การระบาดของโควิด-19 กำลังสร้างขยะที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

การระบาดของโควิด-19 กำลังสร้างขยะที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังเผชิญกับความกังวลเรื่อง ขยะติดเชื้อ ที่เพิ่มมากขึ้นจากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19

ในหลายประเทศ ปริมาณ ขยะติดเชื้อ หรือขยะมูลฝอยส่วนใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ อย่างหน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ชุด PPE และอุปกรณ์อื่นๆ ที่สัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการจำกัดอย่างถูกวิธี ในอู่ฮั่น ประเทศเทศจีน จุดที่พบการระบาดครั้งแรก ทางการจีนไม่เพียงแต่สร้างโรงพบาบาลเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อเท่านั้้น แต่ยังสร้างโรงกำจัดขยะติดเชื้อเพิ่มอีกด้วย เนื่องจากโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยทั้งหมดสร้างขยะมากกว่าช่วงเวลาปกติถึงหกเท่า โดยมีปริมาณเฉลี่ย 240 ตันต่อวัน

ขยะติดเชื้อ
โรงงานกำจัดขยะมูลฝอยในประเทศจีน

ในสหรัฐอเมริกา จำนวนขยะมูลฝอยที่เกิดจากครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นหลังการระบาดที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประชาชนจำเป็นต้องใช้ทั้งกระดาษชำระ และหน้ากากอนามัย จากการรายงานของสเตอไรไซเคิล (Stericycle) บริษัทรีไซเคิลในสหรัฐ กล่าวว่า ในปี 2018 ปริมาณขยะติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 816 ล้านกิโลกรัม และด้วยวิธีการกำจัดที่ไม่เหมือนกับการกำจัดขยะจากครัวเรือนทั่วไป จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับการคาดการณ์มปริมาณขยะติดเชื้อในปีนี้

ขั้นต่อไปคือการเตรียมการรับมือกับปริมาณขยะที่จะเข้าสู่ระบบรีไซเคิล หรือการกำจัดอย่างถูกวิธี “สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการคาดการณ์ปริมาณขยะยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก” เจนิเฟอร์ โคนิก ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทสเตอไรไซเคิล กล่าวในเว็บไซต์ The Verge และเสริมว่า “พวกเรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทพันธมิตรทั้งหมด เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ขยะในขั้นต่อไป”

แต่ละประเทศล้วนมีแนวทางการกำจัดขยะติดเชื้อที่มีมาตรฐานคล้ายกัน คือขยะติดเชื้อทั้งหมดต้องไม่ปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่มักมีมาตรการกำจัดเชื้อก่อนทิ้งขยะเข้าสู่พื้นที่ฝังกลบ เช่น การเผา การฆ่าเชื้อด้วยความร้อน หรือใช้สารเคมีกำจัดเชื้อบนอุปกรณ์นั้นๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ขยะติดเชื้อไม่ได้เกิดจากโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ภาคครัวเรือนก็ยังเป็นแหล่งกำเนิดของขยะติดเชื้อเช่นกัน ดังนั้น การสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้ประชาชนแยกขยะอย่างถูกวิธีจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

ขยะติดเชื้อ

นอกจากนี้ เรื่องที่บุคลากรทางการแพทย์กังวลมากกว่าขยะมูลฝอยจากโรงพยาบาล คือการระบาดที่อยู่นอกสถานพยาบาล กรณีนี้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีอาการไม่รุนแรง และรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน ดังนั้นสมาชิกในบ้านอาจไม่ทราบว่า ขยะที่เกิดขึ้นสามารถปนเปื้อนเชื้อโรคได้ ซึ่งหมายความว่า ขยะจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปสู่คนทำงานเก็บขยะ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำจัดขยะ

แนวทางหนึ่งที่หลายประเทศนำมาปรับใช้กับเรื่องนี้ คือการให้พนักงานเก็บขยะและผู้ที่้เกี่ยวข้อง สวมอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ เช่น ถุงมือ เสื้อผ้าที่รัดกุม และเฟซชิลด์ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในขยะจากครัวเรือน

ขยะติดเชื้อ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหน้ากากอนามัยแบบผ้าและหน้ากากป้องกันใบหน้า (Face Shield) ให้แก่บุคลากรพนักงานเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์การติดเชื้ออาจไม่รุนแรงเท่ากับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเช่น จีน อิตาลี สเปน และสหรัฐฯ จึงยังไม่พบปัญหาจากขยะติดเชื้อ แต่ปริมาณขยะจากบริการส่งอาหาร หรือเดลิเวอรี กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้น

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลประกาศมาตรการต่างๆ จำกัดการเดินทางให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน รวมถึงปิดบริการทุกอย่าง ยกเว้นที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา เป็นต้น

ข้อมูลจากผู้เก็บขยะของกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับแนวโน้มปริมาณขยะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่า ปริมาณขยะในภาพรวมมีปริมาณน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น เช่น กล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแบบเดลิเวอรี ช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติก และหลอดดูดพลาสติด เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่ จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from Home ) ส่งผลให้ความต้องการบริการสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนและผู้จัดเก็บไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด

นายประลองแนะนำว่า แนวทางการลดปริมาณขยะและขยะพลาสติกในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้บริโภคและร้านค้าสามารถดำเนินการได้โดย ปฏิเสธช้อมส้อมพลาสติก ในส่วนของร้านค้าควรใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริโภคอาหารโดยไม่เหลือทิ้งเป็น Food waste และแยกเศษอาหารออกจากถุงพลาสติก

ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์มลพิษ โดย คพ. พบว่าในปี 2562 ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทยเกิดขึ้นทั้งหมด 28.71 ล้านตัน หรือประมาณ 78,665 ตันต่อวัน โดยปริมาณขยะมูลฝอยมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว และประชากรแฝงจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทางานในประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.theverge.com/2020/3/26/21194647/the-covid-19-pandemic-is-generating-tons-of-medical-waste

https://news.thaipbs.or.th/content/290811

https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1895925/plastic-use-soars-after-dine-in-ban

https://www.wired.com/story/coronavirus-pandemic-recycling-crisis/

กรมควบคุมมลพิษ – http://www.pcd.go.th/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ลด ขยะอาหาร ควรพิจารณาวันหมดอายุบนฉลาก

Recommend