับนโยบายการแยกและรีไซเคิลขยะไม่แพ้การงดแจกถุงพลาสติก
ปัจจุบัน ทั่วโลกให้ความสนใจกับการคัดแยก รีไซเคิล รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ขยะที่เกิดจากครัวเรือนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ในประเทศสวีเดนที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ “ขาดแคลนขยะ” เพราะนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1940 สวีเดนเริ่มต้นโครงการคัดแยกขยะ นำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงาน ปัจจุบัน สวีเดนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีนำขยะมาใช้เป็นพลังงานได้ และสามารถนำขยะกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งถึงร้อยละ 96
ด้านประเทศเยอรมนีเองก็เป็นประเทศที่มีอัตราการรีไซเคิลขยะที่ดีที่สุดในโลก เมื่อปี 2561 เยอรมนีมีอัตราการรีไซเคิลขยะถึงร้อยละ 56.1 เพราะเยอรมนีมีกฎหมายการควบคุมขยะมูลฝอยในทุกขั้นตอนนับตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภค รวมไปถึงวางนโยบายให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้งทุกครั้ง และมีระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกที่กระตุ้นให้ประชาชนส่งคืนขวดเพื่อนำไปรีไซเคิล ซึ่งสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกได้ถึงร้อยละ 90
แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ส่งออกขยะพลาสติกเข้ามายังประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง และเป็นประเทศที่ผลิตขยะพลาสติกต่อคนปริมาณมากที่สุดรองจากสหรัฐอเมริกา แต่ภายในประเทศก็มีระบบและกฎหมายการคัดแยกขยะที่เข้มงวด โดยเริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะที่ทุกครัวเรือนต้องแยกขยะประเภทต่างๆ และจะต้องทิ้งขยะที่คัดแยกแล้วตามวันที่ชุมชนกำหนดไว้ อีกทั้งญี่ปุ่นยังมีกฎหมายสำหรับการจัดการขยะพลาสติกซึ่งนำมาบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาจากประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ที่มีอัตราการรีไซเคิลขยะสูงถึงร้อยละ 53.7 ประเทศบังกลาเทศที่มีกฎหมายห้ามผลิตและงดแจกถุงพลาสติก หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 ประเทศออสเตรียสามารถรีไซเคิลขยะได้ร้อยละ 53.8 และมีกฎหมายห้ามนำขยะหลายประเภทไปทิ้งในหลุมกำจัดขยะ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีนโยบาย “คนก่อมลพิษจ่าย” ที่ให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนจ่ายค่าขยะในกรณีที่มีการผลิตขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และประเทศจีนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำเข้าขยะรายใหญ่ของโลก ก็มีนโยบายห้ามการนำเข้าพลาสติกรีไซเคิลเมื่อช่วงปลายปี 2560 (แต่นโยบายนี้กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขยะจากทั่วโลกถูกส่งมายังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน)
สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการเกี่ยวกับขยะพลาสติก
ดังจะเห็นได้ว่านโยบายงดแจกถุงพลาสติกของไทยซึ่งให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ และเมื่อพิจารณาร่วมกับเงื่อนไขที่ว่าประเทศไทยมีแผนที่จะห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกในปี 2021 โดยจะมีการตั้งระบบการจัดเก็บและคัดแยกขยะ ตั้งระบบควบคุมมลพิษให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม แผนการนี้ต้องอาศัยการดำเนินการอย่างเข้มงวดและจริงจัง เพราะเป็นการเปลี่ยนจากนโยบายสนับสนุนการตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะจากต่างประเทศอย่างง่ายดายที่เคยเป็นมาแต่เดิม
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แผนการดังกล่าวเป็นจริงได้คือการจัดตั้งระบบ หรืออาจถึงขั้นตรากฎหมายในการคัดแยกขยะและการรีไซเคิลขยะให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยมีขยะพลาสติกที่เพียงพอต่อการรีไซเคิล หรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ รวมไปถึงการออกแบบวิธีการแก้ปัญหาขยะนับตั้งแต่การผลิตไปจนถึงผู้บริโภค เช่นเดียวกับต่างประเทศดังที่ได้กล่าวมา เพราะไม่มีนโยบายการกำจัดขยะใดที่มีประสิทธิภาพที่มาจากการปฏิบัติของประชาชนเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาครัฐควรมีบทบาทเชิงรุกในการแก้ปัญหาองค์รวมให้เป็นระบบ จึงจะประสบความสำเร็จ
แหล่งข้อมูล
ไทยนำเข้าขยะพลาสติก 481,381 ตัน/ปี สูงสุดเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน
AS WORLD’S TRASH FLOODS THAILAND, ACTIVISTS CALL FOR WASTE IMPORT BAN
Thailand to ban foreign plastic waste from 2021
6 ประเทศตัวอย่าง กับวิธีการจัดการปัญหาพลาสติกล้นเมือง
เปิดโมเดลต้นแบบ 5 ประเทศ “รีไซเคิลขยะ” มากที่สุดในโลก