ส่องคุณค่าชีวิตแมลงตัวเล็ก ผ่านงานอดิเรกวัยเกษียณที่สร้างรายได้และสิ่งแวดล้อมที่ดี วิสาหกิจผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา

ส่องคุณค่าชีวิตแมลงตัวเล็ก ผ่านงานอดิเรกวัยเกษียณที่สร้างรายได้และสิ่งแวดล้อมที่ดี วิสาหกิจผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา

จากสถิติผู้สูงอายุที่เพิ่มสัดส่วนมากขึ้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าประเทศไทยของเราได้เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ผู้สูงอายุหลายคนเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ การไม่ได้ทำงานเหมือนเคย มักถูกความเหงากัดกร่อนจิตใจ จนรู้สึกว่าตนเองด้อยค่าลง ต่างจาก ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยง ชันโรง บ้านทับมา จ.ระยอง’ อีกหนึ่งต้นแบบในแคมเปญมหัศจรรย์ชุมชน (Amazing Community) โดย SCGC ที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนความยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ และสร้างคุณค่าให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ตามมาชมภาพบรรยากาศธรรมชาติที่สมบูรณ์จากแมลงตัวเล็ก ๆ ผ่านการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้สูงอายุบ้านทับมา พลังของวัยเกษียณ ที่ยังเปี่ยมล้นด้วยคุณค่าในตัวเอง จนสามารถขยายผลลัพธ์ที่น่ามหัศจรรย์สู่ผู้คนโดยรอบ

จุดเริ่มต้นเมื่อเกษียณงาน แต่ชีวิตยังดำเนินต่อ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมาแห่งนี้มี ‘ครูประไพ คชรินทร์’ ข้าราชการเกษียณอายุ ที่ขณะนี้มีบทบาทใหม่เป็นประธานวิสาหกิจฯ ขับเคลื่อนการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจอย่าง “ชันโรง” เป็นงานอดิเรก ซึ่งแมลงตัวน้อยแต่ประโยชน์มากชนิดนี้ นอกจากจะให้น้ำผึ้งที่มีสรรพคุณและราคาสูง การมีอยู่ของพวกมันยังเป็นดั่งดัชนีชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในบริเวณรอบ ๆ อีกด้วย

ในบ่ายวันหนึ่งพวกเราได้มีโอกาสเดินทางไปที่ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงชันโรงเพื่อพบกับ ครูประไพ ด้วยความตั้งใจอยากไปฟังเรื่องราวความมหัศจรรย์ที่ครูประไพได้สร้างขึ้นร่วมกับแมลงตัวจิ๋วอย่างชันโรง

แม้ช่วงเวลาที่เราไปถึงจะมีอากาศร้อนอบอ้าว แต่ในบริเวณศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้กลับสัมผัสได้ถึงความร่มเย็น และอากาศบริสุทธิ์ตั้งแต่ก้าวแรก วิสาหกิจชุมชนบ้านทับมาแห่งนี้ ก่อตั้งมาเป็นเวลา 3 ปี นับจากปี พ.ศ. 2563 จากกิจกรรมที่ลองทำในยามว่างของครูประไพในวัยเกษียณ นำมาซึ่งความสุขที่มากขึ้น รายได้ที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ และยังสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนอีกด้วย

ครูประไพและลุงป่อง (สามี ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจฯ) เล่าให้เราฟังด้วยสายตาเป็นประกาย และน้ำเสียงที่สดชื่น กระตือรือร้นถึงความสุขที่ได้รับ หลังจากที่้เริ่มเลี้ยงและเฝ้าดูการเติบโตของชันโรงในทุกวัน 

สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้ใหญ่วัยเกษียณหลายคนในกลุ่มของครูประไพได้มีกิจกรรมทำ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยชุบชูจิตใจ และได้มีบทบาทในสังคมอีกครั้ง ชันโรงกลายเป็นที่พูดถึงปากต่อปาก มีคนสนใจมากขึ้น และขยายกลุ่มผู้เลี้ยงไปหลายอำเภอ

แรกเริ่มเดิมทีครูประไพสนใจการเลี้ยงผึ้ง จึงเริ่มศึกษาและหาข้อมูล จนได้พบแมลงที่ตอบโจทย์อย่าง “ชันโรง” แมลงขนาดเล็กที่ไม่มีเหล็กใน ซึ่งมีอยู่แล้วในท้องถิ่นในฐานะแมลงรำคาญ ชันโรงสามารถหาอาหารเองจากพืชดอกในธรรมชาติ ระยะบินไม่ไกล หากในพื้นที่เลี้ยงเป็นเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตที่ได้ ก็จะเป็นน้ำผึ้งอินทรีย์ด้วยเช่นกัน ครูประไพและลุงป่อง สามีผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้เริ่มซื้อรังจากผู้เลี้ยงจังหวัดข้างเคียงมาลองเลี้ยง

ในช่วงเริ่มต้นครูประไพกล่าวว่า เกือบจะถอดใจเพราะไม่สามารถขยายรังชันโรงได้สำเร็จ แต่ก็อาศัยความพยายามประกอบกับหมั่นสังเกตพฤติกรรมของชันโรงอยู่เสมอ จนถึงจุดที่รู้จังหวะ รู้ใจกันกับเจ้าแมลงตัวจิ๋ว จึงเลี้ยงและขยายพันธุ์ชันโรงได้สำเร็จหลายสายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์ก็มีความสวยงามและพฤติกรรมที่ต่างกัน โดยชันโรงพันธุ์ขนเงิน คือพันธุ์ที่จะพบได้มากในท้องถิ่น 

ลุงป่องแวะเล่าถึงเกร็ดความเชื่อที่ว่า ชันโรงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เลือกคนที่เลี้ยงที่ไม่หวังแต่กำไร แต่ต้องรักจริง มีการดูแลใส่ใจ จึงอยู่ด้วยกันได้ เพราะหากบ้านที่รับไปใจร้อนหวังจะได้ผลผลิตไว ๆ มักจะเลี้ยงแล้วไม่สำเร็จ จนต้องถอดใจไป เพราะชันโรงต้องอาศัยความตั้งใจและใช้เวลาในการเลี้ยงกว่าจะได้ผลผลิตเป็นน้ำผึ้งออกมาแต่ละขวด ในหนึ่งปีเราอาจเก็บน้ำผึ้งชันโรงได้ 2-3 ครั้ง แล้วแต่ความสมบูรณ์ของแต่ละรัง และพืชพรรณในพื้นที่

รวมกลุ่มแข็งแรง ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ ต่อยอดสินค้าประจำจังหวัด

ปริมาณน้ำผึ้งที่ผลิตได้ต่อครั้งจะไม่มากและใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากชันโรงมีขนาดตัวที่เล็กกว่าผึ้ง และยังเป็นแมลงที่ป้อนอาหารไม่ได้ ต้องหาอาหารกินเองตามพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์เท่านั้น การขยายเครือข่ายและรวมกลุ่มผู้เลี้ยงเข้าด้วยกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ลำพังเพียงกลุ่มผู้สูงอายุจะหาเครือข่าย และจัดการงานเองทั้งหมดก็ไม่สะดวกนัก 

ป้าประไพเล่าถึงจุดสำคัญในการขยายกลุ่ม โดยได้รับการสนับสนุนจาก SCGC ในช่วงปี 2564 หรือหลังจากที่เริ่มตั้งกลุ่มได้ 1 ปี SCGC ได้เข้ามาผลักดันให้ บ้านมีชันดี หรือกลุ่มของป้าประไพเป็นที่รู้จักมากขึ้น คอยจัดอบรมส่งต่อองค์ความรู้ และช่วยเหลือเรื่องทดสอบคุณสมบัติ ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงส่งเสริมดูแลเรื่องการเลี้ยงชันโรง

“ตอนแรกคนยังรู้จักเราน้อย เวลาเราไปเล่าว่าชันโรงมันมีดี พลังของเรามันยังน้อย คนก็จะเชื่อถือไม่มากเท่าไร แต่พอได้รับการสนับสนุน มี SCGC คอยสร้างเครือข่าย ส่งต่อองค์ความรู้จากเราไปสู่ชุมชนต่าง ๆ มีงานวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ มารองรับ ก็สร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น” 

ระหว่างที่ป้าประไพเล่า เราได้เห็นถึงความสนิทสนม และความไว้เนื้อเชื่อใจที่คนในกลุ่มวิสาหกิจมีให้กับทีมงาน SCGC ราวกับว่าทีมงาน SCGC เป็นเหมือนลูกหลานของบ้านป้าประไพคนหนึ่งเลยทีเดียว

พี่เอ็กซ์ เศรษฐศักดิ์ จรกิจ CSR Project Manager จาก SCGC ผู้ช่วยดูแลการขยายเครือข่ายกลุ่มผู้เลี้ยงชันโรง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกลุ่ม กล่าวว่า ผู้เลี้ยงชันโรงในหลายพื้นที่มักจะแยกกันเลี้ยง จึงทำให้ผลผลิตมีปริมาณน้อย สร้างอิมแพ็กไม่ได้มาก จึงหาแนวทางขยายกลุ่ม ผ่านการให้ความรู้ จนเกิดเป็นพลังของกลุ่มผู้เลี้ยงที่ใหญ่ขึ้น 

ปัจจุบันมีปริมาณผลผลิตรวมกันของกลุ่มมากขึ้น มีผู้เลี้ยงชันโรงมากขึ้นถึงเกือบ 50 ราย รวมเป็นจำนวนกว่า 400 รัง นอกจากจะช่วยให้กลุ่มผู้เลี้ยงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทำแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แก่ชุมชนอีกด้วย

SCGC มุ่งเสริมจุดแข็งของกลุ่มให้ทำงานอย่างมีความสุข และคอยเติมส่วนที่ขาดให้ กล่าวคือ ส่วนที่กลุ่มวิสาหกิจทำได้ดี คือการเลี้ยงชันโรง และเผยแพร่องค์ความรู้ ทีมงาน SCGC จะคอยเชื่อมโยงเครือข่าย ให้มีคนเข้ามาเลี้ยงร่วมกันมากขึ้น ป้าประไพและลุงป่องก็ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีความสุข ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มผู้เลี้ยงในทุก ๆ วัน

อีกส่วนคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทีมงาน SCGC เล็งเห็นว่าสามารถที่จะผลักดันน้ำผึ้งชันโรงเป็นสินค้าประจำจังหวัดได้ เพราะพบว่าน้ำผึ้งชันโรงของบ้านมีชันดีมีส่วนประกอบของแมงโกสทีน ฟลาโวนอยด์ (Mangosteen Flavonoid) ที่ได้จากเกสรของดอกมังคุด ซึ่งมีเฉพาะในพื้นที่เท่านั้น มีสรรพคุณทางยา มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สมานแผล และช่วยบำรุงสมอง ทาง SCGC ได้ส่งน้ำผึ้งเข้าไปทดสอบส่วนประกอบและคุณสมบัติทางยา เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ รวมถึงร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าของบ้านมีชันดี

 นอกจากจะได้น้ำผึ้งชันโรงเพื่อจำหน่ายแล้ว ทางกลุ่มฯ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสารสกัดพรอพอลิส (Propolis) และเกสรของผึ้งชันโรง อาทิ สบู่ ยาหม่อง น้ำมันหอมระเหย ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ภายใต้ชื่อแบรนด์ บ้านมีชันดี 

แม้ตอนนี้กลุ่มวิสาหกิจบ้านทับมาจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ยังมีโอกาสในการพัฒนาได้อีกมาก โดยพี่เอ็กซ์ กล่าวเสริมว่า หากในอนาคตเรามีผลการทดสอบเรื่องสารสกัดมากขึ้น เราจะสามารถต่อยอดสินค้าจากผลผลิตชันโรงไปได้อีกหลายอย่าง รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาพัฒนาการเลี้ยงให้ได้ผลผลิตที่ดียิ่งขึ้น

“สิ่งที่ SCGC ทำ คือ คอยผลักดันจุดแข็ง พัฒนาจุดที่ยังขาด ส่วนเรื่องการตลาดนั้น เชื่อว่า หากพิสูจน์คุณประโยชน์และคุณภาพของน้ำผึ้งและผลผลิตจากชันโรงแล้วว่าเป็นของดี สินค้าจะขายตัวเองได้ไม่ยาก” 

จากเพียงรู้จัก ‘น้อง’ สู่ผลลัพธ์มหัศจรรย์ 

ในพื้นที่ระยองนั้น ชันโรง เป็นแมลงที่เป็นที่รู้จัก เป็นที่กล่าวขานกันมานาน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงจังนั้นคือการนำมาเลี้ยงอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะในสวนหรือในบ้าน แต่ด้วยการขยายเครือข่ายที่ SCGC และกลุ่มวิสาหกิจบ้านทับมาร่วมกันสร้าง ทำให้ตอนนี้การเลี้ยงชันโรงในบ้าน กลายเป็นที่สนใจมากขึ้น

ตัวอย่างที่เราพบ คือที่ หมู่บ้านมาบจันทร์ ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง เราได้พูดคุยกับ คุณวันดี อินทร์พรหม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านมาบจันทร์ ที่มีความตั้งใจอยากดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและเคยร่วมงานกับ SCGC ในด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวของชุมชนมาก่อนแล้ว

คุณวันดี อินทร์พรหม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านมาบจันทร์

“เราเคยเห็นพ่อเอาชันของชันโรงมาใช้ยาเรือ ปะตามรอยรั่ว มันมีความเหนียวชาวบ้านก็มีนำมาถอนขนบ้าง เคยอยากเลี้ยง แต่ไม่มีความรู้ จนเมื่อทาง SCGC เข้ามาชวนเลี้ยง เราดีใจเหมือนฝันเป็นจริง ไม่คิดเลยว่าจะเลี้ยงในบ้านได้ ประจวบเหมาะกับที่เราตั้งใจอยากหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเฉย ๆ ได้ทำ ที่สำคัญเค้าจะได้กินน้ำผึ้งบำรุงสุขภาพด้วย”

ผู้ใหญ่วันดีเล่าด้วยน้ำเสียงดีใจ ขณะเล่าถึงการเลี้ยงชันโรงที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มาจากป้าประไพและลุงป่อง เพราะสนใจอยากนำมาเผยแพร่ให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านได้ลองเลี้ยง การได้เดินไปดูรังของมันทุกเช้า ทำให้ได้ออกกำลังกาย ใช้งานสมองและกล้ามเนื้อสม่ำเสมอ และได้กินน้ำผึ้งที่มีคุณประโยชน์ หากเหลือ ก็นำแบ่งไปจำหน่ายเป็นรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เข้ากระเป๋าได้อีก

“สิ่งที่เราอยากทำคือ อยากให้ผู้สูงอายุที่นี่ได้กินน้ำผึ้งชันโรง เพราะสารพัดเกสรร้อยจำพวกที่ชันโรงเก็บมามันมีคุณประโยชน์กับร่างกาย มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว เพราะเกสรที่เก็บมาแล้วเค้าหมักไว้ในรัง เค้าอยู่ตรงไหน เค้าเก็บอะไรมากิน รสชาติน้ำผึ้งจะบอกเราได้เลย” 

ผู้ใหญ่วันดีเรียกชันโรงที่ตัวเองอย่างเอ็นดูว่า ‘น้อง’ และกล่าวว่าที่ปลูกพืชผักที่มีดอกไว้รอบบ้านเพราะอยากให้ชันโรงมีอาหารดี ๆ กิน โดยการปลูก ก็ทำแบบอินทรีย์ไม่ฉีดยาฆ่าแมลงเพราะเป็นห่วงน้องชันโรง 

“ปลูกอะไรก็ได้นะที่มีดอก เราได้กิน น้องก็ได้กินด้วย จากที่ไม่เคยปลูกผักก็ลองปลูกดู  นอกจากเราได้น้ำผึ้ง เราก็ได้สุขภาพที่ดีด้วย ได้เดินออกกำลังดูชันโรงในทุกเช้า อะไรที่ดีกับน้องก็ดีกับเราด้วย สิ่งที่อยากให้เกิดที่สุดก็คือกิจกรรม และมีน้ำผึ้งเพื่อสุขภาพไว้กินกันทุกบ้าน” ปริมาณน้ำผึ้งที่เกินจากการรับประทาน ก็สามารถรวบรวมไปขายกับลุงป่อง เป็นรายได้เสริมให้คนในชุมชนได้อีกทอด

สิ่งที่ทีมงาน SCGC อยากต่อยอดกับหมู่บ้านมาบจันทร์ต่อไปคือการกระจายรังชันโรงไปสู่บ้านหลังต่าง ๆ ที่มีผู้สูงอายุเพื่อให้มีกิจกรรมทำให้มากขึ้น มีสุขภาพกายและใจที่ดีอย่างยั่งยืน โดยมีลุงป่องและป้าประไพเป็นกำลังหลักในการให้ความรู้การเพาะเลี้ยงชันโรง

“ชันโรง” แมลงแห่งการเยียวยา รักษาสิ่งแวดล้อม

หลังจากที่เลี้ยงชันโรงมา สิ่งที่ป้าประไพได้รับไม่ใช่เพียงแค่น้ำผึ้ง และความสุขจากกิจกรรมที่ได้ทำเท่านั้น แต่ยังได้สิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชนกลับมาด้วย เพราะการเลี้ยงชันโรงนั้นต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมและอากาศที่ดี ในสวนของป้าประไพที่เดิมมีคนสวนใช้ยาฆ่าแมลง ใช้ปุ๋ยเคมี ก็เปลี่ยนมาทำแบบเกษตรอินทรีย์ รวมไปถึงหลาย ๆ สวนในกลุ่มวิสาหกิจ ก็เปลี่ยนมาใช้แบบอินทรีย์กันแล้ว 

“สิ่งที่เราเห็นชัดและประทับใจที่สุด คือเรารู้สึกว่า คนตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้น เราเห็นกลุ่มต่าง ๆ ที่เราส่งเสริมมา ปกติจะใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เดี๋ยวนี้จะใช้ก็ไม่เอาแล้ว เปลี่ยนไปถอนหญ้า ถากหญ้าแทน เพราะกลัวชันโรงจะตาย” ทีม SCGC กล่าว 

หลังจากที่นำชันโรงไปเลี้ยงในสวน ป้าประไพบอกว่า ผลผลิตดีขึ้น เนื่องจากชันโรงคอยผสมเกสรให้ผลไม้ในสวน เป็นผลดีที่ส่งต่อเป็นถอด ๆ การเลี้ยงชันโรงจึงเหมือนเครื่องการันตีไปในตัว ว่าสวนนี้ปลูกผลไม้แบบอินทรีย์ที่น่าสนใจคือ ผลไม้และพรรณไม้ท้องถิ่น รวมถึง สมุนไพรที่ปลูกในบริเวณใกล้เคียง จะมีผลต่อสี รสชาติ และกลิ่นของน้ำผึ้ง ทำให้แต่ละพื้นที่ได้น้ำผึ้งที่แตกต่างกัน เกิดเป็นความสนุกสนานในการสังเกตความแตกต่าง และทำให้ผู้เลี้ยงคอยหาพืชผักที่หลากหลายมาปลูกเพิ่มเติม 

อีกหนึ่งพื้นที่ที่ SCGC ได้รับความร่วมมือในการทดลองเลี้ยงชันโรงคือที่ สวนพฤกษศาสตร์จังหวัดระยอง ศูนย์ศึกษาวิจัยและรวบรวมพรรณไม้ของภาคตะวันออก ที่คอยอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์พืชท้องถิ่นและพืชที่ใกล้ศูนย์พันธุ์กว่า 400 ชนิด ในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,000 ไร่ 

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงชันโรงที่สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้เกิดจากทาง SCGC จัดอบรมการเพาะเลี้ยงชันโรงที่บ้านมีชันดี โดย ‘พี่เปรม’ เจ้าหน้าที่วิชาการของสวนพฤกษศาสตร์ เป็นตัวแทนไปเข้าร่วมอบรม และได้เห็นว่ากลุ่มของลุงป่องและ SCGC มีความต้องการพื้นที่ทดลองเลี้ยง 

‘พี่เปรม’ เจ้าหน้าที่วิชาการของ สวนพฤกษศาสตร์

นี่เป็นจุดเริ่มในการสำรวจพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ร่วมกับลุงป่องและ SCGC จนพบว่าที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมที่จะเลี้ยงชันโรงเป็นอย่างมาก มีพันธุ์พืชที่หลากหลาย เป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้แก่ชันโรง จึงได้นำชันโรงจำนวน 50 รังมาทดลองเพาะเลี้ยงที่นี่ แยกไปตามฐานการเรียนรู้ ซึ่งแต่ละฐานจะมีพืชพันธุ์ที่แตกต่างกัน เพื่อจะได้ข้อมูลและน้ำผึ้งมาศึกษาค้นคว้าต่อไป

พืชเด่น ๆ ของที่นี่ จะเป็น ยางนา เสม็ดแดง และเสม็ดขาวดึกดำบรรพ์ เป็นพืชที่มีชันหรือยางมาก น้ำผึ้งชันโรงจากสวนพฤกษศาสตร์จะแตกต่างจากที่อื่น โดยมีลักษณะสีเขียวเด่นเป็นประกายจากดอกเสม็ดขาวและสมุนไพรอื่น ๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะมีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์

การเลี้ยงชันโรงได้เข้ามาช่วยเรื่องเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นสวนการเรียนรู้ มีการนำน้ำผึ้งของสวนพฤกษศาสตร์ระยองไปศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การเพาะเลี้ยง และการใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งต่อไปในอนาคต

น้ำผึ้งชันโรงจากสวนพฤกษศาสตร์ที่มีลักษณะสีเขียวเด่นเป็นประกายจากดอกเสม็ดขาวและสมุนไพรอื่น ๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะมีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์

ที่น่าสนใจคือที่สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวที่สนใจศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย การสร้างศูนย์การเรียนรู้ชันโรงในผืนป่ากว้างแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจในอนาคตข้างหน้า ที่จะเป็นประตูบานใหญ่ ให้คนทั่วไปได้เข้ามารู้จักและสัมผัสกับคุณค่าของแมลงตัวเล็กอย่างชันโรง และช่วยผลักดันให้พากันดูแลสิ่งแวดล้อมต่อไปได้

ต่อยอดความสุขที่ได้ “อวด” สัตว์เลี้ยงลูกรัก บำบัดจิต 

สิ่งมหัศจรรย์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องราวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทับมา คือรอยยิ้มของผู้เลี้ยงที่มีความสุข เมื่อได้สังเกตบ้านของชันโรงที่ตนเองเลี้ยง ได้เอามาพูดคุย อวดโฉมรัง และแชร์ประสบการณ์การเลี้ยงกันในกลุ่มผู้สูงอายุ จนมีแววว่า อาจจัดเวทีประกวดรังเลี้ยงชันโรงเหมือนการประกวดรังมดที่กำลังเป็นกระแสอยู่ได้เลย 

พี่เอ็กซ์กล่าวถึงการทำงานร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจฯ บ้านทับมาไว้ว่า “สามปีที่ผ่านมานี้ เราเห็นเค้ามีความสุขมากขึ้น เราเห็นความภูมิใจในตัวเอง ไปไหนคนก็เรียก อาจารย์ อาจารย์มาสอนเลี้ยงชันโรง เค้ารู้สึกว่าตัวเค้าเองมีคุณค่ามากขึ้น เค้าเห็นทิศทางธุรกิจว่าอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า มันจะเปลี่ยนไปแบบไหน”

เรื่องราวที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นเหมือนน้ำหวานที่ฟื้นฟูหัวใจของคนวัยป้าประไพและลุงป่อง ให้มีชีวิตชีวา อยากตื่นเช้ามา สร้างประโยชน์ให้คนอื่นต่อไป และด้วยความใกล้ชิดกับสมาชิกในกลุ่ม ป้าประไพสังเกตเห็นว่าเพื่อน ๆ คนอื่นเองก็มีความสดชื่น แจ่มใสขึ้นจากกการเลี้ยงชันโรง จึงเกิดไอเดียอยากต่อยอดให้กล่องเลี้ยงชันโรงนี้ กลายเป็นนวัตกรรมบำบัดจิตใจ โดยหวังว่าจะช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดียิ่งขึ้น

ลุงป่องได้ประดิษฐ์รังชันโรงรูปแบบใหม่ เพื่อตอบรับกับไอเดียที่คิดไว้ โดยสร้างรังให้สามารถเปิดดูการทำงานของชันโรงได้ และมีทางเดินที่ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของแมลงตัวจิ๋วผ่านสายยางใส เพื่อให้ผู้สูงอายุได้นับจำนวน เห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ภายในรัง ช่วยกระตุ้นการทำงานสมอง และยังมีหูหิ้ว สามารถเคลื่อนย้ายรังได้สะดวก

ทางเดินที่ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของแมลงตัวจิ๋วผ่านสายยางใส เพื่อให้ผู้สูงอายุได้นับจำนวน เห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ภายในรัง

ลุงป่องเล่าเสริมอย่างภูมิใจ ว่าชันโรงเป็นเหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่ง เอาชันโรงไปเที่ยวต่างจังหวัดได้เหมือนหมาแมว ยามกลางวันก็เปิดฝากล่องปล่อยไป ยามกลางคืนก็ปล่อยให้กลับรังแล้วจึงปิดฝา เอากลับบ้าน ฟังแล้วก็รู้สึกประหลาดใจในความแสนรู้ของชันโรง ทั้งยังทิ้งท้ายว่า หลายคนอาจมองชันโรงเป็นแมลงรำคาญ แต่จริง ๆ พวกเขามีประโยชน์มาก 

ความมหัศจรรย์ขั้นเริ่มต้น ที่เริ่มส่งผลเป็นวงกว้าง

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทับมาแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ ของพลังคนวัยคุณลุงคุณป้า ที่ยังไม่ยอมหยุดสร้างคุณค่า คุณประโยชน์ต่อสังคม และภาพที่ป้าประไพมองไว้ในอนาคต คืออยากให้คนทั้งจังหวัดได้มาเห็นความมหัศจรรย์ของชันโรงอย่างที่ป้าประไพได้พบ

ตอนนี้สิ่งที่ป้าประไพเริ่มทำจึงยังถือเป็นความมหัศจรรย์ขั้นเริ่มต้น โดยมีทีม SCGC เข้าไปต่อยอด เสริมพลัง และในอนาคตสมาชิกของกลุ่มยังอยากพัฒนาต่อไป ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์และการเชื่อมโยงกลุ่ม และการถ่ายทอดให้ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป 

กลุ่มผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมาถือเป็นตัวอย่างที่ดี ในการสร้างการมีส่วนร่วมในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยไม่ได้จำกัดเพียงเรื่องชันโรงเท่านั้น แต่เป็นกิจกรรมที่ทำให้พวกเขาได้มาคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนเองรู้ เกิดเป็นภูมิปัญญาชุมชน หล่อเลี้ยงหัวใจให้มีชีวิตชีวาอยู่ได้ในทุกวัน ขอแค่เป็นเรื่องที่เขาสนใจ พร้อมพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ SCGC ก็พร้อมสนับสนุน

โดยตัวอย่างกลุ่มผู้เลี้ยงชันโรงนี้ก็ทำให้พวกเราทุกคนได้เห็นได้ถึงผลลัพธ์ที่ดีและยั่งยืน ต่อชุมชน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสร้างรายได้ให้กลุ่มผู้สูงอายุ เราคิดว่าจุดเริ่มต้นในวันนี้ จะเริ่มส่งผลลัพธ์งอกงามเป็นวงกว้าง และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับบริบทสังคมไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว

พี่เอ็กซ์ กล่าวเสริมอีกว่า “คนสูงอายุ เค้าเต็มไปด้วยประสบการณ์ ความละเอียด ความช่างสังเกต ทักษะต่าง ๆ ที่สั่งสมมา มันเป็นภูมิปัญญาที่เราใช้แลกเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมกันและกันได้

อะไรที่คนหนุ่มสาวทำได้ดี เราก็ส่่งเสริมให้ได้ทำ อะไรที่คนสูงอายุเชี่ยวชาญและทำได้ดี เราก็ให้เกียรติกัน แล้วสังคมนี้จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขได้”

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของชุมชนที่รวมพลังกันในหมู่ผู้สูงอายุ มาสร้างสรรค์คุณค่า สร้างประโยชน์แก่ชุมชน สร้างรายได้ สร้างความสุข และส่งเสริมให้เกิดการดูแลสิ่งแวดล้อม ความมหัศจรรย์ของชุมชนบ้านทับมา เริ่มจากการลงมือเลี้ยงชันโรง 1 รัง ขยายผลต่อเนื่อง จนเกิดประโยชน์ได้ไม่สิ้นสุด

ชมผลิตภัณฑ์ และความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงชันโรงจาก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา ได้ที่ https://www.facebook.com/banmeechandee หรือ Line: https://lin.ee/aRl4HEm 

ติดตามความหัศจรรย์ของชุมชนทั้งหมดได้ที่ https://www.facebook.com/SCGCOfficial/ หรือเว็บไซต์ www.scgchemicals.com 

Recommend