ลด ขยะอาหาร ควรพิจารณาวันหมดอายุบนฉลาก

ลด ขยะอาหาร ควรพิจารณาวันหมดอายุบนฉลาก

การเปลี่ยนคำที่ใช้บ่งวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์อาหารป้องกันการเกิด ขยะอาหาร ได้จริงหรือ?

เมื่อคุณเปิดตู้เย็น คุณมักหยิบของโปรดที่เกือบลืมไปแล้วว่ามีอยู่ในตู้เย็น และหลังจากนั้นคุณพบว่าพึ่งเลยวัน “ควรบริโภคก่อน” มาสองวันแล้ว คุณถอนหายใจอย่างหัวเสียแล้วทิ้งอาหารลงขยะ คุณบอกกับตัวเองว่าจะระวังมากกว่านี้ และไม่สิ้นปลืองอาหารอีกต่อไป แต่คุณจำเป็นต้องทิ้งอาหารที่ยังน่ากินจริง ๆ หรือ?

ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร และบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุอาหาร “มากกว่าครึ่งของอาหารที่เราทิ้งไปเป็นของที่เรายังกินได้” เอมม่า มาร์ช ผู้นำ Love Food Hate Waste กล่าว

ขยะอาหาร เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกังวล โดยข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nations’ Food and Agriculture Organization) ระบุว่า ขยะอาหาร มีปริมาณ 1.3 พันล้านตัน ซึ่งพอ ๆ กับหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโ,กในแต่ละปี คิดเป็นมูลค่า 750 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ในขณะที่คนประมาณ 800 ล้านคนเข้านอนด้วยความหิวโหย และมากกว่าครึ่งของพื้นที่การเกษตรในโลกกำลังปลูกพืชที่คนไม่บริโภค

ข้อมูลจาก Love Food Hate Waste ระบุว่า ความสับสนของผู้บริโภคและความไม่อยากรับประทานอาหารที่อาจ “หมดอายุ” แล้ว นำไปสู่การทิ้งอาหารที่ยังอยู่ในสภาพดีถึงล้านกว่าตัน ขยะเหล่านี้คิดเป็นเงินประมาณ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีสำหรับหนึ่งครอบครัวในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เทียบเท่ากับการทิ้งอาหารหกมื้อในแต่ละสัปดาห์ ผัก ผลไม้สด เครื่องดื่ม และขนมปังเป็นอาหารที่ผู้คนทิ้งมากที่สุด

ขยะอาหาร/

การประชุมสุดยอดของ The World Cold Chain Summit เรื่องการลดขยะอาหาร มีการพูดคุยในประเด็นโซ่ความเย็น (cold chain) หรือการควบคุมอุณหูมิการขนส่งและเก็บอาหารของผู้ประกอบการ เพื่อเก็บรักษาอาหารให้สดใหม่และลดการทิ้งอาหาร โดยขยะอาหารในประเทศกำลังพัฒนามักมีสาเหตุมาจากโซ่ความเย็นที่ไม่มีประสิทธิภาพจากการผลิตและการจำหน่ายอาหาร ในขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้สูง ผู้บริโภคกว่าครึ่งเป็นผู้สร้างขยะอาหารเอง

วิน มอร์แกน ศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม กล่าวในที่ประชุมว่า ราคาอาหารที่ถูกลงมากทำให้คนทิ้งอาหารมากขึ้น

การทำฉลากให้ถูกต้อง

มีการรณรงค์มากขึ้นให้ผู้บริโภคคิดอย่างรอบคอบก่อนหยิบอาหารจากตู้เย็น

“มีหลายวิธีในการลดช่วยลดการทิ้งอาหาร เช่น ซื้อในปริมาณที่พอเหมาะ การเก็บให้ถูกต้อง การเก็บในช่องแช่แข็งก่อนที่อาหารจะถึงวันหมดอายุ หรือการนำอาหารเหลือมาทำเมนูใหม่ ๆ” มาร์ช กล่าว และเสริมว่า “หากทำตามวิธีดังกล่าวอย่างถูกต้อง อาหารก็จะไม่กลายเป็นขยะ”

“ความสับสนของการใช้คำแสดงวันหมดอายุบนฉลากอาหารมีนัยสำคัญในการลดการทิ้งอาหาร” มาร์ช กล่าว คำว่า “นำมาปรุงอาหารก่อน” (use by) “ควรบริโภคก่อน” (best before) และ “ควรอยู่บนชั้นวางสินค้าถึงวันที่” (display until) มีความหมายต่างกัน แต่สำหรับผู้บริโภคบางท่านเมื่อตระหนักว่าวันบริโภคเลยวันหมดอายุไปแล้วมักทิ้งอาหารลงถังขยะทันที

วันที่หลังคำว่า “ควรบริโภคก่อน” (best before) แสดงถึงคุณภาพของอาหาร เป็นการประเมินจากผู้ผลิตว่าอาหารจะมีความสดและรสชาติดีที่สุดได้นานถึงวันไหน ซึ่งใช้กับอาหารหลายประเภท บนชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต  “อาหารที่เลยวันที่ ‘ควรบริโภคก่อน’ มาแล้วยังสามารถรับประทานได้ ตราบใดที่ยังอยู่ในสภาพดี ไม่มีกลิ่นแปลกปลอม และรสชาติปกติ ยกเว้นไข่ไก่” มาร์ช กล่าว

แต่วิธีดังกล่าวยากต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค “ร้านค้าปลีกและผู้ผลิตกลัวถูกฟ้อง และผู้บริโภคมีความหวาดกลัวเชื้อ listeria และ E.coli จากอาหารเก่า จึงเลือกที่จะทิ้งมากกว่าจะเสี่ยงรับประทาน” มอร์แกน กล่าว

คำว่า “นำมาปรุงอาหารก่อน” (use by) แสดงถึงความปลอดภัยของอาหาร โดยใช้กับเนื้อสัตว์ ปลา หรือเนื้อไก่ที่เสื่อมสภาพได้ ผู้บริโภคจึงควรยึดวันที่บนฉลากนี้อย่างเคร่งครัด โดยไม่ต้องคำนึงถึงสภาพหรือกลิ่นของอาหารเหล่านั้น ควรนำมาใช้หรือปรุงอาหารก่อนวันที่ที่ระบุไว้บนฉลาก

นอกจากนี้ยังมีคำว่า “ควรอยู่บนชั้นวางสินค้าถึงวันที่” (display until) ช่วยให้ร้านค้าหรือผู้ขายจัดการการวางสินค้า โดยนำอาหารที่ใกล้วันที่ระบุบนฉลากหรือใกล้วันหมดอายุไว้ด้านหน้าสุด และวางอาหารสดใหม่ไว้ด้านหลัง เพื่อไม่ให้เหลืออาหารที่ใกล้หมดอายุและถูกนำไปทิ้ง

ความท้าทายของการลดขยะอาหาร คือ การสร้างความรับรู้ให้ผู้บริโภคเรียนรู้ถึงความแตกต่างของคำต่าง ๆ ที่แสดงบนฉลากอาหาร

 

***แปลและเรียบเรียงโดย ภูม บุญมาแย้ม

โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

Recommend