จีนและเนปาลยกเลิกฤดูปีนเขาจากทั้งสองด้านของเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จะไม่มีใครได้ ปีนเขาเอเวอเรสต์ ที่สูงที่สุดในโลกลูกนี้หลังจากแผ่นดินครั้งใหญ่ใกล้ยอดเขาในปี 2015 ภาพถ่ายโดย RENAN OZTURK, NATIONAL GEOGRAPHIC
เพราะการยกเลิกฤดูปีนเขาเอเวอเรสต์ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลต่อเศรษฐกิจอันเปราะบางของเนปาลเป็นอย่างมาก
นักปืนเขาในพื้นที่สูงถือเป็นกลุ่มที่มีความฟิตและสุขภาพที่ดีในบรรดาประชากรที่อยู่บนโลก และสิ่งที่พวกเขาตามหา มักจะอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ศิวิไลซ์ อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่อาจหลีกเลี่ยงผลร้ายที่ตามมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการจำกัดการท่องเที่ยวและมาตรการกักกันผู้คนทั่วโลก
เมื่อวันที่ 11 มีนาม สมาคมปีนเขาแห่งจีนทิเบต (China Tibet Mountaineering Association – CTMA) องค์กรที่รับผิดชอบเรื่องการอนุญาตการท่องเที่ยวและปีนเขาทั่วพื้นที่ที่ราบสูงทิเบตได้ออกมาประกาศว่าจะไม่อนุญาตให้มีการปีนเขาเอเวอร์เรสต์จากพื้นที่ควบคุมของจีนทางตอนเหนือของภูเขาในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้
ต่อจากการประกาศจากจีน เนปาลก็ได้มีการประกาศในช่วงกลางดึกของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า จะยกเลิกการปีนเขาช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ทั้งหมด รวมไปถึงการปีนเขาเอเวอเรสต์ นอกจากนี้ รัฐบาลเนปาลได้หยุดการออก Visa On Arivrial ให้กับนักท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว โดยการระงับวีซ่านี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน
การท่องเที่ยวภูเขา (Mountain tourism) เป็นหนึ่งในเสาหลักทางเศรษฐกิจของเนปาล บรรดานักปีนเขาเอเวอเรสต์มีส่วนในการใช้จ่ายเงินกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,600 ล้านบาท) ในประเทศซึ่งได้ชื่อว่าจนที่สุดในโลก การตัดสินใจหยุดการปีนเขาส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อชุมชนท้องถิ่นที่ความเป็นอยู่และฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวภูเขา
“นักท่องเที่ยวหนึ่งคนสามารถช่วยครอบครัวคนเนปาลได้ 11 ครอบครัว” จีบัน กีไมร์ ผู้ให้บริการในกิจการบริษัทท่องเที่ยวที่ชื่อ Shangri-La Nepal Trek ในกรุงกาฐมาณฑุ กล่าว
และเมื่อคิดถึงผลกระทบที่ตามมาของการปิดเอเวอเรสต์ กีไมร์กล่าวว่า “มันจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากเอามากๆ ยากเกินอธิบาย แม้ว่าเราไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร แต่มันต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่ๆ ครับ”
“เงินที่ได้จากการปีนเขาถูกใช้ไปกับครอบครัวของชาวบ้าน เป็นเงินให้เด็กๆ ไปโรงเรียน และเคลียร์บิลใช้จ่ายต่างๆ ถ้าเราเสียภูเขาเอฟเวอร์เรสต์ไป จะมีคนตกงานจำนวนมากครับ” กีไมร์ กล่าวเสริม
จำกัดการระบาดของไวรัส
แม้รัฐบาลเนปาลรายงานว่ามีคนติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพียงกรณีเดียว แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพชาวเนปาลกล่าวว่า คำถามสำคัญไม่ใช่ “ถ้าหาก” ไวรัสโจมตีเนปาลแล้วจะเป็นอย่างไร แต่เป็น “เมื่อไหร่” ต่างหาก เนื่องจากยังมีความกังวลในเรื่องของความสามารถของเนปาลในการรับมือไวรัส เพราะมันขึ้นอยู่กับจำนวนแพทย์ต่อประชากรที่ต่ำมาก นั่นคือ 0.7 คนต่อประชากร 1,000 คน เท่านั้น
“ถ้าจะนำเชื้อ โควิด-19 มาติดยังประชากรที่มีสุขภาพแข็งแรงน้อยกว่าและมีทรัพยากรจำกัด คุณสามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก” โมนิกา พีริส แพทย์สนามในการปีนเขาผู้มากประสบการณ์จากการผ่านทริปสู่เอเวอเรสต์ 12 ครั้ง และการเดินทางรอบเทือกเขาหิมาลัยมากกว่า 20 ครั้งกล่าวและเสริมว่า “คุณจะต้องรับผิดชอบในการปกป้องพวกเขา”
กีไมร์เห็นด้วยกับความเห็นนี้ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าครอบครัวชาวเนปาลที่มักมีคน 3 รุ่นอยู่รวมกันในบ้านหลังเดียว ซึ่งอาจเป็นเรื่องอันตราย โดยเฉพาะเมื่อไวรัสมักพุ่งเป้าไปที่ผู้สูงอายุ “เราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับหากการระบาดนี้กลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ครับ”
เชอร์ปาเทนจิ ไกด์ภูเขาชาวเนปาล ผู้เคยเฝ้ารอลูกค้าที่จะมาปีนเขาในไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้า กล่าวว่า “ถ้าไม่มีช่วงฤดูปีนเอเวอเรสต์ จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่บรรดาเชอร์ปา (ไกด์ท้องถิ่นผู้นำทางการปีนเขา) เท่านั้น แต่เกิดกับคนทั้งประเทศด้วยครับ”
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เอเวอเรสต์เคยผ่านทั้งช่วงฤดูกาลแห่งความสำเร็จเนื่องจากจำนวนยอดเขาที่สามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และช่วงเวลาอันโศกเศร้าของทั้งนักปืนเขาและชุมชนท้องถิ่น เช่น ในปี 2014 เกิดหิมะถล่มครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตไกด์ชาวเนปาล 16 คน ส่งผลให้ฤดูปีนเขาในปีนั้นถูกยกเลิก
ในปี 2015 ไม่มีใครได้เข้าไปปีนเอเวอเรสต์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1974 เป็นต้นมา หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูดที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 9,000 คน บาดเจ็บ 22,000 คน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบรรดาโครงสร้างพื้นฐานทั่วเนปาลอย่างหนัก
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีจำนวนมากปีนเขาทำลายสถิติที่บันทึกไว้มากขึ้น กล่าวคือ 807 คนในปี 2018 และ 891 คนในปี 2019 ก่อให้เกิดภาพนักปีนเขาที่ต่อแถวยาวเหยียด
ในปี 2019 มีนักปีนเขา 11 รายที่เสียชีวิตบนภูเขา โดยนักวิจารณ์บางคนชี้ว่าเกิดจากการที่มีคนจำนวนมากเกินไป
และในฤดูปีนเขาปี 2020 นี้ จะเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 5 ที่จะไม่มีผู้ใดได้ปีนเอเวอเรสต์เนื่องจากเหตุการณ์โรคระบาด
“แน่นอนว่าการห้ามปีนเอเวอเรสต์ไม่ได้ส่งผลมากเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับมาตรการป้องกันผลกระทบที่เกิดจากไวรัสโคโรนามาตรการอื่นๆ” เอเดรียน บาลลิงเจอร์ ไกด์ของบริษัท Alpenglow Expeditions ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเอเวอเรสต์กล่าวและเสริมว่า “มีลูกค้าของเราจำนวนมากที่ได้พยายามอย่างหนัก ใช้ทั้งเงินและเวลานานนับหลายปีเพื่อมาปีนเขา มันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง แต่ผมคิดว่าวิธีการนี้เป็นเรื่องสมควร และผมก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้ครับ”