มาตรการงดใช้พลาสติกทั่วเอเชีย กับก้าวที่เริ่มต้นในประเทศไทย

มาตรการงดใช้พลาสติกทั่วเอเชีย กับก้าวที่เริ่มต้นในประเทศไทย

หลังจากมีเสียงเรียกร้องมาจากทุกภาคส่วน ประเทศไทยได้เริ่มมีมาตรการลดใช้ ถุงพลาสติก อย่างจริงจังจากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และนี่คือกรณีศึกษาจุดเริ่มต้นการลดพลาสติกจากหลายประเทศในเอเชีย

แม้ครั้งหนึ่งในอดีต พลาสติกเปรียบเหมือนวัสดุสังเคราะห์จากฝีมือการสร้างสรรค์ของมนุษย์อันล้ำค่าที่นำพาความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันทุกรูปแบบ แต่ไม่กี่ทศวรรษให้หลัง ชาวโลกต่างเห็นต้องกันว่า พลาสติกส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกว่าที่เราจินตนาการไว้

มาตรการงดใช้พลาสติก กลายเป็นกระแสและกำลังส่งแรงกระเพื่อมในสังคมโลก เนื่องจากชาวโลกกำลังเห็นผลกระทบของจากใช้ถุงพลาสติกที่มากเกินไป จนส่งผลให้ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ ทะเล และบรรดาสัตว์ ได้รับผลกระทบจากพลาสติกที่พวกมันไม่ได้ก่อขึ้น ดังที่ปรากฎให้เห็นในหน้าสื่ออยู่หลายกรณี

มาตรการงดใช้พลาสติกทั่วเอเชีย

ในส่วนของประเทศไทย กระบวนการงดใช้พลาสติกกำลังเริ่มต้นอย่างจริงจังในปีนี้ แม้จะเป็นการออกตัวที่ช้าไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมทวีปเอเชียหลายประเทศ ที่เล็งเห็นผลกระทบจากวัสดุสังเคราะห์นี้มาเนิ่นนานแล้ว แต่สิ่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งการเริ่มต้นไปสู่เป้าหมายของโลกที่ไร้พลาสติก อันจะส่งผลดีต่อธรรมชาติและสัตว์ร่วมโลก

นี่คือเรื่องราวของวัฒนธรรมการงดใช้ถุงพลาสติกที่โดดเด่นทั่วเอเชีย ซึ่งเราต้องการนำเสนอเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นมองว่า มาตรการลดพลาสติกในประเทศ สามารถประสบความสำเร็จได้

บังกลาเทศ

บังกลาเทศเป็นประเทศแรกในโลกที่ตั้งมาตรการเกี่ยวกับการห้ามใช้พลาสติก โดยในปี 2002 บังกลาเทศประกาศห้ามใช้พลาสติกที่มีขนาดบาง เนื่องจากพบว่ามันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ท่อระบายน้ำของประเทศอุดตัน จนทำให้เกิดน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ

แม้จุดเริ่มต้นเกิดจากการประสบภัยที่ส่งผลกระทบโดยตรง แต่การเป็นประเทศแรกที่ประกาศห้ามใช้พลาสติก ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและออสเตรเลียออกกฎหมายในแบบเดียวกัน และตอนนี้ ในเมืองหลวงของบังกลาเทศก็ไม่มีการแจกถุงพลาสติกโพลิธีน (Polythene) ตามร้านค้าแล้ว

ถุงพลาสติก, ขยะอินเดีย, ขยะ, มุมไบ
ภาพถ่ายกองขยะพลาสติกจากบริเวณชานเมือง ของนครมุมไบ ประเทศอินเดีย ในภาพ คนเก็บขยะกำลังมองหาพลาสติกที่สามารถนำไปขายได้ โดยอินเดียมีแผนการณ์ใหญ่ในเรื่องของการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ภาพถ่ายโดย RANDY OLSON, NAT GEO IMAGE COLLECTION

กัมพูชา

กัมพูชาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีมาตรการเกี่ยวกับถุงพลาสติกโดยการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกในซุปเปอร์มาเก็ตเพิ่มเติม สำหรับลูกค้าที่ต้องการใช้ และรัฐบาลมีแผนว่าจะห้ามการนำเข้า ผลิต หรือแจกจ่ายถุงพลาสติกที่มีขนาดบางกว่า 0.03 มิลลิเมตรและมีขนาดกว้างไม่ถึง 30 เซนติเมตร และมีแผนลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ร้อยละ 50 และเตรียมผุดโครงการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติกทั่วประเทศให้ได้ในปี 2020

ฮ่องกง

ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ฮ่องกงวางเกณฑ์ให้ผู้ค้ารายย่อยทุกประเภท นับตั้งแต่ผู้ค้าริมทางไปจนถึงร้านค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เก็บค่าใช้ถุงพลาสติกในอัตราไม่ต่ำกว่า 0.5 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 2 บาท) โดยเป้าหมายของมาตรการนี้คือต้องการปลุกค่านิยมให้ชาวฮ่องกงนั้นนำถุงมาเอง ซึ่งเป็นไปอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากการออกกฎปรับเงินเจ้าของร้านขายของชำประมาณ 5,000 ดอลลาร์ฮ่องกงในกรณีที่ให้ถุงพลาสติกกับลูกค้า

อินเดีย

ประเทศที่หลายคนอาจมีภาพจำว่าเป็นประเทศที่มลพิษมาก โดยเฉพาะในเขตเมือง ก็มีมาตรการเกี่ยวการห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง โดยเริ่มต้นจากเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี หลังจากที่เมืองต้องเผชิญกับปัญหาการเผาขยะอย่างผิดกฎหมายมาเนิ่นนาน และมีการห้ามผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวเช่น ช้อนส้อม ถุง ถ้วย โดยศาลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Green Tribunal) ประเทศอินเดีย

อินโดนีเซีย

เพื่อแก้ปัญหามลภาวะจากพลาสติก ประเทศอินโดนีเซียให้คำมั่นว่าจะใช้งบประมาณราวหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณสามพันล้านบาท) เพื่อลดจำนวนพลาสติกและขยะประเภทอื่นที่ปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำ

ในปี 2016 มีการจัดเก็บภาษีการใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งใน 23 เมืองทั่วประเทศอินโดนีเซีย และรัฐบาลมีการรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติก และออกข้อแนะนำให้บรรดาผู้ค้าปลีกเก็บค่าใช้ถุงพลาสติกราว 5,000 รูเปียห์ (10 บาท) แม้จะมีรายงานต่อต้านมาตรการเช่นนี้ทั้งจากผู้ซื้อและกลุ่มอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียได้รายงานว่าประเทศมีผลการใช้ถุงพลาสติกลดลงไปมาก และก้าวต่อไปของอินโดนีเซีย คือการวางแผนออกกฎหมายที่จะเก็บภาษีถุงพลาสติกไม่ต่ำว่า 200 รูเปียห์ (0.50 บาท) ต่อถุงหนึ่งใบ

ไต้หวัน

ในปี 2030 ประเทศไต้หวันมีแผนการห้ามใช้ถุงพลาสติก อุปกรณ์ ภาชนะเครื่องดื่มที่ใช้แล้วทิ้งอย่างเด็ดขาดในปี 2030 ในปี 2019 ร้านอาหารและเครื่องดื่มประเภทฟาสต์ฟู้ดและต้องไม่บริการหลอดพลาสติก ในปี 2020 จะมีการห้ามให้หลอดพลาสติกฟรีในร้านอาหารทุกประเภท

ถุงพลาสติก,
แกงถุง เป็นอาหารยอดนิยมในชีวิตประจำวันของคนไทยที่ยังมีการใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สำคัญ ขอบคุณภาพถ่ายจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Thai_Soup_Take-away.JPG

ก้าวแรกของมาตรการลดการใช้ถุงพลาสติกในประเทศไทย

ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ในประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดที่จะลดละเลิกถุงพลาสติกตามหน่วยงานราชการ และเอกชน เช่น ผู้ขายสินค้าต่างๆ อันเป็นรูปแบบการรณรงค์โดยสมัครใจ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในประเทศไทยหลายแห่งเริ่มปรากฏให้เห็นถึงผลกระทบจากพลาสติกที่กลายเป็นขยะตกค้าง และส่งผลต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่โดยรอบ โดยเฉพาะพื้นที่ทะเล จนต้องมีประกาศปิดสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติบางแห่ง

และตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มมาตรการลดถึงพลาสติกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเชิงรุกอย่างการห้ามให้พลาสติกหุ้มฝาเครื่องดื่ม มาตรการการห้ามใช้ถุงพลาสติกในสถานศึกษา การจดแจกถุงพลาสติก 1 วันต่อเดือน หรือแม้กระทั่งใช้การศิลปิน ดารานักร้องที่มีชื่อเสียงเพื่อทำแคมเปญจ์รณรงค์การไม่รับถุงพลาสติกโดยเฉพาะ

จนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รายงานว่า ประเทศไทยสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกตามตลาดสด ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านสรรพสินค้าได้มากถึง 1,300-1,500 ล้านใบ หรือประมาณ 2,686 ตัน

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความตระหนักในการลดใช้ถุงพลาสติกของคนไทย ดังนั้น ในวันที่ 3 กรกฎาคม อันเป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล บรรดาห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เช่น เดอะมอลล์ทุกสาขา, สยามพารากอน, ดิเอ็มโพเรียม, ดิเอ็มควอเทียร์ และห้างอื่นๆ ในเครือ ได้เตรียมงดให้บริการถุงพลาสติก และแนะนำให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใส่สินค้า หรือบริจาค 1 บาท ในกรณีที่ต้องการรับถุงพลาสติก เพื่อนำเงินไปสนับสนุนกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อม

และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัลได้ประกาศแคมเปญจ์งดแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า และแจกถุงกระดาษแทน รวมไปถึงร้านค้าปลีกในเครือ เช่น ซูเปอร์สปอต บีทูเอส ออฟฟิศเมท เป็นต้น

ในส่วนของซุปเปอร์มาเก็ต เช่น เทสโก โสตัส ได้ยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์อาหารทุกสาขาแล้ว ด้านบิ๊กซี ยังมีบริการให้ถุงพลาสติกกับลูกค้า แต่ละมีการกำหนดวันงดแจกถุงพลาสติก ประจำสัปดาห์หรือประจำเดือน

ถุงพลาสติก
วิธีการจำหน่ายสินค้าแบบเติม โดยให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์มาด้วยตัวเอง ถือเป็นวิธีการลดพลาสติกที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่ง ภาพถ่ายโดย ANNE CUSACK, LOS ANGELES TIMES/GETTY

นอกจากมาตรการจากร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ในส่วนของระดับแบรนด์นั้นก็มีการขยับตัวจาก ยูนิโคล (Uniqlo) แบรนด์เสื้อผ้าสตรีทแฟชั่นจากประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศงดการใช้ถุงพลาสติกในทุกสาขา “ทั่วโลก” (รวมถึงประเทศไทย) และเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษแทน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์บางส่วนว่า มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกของห้างสรรพสินค้ายักษ์ออกจะกะทันหันไปสักนิด จนส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่ไม่ได้เตรียมตัวอยู่บ้าง แต่จากกรณีศึกษาจากมาตรการลดพลาสติกทั่วเอเชีย ก็จะพบได้ว่าในช่วงของการดำเนินการช่วงแรกย่อมได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ แต่ในท้ายที่สุดมักปรากฏผลการลดการใช้พลาสติกที่น่าพอใจ และประชาชนเกิดความคุ้นชินในที่สุด เพียงแต่ต้องอาศัยระยะเวลาของประชาชนในการปรับตัวกับชีวิตที่ลดพลาสติกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ยังมีโจทย์สำคัญว่า จะมาตรการลดถุงพลาสติกในระดับร้านค้าครัวเรือน เช่นในตลาดสด หรือร้านค้ารายย่อยได้อย่างไร ซึ่งอาจจะต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมาย หรือมาตรการทางภาษีบังคับผู้ค้าทุกคนอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับกรณีเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ มิฉะนั้นการลดพลาสติกในประเทศไทยจะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดแค่ในบางภาคส่วนของประเทศ และไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์การลดใช้พลาสติกได้อย่างสมบูรณ์

แหล่งอ้างอิง

How are Asian countries tackling plastic pollution?

ดีเดย์ 3 ก.ค.นี้ ห้างดังงดแจกถุงพลาสติก 100% 

2 ยักษ์เอาจริง ‘เทสโก้ โลตัส’ เลิกใช้บรรจุภัณฑ์โฟมทั้งหมด ขณะที่ ‘เซ็นทรัล’ ประกาศงดให้ถุงพลาสติก 

ข่าวดี ! 8 เดือนไทยลดขยะถุงพลาสติก 1,300 ล้านใบ

Uniqlo ประกาศงดแจกถุงพลาสติก เปลี่ยนมาให้ “ถุงกระดาษ” เริ่มพร้อมกันทั่วโลก 1 กันยายนนี้


อ่านเพิ่มเติม รัฐนิวยอร์กเริ่มมีมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกแล้ว 

Recommend